ภาพรวม
การทรมานคือการที่บุคคลซึ่งอยู่ในตำแหน่งหรือมีอำนาจทางราชการกระทำให้ผู้อื่นได้รับความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ โดยมีวัตถุประสงค์บางอย่างเป็นการเฉพาะ บางครั้งเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทรมานบุคคลเพื่อให้รับสารภาพในคดีอาชญากรรม หรือเพื่อให้ได้ข้อมูลจากพวกเขาเหล่านั้น และบางครั้งการทรมานก็ถูกใช้เป็นเพียงการลงโทษที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัวในสังคม
วิธีการทรมานมีหลากหลายรูปแบบ อาจเป็นการทรมานทางร่างกาย เช่น การทุบตีหรือการช็อตไฟฟ้า บีบหรือรัดคอให้หายใจไม่ออก อาจเป็นการทรมานทางเพศ เช่น การข่มขืนหรือการล่วงละเมิดทางเพศหรือการเหยียดหยามอันเนื่องจากเพศสภาพ หรืออาจเป็นการทรมานทางจิตใจ เช่น การบังคับอดนอน อดอาหารและน้ำ หรือการขังเดี่ยวเป็นเวลานาน การทรมานด้วยรูปแบบใหม่ๆ อาจทำให้ไม่เกิดรอยแผลบนร่างกายของบุคคล แต่สามารถสร้างความเจ็บปวดอันแสนสาหัสต่อบุคคลได้ เช่น การทุบตีด้วยวัสดุพิเศษหรือขังไว้ในห้องเย็น ทำให้การตรวจสอบร่องรอยของการทรมานทำได้ยากขึ้น
ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงประเภทหนึ่งและถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พฤติกรรมเหล่านี้ถูกห้ามอย่างชัดเจนและเด็ดขาดในระดับนานาชาติมานานหลายทศวรรษ เนื่องจากการทรมานเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นการกระทำที่บ่อนทำลายขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งไม่มีเหตุผลหรือข้ออ้างใดๆ ที่สามารถรับรองความชอบธรรมของการทรมานได้ ปัจจุบันมี 172 ประเทศได้ให้สัตยาบันในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งห้ามกระทำการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และมี 165 ประเทศเป็นภาคีของอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลหลายประเทศล้มเหลวในการบัญญัติให้การทรมานเป็นความผิดเฉพาะตามกฎหมายภายในประเทศของตน และรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกยังคงละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศโดยกระทำการทรมานประชาชนในประเทศของตน ระหว่างเดือนมกราคม 2552 ถึงพฤษภาคม 2556 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรายงานเกี่ยวกับการทรมานจาก 141 ประเทศซึ่งครอบคลุมทุกภูมิภาคของโลก
การทรมานไม่สามารถหาเหตุผลใดมาสนับสนุนหรือรองรับการกระทำดังกล่าวได้ มันเป็นการกระทำที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม และเป็นการแทนที่หลักนิติธรรมด้วยความหวาดกลัว ไม่มีใครปลอดภัยหากรัฐบาลยังคงอนุญาตให้สามารถกระทำการทรมานได้
ข้อเท็จจริงสำคัญ
ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ได้รายงานว่ามีการทรมานเกิดขึ้นในอย่างน้อยสามในสี่ของประเทศทั่วโลก หรือ 141 ประเทศ
44%
เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามกลัวว่าจะถูกทรมานหากถูกควบคุมตัว
80%
มากกว่า 80% ต้องการกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อปกป้องพวกเขาจากการทรมาน
1/3
มากกว่าหนึ่งในสามของประชาชนเชื่อว่าการทรมานสามารถเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล
คดีการทรมานที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก เช่น โครงการกักขังลับของซีไอเอ (CIA) ในหลายประเทศทั่วโลก ได้นำไปสู่ความเข้าใจผิดอย่างแพร่หลายว่าการทรมานมักจำกัดอยู่แค่ในประเด็นด้านความมั่นคงของชาติและการต่อต้านการก่อการร้ายเท่านั้น
แต่จากงานวิจัยของแอมเนสตี้พบว่า การทรมานสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรที่กระทำความผิดเล็กน้อย คนจากกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย ผู้ชุมนุมประท้วง นักกิจกรรมเยาวชนที่เป็นนักเรียนนักศึกษา หรือแม้แต่คนที่เพียงแค่อยู่ผิดที่ผิดเวลา
ผู้ที่มักตกเป็นเหยื่อของการถูกทุบตี ถูกล่วงละเมิดหรือถูกข่มขืนโดยตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐมากที่สุด ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนยากจนและคนชายขอบ เพราะไม่มีใครคอยปกป้องหรือรับฟังเสียงร้องขอความช่วยเหลือของพวกเขา
การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ในประเทศไทย
ในส่วนของประเทศไทย ไทยเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานมาตั้งแต่ปี 2551 อนุสัญญาดังกล่าวห้ามการทรมานและปฏิบัติโหดร้ายในทุกสภาพการณ์และไม่มีข้อยกเว้น รัฐบาลไทยได้ประกาศพันธสัญญาในเวทีระหว่างประเทศต่างๆ เช่น เวทีคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนที่จะตั้งกลไกป้องกันการทรมาน ซึ่งรัฐบาลไทยได้ออกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหาย) โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป มีวัตถุประสงเพื่อให้เกิดการป้องกัน ปราบปรามและเยียวยาผู้เสียหาย พร้อมทั้งสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดจากการทรมานและการหายสาบสูญที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
ในเดือนพฤศจิกายน คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติได้เผยแพร่ข้อสังเกตเชิงสรุปจากรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนครั้งที่สองของประเทศไทย และได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความไม่สอดคล้องของเนื้อหาในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 กับมาตรฐานระหว่างประเทศ
ในเดือนกุมภาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติแปดคนได้ส่งหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับสภาพการควบคุมตัวของผู้ขอลี้ภัยชาวอุยกูร์จำนวน 43 คน ที่ถูกกักตัวอยู่ในสถานกักกันคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สวนพลู) ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี หรืออาจถึงขั้นเป็นการทรมาน โดยทั้ง 43 คนเป็นกลุ่มชาวอุยกูร์จากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีน ซึ่งได้ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เดินทางมาถึงประเทศไทยในปี 2557 มีรายงานว่ามีผู้ถูกคุมขังอย่างน้อยห้าคนในกลุ่มนี้ รวมถึงเด็กสองคน เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว
การทรมานเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศไทยโดยที่สังคมทั่วไปไม่ได้รับรู้ นอกจากนี้ กรอบกฏหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สมบูรณ์ เป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้การทรมานเกิดขึ้น และที่ผ่านมา ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดของไทยที่กระทำการทรมาน แล้วได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม
พวกเขาบอกให้ผมดูภาพถ่ายและถามว่าใช่ตัวผมหรือไม่ ผมบอกว่าไม่
ไฟซาล (นามสมมุติ) ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ปี 2558
พวกเขาก็ถามซ้ำอีก พอผมปฏิเสธเป็นครั้งที่สาม พวกเขาก็เริ่มเตะผม
จากนั้นเอากุญแจมือมาใส่ผมโดยให้ไพล่มือไปด้านหลัง จากนั้นเอาผ้ารัดคอผมจากข้างหลัง และถามผมว่า แก [เป็นคนทำความผิดนี้] ใช่หรือไม่
มีเจ้าหน้าที่อยู่หกคน พอผมทำท่าจะขาดลมหายใจ พวกเขาก็หยุด จากนั้นก็เริ่มทำซ้ำอีก พวกเขาทำแบบนี้สามครั้ง ผมคิดว่าผมต้องตายแน่
จากนั้นพวกเขาเอาถุงพลาสติกมาคลุมศีรษะผม และรัดด้วยผ้าพันคอไว้ด้านหลัง พวกเขายังตบและเตะผม ใช้พานท้ายปืนตีที่หลังและหน้าอก ทำให้ผมหายใจไม่ออก ผมได้แต่ร้องไห้และพูดว่า ‘ผมไม่ได้ทำ’
แต่พวกเขาก็ยังไม่หยุด พวกเขาทำแบบนี้ประมาณครึ่งชั่วโมง
แล้วผมก็เป็นลมหมดสติไป
การทรมานผู้ชุมนุมประท้วงในอียิปต์
ระหว่างการลุกฮือของประชาชนในอียิปต์เมื่อปี 2554 กองกำลังความมั่นคงได้ใช้การทรมานเป็นอาวุธเพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง สำหรับผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นผู้หญิงจำนวน 18 คนที่ถูกจับกุม พวกเธอถูกบังคับตรวจค้นร่างกายโดยการบังคับให้เปลื้องผ้าและ “ตรวจพรหมจรรย์” ซึ่งพวกเธอถูกกระทำในลักษณะดังกล่าวหลังจากเจ้าหน้าที่ทหารทำการปราบปรามการชุมนุมอย่างรุนแรงที่จัตุรัสตะหฺรีร์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 ผู้หญิง 17 คนในกลุ่มนั้นยังถูกทำร้ายร่างกาย ถูกช็อตด้วยกระบองไฟฟ้า และถูกข่มขู่ว่าจะตั้งข้อหาค้าประเวณีอีกด้วย
แอมเนสตี้เชื่อว่าการบังคับให้ผู้หญิงต้องผ่านกระบวนการที่ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี เช่น “การตรวจพรหมจรรย์” ถือเป็นการทรมานอย่างไม่ต้องสงสัย
ในเดือนมกราคมปี 2557 มาห์มูด ฮุสเซน ซึ่งขณะนั้นอายุ 18 ปี ถูกจับกุมเพราะสวมเสื้อยืดที่มีสโลแกนว่า “ชาติที่ปราศจากการทรมาน” เขาต้องใช้เวลาอยู่ในคุกมากกว่าสองปี
ทางการได้ผ่านกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่ ซึ่งทำให้มาตรการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ที่มีอยู่เดิมลดน้อยลงไปอีก ในขณะเดียวกัน การทรมานยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย
แอมเนสตี้ทำอะไรบ้างเพื่อต่อสู้กับการทรมาน?
การทรมานมักเกิดขึ้นอย่างลับๆ ทั้งในห้องขังของตำรวจ ห้องสอบสวนหรือเรือนจำ ตลอดเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ทำงานบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการทรมาน เปิดโปงผู้กระทำผิดและช่วยเหลือเหยื่อให้ได้รับความยุติธรรม
เราทำให้ผู้คนตระหนักถึงสิทธิของตนเอง และทำให้แน่ใจว่ารัฐบาลที่กระทำการทรมานจะไม่สามารถลอยนวลพ้นผิดได้
เรากำลังรณรงค์ให้มีการนำมาตรการต่างๆ มาบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อคุ้มครองผู้คนจากการถูกทรมานและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย มาตรการเหล่านี้รวมถึง การตรวจสอบสถานกักกันโดยหน่วยงานอิสระ การติดตามการสอบสวน การทำให้ผู้ต้องหาสามารถเข้าถึงทนายความและศาลได้อย่างรวดเร็ว การเปิดโอกาสให้ญาติเข้าเยี่ยมหรือสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัว และการสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานอย่างรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วนและมีประสิทธิภาพ
และเรายังต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับเหยื่อของการทรมาน
เช่น โมเสส อาคาทูคบา (Moses Akatugba) ต้องใช้ชีวิตในแดนประหารในประเทศไนจีเรียถึง 10 ปี หลังจากถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานขโมยโทรศัพท์มือถือจำนวนสามเครื่อง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทรมานเขาเพื่อบังคับให้รับสารภาพ โดยใช้คีมดึงเล็บเท้าและเล็บมือของเขาออก
ส่วนหนึ่งของแคมเปญ Stop Torture (ยุติการการทรมาน) ของแอมเนสตี้ มีผู้คนจากทั่วโลกมากกว่า 800,000 คนได้ร่วมกันเขียนจดหมายถึงนายเอ็มมานูเอล อูดัวแฮน (Emmanuel Uduaghan) ผู้ว่าการรัฐเดลตา เพื่อเรียกร้องให้เขาปล่อยตัวโมเสส

โมเสสมีข้อความฝากถึงทุกคนที่ได้ลงมือช่วยเหลือเขา:
ผมไม่รู้จักผู้ที่ร่วมรณรงค์เหล่านี้มาก่อน ผมไม่เคยเห็นพวกเขาเลย แต่เมื่อผมร้องขอความช่วยเหลือ พวกเขาก็ตอบสนองอย่างแข็งขันเพื่อช่วยชีวิตผม ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าผู้คนยังมีความรักอันยิ่งใหญ่ต่อเพื่อนมนุษย์มากขนาดนี้
โมเสส อาคาทูคบา
เครื่องมือในการทรมาน
ไม่ควรมีใครแสวงหาประโยชน์จากความเจ็บปวดของผู้อื่น
แต่ถึงอย่างนั้น เครื่องมือในการทรมาน ไม่ว่าจะเป็นกระบองที่มีหนาม เสื้อสำหรับช็อตไฟฟ้า กุญแจมือสำหรับล็อกนิ้วหัวแม่มือและโซ่ตรวนสำหรับใส่ที่ขา ยังคงมีการซื้อขายกันทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทยังคงจำหน่ายอุปกรณ์ทั่วไปสำหรับการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กุญแจมือ กระบองหรือสเปรย์พริกไทย ให้กับกองกำลังความมั่นคงที่นำไปใช้กระทำการทรมาน
ในปี 2549 หลังจากที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และ Omega Research Foundation ได้รณรงค์มาเป็นเวลาหลายปี สหภาพยุโรป (EU) ก็ได้ออกกฎระเบียบที่มีผลผูกพันทางกฎหมายฉบับแรกของโลกเพื่อควบคุมการซื้อขาย “เครื่องมือในการทรมาน”
ขณะนี้เรากำลังรณรงค์ให้มีการออกกฎระเบียบระหว่างประเทศที่คล้ายคลึงกัน เพื่อห้ามการผลิตและการขายอุปกรณ์ที่ใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน และควบคุมการค้าสินค้าที่อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมโลกจะต้องดำเนินการเพื่อควบคุมการค้าขายที่น่าละอายนี้
กรณีศึกษา: เรือนจำเซดนายา (Saydnaya Prison)
เรือนจำทหารเซดนายาในประเทศซีเรีย อดีตผู้ต้องขังได้เล่าถึงสภาพความเป็นอยู่อันเลวร้าย พวกเขาถูกยัดเยียดให้อยู่ในห้องขังที่สกปรกและแออัด ไม่มีอากาศบริสุทธิ์ถ่ายเท แสงแดดเข้าไม่ถึง การระบายอากาศไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังถูกทรมานตั้งแต่ช่วงเวลาที่ถูกจับกุม เศษอาหารเพียงเล็กน้อยถูกโยนลงบนพื้นห้องขังที่เปื้อนเลือดจากบาดแผลของนักโทษ
นักโทษหลายคนกล่าวว่า พวกเขาถูกข่มขืนหรือถูกบังคับให้ข่มขืนผู้ต้องขังคนอื่น การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ เช่น การทำร้ายร่างกาย ถูกใช้เป็นรูปแบบการลงโทษและการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมักส่งผลให้เกิดความเสียหายถาวรตลอดชีวิต ความพิการหรือแม้แต่ความตาย การทรมานยังถูกใช้เพื่อบังคับให้รับสารภาพเท็จ ซึ่งในเวลาต่อมาจะถูกนำมาใช้เป็น “หลักฐาน” ในการตัดสินประหารชีวิต
นักโทษหลายคนกล่าวว่า พวกเขาถูกข่มขืนหรือถูกบังคับให้ข่มขืนผู้ต้องขังคนอื่น การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ เช่น การทำร้ายร่างกาย ถูกใช้เป็นรูปแบบการลงโทษและการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมักส่งผลให้เกิดความเสียหายถาวรตลอดชีวิต ความพิการหรือแม้แต่ความตาย การทรมานยังถูกใช้เพื่อบังคับให้รับสารภาพเท็จ ซึ่งในเวลาต่อมาจะถูกนำมาใช้เป็น “หลักฐาน” ในการตัดสินประหารชีวิต
วิธีการทรมาน
เมื่อเราคิดถึงการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ เรามักจะนึกถึงสิ่งต่าง ๆ เช่น การให้อยู่ในท่าที่ต้องรองรับน้ำหนักจำนวนมาก การช็อตไฟฟ้า และการทำให้รู้สึกเหมือนจมน้ำ ซึ่งการกระทำทารุณเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำในหลายประเทศ
แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ยังรวมถึงการกระทำต่าง ๆ เช่น สภาพเรือนจำที่ไร้มนุษยธรรม การขังเดี่ยว และการปฏิเสธการรักษาพยาบาล
กรณีศึกษา: การทรมานผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยของรัฐบาลออสเตรเลีย
ตั้งแต่ปี 2558 รัฐบาลออสเตรเลียได้บังคับย้ายผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยที่เดินทางมาถึงออสเตรเลียโดยเรือไปยังค่ายในปาปัวนิวกินีและนาอูรู
ในพื้นที่ห่างไกลเช่นนั้น ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกลงโทษโดยไม่มีโอกาสที่จะแสวงหาอิสรภาพและขอความคุ้งครองได้เลย ความเกลียดชังจากประชาชนในพื้นที่ บางครั้งนำไปสู่การทำร้างร่างกายหรือความรุนแรงทางเพศอย่างรุนแรง และผู้ลี้ภัยถูกปฏิเสธการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยทางจิตและการทำร้ายตัวเองในอัตราที่สูง โดยความไม่แน่นอนที่ดำเนินอยู่นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหานี้ ทั้งนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 12 รายบนเกาะมานัสและนาอูรูนับตั้งแต่เริ่มต้นนโยบายที่โหดร้ายเหล่านี้
“ระบบการประมวลผลนอกชายฝั่ง” ของออสเตรเลียถือเป็นการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ เพราะมันได้สร้างความเสียหายทางจิตใจและร่างกายอย่างรุนแรง ซึ่งลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยต้องเผชิญ และเนื่องจากมันถูกออกแบบมาโดยมีเจตนาเพื่อทำร้ายผู้คนโดยเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเดินทางเข้ามาในประเทศออสเตรเลีย
ทำไมรัฐบาลถึงต้องใช้วิธีการทรมาน?
รัฐบาลมักใช้เรื่องความมั่นคงของชาติเป็นข้ออ้างในการทรมานผู้คน เช่น ในประเทศแคเมอรูน แอมเนสตี้ได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่กองกำลังความมั่นคงได้สร้างห้องทรมานลับสำหรับผู้ต้องหา ซึ่งบ่อยครั้งไม่มีหลักฐานใดๆ แสดงว่าผู้ต้องหาเหล่านี้เป็นสมาชิกของกลุ่มกองกำลังติดอาวุธอย่างโบโกฮาราม
ฟาติมา (นามสมมติ) เล่าให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟังว่าเธอถูกกักขังในฐานทัพของกองกำลังทหารโดยไม่สามารถติดต่อกับภายนอกได้เป็นเวลาเก้าเดือน เธอถูกทุบตีด้วยวัตถุต่าง ๆ รวมถึงไม้และด้ามจับของมีดพร้า
“ที่ฐานทัพในคูสเซรี ฉันถูกกักขังในห้องขังร่วมกับผู้หญิงอีกสองคน” ฟาติมากล่าว “[ทหาร] ทุบตีฉันทั่วทั้งร่างกายเป็นเวลาสามวันด้วยสิ่งของต่างๆ โดยเฉพาะที่ฝ่าเท้า เพื่อให้ฉันยอมรับในสิ่งที่ฉันไม่รู้จัก หลังจากวันที่สาม ฝ่าเท้าของฉันแทบจะระเบิดออกมา”
การทรมานและ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย”
ค่ายกักกันในอ่าวกวนตานาโมถูกตั้งขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาในเดือนมกราคม 2545 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่กระทำโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ในนามของการต่อสู้กับการก่อการร้าย ผู้คนหลายร้อยคนถูกกักขังในที่นั่นเป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีการตั้งข้อหาและถูกทรมาน (หรือที่สหรัฐฯ เรียกว่า “เทคนิคการสอบสวนขั้นสูง” หรือ “การสอบสวนขั้นสูง”)
อดีตผู้ต้องขังเล่าว่าเคบถูกทรมานด้วยวิธีการต่าง ทั้งการทำให้รู้สึกเหมือนจมน้ำ การไม่ให้นอนหลับ การถูกบังคับให้ฟังเพลงเสียงดังตลอดเวลา และการถูกบังคับให้ทนกับอุณหภูมิที่หนาวเย็น หรือการถูกบังคับให้อยู่ในท่าที่ต้องรับน้ำหนักจำนวนมาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รณรงค์เพื่อให้ผู้ต้องขังทั้งหมดในกวนตานาโมได้รับการปล่อยตัวโดยทันที หรือถูกตั้งข้อหาด้วยความผิดทางอาญาที่ยอมรับได้ ขณะนี้มีนักโทษ 40 คนที่ยังคงถูกคุมขังในกวนตานาโม
ซีไอเอ (CIA) ถูกเปิดเผยว่าได้ดำเนินการสร้างสถานกักขังลับหรือ “ด้านมืด” (black sites) ในหลายที่ทั่วโลก รายงานจากคณะกรรมการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯ อธิบายว่า ผู้ต้องขังคนหนึ่งถูกใส่กุญแจมือกับราวแขวนเหนือศีรษะ ทำให้เขาไม่สามารถลดแขนลงได้เป็นเวลา 22 ชั่วโมงต่อวันติดต่อกันสองวัน นอกจากนี้เขายังถูกบังคับให้สวมผ้าอ้อมอีกด้วย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อเปิดเผยความเกี่ยวข้องของหลายประเทศต่อโครงการกักขังลับและการส่งตัวผู้ต้องขังของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แอมเนสตี้ได้เข้าแทรกแซงในคดีที่ยื่นโดยผู้ต้องขังสองรายจากกวนตานาโม
ทำไมถึงต้องยุติการทรมาน?
กระทำการทรมานได้ทำลายชีวิตของผู้คน กัดกร่อนหลักนิติธรรม ทำลายระบบยุติธรรมทางอาญา และบ่อนทำลายความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อสถาบันของรัฐและรัฐที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นตัวแทน
การทรมานก่อให้เกิดความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานอย่างรุนแรงแก่เหยื่อ ซึ่งยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่าการกระทำทรมานนั้นได้สิ้นสุดแล้วก็ตาม
และที่สำคัญคือการทรมานมันใช้ไม่ได้ผล
ทำไมการทรมานถึงใช้ไม่ได้ผล
ความเข้าใจผิดที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับการทรมานคือมันอาจเป็นวิธีการเดียวในการให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่อาจช่วยชีวิตได้
รัฐต่างๆ มีวิธีการมากมายหลายรูปแบบในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรม ทั้งวิธีการที่เคยใช้มาแล้วในอดีตและวิธีการที่วางแผนว่าจะใช้โดยไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์ แต่การทรมานเป็นเครื่องมือที่ให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่หยาบช้าและป่าเถื่อนที่สุด
ทั่วโลกยังคงมีการกระทำทรมานเป็นเรื่องปกติเพื่อบังคับให้ผู้ถูกควบคุมตัวรับสารภาพ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้จากวิธีการนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะผู้คนมักจะพูดอะไรก็ตามภายใต้การทรมานเพียงเพื่อให้ความเจ็บปวดสิ้นสุดลง พวกเขาจะพูดในสิ่งที่คิดว่าผู้ทรมานต้องการจะได้ยิน
ในเดือนสิงหาคมปี 2555 นาวิกโยธินเม็กซิกันได้บุกเข้าไปในบ้านของคลอเดีย เมดินา และพาเธอไปยังฐานทัพเรือท้องถิ่น ที่นั่นเธอถูกช็อตด้วยไฟฟ้า ถูกพันด้วยพลาสติกและถูกทำร้ายร่างกาย รวมทั้งถูกบังคับให้สูดดมพริกเผ็ด
เธอถูกบังคับให้ลงชื่อในคำรับสารภาพโดยที่ยังไม่ได้อ่านด้วยซ้ำ “ถ้าพวกเขาไม่ทรมานฉัน ฉันก็จะไม่ลงชื่อในคำให้การนั้น” คลอเดียกล่าว
ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ คำรับสารภาพที่ได้มาจากการทรมานไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานได้
ในทางกฎหมาย ห้ามกระทำการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอิ่นๆ อย่างเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็น “สิทธิที่ไม่อาจละเมิดได้” ซึ่งหมายความว่า แม้ในช่วงเวลาฉุกเฉินก็ไม่สามารถผ่อนปรนได้เลย
การเยียวยาต่อเหยื่อการทรมาน
เหยื่อของการทรมานต้องเผชิญกับผลกระทบในระยะยาวที่ร้ายแรงหลายประการ ความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นอาจนำไปสู่ความเจ็บปวดเรื้อรัง ความพิการ โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) และภาวะซึมเศร้า ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลที่สำคัญอย่างยิ่งที่เหยื่อของการทรมานจะต้องได้รับการเยียวยา และผู้กระทำความผิดจะต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
การเยียวยาสำหรับเหยื่อของการทรมานอาจรวมถึงการดูแลรักษาทางการแพทย์ การให้คำปรึกษาด้านจิตใจ การชดเชยทางการเงิน การฟื้นฟู (ทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ) และการช่วยให้กลับคืนสู่สังคมอย่างมีศักดิ์ศรี
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากการทรมานให้ได้รับความยุติธรรมมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว อังเคล โกลง (Ángel Colón) ได้รับการปล่อยตัวในเดือนตุลาคม 2557 หลังจากถูกทรมานและถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมในเม็กซิโกนานเกือบหกปี มีผู้สนับสนุนแอมเนสตี้มากกว่า 20,000 คนที่เรียกร้องให้เขาได้รับการปล่อยตัว อังเคลบอกกับเราว่า:
“ผมอยากส่งข้อความถึงทุกคนที่แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผม และต่อต้านการทรมานและการเลือกปฏิบัติว่า ‘อย่าลดการ์ดของคุณลง ขอบฟ้าใหม่แห่งรุ่งอรุณกำลังปรากฏขึ้น’”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยในประเด็นการทรมานให้
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องยุติการใช้การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐทุกรูปแบบ โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้
- ห้ามใช้พยานหลักฐานที่ได้จากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ในการพิจารณาคดี
- สอบสวน และดำเนินคดีอย่างเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพเมื่อมีข้อกล่าวหาว่าเกิดการทรมาน
- ผู้เสียหายจากการทรมานจะต้องเข้าถึงสิทธิการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงสิทธิในการเข้าถึงทนายความโดยเฉพาะในช่วงขั้นตอนการสอบสวน สิทธิการเข้าถึงแพทย์ การติดต่อกับครอบครัว และไม่ถูกกักขังในช่วงหลังถูกจับกุมเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด
- จัดให้ผู้เสียหายจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายเข้าถึงการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ
- กำหนดให้ความผิดที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึงการทรมานและการบังคับให้สูญหายไม่มีอายุความ โดยแก้ไขมาตรา 95 ของประมวลกฎหมายอาญา
- ดำเนินการแก้ไขพระราบชัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยารต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ โดยย
- ปรับปรุงนิยามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยนิยามของการทรมานต้องครอบคลุมเป้าหมายของการทรมานมากกว่าสี่ข้อ ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายและนิยามของการบังคับสูญหาย ต้องเปิดกว้างให้รวมถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ “ปฏิเสธที่จะยอมรับ” ว่ามีการควบคุมตัว เช่น ให้คำตอบอย่างกำกวมหรือไม่ตอบรับเมื่อถูกถาม โดยไม่จำเป็นต้องมีการปฏิเสธโดยตรง
- เปลี่ยนโครงสร้างและบทบาทคณะกรรมการป้องกันการทรมานฯ เพื่อให้สามารถดำเนินการสืบสวนการละเมิดกฎหมายฉบับนี้ได้อย่างเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้ปลดเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับตำนวจหรือทหาร รวมทั้งเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้เสียหายและภาคประชาสังคม
- ระบุในบทบัญญัติอย่างชัดเจนว่าไม่สามารถยอมรับข้อมูลที่ได้มาจากการทรมานเป็นหลักฐานในกระบวนการยุติธรรมได้
- ปกป้องและช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากการทรมานและการกระทำที่โหดร้ายอื่นๆ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวและผู้เปิดโปงการกระทำความผิด โดยยุติการข่มขู่คุกคามใดๆ และดำเนินการสอบสวนกรณีที่มีรายงานการข่มขู่คุกคามอย่างเป็นระบบ
- กำหนดให้มีการเยียวยาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว รวมทั้งการดูแลทางการแพทย์ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟู การชดใช้และค่าชดเชยทางการเงินที่เป็นธรรมและเพียงพอต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ
- ให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และดำเนินการทันทีเพื่อจัดตั้งกลไกป้องกันระดับชาติที่มีประสิทธิภาพ โดยมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม รวมถึงผู้เสียหายจากการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายและการบังคับให้สูญหาย
- อนุญาตให้ชาวอุยกูร์ที่ยังอยู่ในประเทศไทยสามารถเข้าถึงกระบวนการยื่นขอลี้ภัยอย่างเต็มที่และเป็นอิสระ และให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสมและเพียงพอ พร้อมให้สามารถเข้าถึงทนายความที่ตนเลือกได้อย่างอิสระ
- ประกาศคำมั่นในการไม่ส่งกลับชาวอุยกูร์กลับไปเผชิญหน้ากับการประหัตประหารในประเทศจีนอีกต่อไป
- สอบสวนการส่งตัวชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คนกลับไปยังประเทศจีน และให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากการละเมิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย