“ละเมิดสิทธิหนูทำไม?” ....  เสียงเล็กๆที่ถูกมองข้ามในสังคมไทย

30 เมษายน 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

เรื่องและภาพโดย เฝาซี ล่าเต๊ะ

หากจะนิยามคำว่า “เด็ก” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ปี พ.ศ.2546 มาตรา 4 เด็กหมายถึงบุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of Child) 

สิทธิเด็กเป็นสิทธิสากล (Universal Rights) ที่ต้องได้การรับรองและคุ้มครอง ด้วยจุดมุ่งหมายมิใช่เพื่อเรียกร้องสิทธิเด็ก แต่เพื่อการพัฒนาเด็กทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา ให้เจริญเติบโตรอบด้านอย่างเต็มศักยภาพและไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยการร่วมมือกันในทุกสถาบันทั่วโลก

ปัจจุบันการละเมิดสิทธิเด็กมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทย ซึ่งนับวันยิ่งรุนแรงขึ้นและมีการละเมิดในรูปแบบใหม่มากขึ้น จนเป็นภาพที่ชินตาในสังคม ส่งผลให้เด็กใช้ชีวิตอยู่บนความหวาดระแวง แม้แต่คนรอบข้างก็ “ไว้ใจไม่ได้”  จึงทำให้เรารู้ว่าโลกนี้มีความโหดร้ายและทารุณต่อเด็กเต็มไปหมดซึ่งขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรจะได้รับ

ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กเป็นปัญหาใหญ่ที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน แต่สังคมไทยแทบไม่ให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านี้ เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเด็กว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนและได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ อีกทั้งยังได้รับการปกป้อง คุ้มครองภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ได้รับการยอมรับจากภาคีสมาชิกถึง 195 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่เป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ด้วย

 

มาดูกันว่าลักษณะในการละเมิดสิทธิเด็กที่เห็นกันบ่อยเป็นอย่างไรและอะไรคือสิ่งที่เด็กควรจะได้รับตามสิทธิขั้นพื้นฐานตามที่กล่าวมาข้างต้น

 

ลักษณะในการละเมิดสิทธิเด็กที่เห็นกันบ่อย

การละเมิดทางด้านร่างกายและจิตใจ

 

จากรายงานประจำปี Ending Violence in Childhood ที่จัดทำขึ้นโดย Know Violence in Childhood ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่เคลื่อนไหวเรื่องการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก  รายงานนี้ระบุว่า เด็กและเยาวชน 1,700 ล้านคน จากจำนวนเด็กและเยาวชนทั่วโลก ตกเป็นเหยื่อหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงทุก ๆ ปี รวมถึงการรังแก กลั่นแกล้ง การต่อสู้ การทารุณกรรม และความรุนแรงทางเพศ รวมทั้งการลงโทษทางร่างกายทั้งในบ้านและในสถานศึกษา

สำหรับประเทศไทย พบว่าเด็ก 56% หรือนับเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งของประชากรเด็กอายุระหว่าง 1-18 ปี ถูกทำโทษด้วยการทำร้ายร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศ มีข้อมูลจากศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน เปิดเผยว่าในปี พ.ศ.2556-2562 มีทั้งหมด 1,186 กรณี มี 482 กรณีที่บุคคลอื่นกระทำทารุณกับเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมากที่สุด บุคคลอื่นในที่นี้ยังรวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงต่อเด็ก รองลงมาเป็นกรณีเด็กกระทำกับเด็กด้วยกัน 464 กรณี  คนในครอบครัวทำกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ของเด็กหรือแม้แต่ญาติผู้ใหญ่ที่ฝากเลี้ยง 135 กรณี สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เด็กถูกทารุณกรรม สาเหตุแรก ตัวพ่อแม่เด็ก เช่น พ่อแม่ที่มีอายุน้อยไม่พร้อมมีลูกทำให้มีปัญหาในครอบครัว สภาพจิตใจไม่ปกติ ทำให้ไม่รักและใส่ใจลูกเท่าที่ควร และสุดท้ายเมื่อมีปัญหาก็หันไปใช้กำลังกับลูก สาเหตุต่อมาคือเกิดจากตัวเด็กเองเช่น เด็กเลี้ยงยากหรือซนก็จะทำให้ผู้ปกครองไม่พอใจลงมือทำร้ายร่างกายเด็กและสาเหตุสุดท้าย เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่บีบบังคับ เช่น ครอบครัวยากจน ขาดเสาหลักค้ำจุนครอบครัว ทำให้เกิดความเครียดและหันไประบายกับลูก และมี 105 กรณีที่ครูหรือบุคลากรการศึกษากระทำกับเด็ก 

การใช้ความรุนแรงกับเด็กทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในการเจริญเติบโตของเด็ก ทำให้มีพัฒนาการที่ผิดปกติ ขาดสารอาหารและทำให้เด็กรู้สึกขาดความมั่นคงทางด้านจิตใจ หวาดระแวง ซึมเศร้า และไม่กล้าเข้าสังคม อาจนำไปสู่การใช้สารเสพติด คิดทำร้ายผู้อื่นและท้ายที่สุดเด็กอาจจะคิดฆ่าตัวตายได้ 

 

การละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก

 

เสรีภาพในการแสดงออก เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการที่จะส่งเสริมความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์และถือเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตย เพราะเสรีภาพดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนซึ่งความคิดเห็นอันนำไปสู่การพัฒนาสังคมการเมือง และนำมาซึ่งการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสังคมโดยรวม อีกทั้ง ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ดี เสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) หรือเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ถือเป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทั้งนี้เสรีภาพในการแสดงออกยังครอบคลุมไปถึงการแสดงออกของเด็กที่ระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child) ข้อที่ 13 ที่ให้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกของเด็ก ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2535 โดยให้ความมั่นใจว่าจะดำเนินการเพื่อให้เด็กๆได้เข้าถึงสิทธิที่พวกเขาพึงมี ซึ่งรวมถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นโดยได้รับการรับฟัง 

แต่ในปัจจุบันการแสดงออกของเด็กได้ถูกปิดกั้นประหนึ่งกับการเอากุญแจล็อคปิดปาก กุญแจที่ว่านี้มี 2 ประเภทด้วยกัน คือ 

ค่านิยม : กุญแจประเภทนี้มักเป็นประเภทที่ผู้ใหญ่ใช้อ้างในการที่เด็กแสดงออกทางความคิดเห็นหรือแสดงท่าทางที่ไม่ถูกใจผู้ใหญ่ ด้วยค่านิยมที่ว่า “เป็นเด็กควรเคารพผู้ใหญ่” หรือ “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” ซึ่งผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าค่านิยมนี้ผิด ทว่าบริบทการใช้ค่านิยมผิดๆ ต่างหากที่ทำให้ใครบางคนได้ทำการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของเด็กโดยไม่รู้ตัว อันเป็นการปลูกฝังที่ทำให้เด็กไม่มีความกล้าแสดงออก

อำนาจนิยม : กระแสอำนาจนิยมมีมานานและกดทับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของเด็ก เป็นปัญหาที่ถูกทำให้เป็นความเคยชินที่เด็กต้องเผชิญ ในปัจจุบันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความคิดและการตื่นตัวในการแสดงออกเพื่อการเรียกร้องสิทธิของเด็กและเยาวชนทำให้เด็กเริ่มมีพื้นที่ให้แสดงออกและสะท้อนอำนาจที่กดทับในสถาบันต่างๆ ทางสังคมมากขึ้น ส่งผลให้เห็นปัญหาของอำนาจนิยมที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมของเด็ก ดังนี้ 

  • อำนาจนิยมในสถาบันครอบครัว: ซึ่งมักจะแสดงให้เห็นในรูปแบบของบุญคุณที่ต้องทดแทน ในที่นี้ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าการตอบแทนบุญคุณเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ทว่าการใช้ค่านิยมที่ผิดๆ ต่างหาก ที่ไปจำกัดสิทธิ เสรีภาพและโอกาสที่เด็กควรจะได้รับ เช่น สิทธิที่จะเลือกศึกษาวิชาชีพ ซึ่งในบางกรณีพ่อแม่มักจะใช้อำนาจในการที่จะบังคับลูกให้ศึกษาวิชาชีพตามที่ตนคิดว่าดีและอยากให้ลูกประกอบวิชาชีพนั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงความถนัด พัฒนาการ และความสบายใจในการศึกษาของลูกซึ่งเป็นการนำไปสู่ภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นต่อเด็ก และอาจนำไปสู่การหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ 

  • อำนาจนิยมในสถานศึกษา : ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันทำหน้าที่อย่างน้อยสองอย่าง คือ ให้ความรู้และการขัดเกลาทางสังคม (socialization) ซึ่งอำนาจนิยมในสถานศึกษามักจะเจอในรูปแบบของการการขัดเกลาทางสังคมเพราะระบบการศึกษาไทยให้น้ำหนักต่อการขัดเกลาทางสังคมมากกว่าความรู้ ซึ่งการขัดเกลาทางสังคมรูปแบบที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการปลูกฝังให้เชื่อฟังผู้มีอำนาจโดยปราศจากการตั้งคำถาม ทำให้เด็กไม่สามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ได้อย่างอย่างเต็มที่

  • อำนาจนิยมในสังคม : ปัจจุบัน อำนาจนิยมในสังคมไทยที่เห็นได้ชัดเจน คือ อำนาจนิยมทางชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างหรือตัวรัฐเอง ทั้งนี้ อำนาจนิยมที่เป็นปัญหาในการจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกทางสังคมของเด็ก โดยเฉพาะการแสดงออกทางการเมือง มักจะเกิดจากรัฐ โดยที่รัฐใช้กฎหมายเพื่อปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง จากการเก็บข้อมูลของผู้เขียนที่ได้จากการสังเกตการณ์การชุมนุมผ่านการเป็นอาสาสมัครของเว็บไซต์ม็อบดาต้าไทยแลนด์ (Mob Data Thailand) ที่พัฒนาขึ้นโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ต่อการจัดการชุมนุมหรือเข้าร่วมการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาในช่วงปลายปีพ.ศ.2563 ถึงต้นปี พ.ศ.2564 ซึ่งหลายครั้งการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้นมีเด็กอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมากและมีเด็กได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม เช่นได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และการใช้กำลังในการจับกุม อีกทั้งยังมีการใช้คดีที่มีโทษสูงต่อเด็กที่แสดงออกทางการเมืองไม่ต่ำกว่า 33 คน 34 คดี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคดีอาญาเช่น คดีมาตรา 112 โดยมีเด็กที่ถูกกล่าวหาด้วยคดีนี้ไม่ต่ำกว่า 5 คน 6 คดี มาตรา 116 จำนวน 1 คน คดีความผิดฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินและคดีอื่นๆอีกหลายคดี  

 

จากที่ผู้เขียนได้นำเสนอให้เห็นรูปแบบของการใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิของเด็กดังที่กล่าวมาข้างต้น แล้วอะไรกันคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรจะได้รับ

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมุ่งคุ้มครองสิทธิ 4 ประการ ดังนี้


สิทธิที่จะมีชีวิตรอด

 

เริ่มตั้งแต่เมื่อแรกเกิด เด็กๆ มีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ได้รับการจดทะเบียนเกิด มีสิทธิที่จะมีชื่อ ได้สัญชาติ และได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน ไม่ถูกแยกจากครอบครัว เว้นแต่ในกรณีที่หน่วยงานที่มีอำนาจ ซึ่งอาจถูกทบทวนโดยทางศาลจะกำหนดตามกฎหมายและวิธีพิจารณาที่ใช้บังคับอยู่ว่า การแยกเช่นว่านี้จำเป็นเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก การกำหนดเช่นว่านี้อาจจำเป็นในกรณีเฉพาะ เช่น ในกรณีที่เด็กถูกกระทำโดยมิชอบ หรือถูกทอดทิ้งละเลยโดยบิดามารดา หรือในกรณีที่บิดามารดาอยู่แยกกันและต้องมีการตัดสินว่าเด็กจะอาศัยอยู่ที่ใด รวมทั้งได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสม โดยรัฐมีหน้าที่ต้องประกันสิทธิต่างๆ เหล่านี้ ทั้งทางด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน อาหารที่ถูกสุขลักษณะตามหลักโภชนาการ มีน้ำดื่มที่สะอาด สิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา เพื่อที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป


สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง

 

เมื่อเด็กมีชีวิตรอดแล้ว สิทธิที่ควรจะได้รับต่อไปคือสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ รัฐต้องประกันการคุ้มครองจากการแสวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และจากการทำงานใดที่จะเป็นการเสี่ยงอันตราย หรือที่ขัดขวางการศึกษาของเด็ก เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือการพัฒนาทางร่างกาย สมอง จิตใจ ศีลธรรมและสังคมของเด็กรวมถึงการคุ้มครองเด็กจากการใช้ยาเสพติดหรือสารที่มีพิษต่อจิตประสาทอื่นๆ  ป้องกันการใช้แรงงานเด็กและการค้ามนุษย์และการลวงละเมิดทางเพศของเด็กโดยถือเอาศักดิ์ศรีและประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ

ในแง่ของกระบวนการยุติธรรมจะต้องไม่มีเด็กคนใดได้รับการทรมาน หรือถูกปฏิบัติ หรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี จะต้องไม่มีการลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต จะต้องไม่มีเด็กที่ถูกลิดดรอนเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยพลการ การจับกุม กักขังหรือจำคุกเด็กจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย และจะใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเท่านั้น และให้มีระยะเวลาที่สั้นที่สุด เด็กทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพจะได้รับการปฏิบัติตามหลักสากลที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กเป็นลำดับแรกด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และในลักษณะที่คำนึงถึงความต้องการของบุคคลในวัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพจะต้องถูกแยกต่างหากจากผู้ใหญ่และมีสิทธิที่จะขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือทางอื่นที่เหมาะสมโดยทันที และจะต้องถือประโยชน์ของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ  รัฐต้องประกันการคุ้มครองดูแลอย่างเหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติตามภูมิหลังทางชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมของเด็ก  ในภาวะสงคราม เด็กๆ ต้องได้รับการคุ้มครองจากภัยสงคราม ไม่ถูกเกณฑ์เป็นทหาร หรือมีส่วนร่วมในการสู้รบ ในกรณีที่เด็กเป็นผู้ลี้ภัย จะต้องได้รับการช่วยเหลือ และได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษ

 

สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา

 

การศึกษาและพัฒนาการเป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เริ่มตั้งแต่ที่เด็กๆ จะต้องได้รับบริการพัฒนาปฐมวัย และได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ รัฐต้องประกันสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน  ต้องมีจัดการศึกษาระดับประถมเป็นภาคบังคับที่เด็กทุกคนสามารถเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สนับสนุนการพัฒนาของการศึกษาระดับมัธยมในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ จัดการศึกษาให้แพร่หลายและเปิดกว้างแก่เด็กทุกคน และดำเนินมาตรการที่เหมาะสม ทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการแนะแนวทางการศึกษาและอาชีพ ซึ่งรัฐต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะประกันว่า ระเบียบวินัยของโรงเรียนได้กำหนดขึ้นในลักษณะที่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของเด็ก  

 

สิทธิที่จะมีส่วนร่วม

 

เด็กทุกคนก็คือมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกับผู้ใหญ่ ถึงแม้จะตัวเล็กไปหน่อย อายุน้อยกว่าผู้ใหญ่แต่เด็กทุกคนก็มีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีในสังคม โดยเฉพาะเรื่องที่ส่งผลกระทบและประโยชน์ต่อตัวเด็กเอง ซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครอง ประกันสิทธิและเอื้ออำนวยต่อการแสดงออกของเด็ก รวมไปถึงการชุมนุมอย่างสงบ รัฐไม่มีอำนาจที่จะจำกัดสิทธิในการแสดงออกของเด็กโดยไม่ชอบด้วยเหตุผลและข้อละเว้นของกฎหมายตามความเหมาะสม

มาถึงจุดนี้แล้วคุณเข้าใจสิทธิเด็กดีแค่ไหน หากเข้าใจหรือยังเข้าใจไม่แจ่มแจ้งให้ระลึกไว้เสมอว่า เด็กทุกคนกว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ต้องการการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป ร่างกายเติบโตได้เพราะอาหารฉันใด จิตใจที่จะเจริญงอกงามได้ ย่อมต้องการความรักความเข้าใจจากคนรอบข้างฉันนั้น ไม่มีเด็กคนใดที่ไม่อยากเป็นที่รักของคนอื่น เด็กๆ จะทำทุกอย่างเพื่อให้คนรอบข้างรักเขา การปฏิบัติของคนรอบข้างต่อเขาทั้งด้านบวกและลบต่างหากที่จะค่อยๆ หล่อหลอมให้เขาเป็นบุคคลอย่างที่เขาเป็นอยู่และไม่มีเด็กคนใดที่ไม่อยากมีอนาคตที่ดีและสดใส ทุกคนล้วนอยากประสบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นการเคารพสิทธิเด็กถือเป็นการช่วยกันสร้างอนาคตที่ดี และเหมาะสมอย่างที่ควรจะเป็นให้กับเด็ก

 

อ้างอิง

https://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/CRC.aspx

https://www.voathai.com/a/childhood-violence/4047223.html

https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_parcy/ewt_dl_link.php?nid=46956

https://www.ohchr.org/EN/ProfessionalInterest/Pages/CRC.aspx