เกี่ยวกับเรา

แอมเนสตี้คือใคร

แอมเนสตี้ หรือชื่อเต็มๆ ว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คือกลุ่มคนธรรมดาๆ ทั่วโลกกว่า 10 ล้านคนที่รวมตัวกันเพื่อรณรงค์ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เราเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิ ร่วมมือกับรัฐเพื่อผลักดันกฎหมายและนโยบายที่คุ้มครอง ไปจนถึงสร้างความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนให้กับเยาวชนและคนในสังคม

แอมเนสตี้เชื่อว่าแม้คนเราจะเกิดมามีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่เท่ากัน แต่ทุกคนมีสิทธิมีเสียงในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเท่าๆ กัน

  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คือกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 10 ล้านคนใน 150 ประเทศทั่วโลกและดินแดน
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรที่ปกครองตนเองแบบประชาธิปไตย โดยมีวัตถุประสงค์เพียงประการเดียวคือการได้รับความมั่นใจว่าสิทธิมนุษยชนจะได้รับการเคารพและคุ้มครอง
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมุ่งทำงานเพื่อพัฒนากระบวนการและวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนในสังคมโดยทำงานผ่านการรณรงค์ กิจกรรมแสดงเอกภาพในระดับสากล และสิทธิมนุษยชนศึกษา
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นองค์กรอิสระไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา หรือลัทธิใด
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำกิจกรรมณรงค์อันมีรากฐานมาจากการทำงานวิจัย รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน รณรงค์เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมที่เป็นธรรม การปฏิรูปกฎหมาย การปล่อยตัวนักโทษและผู้ที่ถูกกักขังโดยไม่ชอบธรรม ปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกคุกคาม ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำการรณรงค์โดยการเขียนจดหมาย ปฏิบัติการเร่งด่วนและประสานงานกับสื่อนานาชาติ รวมถึงการรณรงค์กับรัฐบาลและองค์กรภายในของรัฐเพื่อให้การรับรองรัฐธรรมนูญ สนธิสัญญาและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน นอกเหนือจากการทำงานด้านสิทธิทางพลเมืองและการเมือง
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ขยายการทำงานไปสู่ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยมีความเชื่อมั่นว่าการเคารพ ปกป้อง ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนจะนำมาซึ่งการลดลงของปัญหาความยากจนและนำมาซึ่งความเสมอภาคและความยุติธรรม –
  • แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เริ่มดำเนินงานในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2536 และได้จดทะเบียนองค์กรเป็น “สมาคมเพื่อองค์การนิรโทษกรรมสากล” เมื่อปี 2545 ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนองค์กรอิสระต่างๆ

ความสำเร็จ

ด้วยพลังของคนธรรมดาๆ เช่นคุณที่ร่วมมือกับเรา การซ้อมผู้ต้องหาของตำรวจกลายเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ที่ถูกจับเพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐได้รับการปล่อยตัว ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คนยากจนที่ถูกรังแกได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย คนหลากเชื้อชาติ เพศ ศาสนา และพื้นเพต่างเข้าถึงสิทธิทางสังคมอย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

ประวัติแอมเนสตี้

แอมเนสตี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อทนายความชาวอังกฤษ ปีเตอร์ เบเนนสัน เขียนบทความเรียกร้องปล่อยตัวนักศึกษาชาวโปรตุเกสสองคนที่โดนรัฐบาลเผด็จการจับติดคุกเพียงเพราะดื่มเหล้าและชนแก้วสดุดีเสรีภาพ

แอมเนสตี้ในประเทศไทย

แอมเนสตี้เริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หลังการรณรงค์ประสบความสำเร็จ จึงมีคนไทยเริ่มรู้จักแอมเนสตี้มากขึ้น หลังจากนั้น เริ่มมีการรวมตัวของกลุ่มผู้สนับสนุนแอมเนสตี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการเลือกตั้งคณะกรรมแอมเนสตี้ในประเทศไทยเพื่อร่วมประชุมแอมเนสตี้ระดับนานาชาติและเริ่มดำเนินงานอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2536 และจดทะเบียนเป็นสมาคมเมื่อปี พ.ศ. 2545

ภารกิจหลักของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

งานรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและงานผลักดันเชิงนโยบาย

  • รณรงค์เพื่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม
  • รณรงค์เพื่อนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
  • รณรงค์เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
  • รณรงค์เพื่อบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • รณรงค์ยุติการทรมานและการอุ้มหาย
  • รณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต

งานสิทธิมนุษยชนศึกษา สำหรับนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชน

  • กิจกรรมห้องเรียนสิทธิมนุษยชน 
  • งานเสวนาและกิจกรรมสาธารณะด้านสิทธิมนุษยชน
  • ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนามาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศ

ความอิสระและโปร่งใส

ในโลกที่เต็มไปด้วยการตักตวงผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเมือง แอมเนสตี้ยึดมั่นในความเป็นกลาง อิสระ และโปร่งใส เรารับเงินบริจาคสำหรับการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนจากคนธรรมดาๆ เช่นคุณเท่านั้น เราปฏิเสธเงินสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพราะผลประโยชน์เดียวที่เรายึดถือคือสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน

การตัดสินใจสำคัญๆ ของเรามาจากการปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกแอมเนสตี้ทั่วประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่างานของเราสะท้อนความคิดเห็นของผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างแท้จริง

สิทธิมนุษยชนมีความเป็นสากล ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน เชื้อชาติ ศาสนา หรือเพศใดๆ สิทธิมนุษยชนก็ยังเป็นของคุณ และไม่มีใครสามารถพรากสิทธิจากตัวคุณไปได้ หากคุณคือคนหนึ่งที่เชื่อแบบเดียวกับเรา สนับสนุนงานของเราตั้งแต่วันนี้

ธรรมนูญสมาคม

การใช้เงินสนับสนุนของแอมเนสตี้

นโยบายการคุกคามหรือการละเมิดทางเพศ

กรอบยุทธศาสตร์ระดับสากลของเรา

สรุปประเด็นเร่งด่วนหลักของเราสำหรับปี 2565-2573

ข้อ 4 ในธรรมนูญของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกำหนดว่า “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต้องมีเป้าหมายเชิงยุทธ์ศาสตร์เป็นแนวทางของขบวนการตลอดเวลา” นอกจากนี้ ข้อ 13 กำหนดว่า “ส่วนต่างๆ ต้องปฏิบัติตามคุณค่าหลักและวิธีการของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และต้องเป็นไปตามมาตรฐานหลักตลอดจนเป้าหมายเชิงยุทธ์ศาสตร์ใดๆ”

กรอบยุทธศาสตร์ระดับสากล (2565-2573) คือประเด็นเร่งด่วนที่ตกลงร่วมกันซึ่งเป็นแนวทางในการทำงานของแอมเนสตี้ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2573 โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แอมเนสตี้ในฐานะขบวนการต้องการที่จะมีส่วนร่วม สามารถอ่านกรอบกลยุทธ์ฉบับเต็มได้ที่นี่ ซึ่งมีทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน

กรอบยุทธศาสตร์ระดับสากลได้รับการเสนอโดยคณะกรรมการสากลและปฏิบัติตามกระบวนการปรึกษาหารืออย่างรอบด้าน ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสมัชชาสากล สมัชชาสากลเป็นหน่วยงานกำกับดูแลที่มีอำนาจสูงสุดในการกำหนดเป้าหมายเชิงยุทธ์ศาสตร์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รวมถึงยุทธ์ศาสตร์ทางการเงิน

ประเด็นเร่งด่วนด้านสิทธิมนุษยชนของเรา

ในโลกที่มีแต่ความไม่แน่นอนด้วยวิกฤตสภาพอากาศที่กำลังเกิดขึ้น และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์อย่างกว้างขวางได้ขยายความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมให้มากยิ่งขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จะยืนหยัดในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวระดับโลกที่สามารถเชื่อมโยงกับบริบทในแต่ละพื้นที่ การทำงานร่วมกันกับบุคคลและขบวนการต่างๆ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจะทำให้เราประสบความสำเร็จในการชักจูงผู้มีบทบาทที่ทรงพลังทั้งที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐให้ยอมรับและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

เพื่อจุดประสงค์ดังที่กล่าวมา แอมเนสตี้จะระดมทรัพยากรและผนึกกำลังทำการรณรงค์ในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญสำหรับ 2 ประเด็นเร่งด่วน ดังนี้

ประเด็นเร่งด่วน 1 – สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและพื้นที่ของภาคประชาสังคม

1.1 – สร้างความเข้มแข็งให้กับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก

1.2 – สร้างหลักประกันสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงสำหรับทุกคน

ประเด็นเร่งด่วน 2 – ความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ

2.1 – การส่งเสริมความยุติธรรมทางเพศและจัดการกับปัญหาอัตลักษณ์ทับซ้อน

2.2 – การส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพ ที่อยู่อาศัย และหลักประกันทางสังคม

2.3 – การดำเนินการเพื่อรับรองความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ

2.4 – การปกป้องสิทธิของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพและสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะวิกฤติ

งานในประเด็นสิทธิมนุษยชนอื่นๆ

นอกเหนือจากงานเกี่ยวกับประเด็นเร่งด่วนระดับโลก 1 และ 2 แล้ว ส่วนงานต่างๆ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลอาจใช้ทรัพยากรมากถึง 20% ในการทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ซึ่งเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับเลือกเพื่อตอบสนองต่อข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนที่มีความเร่งด่วนอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น การยกเลิกโทษประหารชีวิต การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยา และการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระบบยุติธรรมทางอาญา

ประเด็นเร่งด่วนระดับโลก

80%

สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและพื้นที่ของภาคประชาสังคม และความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติ

งานในประเด็นสิทธิมนุษยชนอื่นๆ

20%

ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและเกิดขึ้นใหม่

มุมมองร่วม

ในงานทั้งหมดที่เราทำ ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ประเด็นเร่งด่วนระดับโลกหรืองานในประเด็นสิทธิมนุษยชนอื่นๆ แอมเนสตี้จะวิเคราะห์ วางแผน และประเมินผลงานด้านสิทธิมนุษยชนของเราผ่านมุมมองร่วมดังต่อไปนี้ 

  • บุคคลและชุมชนที่มีความเสี่ยง – การทำงานกับ/และเพื่อบุคคลและชุมชนที่มีความเสี่ยงโดยตรงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • อัตลักษณ์ทับซ้อน การบูรณาการประเด็นเพศภาวะเข้าสู่กระแสหลัก และการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ – มุ่งเน้นอย่างจริงจังไปที่ผู้คนที่ถูกเลือกปฏิบัติทางโครงสร้างจากหลายสาเหตุที่ทับซ้อน รวมถึงเนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ชนชั้นและรูปแบบอื่นๆ ของความเป็นมาทางสังคม วรรณะ เอกลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมือง และรสนิยมทางเพศ วิเคราะห์ผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของการเลือกปฏิบัติ และรวมสิ่งที่ค้นพบไว้ในเอกสาร คำแนะนำ และข้อเรียกร้องในการรณรงค์อย่างชัดเจน 
  • ความรับผิดรับชอบของบรรษัท รวมถึงภาคส่วนเทคโนโลยี – วิเคราะห์บทบาทของผู้มีบทบาทในองค์กร และทำงานบนพื้นฐานดังกล่าวเพื่อประกันว่ารัฐจะออกข้อกำหนดในการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนที่จำเป็นสำหรับองค์กร เอาผิดกับองค์กรที่มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้การเยียวยาต่อผู้เสียหายหรือเหยื่อ

การเสริมสร้างศักยภาพของแอมเนสตี้

ภายในช่วงของกรอบยุทธศาสตร์ 2565-2573 เพื่อสนับสนุนประเด็นเร่งด่วนด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้จะเสริมสร้างและพัฒนาความสามารถของเราเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน ดังนี้

มุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

เราต้องทำอะไรร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบ้างเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์นั้นๆ

  • การแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับบุคคลและชุมชนที่เผชิญกับปัญหาท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนและสนับสนุนข้อเรียกร้องของพวกเขา
  • การโน้มน้าวและช่วยให้ผู้รับผิดชอบสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ
  • การโน้มน้าวและช่วยให้องค์กรสามารถจำกัดผลกระทบเชิงลบต่อสิทธิมนุษยชน และสำรวจวิธีการต่างๆ ในการมีส่วนร่วม

มุมมองด้านศักยภาพ

เราจะสร้างสรรค์นวัตกรรมและระดมทรัพยากรเพื่อมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไรบ้าง

  • การขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา
  • การเสริมสร้างงานวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน
  • การพัฒนางานรณรงค์กับภาครัฐและบรรษัทให้นําไปสู่ผลลัพธ์
  • การเสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวที่มาจากพลังของประชาสังคมและทำให้แอมเนสตี้เป็นที่รู้จัก
  • การเสริมสร้างงานของเราร่วมกับพาร์ทเนอร์หรือองค์กรพันธมิตร

มุมมองด้านกระบวนการภายในและการเรียนรู้

อะไรจะช่วยให้เรามีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

  • การอ้างอิงงานของเรากับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและนโยบายของแอมเนสตี้
  • การเสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวของเราโดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการ
  • การระดมทรัพยากรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของสมาชิกและเจ้าหน้าที่ของเรา และในด้านความเสมอภาคและการมีส่วนร่วม
  • การเพิ่มและปรับปรุงความเข้าใจของเราเกี่ยวกับผลกระทบและการตัดสินใจตามหลักฐาน

มุมมองด้านการเงิน

เราจะเพิ่มทรัพยากรของเราอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

การเพิ่มทรัพยากรและรายได้ของเรา จะได้มีความยั่งยืนทางการเงินที่สอดคล้องตามหลักคุณค่าของเรา