ผู้ลี้ภัย

ภาพรวม

นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปีพ.ศ.2488 โลกของเราก็เผชิญกับปัญหาผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 2558 เท่าที่มีการเก็บข้อมูลของสหประชาชาติพบว่า ปลายปี 2558 มีผู้คนจำนวนกว่า 65 ล้านคนที่ถูกบังคับให้ต้องพลัดพรากจากบ้านของพวกเขาด้วยเหตุแห่งความขัดแย้ง การถูกประหัตประหาร ความรุนแรงที่ทำในวงกว้าง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ จากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees หรือ UNHCR) ระบุว่า ปัจจุบันโลกเรามีผู้ลี้ภัยถึง 21.3 ล้านคน และ 49% ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ซึ่งมีความเปราะบางมากกว่าผู้ลี้ภัยอื่น ๆ


ในประเทศไทยเอง มีผู้ลี้ภัยกว่าหนึ่งแสนคนอาศัยอยู่ในค่ายพักพิง 9 แห่งในจังหวัดชายแดนระหว่างไทยและพม่า โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้ส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยหนีการสู้รบมาจากประเทศพม่า นอกจากนี้ ยังมีผู้ลี้ภัยในเขตเมืองที่พักพิงอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกกว่า 9,000 คน


จำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายนี้ ถือเป็นวิกฤตของโลกที่ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจที่ร่ำรวยต้องร่วมกันแสดงความรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่าง ๆ ในระหว่างการลี้ภัยได้อย่างปลอดภัยและอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

 

ผู้ลี้ภัยคือใคร

ผู้ลี้ภัยหมายถึงกลุ่มคนที่เดินทางออกจากประเทศของตนเนื่องจากสงคราม ความรุนแรง การประหัตประหารหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับไปยังบ้านเกิดได้เพราะหวาดหวั่นต่อภยันตรายเกินกว่าที่จะกลับไปได้ โดยในบางครั้งพวกเขาถูกเรียกว่าผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (Asylum Seekers) จนกว่าคนๆ นั้นจะได้รับสถานะเป็น “ผู้ลี้ภัย” จาก UNHCR สถานะของบุคคลที่เป็นผู้ลี้ภัยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการกับ UNHCR หรือรัฐบาลของประเทศที่รองรับผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยซึ่งไม่ยื่นคำร้องขอที่ลี้ภัยและบุคคลที่ยื่นเรื่องขอที่ลี้ภัยแต่ถูกปฏิเสธโดย UNHCR หรือหน่วยงานระดับชาติยังคงมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย

 

ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย VS. ผู้ลี้ภัย
ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (Asylum Seeker) ต่างจากผู้ลี้ภัยตรงที่ผู้แสวงหาที่ลี้ภัยยังมิได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการตามอนุสัญญาฯว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494


แรงงานต่างด้าว VS. ผู้ลี้ภัย
แรงงานต่างด้าวแตกต่างจากผู้ลี้ภัยตรงที่ว่า แรงงานต่างด้าวคือคนที่เดินทางออกนอกประเทศของตนโดยสมัครใจเพื่อที่จะไปทำงานในประเทศอื่น ๆ เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจของพวกเขา ขณะที่ผู้ลี้ภัยถูกสถานการณ์ทางการเมืองหรือทางสังคมในประเทศตนเองบังคับให้พวกเขาต้องหลบหนีออกจากประเทศ


เหยื่อการค้ามนุษย์ VS. ผู้ลี้ภัย
ด้วยสถานการณ์ความยากลำบากในการหนีออกนอกประเทศ มีหลายกรณีที่ผู้ที่แสวงหาที่ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยตัดสินใจร่วมเดินทางกับกลุ่มลักลอบขนคนเข้าเมือง เพราะเชื่อว่าจะได้เดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ แต่พวกเขากลับตกไปเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยอาจถูกทำร้ายร่างกายจนอาจถึงแก่ชีวิต หากไม่ยอมทำตามคำสั่งของผู้ที่ทำการลักลอบเข้าเมือง และหากพวกเขาถูกทางการจับตัวไป พวกเขาอาจจะถูกดำเนินคดีในลักษณะลักลอบเข้าเมือง และถูกกักขังและส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง

 

ปัญหา

แน่นอนว่าการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ยั่งยืนคือ การยุติสงครามและความขัดแย้งที่รุนแรงต่าง ๆ หากแต่การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยเวลาที่ยาวนานมาก ในแต่ละวัน มีคนต้องลี้ภัยจำนวนกว่า 34,000 คนในระหว่างการลี้ภัย ผู้คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมาย อันได้แก่

การเดินทางลี้ภัยที่อันตรายต่อชีวิต
หนทางการลี้ภัยของแต่ละคนนั้นมีได้หลากหลาย บ้างต้องเดินเท้าเป็นเวลาหลายวันเพื่อข้ามเขตแดนไปยังประเทศอื่น บ้างต้องหนีออกจากประเทศด้วยการลงเรือร่วมกับผู้คนอื่น ๆ จำนวนมาก พวกเขาต้องตกอยู่ในความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางร่างกายและชีวิต ดังที่เห็นในภาพเด็กน้อยผู้ลี้ภัยชาวซีเรียวัย 3 ขวบ ที่จมน้ำเสียชีวิตและถูกกระแสน้ำพัดมาเกยชายหาดแห่งหนึ่งในตุรกี เนื่องจากประสบเหตุเรือล่ม ขณะที่กำลังพยายามเดินทางเข้าไปยังสหภาพยุโรปตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลก

การถูกแสวงหาประโยชน์
มีผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือการค้ายาเสพติด ด้วยความที่พวกเขาหวาดกลัวจากการประหัตประหารในประเทศของตนเองจึงยินยอมที่จะเดินทางไปกลุ่มคนลักลอบเข้าเมือง เพราะเชื่อว่าจะสามารถจะช่วยให้ตนเองเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศอื่นได้ หากแต่เมื่อพวกเขาถูกทางการจับได้ พวกเขาอาจถูกคุมขังไว้ยังสถานกักตัวคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอย่างไม่มีระยะเวลากำหนด หรืออาจจะถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง ซึ่งจะทำให้พวกเขาตกอยู่ในอันตรายที่พวกเขาหนีจากมา ในบางประเทศ ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยเพราะพวกเขาแตกต่างจากพลเมืองในประเทศนั้น ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางกายภาพหรือวัฒนธรรรมที่แตกต่าง และโดยเฉพาะในประเทศที่ไม่มีกฎหมายภายในให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยโดยเฉพาะ พวกเขาอาจถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการถูกคุกคามทางเพศด้วยเช่นกัน

ตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะได้ที่ลี้ภัยไปยังประเทศอื่นให้รอดพ้นจากการประหัตประหารที่เกิดขึ้นในประเทศที่ตนเป็นพลเมืองอยู่ได้ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติปี 2494 และพิธีสารเลือกรับว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย (Optional Protocol Relating to the Status of Refugee) ปี 2510 ได้ระบุสิทธิของผู้ลี้ภัยหลายประการ ซึ่งรัฐผู้เป็นภาคีในอนุสัญญาและพิธีสารดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงสิทธิเหล่านั้น หากประเทศที่ให้การพักพิงลี้ภัยมีกฎหมายภายในเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเป็นการเฉพาะ ผู้ลี้ภัยต้องได้รับสิทธิและหน้าที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ หากประเทศที่ให้การพักพิงไม่มีกฎหมายภายในกำหนดไว้ ประเทศนั้น ๆ ต้องปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม

 

ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

 

ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาคีหรืออนุสัญญาว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยใดๆ ทั้งยังไม่มีกฎหมายที่จะให้การคุ้มครองให้แก่กลุ่มคนดังกล่าว ดังนั้นสถานะของพวกเขาจึงถือว่าเป็น “คนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อการโดนจับกุม กักกัน หรือผลักดันกลับไปสู่ประเทศของตน อีกทั้งยังตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากผู้ลี้ภัย

 

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งใน 4 จังหวัด (กาญจนบุรี, ตาก, แม่ฮ่องสอนและราชบุรี) จำนวน 97,418 คน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน พ.ศ 2561) ซึ่งได้หนีความขัดแย้งภายในประเทศพม่าข้ามชายแดนตะวันออกของประเทศที่บริเวณชายแดนไทย-พม่ามายังฝั่งไทยต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 30 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวที่ได้ลงทะเบียนกับ UNHCR มีจำนวน 48,938 คนและอีก 48,480 คนยังไม่ได้ลงทะเบียน ในจำนวนนี้มีคนที่ยื่นขอไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม โดยคนที่ได้ตั้งถิ่นฐานใหม่มีจำนวน 338 คนและคนที่กำลังรอการพิจารณาจำนวน 1,470 คนโดยมีจุดหมายปลายทางหลักคือประเทศสหรัฐฯ (ข้อมูลจาก UNHCR)

 

 ประเทศไทยยังได้รับรองผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในเขตเมือง ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 4,693 คน และ 1,422 คนตามลำดับ (ข้อมูลเดือนภุมภาพันธ์ 2561) จาก 45 ประเทศทั่วโลก  ในปี 2560 มีจำนวนผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR 7,212 คนที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เขตเมืองและกึ่งเมืองอื่นๆโดยกลุ่มที่ใหญ่สุดมาจากปากีสถาน เวียดนามและปาเลสไตน์

 

ผู้ลี้ภัยเขตเมืองส่วนใหญ่เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวและเมื่อไม่สามารถขอสถานะทางกฎหมายอื่นๆได้ พวกเขาจะอาศัยอยู่ต่อไปจนเกินอายุวีซ่า สืบเนื่องจากค่าครองชีพที่ค่อนข้างต่ำของประเทศไทยเป็นเหตุให้ไทยมักกลายเป็นเป้าหมายปลายทางของผู้ลี้ภัย บุคคลเหล่านี้ไม่ว่าจะได้รับการยอมรับสถานะจาก UNHCR หรือไม่ก็ตาม ต่างถือว่าเป็นผู้ละเมิดพระราชบัญญัติคนเข้ามเมือง พ.ศ.2522 และอาจถูกจับกุม ควบคุมตัวและส่งออกนอกราชอาณาจักร

 

ผู้ลี้ภัยมีการหลบหนีหรือเดินทางโดยเครื่องบิน รถยนต์ เรือ ไปจนถึงการเดินเท้าและมีทั้งที่เข้าเมืองแบบถูกกฎหมาย ผิดกฎหมายหรือตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ พวกเขาอาจพักพิงในประเทศทางผ่านชั่วคราวเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัย แต่ที่ผ่านมาการรับรองสถานะและส่งผู้ลี้ภัยไปประเทศที่สามล่าช้า ทำให้มีผู้ลี้ภัยตกค้างในประเทศทางผ่านจำนวนมาก

 

ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยตามประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 68.5 ล้านคน สูงกว่าปี 2559 ราว 3 ล้านคน 40 ล้านคนกลายเป็นผู้อพยพภายในประเทศของตน  25.4 ล้านคนกลายเป็นผู้ลี้ภัย ในจำนวนนี้ 19.9 ล้านคนอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และอีก 5.4 ล้านคน เป็นผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่ลงทะเบียนกับ UNRWA และอีก 3.1 ล้านคนกลายเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัย 85% ของผู้พลัดถิ่นทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และ 10 ล้านคนต้องกลายเป็นคนไร้รัฐ ในหนึ่งวันมีผู้คนจำนวน 44,400 คน หรือในเวลาเพียง 2 วินาทีจะมีหนึ่งคนถูกบังคับให้หลบหนีออกจากบ้านของตนเนื่องจากความขัดแย้งและการประหาร

 

57% ของผู้ลี้ภัยทั่วโลกมาจาก 5 ประเทศหลัก คือ 1.จำนวนผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศซีเรียจำนวน 6.3 ล้านคน 2.ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศอัฟกานิสถานมีจำนวน 2.6 ล้านคน 3.ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศซูดานใต้มีจำนวน 2.4 ล้านคน 4.ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศเมียนมาร์จำนวน 1,391,000 คน และในจำนวนดังกล่าวมีผู้ลี้ภัยที่อยูในค่ายพักพิงประเทศบังคลาเทศ 720,000 คน ซึ่งในหนึ่งวันจะมีคนกลายเป็นผู้ภัย 14,300 คน หรือทุกๆนาทีประชาชนกลายเป็นผู้ลี้ภัย 10 คน 5.ผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศโซมาเลีย มีจำนวน 1,091,270 คน โดยในจำนวนนี้คนที่ลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยจำนวน 15,673 คนและเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจำนวน  15,800 คน รวม 31, 473 คน 6.ผู้ลี้ภัยจาสาธารณะรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยมีจำนวนผู้ลี้ภัย 735,000 คน ส่วนใหญ่ได้อพยพไปSub-Sahara Africa  7.ผู้ลี้ภัยจากสาธารณะแอฟริกากลาง จำนวน 573,428 คน 8.ผู้ลี้ภัยจากประเทศบุรุนดี จำนวน 394,778 คน 9.ผู้ลี้ภัยจากประเทศอิรักจำนวน 260,000 คน  10. ผู้ลี้ภัยจากประเทศไนจีเรียจำนวน 226,247 คน ในจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมดมีผู้ลี้ภัยที่ได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามจำนวน 102,800 คน

 

โดยสถิติเมื่อปีที่แล้ว (2560) มีผู้ลี้ภัยจากซีเรียมากกว่า 6.3 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรผู้ลี้ภัยซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ UNHCR (เพิ่มขึ้นราว 800,000 คนจากสถิติเมื่อปี 2559) ส่วนอัฟกานิสถาน มีผู้ลี้ภัยตามสถิติ 2.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของผู้ลี้ภัยมากที่สุดคือซูดานใต้ โดยเพิ่มขึ้นจาก 1.4 ล้านคนในช่วงต้นปีที่แล้วเป็น 2.4 ล้านคนในช่วงสิ้นปีเดียวกัน ขณะที่สถิติผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้วเป็น 1.2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่

 

ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มักจะลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บังคลาเทศเป็นประเทศที่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอพยพไป แต่ในส่วนของประเทศ 10 ประเทศที่รับผู้ลี้ภัยเข้ามามากที่สุดในโลกคือ 1.ประเทศตุรกี โดยในปีที่แล้วตุรกีรับผู้ลี้ภัยรวม 3.5 ล้านคน ส่วนใหญ่คือชาวซีเรีย 2.ประเทศจอร์แดน รับผู้ลี้ภัยเป็นจำนวน 2.9 ล้านคน 3-5.ประเทศเลบานอน, ปากีสถานและอูกันดา มีผู้ที่ลี้ภัยเข้าประเทศนี้จำนวน 1.4 ล้านคน ผู้ลี้ภัยในปากีสถานส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา 6.ประเทศอิหร่าน มีผู้ลี้ภัยจำนวน 979,400 คน 7.ประเทศเยอรมัน มีจำนวนผู้ลี้ภัย 970,400 คน 8.ประเทศบังคลาเทศ มีจำนวนผู้ลี้ภัย 932,200 9.ประเทศซูดาน มีจำนวนผู้ลี้ภัยจำนวน 906,600 คน และ 10. ประเทศเอธิโอเปีย มีจำนวนผู้ลี้ภัย 889,400 คน ร้อยละ 85 ของผู้ลี้ภัยอาศัยในประเทศกำลังพัฒนา หลายประเทศมีฐานะยากจน และได้รับการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยในการมอบความช่วยเหลือต่อประชากรผู้ลี้ภัย และ 4 ใน 5 ของผู้ลี้ภัยก็อาศัยในประเทศเพื่อนบ้านของตน เช่น ประเทศเลบานอนที่มอบที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยในสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศ

 

ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 58) อาศัยอยู่ในเมืองไม่ใช่ค่ายผู้ลี้ภัยหรือชนบท และประชากรพลัดถิ่นทั่วโลกมีอายุน้อย คือร้อยละ 53 คือเด็ก รวมถึงเด็กที่ไม่มีพ่อแม่หรือพลัดพรากจากครอบครัวอีก

 

ประเทศที่ผู้ลี้ภัยต้องการเดินทางเข้าไปมากที่สุดได้แก่สหรัฐอเมริกา ที่มีผู้ยื่นคำร้องขอลี้ภัยทั้งสิ้น 331,700 คน ตามมาด้วยเยอรมนี,อิตาลี และตุรกี ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยจำนวน 1.2 ล้านคนที่ต้องการไปตั้งถิ่นฐานในประเทศใหม่

 

แอมเนสตี้เรียกร้องอะไร?

วิกฤตผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ในฐานะสมาชิกของประชาคมโลกต้องร่วมกันให้ความคุ้มครองทางด้านความปลอดภัยและให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยอย่างเร่งด่วนและทั่วถึง ผู้ลี้ภัยทุกคนควรได้รับการปฏิบัติเหมือนกับบุคคลทั่ว ๆ ไป พวกเขาต้องสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงโอกาสในการตั้งถิ่นฐานใหม่อย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงศาสนา สัญชาติ หรือเชื้อชาติของพวกเขา

ตั้งแต่ปี 2559 แอมเนสตี้ทั่วโลกได้กำหนดให้ การรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้ลี้ภัยเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของขบวนการขับเคลื่อนเพื่อสิทธิมนุษยชนระดับโลก โดยแอมเนสตี้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ในโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ร่ำรวย ร่วมกันแสดงความรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อวัตถุประสงค์หลักดังต่อไปนี้


1) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยให้สามารถลี้ภัยไปดำเนินชีวิตได้อย่างถูกกฎหมายและมีความปลอดภัยในประเทศต่าง ๆ ในโลกเพิ่มมากขึ้น
2) เพื่อให้เกิดการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับทวิภาคีและระดับพหุภาคีในการแสดงความรับผิดชอบร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้น
3) เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกร่วมกันส่งเสริมสิทธิในการลี้ภัยเพิ่มมากขึ้น และยุติการผลักดันส่งกลับ (Refoulement) ในประเทศที่มักมีการปฏิบัติดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยต้องกลับไปเผชิญกับอันตรายต่อชีวิตที่อาจเกิดขึ้นในประเทศที่พวกเขาลี้ภัยมา

สำหรับประเทศไทย เนื่องด้วยรัฐไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาลี้ภัยในประเทศไทยต้องเผชิญกับการไม่มีสถานะทางกฎหมายในประเทศ และเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและถูกคุมขังโดยพลการ รวมทั้งอาจถูกผลักดันส่งกลับ หรือเสี่ยงต่อการแสวงหาประโยชน์ หรือ การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านต่าง ๆ ได้ แอมเนสตี้ จึงเรียกร้องให้ทางการไทยแสดงความรับผิดชอบต่อวิกฤตผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นด้วยการกำหนดให้มีกฎหมายภายในเพื่อให้เกิดกระบวนการการขอลี้ภัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และให้รัฐไทยให้ความเคารพสิทธิของผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยโดยการไม่คุมขังผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยโดยพลการ และคุ้มครองให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายของประเทศไทย สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา สิทธิในการเข้าถึงการได้รับบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐาน เเละสิทธิในการประกอบอาชีพ และที่สำคัญไทยควรดำเนินการป้องกันและยุติไม่ให้มีการผลักดันส่งกลับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยจากทุกประเทศ

ความก้าวหน้า

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรีไทยได้อนุมัติแนวคิดหลักของข้อเสนอเพื่อสรุปและเริ่มกระบวนการคัดกรองผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้ลงทะเบียน ซึ่งนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญ ในการพัฒนาการบริหารจัดการและการคุ้มครองผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ทางแอมเนสตี้ได้ติดตามพัฒนาการดังกล่าว และยินดีที่จะช่วยสนับสนุนทางการไทยในเรื่องของการพัฒนานโยบายเพื่อให้ไทยสามารถให้ความคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ