© Zoë Tryon

ชนเผ่าพื้นเมือง

ทั่วโลกมีชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 370 ล้านคน และกระจายอยู่มากกว่า 90 ประเทศ ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองมีกว่า 5,000 เผ่าและมีภาษาพื้นเมืองมากกว่า 4,000 ภาษา โดยมีสัดส่วนประมาณ 5% ของประชากรโลก และชนเผ่าพื้นเมืองส่วนใหญ่ประมาณ 70% อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย

ถึงแม้ว่า ชนเผ่าพื้นเมืองมีประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาต้องเจอสภาพความเป็นจริงที่เหมือนกัน นั่นคือ ถูกบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐานออกจากที่ดินของบรรพบุรุษ ถูกปฏิเสธไม่ให้แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมของชนเผ่าตัวเอง ถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกปฏิบัติในฐานะพลเมืองชั้นสอง

ชนเผ่าพื้นเมืองมักถูกผลักให้เป็นกลุ่มคนชายขอบและต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้น ซึ่งทำให้พวกเขาต้องเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงและการถูกละเมิดมากขึ้น นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองผู้ซึ่งออกมาพูดมักต้องเผชิญกับการถูกข่มขู่และใช้ความรุนแรง ซึ่งส่วนมากเป็นการกระทำจากภาครัฐ นอกจากนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองอาจถูกทำร้ายร่างกายและถูกฆ่าเพียงเพราะสถานะของพวกเขา

ความพยายามอย่างสันติในการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมหรือการครอบครองที่ดินดั้งเดิมที่มักอุดมไปด้วยทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพของชนเผ่าพื้นเมืองนี้ มักนำไปสู่การถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏหรือผู้ก่อการร้าย

การถูกเลือกปฏิบัติเป็นเหตุผลว่าทำไมชนเผ่าพื้นเมืองกว่าร้อยละ 15 ของโลก มีสถานะที่ยากจนที่สุด นอกจากนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกยังต้องเผชิญกับกับสภาพที่ไม่มีดินแดนสำหรับที่พักอาศัย ขาดสารอาหาร และเกิดการพลัดถิ่นภายในประเทศที่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทำงานเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในทุกภูมิภาคทั่วโลก และเรียกร้องให้รัฐต่างๆ ใช้และพัฒนากฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อปกป้องดินแดน วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง

ชายชนเผ่าพื้นเมืองเดินลาดตระเวนป่าในดินแดนอูรู - อู - วอ – วอ หรือ Uru-Eu-Wau-Wau (ในรัฐรอนโดเนีย ประเทศบราซิล) เพื่อปกป้องป่าจากการยึดและการตัดไม้ในที่ดินอย่างผิดกฎหมาย เดือนมีนาคม 2562 © Gabriel Uchida

 

ชนเผ่าพื้นเมืองคือใคร

ชนเผ่าพื้นเมืองสามารถระบุได้ด้วยลักษณะบางประการ ได้แก่

  • ลักษณะที่สำคัญที่สุดคือพวกเขาระบุตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง

  • พวกเขามีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์กับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศหรือภูมิภาคในช่วงเวลาที่ผู้คนต่างวัฒนธรรมหรือชาติพันธุ์มาอาศัยในประเทศหรือภูมิภาคนั้น

  • พวกเขามีความเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับดินแดนและทรัพยากรธรรมชาติโดยรอบ

  • พวกเขามีระบบสังคม เศรษฐกิจหรือการเมืองที่เป็นเอกลักษณ์

  • พวกเขามีภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์

  • พวกเขาเป็นคนชายขอบและถูกเลือกปฏิบัติโดยรัฐ

  • พวกเขารักษาและพัฒนาสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่ม

แต่ละลักษณะเหล่านี้อาจมีความสำคัญมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ชนเผ่าพื้นเมืองยังเป็นที่รู้จักกันในนามชนชาติแรก ชนพื้นเมืองดั้งเดิม หรือชนพื้นเมือง ในบางประเทศอาจมีคำศัพท์เฉพาะเช่น Adivasis (อินเดีย) หรือ Janajatis (เนปาล) เป็นต้น

ชนเผ่าพื้นเมืองมักมีความสัมพันธ์พิเศษกับดินแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่มาหลายชั่วอายุคน อีกทั้ง พวกเขามีความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับวิธีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์หรือผู้ดูแลแผ่นดินสำหรับคนรุ่นต่อไป ดังนั้น การสูญเสียดินแดนของพวกเขาหมายถึงการสูญเสียเอกลักษณ์ของพวกเขา

 

กฎหมายระหว่างประเทศและชนเผ่าพื้นเมือง

สิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองได้บัญญัติอยู่ในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งปฏิญญานี้ได้รับการลงนามเห็นชอบในปี 2550

นอกจากนี้ เวทีถาวรสหประชาชาติว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมือง เป็นหน่วยงานกลางของสหประชาชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นของชนเผ่าพื้นเมือง ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม การศึกษา สุขภาพและสิทธิมนุษยชน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543

 

สิทธิในที่ดินของชนเผ่าพื้นเมือง

สิทธิในการครอบครองและเป็นเจ้าของที่ดินของชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐไม่สามารถโยกย้ายถิ่นฐานของชนเผ่าพื้นเมืองได้ หากปราศจากความยินยอมและฉันทานุมัติที่ได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า รวมทั้งไม่ให้การชดเชยที่เหมาะสมและเป็นธรรม

ดินแดนที่ชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่เป็นที่ตั้งของความหลากหลายทางชีวภาพกว่า 80% บนโลก และอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน แก๊ส ไม้และแร่ธาตุ อย่างไรก็ตาม ที่ดินเหล่านี้มักถูกจัดสรร ขาย ให้เช่า หรือถูกปล้น หรือทำให้ที่ดินเป็นมลพิษ ซึ่งการกระทำเช่นนี้มักเป็นการกระทำของรัฐบาลและบริษัทเอกชน

ชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากถูกโยกย้ายออกจากดินแดนของตน เนื่องด้วยนโยบายที่เลือกปฏิบัติหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในที่ดินของชนเผ่าพื้นเมืองต้องเผชิญกับความรุนแรง หรือแม้กระทั่งการถูกสังหารเมื่อพวกเขาพยายามปกป้องดินแดนของตน

การละเมิดสิทธิมนุษยชนในสิทธิที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง เป็นการกระตุ้นให้ชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากละทิ้งดินแดนเดิมของตนไปอยู่ตามเมืองต่างๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การถูกตัดขาดจากทรัพยากรและประเพณีที่มีความสำคัญต่อสวัสดิภาพและชีวิตความเป็นอยู่ ยังทำให้พวกเขาต้องถูกผลักให้เป็นกลุ่มคนชายขอบ ต้องเผชิญกับความยากจน โรคภัยและความรุนแรงที่มากขึ้น และบางครั้งก็สูญเสียก็ความเป็นมนุษย์

Máxima Acuña, นักเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องสิทธิในที่ดินของชนเผ่าพื้นเมืองจากประเทศเปรู © Raúl García Pereira/Amnistía Internacional

 

กรณีศึกษา: เปรู

แอมเนสตี้รณรงค์ในกรณีของ Máxima Acuña Atalaya เธอเป็นชาวนาชาวเปรูผู้ยืนหยัดต่อสู้กับบริษัทเหมืองแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก บริษัทนั้นพยายามข่มขู่เธอให้ออกจากที่ดินเพื่อที่พวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นเวลากว่าห้าปีในการดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินที่ไม่มีมูลความจริง ต่อมา ศาลฎีกาพิพากษาว่าไม่มีเหตุผลที่จะดำเนินการพิจารณาคดีที่ไร้มูลความจริงและในเดือนพฤษภาคม 2560 ข้อกล่าวหา Máxima ก็ถูกยกฟ้อง

ความสำเร็จในการรณรงค์นี้มาจากผู้สนับสนุนของแอมเนสตี้มากกว่า 150,000 คนที่ส่งจดหมายและข้อความสนับสนุนไปยัง Máxima

 

สถานการณ์ต่อชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นผู้หญิงและเด็ก

จากอินเดียถึงเปรู ชนเผ่าพื้นเมืองผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะประสบกับอัตราการเสียชีวิตจากการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ด้วยเหตุผลว่าชนเผ่าพื้นเมืองผู้หญิงมีโอกาสน้อยที่จะใช้สถานบริการสาธารณสุขเมื่อตั้งครรภ์ เนื่องจากการถูกเลือกปฏิบัติและได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น พวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากการคลอดบุตร ตัวอย่างเช่น ในปานามาและรัสเซีย ชนเผ่าพื้นเมืองผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากการคลอดบุตรมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ใช่ชนเผ่าพื้นเมืองประมาณหกเท่า หรืออัตราการคลอดบุตรของเด็กสาววัยรุ่นชาว Amerindian เป็นสองเท่าของประชากรชาวกียานี หรือในเคนยา ผู้หญิงชาวมาไซมีโอกาสที่จะไม่ฝากครรภ์มากกว่าสองเท่า และในประเทศนามิเบียผู้หญิงชนเผ่าซานมีแนวโน้มที่จะคลอดบุตรโดยไม่ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญถึงสิบเท่า

เหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนหนึ่งที่รุนแรงคือการที่ชนเผ่าพื้นเมืองผู้หญิงและชาวกัมเปซิโนที่ยากจนกว่า 2,000 คน ถูกรัฐทำหมันโดยไม่ได้รับความยินยอมในประเทศเปรูในปี 2533 แต่เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 สำนักงานอัยการในกรุงลิมาได้ปิดคดีและปฏิเสธการให้ความยุติธรรมแก่ผู้หญิงเหล่านี้

ในบางประเทศ ชนเผ่าพื้นเมืองผู้หญิงต้องทนทุกข์ทรมานจากความรุนแรงในครอบครัวอย่างไม่ได้สัดส่วน เนื่องจากพวกเธอต้องเผชิญกับความคับข้องใจและความโกรธเคือง ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกเลือกปฏิบัติที่ฝังลึกและส่งผลกระทบต่อชุมชนในวงกว้าง

ชนเผ่าพื้นเมืองที่เป็นเด็กยังเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด ในตอนใต้ของแอฟริกา พบว่าเด็กๆของชนเผ่าซานและชนเผ่าพื้นเมืองอื่น ๆ นั้นเข้าถึงการศึกษาได้ยาก หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ข้ามพรมแดนซึ่งมาจากชุมชนของชนเผ่าพื้นเมือง

 

กรณีศึกษา: ชนเผ่าพื้นเมือง Sengwer

คุณสามารถสนับสนุนชนเผ่าพื้นเมือง Sengwer ในเคนย่าได้

สมาชิกชุมชนของชนเผ่าพื้นเมือง Sengwer ประเทศเคนยา ป่า Embobut เดือนกรกฎาคม 2651© Amnesty International

 

ชนเผ่าพื้นเมือง Sengwer อาศัยอยู่ในป่า Embobut ประเทศเคนยาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ต่อมา Kenya Forest Service (KFS) ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ได้โยกย้ายชาว Sengwer ออกจากป่า โดยเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่าชาว Sengwer สร้างความเสียหายให้แก่ป่าไม้ แต่รัฐบาลไม่ได้มีหลักฐานใดในเรื่องนี้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่รัฐยังเผาบ้านของชาว Sengwer และใช้ความรุนแรงและข่มขู่สมาชิกในชุมชน 

 

พวกเราสามารถสนุบสนุนชาว Sengwer ด้วยการลงนามที่นี่

https://www.amnesty.org/en/get-involved/take-action/w4r-2018-kenya-sengwer-indigenous-people/ 

 

“ชาว Sengwer ไม่เคยได้รับการปรึกษาและการแจ้งความยินยอมโดยเสรีก่อนที่พวกเขาจะถูกโยกย้าย ซึ่งนี่เป็นการละเมิดกฎหมายเคนยาและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง” - Irungu Houghton ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เคนยา

 

เปลี่ยนวันโคลัมบัส

มีประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในทวีปอเมริกาและอีกหลายมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้เปลี่ยนวันหยุดประจำชาติ กล่าวคือ วันโคลัมบัส ให้เป็นวันชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อเฉลิมฉลองความยืดหยุ่นและวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองในทวีป

การเฉลิมฉลองวันโคลัมบัสในหลายประเทศในภูมิภาคและที่อื่น ๆ มีขึ้นเพื่อแสดงถึงวันครบรอบการค้นพบทวีปอเมริกาของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1492

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีความตระหนักมากขึ้นว่าการค้นพบของโคลัมบัสไม่ได้เป็นเพียงแค่การมาถึงของชาวยุโรปในโลกใหม่ แต่ยังเป็นการเริ่มต้นของความรุนแรง การแสวงหาผลประโยชน์ การปราบปรามและความทุกข์ทรมานของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วทวีปอเมริกา

วันชนเผ่าพื้นเมือง เรียกอีกชื่อว่า วันของคนแรก วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งชาติ วันของชาวอินเดียน (บราซิล) หรือวันชนพื้นเมืองอเมริกัน

 

สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง 

ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกถูกปฏิเสธสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง ซึ่งเป็นหลักสำคัญในกฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิในการตัดสินใจเป็นสิทธิของประชาชนในการกำหนดสถานะทางการเมืองของตนได้อย่างอิสระ และสามารถกำหนดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนได้อย่างอิสระ ในทางกลับกัน ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเผชิญความทุกข์ทรมานจากความรุนแรงและการกดขี่ ทั้งจากผู้ล่าอาณานิคมและสังคมโดยทั่วไป

ช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ประเทศแคนาดาได้แยกเด็กพื้นเมืองออกจากครอบครัว และนำพวกเขาไปอยู่ในโรงเรียนประจำที่ได้รับทุนจากรัฐบาลกลาง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กซึมซับกับสังคม นอกจากนี้ “โรงเรียนของชาวอินเดียน” ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ภาษาพื้นเมืองหรือแสดงออกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชนเผ่า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ “ชาวอะบอริจินจึงไม่สามารถดำรงอยู่ด้วยฐานะที่แตกต่างในการมีรัฐบาล วัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ที่เป็นของตน” ผลจากการกระทำของรัฐทำให้เด็กพื้นเมืองประมาณ 150,000 คนถูกละเมิดสิทธิจากโรงเรียนเหล่านี้

ในอีกทางหนึ่ง เด็กชาวอะบอริจินในประเทศออสเตรเลียยังถูกบังคับให้หลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมของคนผิวขาวและถูกจัดให้อยู่ในสถาบันที่พวกเขาถูกล่วงละเมิดและถูกทอดทิ้ง เด็กเหล่านี้เรียกว่า “ช่วงวัยที่หายไป”

Rosco Loy นักขี่ม้า ที่บ้านของเขาที่ Mosquito Bore ซึ่งห่างจากเมือง Alice Springs ประเทศออสเตรเลย 280 กิโลเมตร วันที่ 8 ตุลาคม2554 © Amnesty International/Chloe Geraghty


ปกป้องวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง

ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเผชิญกับการกีดกันและการเลือกปฏิบัติเพียงเพราะเขามีสถานะเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งการถูกเลือกปฏิบัติส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา และยังเป็นการจำกัดสิทธิในการศึกษา สาธารณสุขและการอยู่อาศัย

อายุขัยโดยเฉลี่ยของชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกลดต่ำลงถึง 20 ปีเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ใช่ชนเผ่าพื้นเมือง

นอกจากนี้ ยังพบว่าชนเผ่าพื้นเมืองมักมีสถานะที่พบได้มากในกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ไม่รู้หนังสือ และคนว่างงาน ชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาความยากจน ไร้ที่ดิน ขาดสารอาหารและการพลัดถิ่นภายในประเทศที่สูงขึ้น

 

ภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมืองมีความสำคัญต่อสภาพแวดล้อม

แม้ว่าชนเผ่าพื้นเมืองมีสัดส่วนคิดเป็น 5% ของประชากรโลก แต่ชนเผ่าพื้นเมืองได้ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของโลกได้ถึง 80%

ปริมาณคาร์บอนมากกว่า 20% ที่กักไว้บริเวณเหนือพื้นดินในป่าไม้ของโลกพบได้ในที่ดินที่จัดการโดยชนพื้นเมืองในลุ่มน้ำอเมซอน เมโสอเมริกา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และประเทศอินโดนีเซีย

ภูมิปัญญาอันซับซ้อนของชนเผ่าพื้นเมืองในเรื่องของธรรมชาติหมายถึงการที่พวกเขาสามารถครอบครองหรือเป็นเจ้าของในพื้นดิน ป่าไม้ และความอุดมสมบูรณ์ของชีวภาพ และการใช้สอยที่ดินอย่างยั่งยืนของพวกเขาจึงเป็นการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและเป็นการสร้างความยืดหยุ่นต่อภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้

พวกเราต้องสนับสนุนชนเผ่าพื้นเมืองและรักษาภูมิปัญญาซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสนับสนุนชนเผ่าพื้นเมืองอย่างไร

แอมเนสตี้ทำงานร่วมกับชนเผ่าพื้นเมืองในการพัฒนากฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อปกป้องดินแดน วัฒนธรรมและสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา และในระดับระหว่างประเทศ เพื่อให้ชนเผ่าพื้นเมืองได้เรียกร้องต่อรัฐบาลต่างๆ แอมเนสตี้ช่วยสนับสนุน เช่น การพัฒนาปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง 

แอมเนสตี้ยังทำงานเพื่อสนับสนุนชนเผ่าพื้นเมืองในการเรียกร้องสิทธิในที่ดิน ดังเช่นกรณีของชนเผ่าพื้นเมือง Sawhoyamaxa ในประเทศปารากวัยที่ได้รับชัยชนะในการต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อกลับไปยังดินแดนบรรพบุรุษของพวกเขาในปี 2557 หลังจากพวกเขาต้องใช้ชีวิตในสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายมากว่า 20 ปี

 “ พวกเราชนเผ่าพื้นเมืองต่างร้องไห้เมื่อเราได้รับอิสรภาพ วันนี้เหมือนเราออกมาจากคุก พวกเราหลายคนร้องไห้เพราะมันสะเทือนอารมณ์”- Carlos Mareco หัวหน้าชุมชนของชนเผ่า Sawhoyamaxa ได้กล่าวไว้

สมาชิกชุมชนของชนเผ่าพื้นเมือง Yakye Axa และ Sawhoyamaxa เดินขบวนไปยังสภาคองเกรสเพื่อยื่นหนังสือซึ่งเป็นลายเซ้นการสนับสนุนจากทั่วโลก ประเทศปารากวัย วันที่ 31 มีนาคม 2552 © Amnesty International


แอมเนสตี้เรียกร้องให้

รัฐบาลต้องดำเนินการตามกฎหมายและนโยบายที่ทำให้ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองเป็นไปตามเจตนารมณ์ โดยเฉพาะในประเด็นต่อไปนี้

  • ให้คำปรึกษาแก่ชนเผ่าพื้นเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขอฉันทานุมัติที่ได้รับการแจ้งให้ทราบสำหรับการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

  • รักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม

  • ให้พวกเขาดำเนินชีวิตโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติและการคุกคามจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

  • ให้พวกเขาได้รับความปลอดภัยในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่และวิถีชีวิต