ยุติโทษประหารชีวิต

 

อ่านรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2560

โทษประหารชีวิต 2560:  ข้อเท็จจริงและตัวเลข

 

ภาพรวม


ปัจจุบันเมื่อเกิดคดีอาชญากรรมร้ายแรง สังคมมักเรียกร้องให้มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตอย่างจริงจังต่อผู้กระทำความผิด โดยเชื่อไปเองว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะฆาตกรได้ตายไปแล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอยืนยันว่าได้ให้ความเคารพต่อทุกๆ ข้อคิดเห็นเหล่านั้นเสมอมาในฐานะที่เราต่างอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งความเป็นประชาธิปไตย แม้ในความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย อาชญากรรมและความรุนแรงยังคงมีอยู่เพียงแค่เปลี่ยนตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้นเอง


การที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้พยายามสื่อสารกับสาธารณะในประเด็นโทษประหารชีวิต เพราะต้องการจะให้เกิดการสร้างระบบการป้องกันที่มีมาตรฐาน เพื่อลดความรุนแรงและอาชญากรรมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีกต่างหาก หาใช่เป็นการช่วยเหลือฆาตกรแต่อย่างใดตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ หรือพยายามโจมตีแนวทางการทำงานของแอมเนสตี้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์


นอกจากนั้นการลงโทษประหารชีวิตยังเป็นการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดสำหรับบุคคล นั่นคือ เป็นการละเมิด “สิทธิในการมีชีวิต” ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โทษประหารชีวิตเป็นการสังหารบุคคลโดยรัฐเป็นผู้ลงมืออย่างเลือดเย็นและมีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า และที่น่าหวาดหวั่นที่สุด คือ การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรูปแบบนี้ ถูกกระทำในนามของ “ความยุติธรรม”


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม



โทษประหารชีวิตในไทยและอาเซียน

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (การที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนามยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

ในส่วนของประเทศไทย จากข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม (http://www.correct.go.th/stathomepage) ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560นั้น มีนักโทษประหารรวมทุกประเภทจำนวน 438 คน ชาย 364 คน หญิง 74 คน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นนักโทษในคดียาเสพติด ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อเสนอแนะสำหรับเมืองไทยดังนี้ 

• ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 3 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด
• เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทโทษประหารชีวิต
• ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต

ประเทศไทยมีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2552 ก้าวเข้าสู่ปีที่แปดที่ไม่มีการประหารชีวิต ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน ทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งจะถือเป็นพัฒนาการที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศไทยอีกก้าวหนึ่ง

 

 

โทษประหารชีวิตในโลก

เป็นที่ทราบกันดีว่าการประหารชีวิตคือบทลงโทษสูงสุดแก่ผู้กระทำความผิดร้ายแรง วิธีการประหารที่นานาชาติมีใช้อยู่ คือ การแขวนคอ การยิงเป้า การนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า การตัดศีรษะ การใช้หินขว้างให้ตาย การฉีดยา เป็นต้น
แอมเนสตี้เริ่มรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตตั้งแต่ปี 2520 ในขณะนั้นมีเพียง 16 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ปัจจุบันมี 141 ประเทศทั่วโลกหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของ ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกมาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาดในรูปแบบนี้ และแสวงหาทางเลือกของการลงโทษที่ไม่ละเมิดสิทธิในการมีชีวิต โดยสถิติล่าสุดในปี 2559 ปรากฏดังนี้
• 104 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท
• 7 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทั่วไป
• 30 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ
• 141 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ
• 57 ประเทศที่ยังคงบทลงโทษประหารชีวิต

ทำไมต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต?

การที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้พยายามสื่อสารกับสาธารณะในประเด็นโทษประหารชีวิต เพราะต้องการจะให้เกิดการสร้างระบบการป้องกันที่มีมาตรฐาน เพื่อลดความรุนแรงและอาชญากรรมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีกต่างหาก หาใช่เป็นการช่วยเหลือฆาตกรแต่อย่างใดตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ หรือพยายามโจมตีแนวทางการทำงานของแอมเนสตี้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

นอกจากนั้น การลงโทษประหารชีวิตยังเป็นการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดสำหรับบุคคล นั่นคือ เป็นการละเมิด “สิทธิในการมีชีวิต” ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โทษประหารชีวิตเป็นการสังหารบุคคลโดยรัฐเป็นผู้ลงมืออย่างเลือดเย็นและมีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า และที่น่าหวาดหวั่นที่สุด คือ การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรูปแบบนี้ ถูกกระทำในนามของ “ความยุติธรรม” 

แอมเนสตี้เรียกร้องอะไร?

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

แอมเนสตี้ตอบคำถามเรื่อง #โทษประหารชีวิต ที่คุณ(อาจ)สงสัย

เมื่อเกิดอาชญากรรมที่ร้ายแรง อุกอาจ สะเทือนขวัญ ปฏิกิริยาตอบรับจากสังคมที่เรามักจะพบเห็นได้ทั่วไปจากสื่อมวลชน คนมีชื่อเสียง ประชาชน และผู้นำทางการเมือง คือ การเรียกร้องให้นำโทษประหารชีวิตมาบังคับใช้ โดยเชื่อว่าบทลงโทษที่รุนแรง เช่น การประหารชีวิตจะช่วยยับยั้งและป้องปรามอาชญากรรม แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเชื่อดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือมารองรับว่าการใช้โทษประหารช่วย

ป้องกันอาชญากรรมได้ดีกว่าการลงโทษแบบอื่น ในทางตรงข้ามมีรายงานการศึกษาจากนานาประเทศที่ระบุว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเกี่ยวข้องอัตราการเพิ่มขึ้นหรือการลดลงของอาชญากรรม เช่น งานศึกษาอย่างรอบด้านขององค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโทษประหารกับอัตราการฆาตกรรมได้ข้อสรุปว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ไม่สามารถค้นพบข้อยืนยันในทางวิทยาศาสตร์ว่า การประหารชีวิตส่งผลในเชิงป้องปรามได้ดียิ่งกว่าการลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และไม่น่าเชื่อว่าจะมีข้อยืนยันเหล่านั้นอยู่จริง หลักฐานที่มีอยู่ไม่มีข้อสนับสนุนในเชิงบวกต่อสมมติฐานในแง่การป้องปรามเลย”

วันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปีคือวันยุติโทษประหารชีวิตสากล (World Day against the Death Penalty) ที่กำหนดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในประเด็นโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คือ สิทธิในการมีชีวิต นอกจากนี้โทษประหารยังเป็นการทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย

แอมเนสตี้ ประเทศไทยขอใช้โอกาสนี้ตอบคำถามที่ได้รับจากสังคมอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยทำความเข้าใจเรื่องการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต (Death Penalty) ได้มากขึ้นและนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นข้อเสนอจากหลายๆส่วนเพื่อเป็นแนวทางพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย และร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

 

คำถาม: เหตุใดแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถึงคัดค้านโทษประหารชีวิต? แอมเนสตี้ ช่วยโจร จริงหรือ ?

คำตอบ: แอมเนสตี้ รณรงค์การยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะต้องการจะให้เกิดการสร้างระบบการป้องกันอาชญากรรมที่มีมาตรฐาน เพื่อลดความรุนแรงอย่างยั่งยืน ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีกไม่ใช่เป็นการช่วยเหลืออาชญากรตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ นอกจากนั้นการลงโทษประหารชีวิตยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดสำหรับบุคคล นั่นคือ  “สิทธิในการมีชีวิต” ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โทษประหารชีวิตเป็นการสังหารบุคคลโดยรัฐเป็นผู้ลงมืออย่างเลือดเย็นและมีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า และที่น่าหวาดหวั่นที่สุด คือ การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรูปแบบนี้ ถูกกระทำในนามของ “ความยุติธรรม”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอาชญากรรม

 

คำถาม: การคัดค้านโทษประหารของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นการไม่ให้เกียรติต่อเหยื่อของอาชญากรรมที่รุนแรงและครอบครัวของเหยื่อหรือไม่?

คำตอบ: การคัดค้านโทษประหารของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่ได้แปลว่าเราอ่อนข้อหรือยกโทษให้กับผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม (ที่เป็นธรรม) แต่เราเรียกร้องการเปลี่ยนในรูปแบบและวิธีการการลงโทษผู้กระทำความผิด และไม่ได้มุ่งที่จะลดทอนหรือเพิกเฉยต่อความผิดทางอาญาที่เกิดขึ้น เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ในโลกก็คงเป็นพวกที่ยอมให้อาชญากรรมรุนแรงเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการทักท้วง ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่สมเหุตผล

ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจหลักของการทำงานของแอมเนสตี้  ดังนั้นแอมเนสตี้จึงไม่มีวันดูแคลนความทุกข์ทรมานของครอบครัวผู้เสียหาย แอมเนสตี้เห็นใจ และมีความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่คุณลักษณะที่โหดร้ายและผลลัพธ์ของโทษประหารชีวิตเป็นเหตุให้วิธีการนี้ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานในปัจจุบันของผู้มีอารยะ เป็นการแก้ปัญหาอาชญากรรมรุนแรงอย่างไม่เหมาะสมและไม่อาจยอมรับได้

 

คำถาม: คนที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือคนที่ฆ่าคนอื่นก็สมควรแล้วที่ต้องตายตกไปตามกันไม่ใช่หรือ?

คำตอบ: เราไม่สามารถหยุดฆาตกรได้ด้วยการฆ่า  ไม่ว่าจะทำให้นามของความยุติธรรมก็ตาม เมื่อเราทำเช่นนั้น รัฐหรือเราเองก็มีพฤติกรรมที่ไม่ต่างจากฆาตกรแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ระบบยุติธรรมทางอาญาต่างก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการเลือกปฏิบัติและมีข้อผิดพลาดได้ทั้งนั้น ไม่มีระบบใดในโลกสามารถตัดสินว่าใครจะอยู่หรือใครจะตายอย่างเป็นธรรมได้โดยไม่มีข้อบกพร่อง การเร่งรัดกระบวนการการตัดสินใจโดยใช้อัตวินิจฉัยและความเห็นของสาธารณะอาจมีอิทธิพลต่อขั้นตอนปฏิบัติงานตั้งแต่การจับกุมในเบื้องต้นไปจนถึงวินาทีสุดท้ายของการขออภัยโทษ

 สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ไม่อาจพรากไปได้ เป็นสิทธิที่บุคคลทุกคนพึงมีอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีสถานภาพ ชาติพันธุ์ ศาสนา หรือชาติกำเนิดอย่างใด เป็นสิทธิที่ไม่อาจพรากไปจากบุคคลใดได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นได้ก่ออาชญากรรมอย่างไรมาก็ตาม ตั้งแต่คนที่เลวสุดและคนที่ดีสุดล้วนมีสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น โดยเป็นสิทธิที่คุ้มครองเราทุกคน เพื่อช่วยรักษาชีวิตของเราไว้

นอกจากนั้น ประสบการณ์ชี้ให้เห็นว่าเมื่อมีการใช้โทษประหารชีวิต จะต้องมีบางคนที่ถูกสังหาร ในขณะที่บางคนที่ก่ออาชญากรรมคล้ายคลึงกันหรือร้ายแรงกว่ากลับรอดตัวไป นักโทษที่ถูกประหารอาจไม่ใช่ผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่สุดในเบื้องต้นก็ได้ หลายๆคนมีฐานะยากจนไม่สามารถว่าจ้างทนายความฝีมือดีๆ มาแก้ต่างให้กับตนเอง หรืออาจเป็นเพราะโชคร้ายเจอความผิดพลาดหรือความไม่เป็นธรรมของกระบวนการก็ได้

 

คำถาม: ไม่มีความจำเป็นเลยหรือที่จะต้องประหารนักโทษบางคนเพื่อป้องกันไม่ให้เขากระทำความผิดซํ้าอีก?

คำตอบ: ในความป็นจริงยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าการใช้โทษประหารชีวิตสามารถป้องกันการกระทำผิดซํ้าได้ เพราะในทางปฏิบัติแล้วเราใช้โทษประหารชีวิตกับนักโทษที่อยู่ระหว่างการคุมขัง ซึ่งนักโทษเหล่านั้นอยู่ในเรือนจำและถูกแยกตัวออกมาจากสังคมอยู่แล้ว ยากนักที่นักโทษคนดังกล่าวจะก่อความรุนแรงในสังคมได้อีก การใช้โทษประหารชีวิตเพื่อเป็นมาตรการเชิงป้องกันจึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น

นอกจากนั้น โทษประหารชีวิตอาจนำไปสู่ความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่อาจเยียวยาแก้ไขได้อีก มีความเสี่ยงที่ผู้ต้องขังบางคนซึ่งแท้จริงแล้วเป็นผู้บริสุทธิ์อาจถูกประหาร

อีกทั้งหากพิจารณาตามตรรกะแล้ว เราไม่มีทางประเมินได้จริงว่าผู้ที่ต้องโทษประหารชีวิตจะกระทำผิดซํ้าจริงๆ อีกหรือไม่ เพราะการประหารชีวิตเป็นการพรากชีวิตนักโทษ ซึ่งในทางทฤษฎีย่อมทำให้เขาไม่มีโอกาสกระทำใดๆ ได้อีกเลยไม่ว่าเรื่องดีหรือเรื่องไม่ดีก็ตาม ทั้งยังเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำความผิดอีกด้วย

บางคนอาจแย้งว่า การคุมขังเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันบุคคลที่เคยถูกคุมขังมาแล้วจากการกระทำผิดซํ้าอีก หากได้รับการปล่อยตัว คำตอบคงอยู่ที่การทบทวนขั้นตอนปฏิบัติในการอภัยโทษ ในหลายประเทศจะมีการขั้นตอนการตรวจสอบความพร้อมของนักโทษอย่างเข้มงวดก่อนที่จะให้เขากลับไปใช้ชีวิตในสังคมอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อพยายามป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดซํ้าอีก

 

คำถาม: จริงหรือที่คนทำผิดเท่านั้นที่จะได้รับโทษประหารชีวิตหรือถูกประหาร?

คำตอบ: คำถามไม่น่าเชื่อว่ามีผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกประหารชีวิต ในสหรัฐอเมริกา มีการตรวจดีเอ็นเอ (DNA) ของนักโทษประหารชีวิตทั้งหมด ผลออกมาว่า มีนักโทษประหารจำนวนมากที่เป็นผู้บริสุทธิ์ อย่างในประเทศญี่ปุ่นมีคดีดังของนักมวยชื่อ นายฮากามาดะ อิวาโอะ ซึ่งเป็นนักโทษที่รอการประหารชีวิตยาวนานที่สุดในโลกถึง 46 ปี เขาเป็นอดีตนักมวยอาชีพถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานปล้นและฆ่าหมู่นายจ้าง ภรรยาและลูกของนายจ้างอีกสองคนก่อนจุดไฟเผาบ้าน ในเขตชิซูโอกะ ทางภาคกลางของญี่ปุ่น เมื่อปี 2509 เขาถูกจับกุมและคุมขังในปีเดียวกันนั้น ในตอนแรกเขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ต่อมาให้การรับสารภาพหลังถูกสอบปากคำนานถึง 20 วัน   

ในระหว่างที่มีการตัดสินคดี ตัวผู้พิพากษากำลังเขียนคำว่า “ยกฟ้อง” แต่ผู้พิพากษาอาวุโสคนหนึ่งบังคับให้เขียนว่า “มีความผิดแล้วต้องรับโทษ” ตำรวจและอัยการมีความใกล้ชิดกันเป็นอย่างมาก พวกเขาต้องการให้คดีนี้ผ่านไปอย่างราบรื่น ผู้พิพากษาที่ถูกบังคับทนอยู่กับความรู้สึกผิดไม่ได้ หลังพิพากษาได้หกเดือนจึงตัดสินใจลาออก

เราทุกคนต่างหวังเมื่อถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรม จำเลยที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับกระบวนการอันควรแห่งกฎหมายในการไต่สวนคดีอาญา ก็เท่ากับถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับความยุติธรรม ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทุกปีจะมีคนหลายพันคนที่ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตและถูกประหารชีวิต อันเป็นผลมาจาก การไต่สวนคดีอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทำลายหลักนิติธรรม และละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต สิทธิที่จะได้รับการไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรมและข้อห้ามต่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ

ในรายงานเรื่อง “การประหารชีวิตที่อยุติธรรมในภูมิภาคเอเชีย” ได้มีการทบทวนคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร้ายแรงของการใช้โทษประหารชีวิต การตัดสินว่าใครจะถูกประหารและใครที่จะรอด มักไม่ได้ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของความผิด แต่ขึ้นอยู่กับชาติพันธุ์หรืออัตลักษณ์อื่นๆ ของจำเลยเองด้วย ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมของบุคคล หรือขึ้นอยู่กับความสามารถของจำเลยที่จะทำความเข้าใจและเจรจาในระหว่างการไต่สวนคดี หรือการได้รับความช่วยเหลือและเข้าถึงทนายความอย่างเพียงพอ รวมไปถึงปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถทำให้จำเลยจะสามารถท้าทายความไม่เป็นธรรมของระบบยุติธรรมทางอาญาที่มุ่งผลักดันตนเองให้เข้าสู่หนทางแห่งความตายได้

ดังนั้นการยกเลิกโทษประหารเท่านั้นจะเป็นหลักประกันว่าผู้บริสุทธิ์จะไม่ถูกประหารชีวิตอีกต่อไป เราเรียกร้องให้รัฐทุกแห่ง ดำเนินมาตรการเพื่อชะลอการลงโทษประหารชีวิตในระหว่างที่มีการพิจารณายกเลิกโดยสิ้นเชิง การยกเลิกโทษประหารชีวิตจะแสดงถึงเจตจำนงของสังคมที่จะมุ่งสู่ความเป็นธรรม และความยุติธรรม แทนที่จะมาขอโทษเมื่อมีการประหารชีวิตผิดพลาด เพราะคำขอโทษนั้นไม่อาจทดแทนชีวิตมนุษย์

 

คำถาม: การประหารชีวิตเป็นการคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวของเหยื่อหรือผู้เสียหายไม่ใช่หรือ?

คำตอบ: เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ว่ากับครอบครัวใดก็ตาม จนนำไปสู่ความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สิ่งที่รัฐจะต้องกระทำอย่างเร่งด่วนคือ การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมจะต้องโปร่งใส รวดเร็ว แม่นยำและเท่าเทียมกัน จะต้องไม่มีการปล่อยคนผิดลอยนวล ยิ่งกระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมและรวดเร็วเท่าไร ยิ่งถือได้ว่าเป็นการเยียวยาเหยื่อหรือผู้เสียหายได้มากเท่านั้น

นอกจากนั้นสำหรับสิ่งที่ครอบครัวเหยื่อต้องการหลังสูญเสียคนที่รักคือการช่วยเหลือทางด้านการเงินและการเยียวยาสภาพจิตใจในระยะยาว ซึ่งเรื่องหลังนี้รัฐจะต้องมีการทำงานอย่างจริง เพราะที่ผ่านมาหลายครอบครัวที่ประสบกับความสูญเสียยังไม่สามารถทำใจได้ แม้เวลาจะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม

รัฐควรให้ความยุติธรรมไม่ใช่การแก้แค้น เหยื่อและครอบครัวสมควรได้รับความยุติธรรม การที่เราออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไม่ได้หมายถึงการห้ามไม่ให้ลงโทษผู้กระทำความผิด เรายืนยันเสมอว่าคนทำผิดจะต้องได้รับโทษและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ควรใช้ความโกรธแค้นของครอบครัวเหยื่อมาเป็นเหตุผลในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ถูกตัดสินว่าก่ออาชญากรรม และไม่ควรทำให้วงจรแห่งความรุนแรงยังคงอยู่ในสังคมต่อไป

มีครอบครัวเหยื่ออาชญากรรมหลายรายได้เข้าร่วมรณรงค์ต่อต้านโทษประหารชีวิตตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสมาชิกในครอบครัวของเหยื่อทั้งหมดไม่ได้เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต หรือแม้กระทั่งรู้สึกผิดต่อการประหารชีวิตผู้อื่น นอกจากนั้นในบางประเทศที่ยกเลิกการประหารชีวิต จะมีการกำหนดให้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมสามารถโต้ตอบความรุนแรงด้วยวิธีที่แตกต่างและเหมาะสมมากกว่าได้

 

คำถาม: ถ้าไม่มีโทษประหารชีวิตแล้วจะทำอย่างไรกับผู้กระทำความผิด?

คำตอบ: ในประเทศที่มีโทษประหารชีวิต เวลามีคนค้ายา หรือกระทำอาชญากรรม ก็แค่ฆ่าคนทำผิด นั่นแปลว่าสังคมเราจะปลอดภัยขึ้นจากการฆ่าคนจริงหรือ? ในความเป็นจริง หลายประเทศที่ไม่มีโทษประหารชีวิตนั้นให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการป้องกันอาชญากรรม คิดหาวิธีที่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดอาชญากรรมเหล่านั้นขึ้น ดังนั้น เมื่อเกิดอาชญากรรมขึ้น เขาต้องแจกแจงออกมาว่า อะไรเป็นสาหตุของการเกิดคดี และตัวตนของคนที่ก่ออาชญากรรมเป็นอย่างไร จากทุกมุมมองที่เป็นไปได้และศึกษาวิจัยต้นสายปลายเหตุและแก้ไข  ในขณะเดียวกันคนที่กระทำความผิดก็ต้องได้รับการฟื้นฟูจิตใจด้วย เผื่อว่าสุดท้ายผู้กระทำผิดดังกล่าวจะได้กลับสู่สังคม และกลับตัวเป็นคนดีไม่ได้กลับไปเป็นอาชญากรอีก

แน่นอนว่าไม่มีกระบวนการที่แก้ไขปัญหาอาชญากรรมได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ในฐานะที่เราอยู่ร่วมกันในสังคม เราควรจะช่วยกันคิดว่า เราจะทำให้สังคมดีขึ้น และลดปัญหาอาชญากรรมได้อย่างไร แค่เราร่วมด้วยช่วยกันก็เป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดแล้ว

มีประเทศหนึ่งที่ใช้วิธีนี้คือนอร์เวย์ ที่ไม่ได้โฟกัสเรื่องบทลงโทษ แต่โฟกัสเรื่องการคืนความยุติธรรมให้แก่สังคม ว่าสังคมจะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้อย่างไร และครอบครัวเหยื่อจะฟื้นจากอาชญากรรมที่เกิดขึ้นได้อย่างไร และฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้กระทำความผิดได้อย่างไร โดยเริ่มต้นจากตรงนั้นก่อน นักโทษเล่าให้ฟังว่าเขาถูกส่งไปอยู่บนภูเขา ไม่มีรั้วกั้น อยู่กับธรรมชาติ และเมื่อกลับสู่สังคมปกติ ก็มีคนคอยดูแลและรายงานความประพฤติ ซึ่งผู้กระทำความผิดจะไม่ได้รับการปล่อยตัวจนกว่าจะได้การรับรอง

 

คำถาม: เมื่อนักโทษเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ออกมาแล้วยังทำความผิดซ้ำ การประหารชีวิตก็เป็นทางออกที่ดีไม่ใช่เหรอ?

คำตอบ: เราควรมีทัศนคติใหม่ต่อผู้ที่กระทำความผิด ไม่ควรคิดเพียงแค่มุมเดียวว่าพวกเขาเป็นผู้ร้ายที่สมควรได้รับการลงโทษอย่างสาสม แต่ควรคิดว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของผลผลิตทางสังคมเหมือนเช่นเรา และการลงโทษนั้นต้องไม่เป็นไปเพื่อการแก้แค้นทดแทนแต่ต้องเป็นไปเพื่อการแก้ไขเยียวยา เพราะการที่พวกเขากระทำความผิดย่อมหมายถึงบางสิ่งบางอย่างในสังคมของเราทำหน้าที่ผิดเพี้ยนไป สิ่งที่เราควรที่จะคิดกระทำไม่ใช่การกำจัดพวกเขาให้ออกไปจากสังคม แต่เราควรที่จะคิดหาต้นตอของปัญหา ฟันเฟืองที่ทำงานผิดพลาดเพื่อหาวิธีการแก้ไข

แน่นอนว่าสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นกระทำถือว่าเป็นความผิด สิ่งที่รัฐจะต้องกระทำอย่างเร่งด่วนคือ การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมจะต้องโปร่งใส รวดเร็ว แม่นยำ และเท่าเทียมกัน จะต้องไม่มีการปล่อยคนผิดลอยนวล ยิ่งกระบวนการยุติธรรมเป็นธรรมและรวดเร็วเท่าไรยิ่งถือได้ว่าเป็นการเยียวยาเหยื่อหรือผู้เสียหายได้มากเท่านั้น

ส่วนการเรียกร้องให้มีการประหารชีวิตบุคคลที่มีพฤติกรรมเลวร้ายเหล่านั้น อยากให้ทุกคนกลับมาใช้สติและเหตุผลในพิจารณาเรื่องนี้ให้มากขึ้นอีกครั้ง แน่นอนทุกคนโกรธและเกลียด บางคนอาจจะขยะแขยงในสิ่งที่คนเหล่านั้นกระทำต่อเหยื่อหรือผู้เสียหาย

เมื่อเราโกรธและเกลียดในสิ่งที่พวกเขากระทำ เราก็ไม่ควรทำแบบเดียวกับที่พวกเขาทำ เพราะไม่เช่นนั้นเราก็คงไม่ต่างไปจากพวกเขา คือ “การเป็นอาชญากร” ดีๆ นี่เอง เพียงแต่เราไม่ได้ลงมือฆ่าคนด้วยตนเอง แต่มอบหมายหน้าที่นั้นให้กับเพชฌฆาตเป็นผู้ทำหน้าที่ “ฆ่า”แทนเรา

 

คำถาม: คิดว่าการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นความพยายามที่ชาติตะวันตกจะ “บังคับให้เราเชื่อตามคุณค่าทางวัฒนธรรมของพวกเขา” ใช่หรือไม่?

คำตอบ: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยินดีที่ในหลายวัฒนธรรมและศาสนาต่างมีคำสอนที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแฝงอยู่หลายระดับ และเชื่อว่าคำสอนเหล่านี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นต่อสิทธิมนุษยชน ในเวลาเดียวกัน พวกเราเชื่อว่าสิทธิมนุษยชนเป็นคุณค่าสากล ไม่อาจแบ่งแยกได้และเชื่อมโยงกัน แม้ว่าสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นและพัฒนาในบริบทของชาติตะวันตก แต่ก็ไม่ใช่คุณค่าของชาติตะวันตกเท่านั้น หากยังพัฒนาขึ้นจากหลายจารีตที่แตกต่างกัน และรัฐภาคีทุกรัฐขององค์การสหประชาชาติต่างยอมรับใช้เป็นบรรทัดฐาน และพร้อมที่จะปฏิบัติตาม

เป็นที่น่าสังเกตว่าหลายประเทศซึ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต มีศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงไม่อาจพูดได้ว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นวาระที่ผลักดันโดยประชาชนจากภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งของโลกเท่านั้น

 

คำถาม: อะไรคือความก้าวหน้าในการทำงานรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตของแอมเนสตี้?

คำตอบ: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทำงานรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตในระดับสากลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 โดยมีพื้นฐานมาจากแนวคิดเรื่องสันติภาพ ประชาธิปไตย หลักแห่งกฎหมาย ซึ่งพัฒนามาเป็นกฎหมายสากลที่ได้รับการยอมกันในประชาคมโลก แม้ว่าการใช้โทษประหารชีวิตถือเป็นข้อห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยมีฐานความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิตจำนวน 55 ฐานความผิด รวมทั้งความผิดฐานฆ่าผู้อื่น แต่ก็มีความผิดหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในกฎหมายระหว่างประเทศของการเป็น “อาชญากรรมร้ายแรงที่สุด”

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว มีเพียง 16 ประเทศ ที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต จนถึงทุกวันนี้มี 106 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทุกประเภท และ 142 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลายประเทศเห็นว่าโทษประหารไม่ใช่คำตอบในการแก้ไขอาชญากรรม