สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม

ภาพรวม

 

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของบางวัฒนธรรมหรือเฉพาะของบางสถานที่หรือบางเวลา หากแต่เป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ และเป็นความจำเป็นของมนุษย์ที่บุคคลสามารถรวมตัวกันเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนได้

ไมนา คิไอ อดีตผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ

 

“การชุมนุม” หมายถึง “การรวมตัวโดยเจตนาเป็นการชั่วคราว ในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป้าประสงค์บางประการ อาทิเช่นเพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาที่สำคัญต่อพวกเขา รวมทั้งเพื่อการแสดงความเห็นที่หลากหลายและการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน โดยอาจเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิทางสังคม-เศรษฐกิจ หรือประเด็นอื่น ๆ จึงอาจหมายรวมถึงการเฉลิมฉลอง การร่วมรำลึก การนัดหยุดงาน และการประท้วง เป็นต้น การชุมนุมไม่ว่าจะเป็นการประท้วงทางการเมือง การเดินขบวนด้านวัฒนธรรม การรวมตัวทางอินเตอร์เน็ต หรือรูปแบบการชุมนุมอื่นใดเพื่อเป้าประสงค์ร่วมกัน ต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมพหุนิยมที่เติบใหญ่ขึ้น ซึ่งเอื้อให้กลุ่มที่มีความเชื่อ การปฏิบัติ หรือนโยบายที่หลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติได้ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎบัตรระหว่างประเทศ ภูมิภาค ในประเทศ และแม้กระทั่งกฎหมายในท้องถิ่น

 107513974_2709128719356198_7275841893979340469_o.jpg

 

สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อีกทั้งเป็นสิทธิที่พึงได้รับและสามารถใช้ได้โดยบุคคลและกลุ่ม การคุ้มครองเสรีภาพที่จะชุมนุมโดยสงบ เช่น การอำนวยความสะดวกให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ประกันให้บุคคลในสังคมมีโอกาสแสดงความเห็นที่สอดคล้องกับบุคคลอื่น ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในเชิงกระบวนการ ซึ่งนำไปสู่การสานเสวนาในภาคประชาสังคม และระหว่างภาคประชาสังคมกับผู้นำทางการเมืองและรัฐบาล 

 

นอกจากนั้นเสรีภาพในการชุมนุมยังเป็นสิทธิที่ได้รับการหนุนเสริมจากสิทธิและเสรีภาพอื่น ๆ เช่น เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิด้านความคิด มโนธรรมสำนึก และศาสนา ด้วยเหตุดังกล่าว เสรีภาพในการชุมนุมจึงมีความสำคัญขั้นพื้นฐานต่อพัฒนาการของบุคคล ศักดิ์ศรี และการบรรลุเป้าหมายในชีวิตของบุคคลทุกคน และเพื่อความก้าวหน้า และสวัสดิการของสังคม อีกทั้งเอื้อให้กลุ่มที่มีความเชื่อ การปฏิบัติ หรือนโยบายที่หลากหลาย อยู่ร่วมกันโดยสันติได้ โดยหน่วยงานของรัฐไม่ได้มีบทบาทในการขจัดสาเหตุของความตึงเครียดโดยการลดทอนความเป็นพหุนิยม หากต้องประกันว่ากลุ่มต่างๆต้องเปิดกว้างต่อความคิดและความเห็นซึ่งกันและกัน และอำนวยให้เกิดการคุ้มครองการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานด้วยวิธีประการต่าง ๆ รวมทั้งกำหนดกรอบกฎหมายที่เกื้อหนุน

ปัญหา

ปัจจุบันแม้เป็นรัฐภาคีประเทศไทยในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) แต่มาตรฐานเสรีภาพการชุมนุมในประเทศยังคงถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ และมีเพียงน้อยคนเท่านั้นที่ทราบว่าแท้จริงแล้วสิทธิในเสรีภาพการออกมาชุมนุมอย่างสงบของประชาชนนั้น มีอย่างล้นเหลือ และบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการจำกัดควบคุมเสรีภาพในการชุมนุมอย่างเกินตัว

107651652_2709125772689826_7443703481059989275_o.jpg

(Photo by Chris McGrath/Getty Images)

ตามหลักมาตรฐานระหว่างประเทศสำหรับเสรีภาพในการชุมนุมแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลต้องไม่สร้างอุปสรรคต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม เว้นแต่มีเหตุผลที่เหมาะสมเช่นนั้น การจำกัดเนื้อหาทั้งในเชิงภาพหรือเสียงของการชุมนุมควรมีการจำกัดก็ต่อเมื่อเนื้อหานั้นอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้อย่างชัดเจน เมื่อมีการจัดการชุมนุมนอกเหนือจากเวลากลางวัน หรือใช้ยานพาหนะเคลื่อนที่เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุม ควรมีการใช้มาตรการป้องกันเป็นพิเศษแทนที่จะใช้มาตรการจำกัด โดยรัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณะไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ไม่ควรมีการมอบหมายหรือผลักภาระนี้ให้กับผู้จัดการชุมนุม นอกจากนั้นการจำกัดอาจเกิดขึ้นได้กรณีที่สุขภาพของผู้เข้าร่วมชุมนุมอาจได้รับผลกระทบร้ายแรง ยกตัวอย่างเช่นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่ในทำนองเดียวกัน ทางการไม่ควรอ้างเหตุผลเช่นนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชุมนุมโดยสงบ หน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่จัดสมดุลให้เหมาะสม ระหว่างสิทธิในเสรีภาพที่จะชุมนุมโดยสงบที่มีความสำคัญ กับสิทธิที่สำคัญเช่นกันของบุคคลที่จะใช้ชีวิต ทำงาน ซื้อข้าวของ ค้าขาย และทำธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ควรจัดให้มีการพูดคุยกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชุมนุม เพื่อหาแนวทางที่ดีสุดในการคุ้มครองสิทธิมีความสำคัญเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดความพึงพอใจร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และสร้างภาระน้อยสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แอมเนสตี้เรียกร้องอะไร

รัฐควรมีความรับผิดชอบโดยต้องประกันให้มีการคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการชุมนุม โดยเฉพาะเมื่อเป็นการรวมตัวกันของบุคลเพื่อประท้วงต่อต้านนโยบายของรัฐ และท้าทายรัฐ โดยสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมนั้นครอบคลุมถึงสิทธิที่จะเลือกที่ชุมนุมและเวลาการชุมนุมได้อย่างเสรี โดยอาจเป็นถนนหลวง ถนนอื่นใดและพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งสิทธิในการชุมนุมทางอินเตอร์เน็ตซึ่งจำต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน

 

ไปที่ : มาตรฐานระหว่างประเทศสำหรับเสรีภาพในการชุมนุม

ในฐานะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจึงควรเป็นสิ่งที่บุคคลใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ถูกควบคุม และไม่ควรกำหนดให้บุคลที่ต้องการชุมนุม ต้องขออนุญาตก่อนจะทำเช่นนั้น รัฐจะต้องกำหนดให้มีกลไกและขั้นตอนปฏิบัติอย่างเพียงพอ เพื่อประกันให้สามารถใช้เสรีภาพนั้นได้ในทางปฏิบัติ โดยไม่ถูกจำกัดจากระเบียบทางราชการที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐควรหาทางอำนวยความสะดวกและคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะในจุดที่ผู้จัดเลือก และยังควรประกันไม่ให้มีการขัดขวางความพยายามในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมที่จะมีขึ้น การจำกัดต่อเสรีภาพในการชุมนุมใด ๆ ต้องได้สัดส่วน โดยหน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญในเบื้องต้นกับแนวทางใดที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวน้อยสุด แต่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมได้ รัฐต้องไม่กำหนดมาตรการจำกัดสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยตลอด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื้อหาของกิจกรรมนั้นจนถึงขั้นพื้นฐาน เช่น อาจส่งผลให้ต้องย้ายการชุมนุมไปยังสถานที่ที่ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของเมือง นอกจากนั้น การบังคับใช้มาตรการจำกัดทางกฎหมายแบบเหวี่ยงแห มักส่งผลให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นวงกว้างเกินไป และไม่สอดคล้องกับบททดสอบของความได้สัดส่วน เนื่องจากไม่ได้ให้ความสำคัญต่อลักษณะเฉพาะของแต่ละกิจกรรมเลย 

 

สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบเป็นสิ่งที่บุคคลทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม ในการกำกับดูแลเสรีภาพในการชุมนุม หน่วยงานของรัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มไม่ว่าด้วยเหตุผลใด อีกทั้งต้องปฏิบัติตามพันธกรณีด้านกฎหมายของตน และควรรับผิดชอบต่อข้อผิดพลาดใด ๆ ทั้งในขั้นตอนเชิงปฏิบัติหรือเชิงข้อเท็จจริง โดยควรมีการประเมินความรับผิดที่สอดคล้องตามหลักการของกฎหมายปกครองและการพิจารณาของศาล ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ