เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของบางวัฒนธรรมหรือเฉพาะของบางสถานที่หรือบางเวลา หากแต่เป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์ และเป็นความจำเป็นของมนุษย์ที่บุคคลสามารถรวมตัวกันเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนได้
ไมนา คิไอ อดีตผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ
“การชุมนุม” หมายถึง “การรวมตัวโดยเจตนาเป็นการชั่วคราว ในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป้าประสงค์บางประการ เช่น เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาที่สำคัญต่อพวกเขา หรือเพื่อแสดงความเห็นที่หลากหลาย รวมถึงการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน โดยอาจเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิทางสังคม-เศรษฐกิจ หรือประเด็นอื่นๆ ทั้งนี้อาจหมายรวมถึงการเฉลิมฉลอง การร่วมรำลึก การนัดหยุดงานและการประท้วง เป็นต้น
การชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงทางการเมือง การเดินขบวนด้านวัฒนธรรม การรวมตัวกันในโลกออนไลน์หรือทางอินเทอร์เน็ต หรือรูปแบบการชุมนุมอื่นๆ เพื่อเป้าประสงค์ร่วมกัน ต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมพหุนิยมที่ขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งเอื้อให้กลุ่มที่มีความเชื่อ การปฏิบัติหรือนโยบายที่หลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้ สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระดับระหว่างประเทศ ระดับภูมิภาค กฎหมายภายในประเทศและแม้กระทั่งกฎหมายในท้องถิ่น
สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อีกทั้งเป็นสิทธิที่พึงได้รับและสามารถใช้ได้โดยบุคคลและกลุ่ม การคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุม เช่น การอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าร่วมการชุมนุม ประกันให้ประชาชนมีโอกาสแสดงความเห็นถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในเชิงกระบวนการ
ภาพรวม
การชุมนุมประท้วง เป็นวิธีที่ทรงคุณค่าในการพูดความจริงต่อผู้มีอำนาจ ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การชุมนุมประท้วงเป็นแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังที่สำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ทรงพลังที่สุดที่เผยให้เห็นถึงความอยุติธรรมและการละเมิดสิทธิ เป็นวิธีการที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมีความหวังต่อไปในอนาคต
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สิทธิอันล้ำค่าเหล่านี้กำลังถูกคุกคามโดยได้รับการปกป้องจากผู้ที่กลัวการเปลี่ยนแปลงและต้องการให้พวกเราแตกแยก รัฐบาลและผู้มีอำนาจยังคงหาวิธีใหม่ๆ ในการปราบปรามการชุมนุมและปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง แนวโน้มทั่วโลกที่น่าเป็นห่วง ทั้งการนำกำลังทหารเข้ามาควบคุมการชุมนุมหรือการทำให้ตำรวจมีลักษณะคล้ายกองทัพทหาร (militarization of police) การใช้กำลังเกินกว่าเหตุในระหว่างการชุมนุมประท้วง และการจำกัดพื้นที่พลเมืองหรือพื้นที่สำหรับภาคประชาสังคม ล้วนทำให้การออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างปลอดภัยเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ
ความสามารถในการชุมนุมประท้วงอย่างปลอดภัยเชื่อมโยงโดยตรงกับสิทธิในการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ผู้ที่ต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าด้วยเหตุแห่งอายุ เชื้อชาติ อัตลักษณ์ทางเพศ และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งมักตกอยู่ในความเสี่ยงหรืออันตรายที่มากขึ้นต่อการใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วง แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกคนควรมีสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงได้อย่างปลอดภัยและปราศจากการเลือกปฏิบัติ
ในแคมเปญหลักที่ชื่อว่า “Protect the Protest” (ปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วง) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกำลังทำงานเพื่อที่จะเปิดโปงการละเมิดสิทธิในการชุมนุมประท้วง และสนับสนุนการเคลื่อนไหวทั่วโลกที่มุ่งมั่นสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก การรณรงค์ในแคมเปญนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกส่งสารที่ชัดเจนว่าผู้ชุมนุมควรได้รับการคุ้มครอง พร้อมทั้งขจัดอุปสรรคและข้อจำกัดที่ไม่จำเป็นในการชุมนุมโดยสงบ
ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องส่งเสียงดังๆ เพื่อเตือนผู้มีอำนาจ
แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
ว่าเรามีสิทธิในการชุมนุมประท้วงที่พวกเขาไม่อาจพรากไป
จากเราได้ เพื่อที่พวกเราจะได้แสดงความไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเสรีร่วมกันในพื้นที่สาธารณะ
ทำไมการชุมนุมประท้วงถึงสำคัญ?
การกระทำเพียงหนึ่งครั้งก็สามารถจุดประกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ หากเราร่วมมือกัน เราสามารถสร้างโลกที่ดีกว่าที่ปราศจากความไม่เท่าเทียมและทุกคนมีความเท่าเทียมกัน
การชุมนุมประท้วงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้สิทธิมนุษยชนของเราได้รับการยอมรับจากสถาบันที่มีอำนาจ ตั้งแต่สัตยาเคราะห์เกลือ หรือ Salt March (เป็นการแสดงออกทางการเมืองในการประท้วงรัฐบาลอังกฤษในอินเดีย นำโดย มหาตมะ คานธี (Mohandas Gandhi) ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ค.ศ. 1930 นับเป็นการเดินขบวนครั้งแรกในการรณรงค์ในรูปแบบของการ “ดื้อแพ่งหรืออารยะขัดขืน” ซึ่งได้รับความสนใจไปทั่วโลก) เพื่อต่อต้านการปกครองอาณานิคมของอังกฤษในอินเดียในปีพ.ศ. 2473 ไปจนถึงทศวรรษแห่งการเดินขบวนไพรด์ (Pride) เพื่อสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหลังเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) ในปีพ.ศ. 2512 เรื่อยมาถึงการชุมนุมประท้วงของขบวนการ แบล็กไลฟส์แมทเทอร์ (Black Lives Matter) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งพลังของผู้คนได้หล่อหลอมโลกของเราอย่างต่อเนื่อง มีตัวอย่างมากมายนับไม่ถ้วนของการที่ผู้คนรวมพลังกันเพื่อสร้างประวัติศาสตร์และนำพาสิทธิและเสรีภาพมาอยู่ในมือเราในทุกวันนี้
แรงขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์และความรู้สึกร่วมของมนุษยชาติ การชุมนุมประท้วงจึงเกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ตั้งแต่การนัดหยุดงาน การเดินขบวนและการจุดเทียนไว้อาลัย รวมถึงการนั่งประท้วง หรือตลอดจนการกระทำต่างๆ ของการกระทำในรูปแบบอารยะขัดขืน
กลยุทธ์และวิธีการเหล่านี้สามารถนำมาใช้เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเรา รวมถึงการบริหารบ้านเมืองที่ดีขึ้น สภาพการทำงานที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น และการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ทั้งการเหยียดเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติและการทำลายสิ่งแวดล้อม

การชุมนุมประท้วงโดยสงบ
ประชาชนมีสิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และรัฐมีหน้าที่เคารพ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธินี้ ซึ่งหมายความว่ารัฐไม่ควรเข้าไปแทรกแซงการชุมนุมประท้วงของประชาชน เว้นแต่จะมีภัยคุกคามที่ชอบธรรมต่อความปลอดภัยและสิทธิของผู้อื่น
หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามหยุดหรือจำกัดการชุมนุมประท้วง การแทรกแซงนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักการ ‘ความได้สัดส่วนและความจำเป็น’ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องส่งผลดีหรือประโยชน์มากกว่าความเสียหาย และต้องเป็นทางเลือกที่จำกัดสิทธิน้อยที่สุด
เจ้าหน้าที่ควรหาวิธีทำให้พื้นที่เหล่านี้ปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยการสื่อสารกับผู้จัดการชุมนุมประท้วงและให้บริการต่างๆ เช่น การจัดการจราจรและการเข้าถึงบริการปฐมพยาบาล
อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณี การแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐกลับเป็นสาเหตุที่ทำให้การชุมนุมประท้วงซึ่งเดิมเป็นไปโดยสงบกลายเป็นการชุมนุมประท้วงที่อันตรายและรุนแรง
การชุมนุมประท้วงเป็นสิทธิมนุษยชนหรือไม่?
เมื่อเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงแล้ว ถือว่าบุคคลนั้นได้ใช้สิทธิมนุษยชนหลายประการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นอกจากสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบแล้ว ยังรวมถึงสิทธิอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ทั้งสิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการรวมกลุ่ม สิทธิในความเป็นส่วนตัว และสิทธิที่จะไม่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวโดยพลการ และไม่ถูกทรมานหรือปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี
ดังนั้น แทนที่จะถูกกำหนดเพียงแค่ในกฎหมายหรือสนธิสัญญาฉบับเดียว สิทธิในการชุมนุมประท้วงกลับได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศผ่านบทบัญญัติหลายประการที่บัญญัติไว้ทั้งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมประท้วง ซึ่งได้รับรองสิทธิแต่ละประการอย่างชัดเจนและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เมื่อรวมกันแล้ว สิทธิเหล่านั้นได้ให้การคุ้มครองที่ครอบคลุมแก่ผู้ชุมนุมประท้วง

การเลือกปฏิบัติและความสามารถในการชุมนุมประท้วงอย่างปลอดภัย
แม้ว่าเราทุกคนต่างมีสิทธิที่เท่าเทียมกันในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ เราต้องยอมรับว่ามีรูปแบบการเลือกปฏิบัติที่ทับซ้อนกัน ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศหรือเชื้อชาติ ทำให้คนบางคนเข้าถึงสิทธิเหล่านั้นได้ยากกว่า
ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้ที่มีความแตกต่างจากบรรทัดฐานทางเพศของสังคม (Gender Non-Conforming) เด็กและเยาวชนต่างเผชิญกับความท้าทายเฉพาะเมื่อต้องเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง ตัวอย่างเช่น มีการห้ามผู้หญิงเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงในอัฟกานิสถานโดยเด็ดขาด ขณะที่ในประเทศอื่นๆ ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับความรุนแรงอันเนื่องจากเพศสภาพของตนมากขึ้น หากพวกเธอตัดสินใจที่จะเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงบนท้องถนน
การเดินขบวนไพรด์ (Pride) ทั่วโลกมักถูกห้ามเป็นประจำหรือถูกเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามอย่างรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง ในประเทศที่พฤติกรรมการรักเพศเดียวกันถือเป็นอาชญากรรม ผู้ที่เข้าร่วมการเดินขบวนไพรด์ (Pride) ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกจับกุม
ด้วยการทำงานร่วมกันและสร้างความมั่นใจว่าทุกคน รวมถึงผู้ที่ต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุด สามารถเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงได้อย่างเท่าเทียมกันและปราศจากความหวาดกลัวต่อความรุนแรง เราสามารถสร้างโลกที่ยุติธรรมและเท่าเทียมมากขึ้นได้

กรณีศึกษา: นักฟุตบอลหญิงมุสลิมถูกห้ามไม่ให้ชุมนุมประท้วงในฝรั่งเศส
ในฝรั่งเศส กลุ่มนักฟุตบอลหญิงมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า เลอ ฮิญาบูซส์ (Les Hijabeuses) ได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจถึงการชุมนุมประท้วงที่พวกเธอวางแผนจะขึ้นจัดหน้ารัฐสภาฝรั่งเศส พวกเธอวางแผนที่จะชุมนุมเพื่อต่อต้านนโยบายที่มีอยู่และร่างกฎหมายที่กำลังจะออกซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายข้อห้ามที่เลือกปฏิบัติโดยห้ามผู้หญิงที่เลือกสวมผ้าคลุมศีรษะเข้าร่วมการแข่งขันอย่างเป็นทางการ
ในตอนเย็นก่อนการชุมนุมประท้วงจะเกิดขึ้นตามแผนที่พวกเธอวางไว้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการสั่งห้ามการชุมนุมประท้วงดังกล่าวโดยอ้างถึงอคติแบบเหมารวมที่ตีตราผู้หญิงมุสลิม รวมถึงความกังวลที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักเหตุผลว่าการเคลื่อนไหวนี้จะนำไปสู่ความไม่เป็นระเบียบ ความไม่สงบและความรุนแรงในสังคม
ท้ายที่สุด ศาลตัดสินว่าคำสั่งห้ามการชุมนุมประท้วงนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้น การชุมนุมประท้วงก็ถูกยกเลิกไปแล้ว
เรื่องราวของกลุ่ม เลอ ฮิญาบูซส์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการที่ผู้คนถูกกีดกันและถูกเลือกปฏิบัติ มักต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่โหดร้ายยิ่งขึ้นเมื่อพวกเขาใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วง การต่อสู้เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติในกีฬาฝรั่งเศสยังคงดำเนินต่อไป

ตำรวจในพื้นที่ชุมนุมประท้วง
ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 (ต้นปีพ.ศ. 2453) เป็นต้นมา วิธีที่ตำรวจและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ใช้กับผู้ชุมนุมประท้วงคือการเพิ่มกำลังทหารในการรับมือกับการชุมนุมประท้วงมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งการติดอาวุธเพื่อปราบปรามการชุมนุมประท้วง การจัดหาอุปกรณ์ของทหารให้กับตำรวจ เช่น รถหุ้มเกราะ เครื่องบินแบบที่ใช้ในทางการทหาร โดรนเพื่อสอดแนมข้อมูล ปืนและอาวุธจู่โจม ระเบิดแสงและปืนใหญ่คลื่นเสียง (sound cannon)
กองกำลังทหารถูกจัดตั้ง ฝึกฝน และติดอาวุธเพื่อเตรียมพร้อมไว้สำหรับสงครามและการป้องกันประเทศ แต่อาจจะยังไม่ได้รับการฝึกฝนในการรับมือกับการชุมนุมประท้วง ซึ่งเป็นเหตุผลที่กองกำลังทหารไม่ควรมีบทบาทใดๆ ในการชุมนุมประท้วง ในขณะเดียวกันตำรวจควรได้รับการฝึกอบรมในการลดระดับความตึงเครียด การไกล่เกลี่ย และการดูแลความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
รัฐบาลพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนการใช้กำลังที่เกินขอบเขตและไม่ได้สัดส่วนนี้ด้วยการสร้างภาพให้ผู้ชุมนุมประท้วงเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยสาธารณะ แต่ในความเป็นจริง วิธีการเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการข่มขู่ประชาชนเพื่อปิดปากผู้คนในท้ายที่สุด

อาวุธที่ไม่รุนแรงถึงชีวิต

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและองค์กรอื่นๆ ได้มีการจัดทำเอกสารบันทึกการใช้การกำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมายกับผู้ชุมนุมประท้วงอย่างเป็นประจำ
แม้จะมีกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีการและเวลาที่สามารถใช้ “อาวุธที่ไม่รุนแรงถึงชีวิต” ได้ แต่ผู้ชุมนุมประท้วงยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสจากฝีมือของเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความมั่นคงหากพวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมประท้วง
อุปกรณ์ต่างๆ เช่น สเปรย์พริกไทย แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนยาง มักถูกตำรวจใช้อย่างกว้างขวางและไม่เหมาะสมในการสลายการชุมนุมประท้วง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการควบคุมการใช้อาวุธเหล่านี้ให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น
อุปกรณ์ที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทรมาน
ในบางครั้งเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เพื่อปกป้องผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบและรักษาความปลอดภัยในการชุมนุมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากอุปกรณ์เหล่านั้นถูกใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุมประท้วงได้
ผู้ชุมนุมประท้วงต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสาหัสที่เพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ซึ่งมักเกิดจากปัจจัยสองประการ ได้แก่
- การใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อการทรมานอย่างเป็นปกติโดยแพร่หลาย
- การใช้ “อุปกรณ์มาตรฐานของตำรวจ” ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและอันตรายโดยไม่จำเป็น
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกำลังรณรงค์ให้มีการห้ามผลิตอุปกรณ์ทรมานที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น อุปกรณ์ช็อตไฟฟ้าแบบสัมผัสโดยตรงและกระบองที่มีหนาม อุปกรณ์เหล่านี้ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อก่อให้เกิดความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานอย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมและผิดกฎหมายภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติ
เรายังได้บันทึกการใช้อุปกรณ์มาตรฐานของตำรวจในทางที่ผิด เช่น กระสุนยางและกระบองของตำรวจ อุปกรณ์เหล่านี้อาจมีบทบาทที่ชอบธรรมในการบังคับใช้กฎหมายหากใช้อย่างเหมาะสมและมีความรับผิดชอบ แต่ปรากฎว่ามีกรณีอีกนับไม่ถ้วนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อุปกรณ์เหล่านี้โดยไม่จำเป็นในการปราบปรามการชุมนุมประท้วงจนก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุมประท้วง
ถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้นเพื่อยับยั้งไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายกระทำการที่จะเป็นอันตรายและทรมานผู้ชุมนุมประท้วง
ซึ่งหมายถึงการห้ามใช้อุปกรณ์เหล่านี้ในการทรมานผู้ชุมนุมประท้วง การควบคุมการค้าขายอุปกรณ์อื่นๆ รวมถึงการมีกฎหมายที่ดีขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์มาตรฐานของตำรวจจะถูกใช้ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการใช้กำลังของตำรวจ
การสอดแนมในพื้นที่ชุมนุมประท้วง
เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเพิกเฉยต่อผลกระทบเชิงบวกที่เทคโนโลยี อย่างโซเชียลมีเดียและการสื่อสารดิจิทัลอื่นๆ มีต่อความสามารถของเราในการเข้าร่วมหรือจัดการชุมนุมประท้วง แต่ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในรูปแบบอื่นๆ กลับทำให้การใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
ตำรวจและหน่วยงานของรัฐอื่นๆ มักใช้ซอฟต์แวร์การจดจำใบหน้า กล้องวงจรปิดหรือ CCTV และเทคโนโลยีติดตามสัญญาณโทรศัพท์ (IMSI) เพื่อที่จะติดตามโทรศัพท์มือถือ การใช้วิธีสอดแนมในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่จะรุกล้ำสิทธิในความเป็นส่วนตัวของผู้ชุมนุมประท้วงเท่านั้น แต่ยังสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้คน จนทำให้พวกเขาไม่กล้าที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงตั้งแต่แรก

ชุมนุมประท้วงอย่างไรให้ปลอดภัย
การชุมนุมประท้วงบางครั้งอาจจะปลอดภัยกว่าการชุมนุมประท้วงครั้งอื่นๆ เช่น การชุมนุมที่สามารถไปได้ทั้งครอบครัวหรือเป็นมิตรกับครอบครัว (ที่เด็กสามารถเข้าร่วมได้) หากคุณไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณควรติดต่อผู้จัดงานเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
หากมีความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์อาจกลายเป็นอันตรายมากขึ้น คุณสามารถเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะปลอดภัย คลิกที่นี่เพื่อดูคำแนะนำเพิ่มเติมโดยละเอียดพร้อมขั้นตอนที่คุณสามารถทำได้
- รู้สิทธิของคุณ – คุณมีสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ สิทธิในความเป็นส่วนตัวและสิทธิในการประท้วง หากคุณได้รับบาดเจ็บ คุณมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาล ตำรวจต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง
- มีการวางแผนล่วงหน้า – ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่จัดการชุมนุมประท้วง พร้อมคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในระหว่างการชุมนุมประท้วง แล้ววางแผนกับเพื่อนของคุณเผื่อไว้ในกรณีที่กลุ่มของคุณอาจพลัดหลงกัน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ป้องกันร่างกายได้ – คุณอาจต้องใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังทั้งหมดเพื่อป้องกันคุณจากแสงแดดและสเปรย์พริกไทย นำอุปกรณ์ป้องกันดวงตาที่ทนต่อการแตกหัก เช่น แว่นกันแดดหรือแว่นตาว่ายน้ำ ผ้าพันคอหรือผ้าโพกหัวที่สามารถชุบน้ำได้ ให้เอาน้ำมะนาวหรือน้ำส้มสายชูติดตัวไปด้วย เพื่อที่คุณจะสามารถใช้ปิดจมูกและปากของคุณได้เมื่อจำเป็น
- จัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉิน – นำชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น น้ำสะอาดที่สามารถใช้ล้างดวงตาและใบหน้า บัตรประจำตัว เตรียมเงินสดให้เพียงพอสำหรับค่าโทรศัพท์และค่าเดินทาง รวมทั้งเสื้อผ้าชุดใหม่อีกหนึ่งชุด
- เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชน – หากเป็นไปได้ ให้นำอุปกรณ์ที่สามารถช่วยคุณบันทึกการกระทำของตำรวจ การใช้กำลังในทางที่ผิดและเกินกว่าเหตุ และการบาดเจ็บที่เกิดขึ้น อุปกรณ์เหล่านี้อาจรวมถึงกล้องถ่ายรูป นาฬิกา ปากกาและกระดาษ

การชุมนุมประท้วงในประเทศไทย
ทางการยังคงปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบและผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังคงมีการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกตั้งข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 2563 – 2566 อย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมา (ปี 2567) มีผู้ถูกตั้งข้อหาใหม่อย่างน้อย 22 คนจากการทำกิจกรรมทางการเมืองทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ และในช่วงสิ้นปี คดีของผู้ต้องหาจำนวน 1,256 ราย ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (การใส่ร้าย ดูหมิ่น หรือข่มขู่พระมหากษัตริย์) ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหาฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ข้อหาฐานฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 รวมถึงข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งห้ามการชุมนุมสาธารณะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 (คำสั่งดังกล่าวได้สิ้นสุดลงเมื่อปลายปี 2565)
ในช่วงสิ้นปี มีผู้ถูกคุมขังอย่างน้อย 33 คน รวมถึงหนึ่งคนที่ถูกควบคุมตัวในสถานพินิจ พวกเขาเหล่านี้ถูกตัดสินว่ามีความผิดหรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงหรือจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก
ตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights – TLHR) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับประเทศ ระบุว่าตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 1,960 คนจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงหรือจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในรูปแบบอื่น ๆ
ในเดือนมกราคม ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาตัดสินจำคุก มงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมทางการเมืองเป็นเวลา 22 ปีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นการเพิ่มโทษจากคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ได้ตัดสินไว้ในปี 2566 ให้จำคุก 28 ปีจากความผิดในข้อหาเดียวกัน
ในเดือนมีนาคม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษของสหประชาชาติสามคนได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยเพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับโทษจำคุกที่ยาวนาน ซึ่งนับว่าเป็นโทษที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมาในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาจเป็นการตอบโต้ต่อบทบาในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของมงคล ถิระโคตร อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายน ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกเขาเพิ่มเติมอีกสี่ปีหกเดือน ในข้อหาเดิม
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง” นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยเสียชีวิตในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 110 วัน เพื่อประท้วงจากการที่เธอและคนอื่นๆ ถูกควบคุมตัวโดยพลการ เนติพรอายุ 28 ปี ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและยุยงปลุกปั่นเมื่อปี 2565 จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการการควบคุมการจราจรในช่วงที่มีขบวนเสด็จ เธอเสียชีวิตในขณะที่คดีของเธอยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล
อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียง ถูกศาลอาญากรุงเทพฯ พิพากษาว่ามีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพใน 5 คดีภายในปีเดียว โดยถูกพิพากษาตัดสินจำคุกเป็นเวลา 14 ปีแปดเดือน เพิ่มจากโทษจำคุกสี่ปีสองเดือนที่เขากำลังรับโทษอยู่ก่อนหน้านี้ นอกจากนั้น อานนท์ยังถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและข้อหาอื่นๆ อีก 37 คดี อันเป็นผลจากการเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมทางการเมืองของเขา
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนประชาธิปไตย และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 11 คน โดยไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลวินิจฉัยว่า การรณรงค์ของพรรคเพื่อปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำอะไรบ้างเพื่อปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วง?

ท่ามกลางภัยคุกคามที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อสิทธิในการชุมนุมประท้วง อีกทั้งยังขยายตัวไปในทั่วทุกภูมิภาคของโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เปิดตัวแคมเปญระดับโลกเพื่อเผชิญหน้ากับความพยายามที่เพิ่มขึ้นและรุนแรงขึ้นของรัฐในการทำลายสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเรา
การรณรงค์ในแคมเปญนี้ดำเนินการเพื่อเปิดเผยหากมีการละเมิดสิทธิในการชุมนุมประท้วงและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการต่างๆ เพื่อเรียกร้องความรับผิดรับชอบและสามารถตรวจสอบได้จากผู้ที่เกี่ยวข้อง
โดยการทำงานร่วมกัน เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงได้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน เพื่อขยายเสียงของนักเคลื่อนไหวและขบวนการที่ขับเคลื่อนโดยประชาชน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยในประเด็นเรื่องสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงให้
- รัฐมีความรับผิดชอบโดยต้องประกันให้มีการคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการชุมนุม โดยเฉพาะเมื่อเป็นการรวมตัวกันของบุคลเพื่อประท้วงต่อต้านนโยบายของรัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนส่วนรวม โดยสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมนั้นครอบคลุมถึงสิทธิในการชุมนุมในโลกอนไลน์หรือทางอินเทอร์เน็ตซึ่งจำต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน การจำกัดต่อเสรีภาพในการชุมนุมใดๆ ต้องได้สัดส่วน
- รัฐจะต้องกำหนดให้มีกลไกและขั้นตอนปฏิบัติอย่างเพียงพอ เพื่อประกันให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมได้ในทางปฏิบัติ โดยไม่ถูกจำกัดจากระเบียบทางราชการที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรกำหนดให้ประชาชนที่ต้องการชุมนุมต้องขออนุญาตก่อนจะจัดการชุมนุมขึ้น
- รัฐควรหาทางอำนวยความสะดวกและคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะในจุดที่ผู้จัดการชุมนุมเลือก และยังควรรับประกันไม่ให้มีการขัดขวางความพยายามในการเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมที่จะมีขึ้น
- รัฐควรให้ความสำคัญในเบื้องต้นกับแนวทางที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวน้อยสุด แต่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมได้
- รัฐต้องไม่กำหนดมาตรการจำกัดสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื้อหาของกิจกรรมนั้น
- หน่วยงานของรัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มไม่ว่าด้วยเหตุผลใด อีกทั้งต้องปฏิบัติตามพันธกรณีด้านกฎหมายของตน และควรรับผิดชอบต่อข้อผิดพลาดใดๆ ทั้งในขั้นตอนเชิงปฏิบัติหรือเชิงข้อเท็จจริง โดยควรมีการประเมินความรับผิดที่สอดคล้องตามหลักการของกฎหมายปกครองและการพิจารณาของศาล ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ
- รัฐบาลควรประกันว่าจะคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบและการสมาคม ต้องมีการป้องกันไม่ให้มีการใช้กำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ชุมนุมประท้วง และต้องมีการทบทวนและแก้ไขกฎหมาย นโยบายและแนวปฏิบัติใดๆ ที่ละเมิดต่อสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบและสมาคม
- ยกเลิกข้อกล่าวหา สั่งไม่ฟ้องคดีและงดเว้นจากการดำเนินคดีเพิ่มเติมต่อบุคคลใดๆ ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งบุคคลที่ถูกดำเนินคดีตามข้อกำหนดห้ามการชุมนุมสาธารณะที่ประกาศใช้ตามพระราชกำหนดการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกบทบัญญัติในกฎหมาย ซึ่งถูกนำมาใช้ปราบปรามผู้ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เช่น พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- จัดให้มีมาตรการเยียวยาอย่างเป็นผลสำหรับผู้ใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับความเสียหายจากการใช้กำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือจากการคุกคาม ข่มขู่และการสอดแนมข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวย เพื่อส่งเสริมให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชนและผู้ชุมนุมโดยสงบ สามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออก โดยปราศจากการข่มขู่ คุกคามหรือดำเนินคดี
- ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ เพียงพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข
- ประกันสิทธิด้านสุขภาพของผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศตามข้อกำหนดเนลสัน แมนเดลลา รวมถึงประเด็นการเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยทันที และการรักษาพยาบาลเฉพาะทางหรือการผ่าตัดที่จำเป็นตามความต้องการ
ปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วง! เหตุใดเราจึงต้องรักษาสิทธิในเสรีภาพการชุมนุม
การชุมนุมประท้วงที่ถูกคุกคามทั่วโลก
ปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วง
สิทธิในการชุมนุมประท้วงกำลังถูกโจมตี ผู้ชุมนุมต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการเกี่ยวกับสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ หลายคนถูกสลายการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่บางคนต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลากหลายรูปแบบระหว่างการชุมนุมประท้วงในที่สาธารณะ แผนที่นี้จะแสดงให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วโลก
ในเดือนกรกฎาคม 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เปิดตัวแคมเปญ Protect the Protest ซึ่งเป็นแคมเปญใหม่ระดับโลกที่มุ่งเผชิญหน้ากับภัยคุกคามต่อสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนและกำลังขยายวงกว้างในทุกภูมิภาคของโลก เป้าหมายของเราคือการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบของตนได้อย่างปลอดภัยและไม่มีผลกระทบใด ๆ ตามมา เราจะรณรงค์ในประเด็นเรื่องนี้ผ่านการท้าทายการปราบปรามการชุมนุมประท้วงโดยสงบ การแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้ที่ถูกปราบปราม และการสนับสนุนสาเหตุของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิทธิมนุษยชน
ร่วมส่งเสียงของคุณต่อการเรียกร้องระดับโลกเพื่อปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วงและเข้าร่วมแคมเปญของเราวันนี้
“ปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วง
เข้าร่วมแคมเปญระดับโลกเพื่อปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วงไปด้วยกัน !!!”