(Photo by Chris McGrath/Getty Images)

มาตรฐานระหว่างประเทศสำหรับเสรีภาพในการชุมนุม

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการชุมนุม

“การชุมนุม” หมายถึง “การรวมตัวโดยเจตนาเป็นการชั่วคราว ในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป้าประสงค์บางประการ อาทิเช่นเพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาที่สำคัญต่อพวกเขา รวมทั้งเพื่อการแสดงความเห็นที่หลากหลายและการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน โดยอาจเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิทางสังคม-เศรษฐกิจ หรือประเด็นอื่น ๆ จึงอาจหมายรวมถึงการเฉลิมฉลอง การร่วมรำลึก การนัดหยุดงาน และการประท้วง เป็นต้น การชุมนุมไม่ว่าจะเป็นการประท้วงทางการเมือง การเดินขบวนด้านวัฒนธรรม การรวมตัวทางอินเตอร์เน็ต หรือรูปแบบการชุมนุมอื่นใดเพื่อเป้าประสงค์ร่วมกัน ต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมพหุนิยมที่เติบใหญ่ขึ้น ซึ่งเอื้อให้กลุ่มที่มีความเชื่อ การปฏิบัติ หรือนโยบายที่หลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติได้ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎบัตรระหว่างประเทศ ภูมิภาค ในประเทศ และแม้กระทั่งกฎหมายในท้องถิ่น 

นิยามการชุมนุม

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม (SR FPAA) นิยามว่า “การชุมนุม” หมายถึง “การรวมตัวโดยเจตนาเป็นการชั่วคราว ในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อเป้าประสงค์บางประการ จึงย่อมหมายรวมถึงการประท้วง การประชุมภายใน การนัดหยุดงาน การเดินขบวน การเดินรณรงค์ หรือการนั่งประท้วง” [1]

การชุมนุมไม่ว่าจะเป็นการประท้วงทางการเมือง การเดินขบวนด้านวัฒนธรรม การรวมตัวทางอินเตอร์เน็ต หรือรูปแบบการชุมนุมอื่นใดเพื่อเป้าประสงค์ร่วมกัน ต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมพหุนิยมที่เติบใหญ่ขึ้น เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎบัตรระหว่างประเทศ ภูมิภาค ในประเทศ และแม้กระทั่งกฎหมายในท้องถิ่น รัฐจึงควรอำนวยให้เกิดและคุ้มครองการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานด้วยวิธีประการต่าง ๆ รวมทั้งการกำหนดกรอบกฎหมายที่เกื้อหนุน[2]

เสรีภาพในการชุมนุมได้รับรองว่า บุคคลสามารถรวมตัวและพบปะกัน ทั้งในที่สาธารณะหรือส่วนตัว การชุมนุมอาจเป็นพื้นที่เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาที่สำคัญต่อพวกเขา โดยอาจเป็นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิทางสังคม-เศรษฐกิจ หรือประเด็นอื่น ๆ[3]

ซึ่งรัฐควรมีความรับผิดชอบโดยต้องประกันให้มีการคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุม โดยเฉพาะเมื่อเป็นการรวมตัวกันของบุคลเพื่อประท้วงต่อต้านนโยบายของรัฐ และท้าทายรัฐ

สิทธิที่จะชุมนุมโดยสงบครอบคลุมถึงสิทธิที่จะเลือกที่ชุมนุมและเวลาการชุมนุมได้อย่างเสรี โดยอาจเป็นถนนหลวง ถนนอื่นใดและพื้นที่สาธารณะ   

สิทธิที่จะชุมนุมทางอินเตอร์เน็ตต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน[4]

 

ความสำคัญของเสรีภาพในการชุมนุม[5]

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเป็นสิทธิที่พึงได้รับและสามารถใช้ได้โดยบุคคลและกลุ่ม สมาคมที่ไม่ได้จดทะเบียน หน่วยงานนิติบุคคลและหน่วยงานที่เป็นบรรษัท การชุมนุมอาจมีเป้าประสงค์หลายประการ รวมทั้งการแสดงความเห็นที่หลากหลาย ไม่เป็นที่นิยมของมหาชน หรือเป็นความเห็นของคนส่วนน้อย อาจเป็นความพยายามที่สำคัญในการรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรม และการอนุรักษ์อัตลักษณ์ของชนกลุ่มน้อย การคุ้มครองเสรีภาพที่จะชุมนุมโดยสงบมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสถาปนาสังคมพหุนิยมที่เปิดกว้าง ซึ่งเอื้อให้กลุ่มที่มีความเชื่อ การปฏิบัติ หรือนโยบายที่หลากหลาย สามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติได้

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง การอำนวยความสะดวกให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ประกันให้บุคคลในสังคมมีโอกาสแสดงความเห็นที่สอดคล้องกับบุคคลอื่น ด้วยเหตุดังกล่าว เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจึงนำไปสู่การสานเสวนาในภาคประชาสังคม และระหว่างภาคประชาสังคมกับผู้นำทางการเมืองและรัฐบาล 

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบอาจทำหน้าที่ตอบสนองเป้าประสงค์หลายประการ รวมทั้งการแสดงความเห็นและการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน การเฉลิมฉลอง การร่วมรำลึก การนัดหยุดงาน และการประท้วง เป็นต้น การใช้เสรีภาพดังกล่าวจึงสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในเชิงกระบวนการ และอาจเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบำรุงรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรม และการอนุรักษ์อัตลักษณ์ของชนกลุ่มน้อย เป็นสิทธิที่ได้รับการหนุนเสริมจากสิทธิและเสรีภาพอื่น ๆ เช่น เสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการจัดตั้งและรักษาความสัมพันธ์ภายในอาณาบริเวณของรัฐ เสรีภาพในการเดินทาง สิทธิที่จะเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิด้านความคิด มโนธรรมสำนึก และศาสนา ด้วยเหตุดังกล่าว เสรีภาพในการชุมนุมจึงมีความสำคัญขั้นพื้นฐานต่อพัฒนาการของบุคคล ศักดิ์ศรี และการบรรลุเป้าหมายในชีวิตของบุคคลทุกคน และเพื่อความก้าวหน้า และสวัสดิการของสังคม  

นอกจากตอบสนองผลประโยชน์ด้านประชาธิปไตย ความสามารถในการชุมนุมอย่างเสรี ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งต่อการสถาปนาสังคมพหุนิยมที่เปิดกว้าง เอื้อให้กลุ่มที่มีความเชื่อ การปฏิบัติ หรือนโยบายที่หลากหลาย อยู่ร่วมกันโดยสันติได้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความคิด มโนธรรมสำนึก และศาสนา หน่วยงานของรัฐไม่ได้มีบทบาทในการขจัดสาเหตุของความตึงเครียดโดยการลดทอนความเป็นพหุนิยม หากต้องประกันว่ากลุ่มต่างๆต้องเปิดกว้างต่อความคิดและความเห็นซึ่งกันและกัน 

 

ประเภทของการชุมนุม[6]

กิจกรรมประเภทต่าง ๆ ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ การชุมนุมแบบอยู่กับที่ (เช่น การประชุมสาธารณะ ปฏิบัติการมวลชน แฟลชม็อบ การประท้วง การนั่งประท้วง และการนัดหยุดงาน) และการชุมนุมแบบเคลื่อนที่ (เช่น การเดินพาเหรด การเดินขบวน พิธีแห่ศพ การเดินจาริกแสวงบุญ และการเดินทางด้วยยานพาหนะเป็นกลุ่ม) ตัวอย่างเหล่านี้ยังไม่ครอบคลุมกิจกรรมทุกประเภท และกฎหมายในประเทศควรกำหนดประเภทการชุมนุมที่ต้องได้รับการคุ้มครองให้กว้างขวางมากสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยให้รวมถึงการขี่จักรยานเป็นกลุ่ม การประท้วงด้วยการขับขี่แบบช้า ๆ และการยืนยันสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งการเลือกรูปแบบการแสดงออกซึ่งความเห็น โดยไม่มีการแทรกแซงอย่างไม่ชอบด้วยเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นกิจกรรมประท้วงเชิงสัญลักษณ์ 

หลักการเหล่านี้ให้นำมาใช้กับการชุมนุมในที่สาธารณะ โดยบุคคลทุกคนมีสิทธิอย่างเท่าเทียมที่จะใช้ (สวนสาธารณะ จัตุรัส ถนนหลวง ถนนอื่นใด เส้นทางสัญจร ทางเดินเท้า พื้นที่ทางเดินริมถนน และฟุตบาท เป็นต้น) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐควรมุ่งอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมสาธารณะ ในจุดที่ผู้จัดต้องการให้เกิดการชุมนุม โดยเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

ผู้เข้าร่วมชุมนุมสาธารณะย่อมมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าว ในระยะเวลาที่เหมาะสมเช่นเดียวกับบุคคลอื่น อันที่จริงแล้ว ควรถือว่าการประท้วงในที่สาธารณะและเสรีภาพในการชุมนุมย่อมถือเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะโดยชอบธรรมและเท่าเทียม โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของประโยชน์โดยทั่วไปของพื้นที่สาธารณะแห่งนั้น (เช่นเดียวกับการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือเพื่อการเดินเท้าและการสัญจรของรถ)

 

การกำกับดูแลเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ตามมาตรฐานระหว่างประเทศ

พื้นฐานสำคัญของมาตรฐานด้านกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม ได้แก่ กฎบัตรสิทธิมนุษยชนทั้งที่มีลักษณะทั่วไปและมีลักษณะเฉพาะ โดยกฎบัตรทั่วไปอาจรวมถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, 1948 (UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง,1966 (ICCPR) 

 ข้อ 20 (1) ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกำหนดว่า  

"ทุกคนมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการสมาคม"

ข้อย่อย (2) ของมาตรานี้กำหนดว่า

"บุคคลใดไม่อาจถูกบังคับให้สังกัดสมาคมหนึ่งได้"[7]

ตามกติกา ICCPR, สิทธิในการชุมนุมโดยสงบได้รับการรับรองและคุ้มครองตามข้อ 21

สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น[8]



[1] https://www.menarights.org/sites/default/files/2019-04/The%20right%20to%20peaceful%20assembly%20-%20Issues%20for%20consideration%20by%20the%20Human%20Rights%20Committee.pdf  (หน้า 4: เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563)

[2] https://www.icnl.org/our-work/freedom-of-assembly(เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563)

[3] https://humanrightshouse.org/we-stand-for/freedom-of-assembly/(เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563)

[4] https://humanrightshouse.org/we-stand-for/freedom-of-assembly/(เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563)

[5] https://www.venice.coe.int/webforms/documents/default.aspx?pdffile=CDL-AD(2010)020-e (หน้า 12-15: เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563)

[6] https://www.venice.coe.int/webforms/documents/default.aspx?pdffile=CDL-AD(2010)020-e (หน้า 20-22: เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563)

[7]https://www.article19.org/data/files/pdfs/publications/sub-saharan-africa-freedom-of-association-and-assembly.pdf (เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563)

[8] https://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/CCPR.aspx (เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563)

หลักการพื้นฐาน : สมมติฐานที่จะต้องเอื้อประโยชน์ให้จัดการชุมนุมได้

ในฐานะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจึงควรเป็นสิ่งที่บุคคลใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ถูกควบคุม หากการกระทำใดไม่มีกฎหมายห้ามอย่างชัดเจนย่อมถือว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ และไม่ควรกำหนดให้บุคคลที่ต้องการชุมนุม ต้องขออนุญาตก่อนจะทำเช่นนั้นสมมติฐานที่เอื้อให้เกิดเสรีภาพเช่นนี้ควรได้รับการกำหนดไว้อย่างชัดเจนและเปิดเผยในกฎหมาย

พันธกรณีเชิงบวกของรัฐที่จะอำนวยให้เกิดและคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบ

ถือเป็นความรับผิดชอบหลักของรัฐที่จะต้องกำหนดให้มีกลไกและขั้นตอนปฏิบัติอย่างเพียงพอ เพื่อประกันให้สามารถใช้เสรีภาพนั้นได้ในทางปฏิบัติ โดยไม่ถูกจำกัดจากระเบียบทางราชการที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐควรหาทางอำนวยความสะดวกและคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะในจุดที่ผู้จัดเลือก และยังควรประกันไม่ให้มีการขัดขวางความพยายามในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมที่จะมีขึ้น

 

ความถูกต้องตามกฎหมาย

การจำกัดใด ๆ ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างเป็นทางการ และต้องสอดคล้องกับกฎบัตรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่น ๆ ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐจึงต้องจัดทำกฎหมายอย่างชัดเจนในการให้อำนาจกับหน่วยงานของรัฐที่จะใช้ดุลพินิจ โดยตัวกฎหมายต้องมีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และต้องมีรายละเอียดชัดเจนมากเพียงพอเพื่อช่วยให้บุคคลสามารถประเมินได้ว่า การปฏิบัติของตนละเมิดกฎหมายหรือไม่ และจะมีบทลงโทษอย่างไรต่อการละเมิดเช่นนั้น 

 

ความได้สัดส่วน

การจำกัดต่อเสรีภาพในการชุมนุมใด ๆ ต้องได้สัดส่วน โดยหน่วยงานของรัฐควรให้ความสำคัญในเบื้องต้นกับแนวทางใดที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวน้อยสุด แต่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมได้ หลักความได้สัดส่วนกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ต้องไม่กำหนดมาตรการจำกัดโดยตลอด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื้อหาของกิจกรรมนั้นจนถึงขั้นพื้นฐาน เช่น อาจส่งผลให้ต้องย้ายการชุมนุมไปยังสถานที่ที่ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของเมือง การบังคับใช้มาตรการจำกัดทางกฎหมายแบบเหวี่ยงแห มักส่งผลให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นวงกว้างเกินไป และไม่สอดคล้องกับบททดสอบของความได้สัดส่วน เนื่องจากไม่ได้ให้ความสำคัญต่อลักษณะเฉพาะของแต่ละกิจกรรมเลย

 

การไม่เลือกปฏิบัติ

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิ่งที่บุคคลทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม ในการกำกับดูแลเสรีภาพในการชุมนุม หน่วยงานของรัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลหรือกลุ่มไม่ว่าด้วยเหตุผลใด  

เสรีภาพในการจัดและเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะ ควรเป็นสิทธิของบุคคลและกลุ่ม สมาคมที่ไม่ได้จดทะเบียน หน่วยงานนิติบุคคลและหน่วยงานที่เป็นบรรษัท สมาชิกชนกลุ่มน้อยด้านชาติพันธุ์ กลุ่มระดับชาติ กลุ่มทางเพศ และกลุ่มทางศาสนา ทั้งคนที่มีสัญชาติและคนที่ไม่มีสัญชาติ (รวมทั้งบุคคลผู้ไร้รัฐ ผู้ลี้ภัย บุคคลต่างชาติ ผู้ขอลี้ภัย ผู้เข้าเมือง และนักท่องเที่ยว) ไปจนถึงเด็ก ผู้หญิง และผู้ชาย เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และบุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งผู้มีอาการทางจิต

 

บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันตามกฎหมาย และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมาย โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ในกรณีนี้ กฎหมายจะต้องห้ามการเลือกปฏิบัติใด ๆ และต้องประกันการคุ้มครองบุคคลทุกคนอย่างเสมอภาคและเป็นผลจริงจังจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลใดๆ เช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด ชาติพันธุ์หรือกลุ่มสังคม ผู้ที่มีทรัพย์สิน ชาติกำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ” ข้อ26 ของกติกา ICCPR

 

การบริหารจัดการที่ดี

ประชาชนควรได้รับแจ้งว่า หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อกำหนดว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุม และต้องมีการกำหนดอย่างชัดเจนในกฎหมาย หน่วยงานกำกับดูแลยังควรประกันว่า ประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติและการดำเนินงาน ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะและบุคคลที่อาจได้รับผลกระทบด้านสิทธิและเสรีภาพจากการชุมนุมนั้น ควรมีโอกาสแจ้งความจำนงทั้งโดยวาจาและโดยลายลักษณ์อักษรต่อหน่วยงานที่กำกับดูแล กระบวนการกำกับดูแลควรประกันให้มีการประเมินข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่อย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง ควรมีการแจ้งให้ทราบโดยทันทีหากจะมีการจำกัดใด ๆ ต่อการชุมนุม และให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้จัดงาน โดยอธิบายถึงเหตุผลที่ต้องมีการจำกัดในแต่ละเรื่อง การตัดสินใจเช่นนี้ควรเกิดขึ้นโดยเร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้มีการใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลที่เป็นอิสระ ก่อนจะถึงวันที่แจ้งว่าจะมีการชุมนุม  

 

ความรับผิดของหน่วยงานกำกับดูแล

หน่วยงานกำกับดูแลต้องปฏิบัติตามพันธกรณีด้านกฎหมายของตน และควรรับผิดชอบต่อข้อผิดพลาดใด ๆ ทั้งในขั้นตอนเชิงปฏิบัติหรือเชิงข้อเท็จจริง โดยควรมีการประเมินความรับผิดที่สอดคล้องตามหลักการของกฎหมายปกครองและการพิจารณาของศาล ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ 

 

การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม

หน่วยงานกำกับดูแลต้องไม่สร้างอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม เว้นแต่มีเหตุผลที่เหมาะสมในการกระทำเช่นนั้น แนวทางด้านล่างนี้อาจมีส่วนช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถตรวจสอบได้ว่าเหตุผลของตนมีความชอบธรรมหรือไม่

 

พื้นที่สาธารณะ

การชุมนุมเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะโดยชอบธรรม เช่นเดียวกับการจัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ และการสัญจรของยานพาหนะและการเดินเท้า เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักในการพิจารณาถึงความจำเป็นของมาตรการจำกัดใดๆ 

 

การจำกัดเชิงเนื้อหา 

การชุมนุมเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความเห็นร่วมกัน จึงมีเป้าหมายเพื่อสื่อข้อความบางประการ การจำกัดเนื้อหาทั้งในเชิงภาพหรือเสียงของการสื่อสารเช่นนี้ ต้องเป็นไปตามหลักความจำเป็น และควรมีการจำกัดก็ต่อเมื่อเนื้อหานั้นอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้อย่างชัดเจน

 

การจำกัดในเชิงเวลา สถานที่ และพฤติกรรมของการชุมนุม

หน่วยงานกำกับดูแลย่อมมีทางเลือกมากมายในการจำกัด โดยไม่ให้เป็นการแทรกแซงต่อข้อความที่ผู้ชุมนุมต้องการสื่อสาร กรณีที่ทางการจะควบคุมจำกัดทั้งด้านเวลา สถานที่ หรือพฤติกรรมของการชุมนุม ทางการก็ควรให้ทางเลือกที่ชอบด้วยเหตุผล

 

‘ภาพและเสียง’

การชุมนุมสาธารณะเป็นการจัดขึ้นเพื่อสื่อข้อความไปยังบุคคล กลุ่ม หรือองค์กรที่เป็นเป้าหมายเฉพาะ ด้วยเหตุดังกล่าว ให้ถือเป็นหลักการทั่วไปว่าควรอำนวยความสะดวกให้สามารถจัดการชุมนุม เพื่อให้ประชากรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสามารถได้ยินและได้เห็น ‘ภาพและเสียง’ ของการชุมนุมนั้น[1]  

 

ความสงบเรียบร้อย

การชุมนุมซึ่งผู้จัดมีเจตนาจัดขึ้นโดยสงบ ก็ยังอาจถูกจำกัดอย่างชอบธรรมด้วยเหตุผลเพื่อความสงบเรียบร้อยในบางสถานการณ์ โดยการจำกัดเช่นนั้นสามารถทำได้เมื่อมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าผู้เข้าร่วมอาจใช้หรือยั่วยุให้มีปฏิบัติการที่ฝ่าฝืนกฎหมายและไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย และมีแนวโน้มว่าปฏิบัติการเช่นนั้นจะเกิดขึ้นจริง แนวทางเช่นนี้จัดทำขึ้นเพื่อขยายความคุ้มครองต่อการแสดงความเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ และการวิจารณ์ทางการเมือง แม้การแสดงความเห็นเช่นนี้อาจทำให้บุคคลอื่นๆไม่เห็นด้วย

ต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือและพิสูจน์ได้ว่า ผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมการชุมนุมใด ๆ อาจมีการใช้ความรุนแรง กรณีที่มีพยานหลักฐานว่าอาจมีความรุนแรงเกิดขึ้น ผู้จัดต้องได้รับโอกาสอย่างเต็มที่และเป็นธรรม ในการปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยการเสนอพยานหลักฐานที่ชี้ว่าการชุมนุมนี้จะเป็นไปโดยสงบ

 

ความปลอดภัยของสาธารณะ

ข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสาธารณะอาจเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการจัดการชุมนุมนอกเหนือจากเวลากลางวัน หรือเมื่อมีการใช้ยานพาหนะเคลื่อนที่เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุม ในกรณีเช่นนั้น ควรมีการใช้มาตรการป้องกันเป็นพิเศษแทนที่จะใช้มาตรการจำกัด  

รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองความปลอดภัยของสาธารณะ และไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดไม่ควรมีการมอบหมายหรือผลักภาระนี้ให้กับผู้จัดการชุมนุม อย่างไรก็ดี ผู้จัดและผู้ดูแลการชุมนุมอาจให้ความช่วยเหลือเพื่อประกันให้เกิดความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป ผู้จัดการชุมนุมอาจโต้แย้งข้อกล่าวหาว่าจะเกิดปัญหาต่อความปลอดภัยของสาธารณะเนื่องจากการชุมนุมของตนได้ โดยกำหนดให้มีมาตรการดูแลผู้ชุมนุมอย่างเพียงพอ 

 

การคุ้มครองสาธารณสุข

ในบางกรณีที่อาจมีการอ้างเหตุผลด้านสาธารณสุขเพื่อจำกัดการชุมนุมสาธารณะ การจำกัดเช่นนี้ไม่ควรถูกกำหนดขึ้น เว้นแต่การใช้มาตรการในลักษณะเดียวกันนี้เพื่อจำกัดในระดับปัจเจกบุคคลด้วยเช่นกัน ดังนั้น ก่อนจะให้เหตุผลสนับสนุนการจำกัดด้วยเหตุจำเป็นเพื่อคุ้มครองสาธารณสุข มาตรการจำกัดในลักษณะเดียวกันต้องเคยถูกนำมาใช้ในโรงเรียน คอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา และกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งคนทั่วไปเคยรวมตัวกันมาก่อน

การจำกัดอาจเกิดขึ้นได้กรณีที่สุขภาพของผู้เข้าร่วมชุมนุมอาจได้รับผลกระทบร้ายแรง แต่ในทำนองเดียวกัน ทางการไม่ควรอ้างเหตุผลเช่นนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชุมนุมโดยสงบ แม้ในการชุมนุมนั้นจะใช้วิธีอดอาหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการประท้วงก็ตาม

 

การคุ้มครองศีลธรรมอันดี

ต้องมีการทดสอบมาตรการที่อ้างว่านำมาใช้เพื่อคุ้มครองศีลธรรมของประชาชน โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่เป็นกลาง เพื่อพิจารณาว่ามาตรการเช่นนี้สอดคล้องกับความจำเป็นเร่งด่วนทางสังคมหรือไม่ และสอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนหรือไม่ อันที่จริง การอ้างว่าการจัดกิจกรรมนั้นมีพฤติการณ์ที่ขัดต่อหลักศีลธรรม อาจไม่เป็นเหตุผลมากเพียงพอ หากต้องเป็นพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรม และมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย  

นอกจากนั้น ไม่ควรถือว่าการคุ้มครองศีลธรรมอันดีเป็นข้ออ้างที่เหมาะสม เพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม แนวโน้มที่จะพึ่งพาเหตุผลเช่นนี้ มักนำไปสู่การควบคุมเนื้อหาและเป็นการเลือกปฏิบัติ การจำกัดย่อมละเมิดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เว้นแต่ว่าเป็นการจำกัดที่กระทำได้ตามมาตรฐานที่ควบคุมดูแลเนื้อหาและการไม่เลือกปฏิบัติ

 

การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

หน่วยงานกำกับดูแลมีหน้าที่จัดสมดุลให้เหมาะสม ระหว่างเสรีภาพที่จะชุมนุมโดยสงบที่มีความสำคัญ กับสิทธิที่สำคัญเช่นกันของบุคคลที่จะใช้ชีวิต ทำงาน ซื้อข้าวของ ค้าขาย และทำธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม โดยความสมดุลเช่นนี้ควรส่งผลให้กิจกรรมอื่น ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่เดียวกัน โดยหากไม่ทำให้เกิดภาระอย่างไม่เหมาะสม การกระทบในลักษณะชั่วคราวต่อการจราจรของยานพาหนะหรือการเดินเท้า ไม่อาจเป็นเหตุผลอันชอบด้วยตัวของมันเองที่จะจำกัดการชุมนุม รวมทั้งการต่อต้านการชุมนุมก็ไม่ใช่เหตุผลมากเพียงพอให้จำกัดการชุมนุมนั้นล่วงหน้า เมื่อคำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องเปิดกว้างในหลายๆเรื่องในสังคมประชาธิปไตย จึงต้องมีการกำหนดเกณฑ์เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าการชุมนุมสาธารณะนั้นจะส่งผลให้เกิดการละเมิดอย่างไม่ชอบด้วยเหตุผลต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญเมื่อพิจารณาว่านิยามของเสรีภาพในการชุมนุม ถือเป็นการแทรกแซงชั่วคราวต่อสิทธิอื่น ๆ เท่านั้น  

แม้ในกรณีทั่วไปเจ้าของธุรกิจและผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อาจไม่ได้รับการปรึกษาหารือก่อนจะมีการชุมนุม แต่กรณีที่สิทธิเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้อง ย่อมถือเป็นการปฏิบัติที่ดีที่ผู้จัดการชุมนุมและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ที่จะจัดการพูดคุยกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อหาแนวทางที่ดีสุดในการคุ้มครองสิทธิที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดความพึงพอใจร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

การประเมินผลกระทบของกิจกรรมสาธารณะที่มีต่อสิทธิของผู้อื่น ต้องอยู่บนพื้นฐานการพิจารณาอย่างเหมาะสมว่ามีการจัดชุมนุมในลักษณะเดียวกันต่อกลุ่มเป้าหมายเดียวกันบ่อยครั้งเพียงใด โดยอาจต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อพิจารณาว่า ผลกระทบสะสมที่มีต่อประชากรกลุ่มอื่นเนื่องจากการชุมนุมประเภทต่าง ๆ (ยกตัวอย่างเช่น การชุมนุมในพื้นที่พักอาศัยของบุคคล) มีลักษณะเป็นการคุกคามในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต้องได้รับการจำกัดอย่างเหมาะสม เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้อื่น ในบางสถานการณ์ การประท้วงอย่างต่อเนื่องของบางกลุ่ม แม้จะสงบก็อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบ ซึ่งอาจจะต้องมีการควบคุมอย่างเหมาะสมเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นได้ หลักความได้สัดส่วนกำหนดว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ควรมีการใช้การจำกัดที่สร้างภาระน้อยสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

ความมั่นคงของชาติ

ประเด็นเรื่องความมั่นคงของชาติมักถูกตีความอย่างกว้างขวางเกินไปในแง่เสรีภาพในการชุมนุม

  • กฎหมายที่มีจุดประสงค์เพื่อต่อต้าน ลัทธิก่อการร้าย’ และ ‘ลัทธิสุดโต่ง: ต้องไม่อ้างการดำเนินงานเพื่อต่อต้านลัทธิก่อการร้ายหรือ ‘ลัทธิสุดโต่ง’ และเพื่อส่งเสริมความมั่นคง เป็นเหตุผลให้สามารถจำกัดการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้โดยพลการ
  • การเลี่ยงพันธกรณีในช่วงสงครามหรือภาวะฉุกเฉินสาธารณะอื่น ๆ: ในช่วงที่เกิดสงครามหรือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณะซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาติ รัฐอาจใช้มาตรการเพื่อเลี่ยงการปฏิบัติตามพันธกรณีในการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมได้ แต่ให้ทำเช่นนั้นได้เฉพาะเท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อความฉุกเฉินของสถานการณ์นั้น และเฉพาะเมื่อมาตรการเช่นนั้นไม่ขัดแย้งต่อพันธกรณีอื่น ๆ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ วิกฤติหรือสถานการณ์ฉุกเฉินต้องมีลักษณะที่ ‘กระทบต่อประชากรทั้งหมด และเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตอย่างเป็นระบบของชุมชนซึ่งประกอบขึ้นเป็นรัฐแห่งนั้น’[2]


[1] https://www.venice.coe.int/webforms/documents/default.aspx?pdffile=CDL-AD(2010)020-e (หน้า 9: เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563)

[2] https://www.venice.coe.int/webforms/documents/default.aspx?pdffile=CDL-AD(2010)020-e (หน้า 40-45: เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563)

[3] https://www.venice.coe.int/webforms/documents/default.aspx?pdffile=CDL-AD(2010)020-e (หน้า7-9: เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563)

การควบคุมการชุมนุมสาธารณะ

ยุทธวิธีการประท้วงที่หลากหลายและรูปแบบการสื่อสารใหม่ ๆ ย่อมทำให้เกิดปัญหาท้าทายต่อการควบคุมการชุมนุมสาธารณะ อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายนอกจากจะต้องตระหนักถึงการมีอยู่ของสิทธิขั้นพื้นฐานแล้ว ยังจะต้องมีหน้าที่ในเชิงบวกเพื่อปกป้องดูแลสิทธิเหล่านั้น  

หลักการทั่วไปและการปฏิบัติที่ดี

 

  1. หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายควรมีบทบาทในเชิงรุกในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้จัดการชุมนุม: เจ้าหน้าที่ควรสื่อข้อความที่ชัดเจนเพื่อให้ทราบถึงความคาดหวังต่อการชุมนุม และลดความเสี่ยงที่จะเร่งให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น นอกจากนั้น หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายยังควรมอบหมายให้มีผู้ซึ่งทำหน้าที่ติดต่อ โดยผู้ประท้วงสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้ทั้งก่อนหรือในระหว่างการชุมนุม โดยควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงรายละเอียดการติดต่อนี้อย่างกว้างขวาง
  2. ปฏิบัติการควบคุมควรมีลักษณะที่เกิดขึ้นจากนโยบาย ซึ่งไม่สร้างความประหลาดใจ’:เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรให้เวลากับผู้เข้าร่วมชุมนุมในการปฏิบัติตามคำแนะนำ โดยควรมีการให้คำเตือนหรือคำแนะนำล่วงหน้ากับพวกเขา
  3. ควรมีการกำหนดโครงสร้างการบังคับบัญชาของการบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจน:โครงสร้างการบังคับบัญชาที่ชัดเจนและการมอบหมายความรับผิดชอบในการปฏิบัติที่ชัดเจน ช่วยให้เกิดการประสานงานอย่างเหมาะสมระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายกับผู้จัดการชุมนุม และช่วยประกันให้เกิดความรับผิดเนื่องจากการตัดสินใจในการปฏิบัติใด ๆ  
  4. ประกันให้มีการสื่อสารระหว่างหน่วยงาน: เป็นเรื่องสำคัญที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ตัวแทนของหน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยงานความปลอดภัยของสาธารณะอื่น ๆ(ตำรวจดับเพลิงและพยาบาล เป็นต้น) จะต้องสามารถสื่อสารซึ่งกันและกัน และแลกเปลี่ยนข้อมูลในระหว่างการชุมนุมสาธารณะได้ เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันที่ผู้จัดการชุมนุมต้องทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพื่อช่วยเหลือหน่วยงานเหล่านี้ในการรับมือกับภัยฉุกเฉินหรือเมื่อเกิดการกระทำที่เป็นอาชญากรรมขึ้นมา การวางแผนรับมือฉุกเฉินระหว่างหน่วยงานอย่างรอบด้าน ยังช่วยประกันให้มีการรักษาช่องทางการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ 
  5. เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรเป็นบุคคลที่จำแนกตัวได้อย่างชัดเจน: เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่สวมชุดเครื่องแบบ ต้องสวมหรือแสดงเครื่องหมายที่เป็นสัญลักษณ์ของตน (เช่น ป้ายชื่อหรือหมายเลข) โดยให้ติดอยู่บนเครื่องแบบและ/หรือหมวก และไม่ให้ปลดสัญลักษณ์หรือปกปิดสัญลักษณ์เหล่านี้ หรือขัดขวางไม่ให้บุคคลอื่นอ่านข้อความในป้ายเหล่านี้ในระหว่างการชุมนุม
  6. ไม่ควรนำมาตรการที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวและเกิดจากการคาดการณ์ล่วงหน้ามาใช้:เว้นแต่มีอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนและเร่งด่วน ในสภาพที่เกิดความรุนแรงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ควรเข้าแทรกแซงด้วยการเรียกให้หยุด ตรวจค้น และ/หรือควบคุมตัวผู้ประท้วงระหว่างเดินทางไปชุมนุม 
  7. ไม่ควรใช้อำนาจแทรกแซงเสมอ: การที่ตำรวจ (หรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่น ๆ) มีอำนาจแทรกแซง สลายการชุมนุม หรือใช้กำลังได้ ไม่ได้หมายความว่าควรมีการใช้อำนาจเช่นนั้นเสมอไป กรณีที่การชุมนุมเกิดขึ้นโดยเป็นการละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ยังเกิดขึ้นโดยสงบ การไม่เข้าแทรกแซงหรือการไม่เข้าสนับสนุนอาจเป็นแนวทางที่ดีสุดเพื่อประกันให้เกิดผลลัพธ์ที่สงบ ในหลายกรณี การสลายการชุมนุมอาจส่งผลให้เกิดปัญหามากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมาย มากกว่าการยืดหยุ่นและการอำนวยความสะดวก และการควบคุมอย่างจริงจังหรือหนักหน่วงเกินไปมีแนวโน้มจะทำลายความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับชุมชน นอกจากนั้น ต้นทุนของการควบคุมที่เกิดจากการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิขั้นพื้นฐานอื่น ๆ มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าต้นทุนการควบคุมความไม่สงบเรียบร้อยเนื่องจากการกดขี่ที่มากขึ้น
  8. การตอบโต้ของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต้องได้สัดส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทางเลือกมากมาย และทางเลือกของพวกเขาไม่ใช่แค่การเลือกที่จะไม่แทรกแซงหรือการบังคับใช้มาตรการจำกัดล่วงหน้า และการยกเลิกหรือสลายการชุมนุม 
  9. ใช้การไกล่เกลี่ยหรือการเจรจาเพื่อลดความตึงเครียดในระหว่างการชุมนุมหากเกิดการเผชิญหน้าหรือข้อพิพาทในระหว่างการชุมนุม การเจรจาหรือการพูดคุยเพื่อไกล่เกลี่ยอาจเป็นแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดทางออกที่ยอมรับได้
  10. เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรแยกแยะระหว่างผู้เข้าร่วมกับบุคคลที่ไม่ใช่ผู้เข้าร่วม:การควบคุมการชุมนุมสาธารณะควรมีความละเอียดอ่อนต่อบุคคลที่อาจไม่ใช่ผู้เข้าร่วม (เช่น คนที่มามุงดู หรือผู้สังเกตการณ์) ซึ่งพวกเขาอาจอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับการชุมนุม 
  11. เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรแยกแยะระหว่างผู้เข้าร่วมที่สงบและไม่สงบ: ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแบบประปรายหรือการกระทำที่รุนแรงของผู้เข้าร่วมเพียงบางคน ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะออกคำสั่งอย่างเหวี่ยงแหเพื่อจำกัดผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบทั้งหมด เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจึงไม่ควรปฏิบัติต่อบุคคลที่มารวมตัวกันราวกับเป็นคนกลุ่มเดียวกันทั้งหมด หากต้องมีการควบคุมตัวผู้เข้าร่วม หรือหากต้องมีการสลายการชุมนุม (โดยให้เป็นทางเลือกสุดท้าย)  
  12. ไม่ควรจำกัดการถ่ายภาพหรือวิดีโอ (ทั้งของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้เข้าร่วมแต่การเก็บรักษาข้อมูลอาจละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว: ในระหว่างการชุมนุมสาธารณะ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายอาจถ่ายภาพหรือวิดีโอผู้เข้าร่วมได้ อย่างไรก็ดี แม้ว่าการติดตามข้อมูลบุคคลในที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ในการจำแนกตัว อาจไม่ส่งผลเป็นการแทรกแซงสิทธิในความเป็นส่วนตัวเสมอไป แต่การบันทึกข้อมูลเช่นนั้น และการนำข้อมูลไปประมวลผลอย่างเป็นระบบ หรือการเก็บรักษาข้อมูลอย่างถาวร อาจเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ อย่างไรก็ดี การถ่ายภาพหรือวิดีโอของการชุมนุมเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมข่าวกรอง อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้บุคคลไม่สามารถใช้เสรีภาพของตนได้อย่างเต็มที่ จึงไม่ควรเป็นสิ่งที่กระทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรมีการขัดขวางการถ่ายภาพหรือวิดีโอในระหว่างปฏิบัติการเพื่อควบคุมผู้เข้าร่วมและบุคคลที่สาม และการสั่งให้ส่งมอบฟิล์มหรือข้อมูลดิจิทัลของภาพ หรือคลิบวีดิโอต่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายควรเป็นคำสั่งที่ผ่านการพิจารณาของศาลแล้ว หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายควรจัดทำและเผยแพร่นโยบายเกี่ยวกับการใช้ภาพถ่ายหรือวีดิโอของการชุมนุมสาธารณะอย่างเปิดเผย

 



[1] https://www.venice.coe.int/webforms/documents/default.aspx?pdffile=CDL-AD(2010)020-e (หน้า 66-72: เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563)