สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ


ภาพรวม

ทั่วโลก ผู้คนถูกโจมตีเพียงเพราะพวกเขาเป็นตัวของตัวเอง

ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก การเป็นเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ หรืออินเทอร์เซ็กส์ (LGBTI) อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ในกรณีที่ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงหรืออันตรายถึงแก่ชีวิต แต่อาจจะต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศและลักษณะทางเพศ ซึ่งการเลือกปฏิบัติดังกล่าวก็สามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพกาย จิตใจ และอารมณ์ของผู้ที่ต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัตินั้นได้

การเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเหยียดหยามหรือล้อเลียนชื่อ การกลั่นแกล้งหรือรังแก การคุกคาม รวมไปถึงความรุนแรงทางเพศ ไปจนถึงการถูกปฏิเสธโอกาสในการทำงานหรือการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เหมาะสม ในหลายพื้นที่ทั่วโลก การชุนนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงต้องเผชิญกับการถูกปราบปรามเช่นกัน

รูปแบบของการเลือกปฏิบัตินั้นมีหลากหลายรูปแบบและก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก:

  • รสนิยมทางเพศ (sexual orientation) – ความสนใจทางเพศที่มีต่อบุคคลอื่น
  • อัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) – วิธีนิยามตัวเองที่ไม่คำนึงถึงหรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศโดยกำเนิด
  • การแสดงออกทางเพศสภาพ (gender expression) – วิธีการแสดงออกทางเพศผ่านการแต่งกาย การทำผม หรือการแต่งหน้า
  • ลักษณะทางเพศ (sexual characteristics) – เช่น อวัยวะเพศ โครโมโซม อวัยวะสืบพันธุ์ หรือระดับฮอร์โมนของคุณ

บางครั้ง การใช้ความรุนแรงที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็เพิ่มจำนวนขึ้นเพราะรัฐบาล ซึ่งเดิมทีรัฐบาลมีหน้าที่คุ้มครองกลุ่มคนเหล่านี้แต่กลับเป็นหน่วยงานที่ใช้ความรุนแรงเสียเอง เช่น นโยบายที่สนับสนุนโดยรัฐในเชชเนียนำไปสู่การมุ่งเป้าทำร้ายเกย์ โดยบางคนถูกลักพาตัว ทรมาน หรือแม้กระทั่งถูกฆ่า ในบังคลาเทศ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกกลุ่มติดอาวุธมีดมาเชเตทำร้ายจนเสียชีวิตโดยที่ตำรวจและรัฐบาลแทบไม่ให้ความสนใจหรือกระตือรือร้นที่จะมอบความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวของเหยื่อ

นอกจากนี้ หลายพื้นที่ในแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลยทรายซาฮารา ผู้คนยังคงใช้ชีวิตอย่างหวาดหวั่นเนื่องจากกลัวว่าจะโดนจับและนำไปสู่การถูกทำร้ายหรือถูกฆาตกรรม

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรณรงค์เพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก รวมถึงสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพและความปลอดภัยของพวกเขา

การเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTIQ+ หมายความว่าอย่างไร?

คำว่า LGBTIQ+ หมายถึงกลุ่มคนที่มีหลากหลาย ซึ่งรวมถึงผู้ที่นิยามอัตลักษณ์ทางเพศของตนว่าเป็นเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ หรืออินเทอร์เซ็กส์ แม้เราจะตระหนักว่ามีคำอีกมากหมายและหลากหลายที่ผู้คนทั่วโลกใช้เพื่ออธิบายรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตน คำศัพท์ที่ใช้เหล่านี้อาจแตกต่างกันอย่างมากขึ้นอยู่กับบริบททางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคม

กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ยืนยันไว้อย่างชัดเจนว่ารัฐต้องดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+)

มาริเอลลี ฟรังโก นักกิจกรรมไบเซ็กชวลในบราซิลที่ต่อสู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อสิทธิของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้หญิงและชาวบราซิลที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจ เธอถูกฆาตกรรมในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561 ในระหว่างกลับบ้านจากงาน speaking event ภาพโดย CC-BY-NC

อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) หมายความว่าอะไร?

อัตลักษณ์ทางเพศหมายถึงความรู้สึกภายในที่ลึกซึ้งของแต่ละคนเกี่ยวกับเพศของตน ซึ่งอาจสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเพศโดยกำเนิดก็ได้ อัตลักษณ์ทางเพศของแต่ละบุคคลอาจเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือนอกกรอบของเพศชาย เพศหญิงก็ได้ หรืออาจเป็นได้มากกว่าหนึ่งเพศ หรืออาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หรือไม่มีเพศเลยก็ได้

รสนิยมทางเพศ (sexual orientation) หมายความว่าอะไร?

รสนิยมทางเพศ หมายถึง การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีความสนใจหรือรู้สึกผูกพันทางอารมณ์ ความรัก และความใกล้ชิดทางร่างกาย รวมถึงการมีความสัมพันธ์หรือแรงดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น ซึ่งแต่ละคนจะมีประสบการณ์ต่อแรงดึงดูดทางเพศและความรักแตกต่างกันออกไป ถือเป็นเรื่องส่วนตัวและขึ้นอยู่กับตัวบุคคลว่าจะตัดสินใจกำหนดหรือไม่กำหนดรสนิยมทางเพศของตนเองหรือไม่ สำหรับบางคน รสนิยมทางเพศอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา คุณอาจรู้สึกดึงดูดคนที่มีเพศต่างจากคุณ หรือคนที่มีเพศเดียวกับคุณก็ได้ บางคนเป็นเอเซ็กชวล (Asexual) ซึ่งหมายถึงมีแรงดึงดูดทางเพศน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ทั้งนี้รสนิยมทางเพศยังรวมถึง เลสเบี้ยน (lesbian – ผู้หญิงที่ชอบผู้หญิง) เกย์ (gay ส่วนมากเป็นผู้ชายที่ชอบผู้ชาย) ไบเซ็กชวล (bisexual – ชอบผู้ชายและผู้หญิง) แพนเซ็กชวล (pansexual – ชอบที่ตัวบุคคล)

ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender)หมายความว่าอย่างไร?

ทรานส์เจนเดอร์ (หรือทรานส์) หมายถึงบุคคลที่อัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศต่างไปจากความคาดหวังของคนทั่วไปต่อเพศโดยกำเนิด

ทรานส์เจนเดอร์ทุกคนอาจไม่ได้ระบุตนเองว่าเป็นเพียงชายหรือหญิงเท่านั้น บางคนอาจระบุตนเองว่าเป็นมากกว่าหนึ่งเพศหรือไม่มีเพศเลย อาจใช้คำอย่าง นอน-ไบนารี (non-binary) อะเจนเดอร์ (agender) เจนเดอร์เควียร์ (genderqueer) หรือ เจนเดอร์ฟลูอิด (gender fluid) เพื่ออธิบายอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง

การเป็นทรานส์เจนเดอร์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรสนิยมทางเพศแต่อย่างใด บุคคลหนึ่งอาจเป็นชายข้ามเพศและเป็นเกย์ หรือเป็นหญิงข้ามเพศและเป็นเลสเบี้ยนก็ได้

ซาคริส คูพิลา เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนข้ามเพศจากประเทศฟินแลนด์ ซึ่งกำลังต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่บังคับให้บุคคลข้ามเพศต้องทำหมันก่อนที่จะได้รับการรับรองเพศตามกฎหมาย ©Amnesty International

การยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศ (gender affirmation) คืออะไร?

ทรานส์เจนเดอร์บางคนตัดสินใจที่จะยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศของตน ซึ่งหมายถึงกระบวนการในการใช้ชีวิตตามเพศที่ตนเองนิยาม เพื่อให้ตนเองรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการใช้ชีวิตตามอัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริงของตนเอง

กระบวนการยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศไม่มีรูปแบบที่ตายตัวสำหรับแต่ละคน บางคนอาจเลือกใช้สรรพนามใหม่ เปลี่ยนชื่อ ขอการรับรองเพศตามกฎหมาย และ/หรือเข้ารับการผ่าตัดหรือปรับฮอร์โมนเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศของตน

ทรานส์เจนเดอร์สามารถทำเรื่องขอรับรองเพศสถานะได้ในบางประเทศ แต่ส่วนใหญ่มักต้องผ่านกระบวนการที่สร้างความอับอายและละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับการวินิจฉัยสภาวะทางจิตหรือการทำหมันถาวร มีเพียงเจ็ดประเทศเท่านั้นที่ไม่มีกระบวนการดังกล่าว คือ อาร์เจนตินา บราซิล เบลเยียม โคลอมเบีย เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ มอลตา และนอร์เวย์

โจอี้ โจลีน มาตาเอเล เป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิของทรานส์เจนเดอร์จากตองกา ในปี 2535 มาตาเอเลได้ร่วมก่อตั้งสมาคม Tonga Leitis และดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการบริหารของสมาคมฯ เธอยังเป็นตัวแทนของหมู่เกาะแปซิฟิกในคณะกรรมการบริหารของสมาคมนานาชาติเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ และอินเทอร์เซ็กส์ และเป็นประธานเครือข่าย MSM (ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย) แห่งแปซิฟิกใต้ ©Pohiva Tevita Tu’amoheloa

การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ (gender recognition) คืออะไร?

ในทางทฤษฎี การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศช่วยให้ทรานส์เจนเดอร์สามารถเปลี่ยนแปลงเพศที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้ สำหรับบางคน การได้รับการรับรองเพศตามกฎหมายถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสรี มีชีวิตที่แท้จริงและสามารถเปิดเผยตัวตนของตนเองได้

น่าเสียดายที่แม้แต่ในประเทศที่มีกระบวนการที่สามารถยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายได้ แต่กระบวนการนั้นก็มักจะลิดรอนความเป็นมนุษย์ ใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง

ในบางประเทศ ทรานส์เจนเดอร์จำเป็นต้องมีหลักฐานทางการแพทย์ก่อนจึงจะสามารถขอรับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายได้ ซึ่งกระบวนการนี้อาจล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และยังเป็นการตอกย้ำความเข้าใจผิดที่ว่าการเป็นทรานส์เจนเดอร์คือความเจ็บป่วย น่าเสียดายที่แม้ว่าทางองค์การอนามัยโลกได้ปรับปรุงแนวทาง โดยไม่จัดให้การเป็นทรานส์เจนเดอร์เป็น ‘ความผิดปกติ’ อีกต่อไป แต่ทัศนคติแบบนี้ก็ยังคงแพร่หลายในหลายสังคมทั่วโลก

การบังคับให้ทรานส์เจนเดอร์ต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์โดยไม่จำเป็นเพื่อให้ได้รับการรับรองเพศตามกฎหมาย ถือเป็นการละเมิดสิทธิในสุขภาพตามมาตรฐานสูงสุดที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ

สำหรับทรานส์เจนเดอร์ เอกสารแสดงตัวตนอย่างเป็นทางการที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริงของตนเองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้สิทธิมนุษยชน ไม่เพียงแต่จำเป็นต่อการเดินทางเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้วย รัฐต้องรับประกันว่าทรานส์เจนเดอร์สามารถขอรับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมายได้ผ่านกระบวนการที่รวดเร็ว เข้าถึงได้ และโปร่งใส โดยเป็นไปตามความรู้สึกของแต่ละบุคคลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศพวกเขาเหล่านั้น พร้อมทั้งคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวของพวกเขาด้วย

นอนไบนารี (non-binary) หมายความว่าอย่างไร?

นอนไบนารี เป็นกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่อยู่นอกกรอบของเพศชายและหญิง คำนี้เป็นคำเรียกที่ใช้ครอบคลุมถึงอัตลักษณ์ทางเพศหลากหลายรูปแบบที่ไม่อยู่ภายใต้กรอบของเพศใดๆ ในขณะที่บางคนที่เป็นนอนไบนารี อาจระบุว่าตนเองเป็นทรานส์เจนเดอร์ แต่บางคนก็อาจไม่ระบุเช่นนั้น

นอนไบนารีบางคนอาจใช้สรรพนามที่ไม่ระบุเพศ เช่น เขา/พวกเขา (they/them) ขณะที่บางคนอาจใช้ทั้งสรรพนามที่มีเพศกำกับและไม่กำกับ เช่น เขา/เขา (they/he) หรือ เธอ/เขา (she/they) การเคารพสรรพนามที่แต่ละคนใช้เป็นสิ่งสำคัญ หากคุณไม่แน่ใจว่าจะใช้คำใดในการพูดถึงพวกเขา ควรถามอย่างสุภาพเพื่อให้แน่ใจว่าใช้ถูกต้องและให้เกียรติพวกเขา

อินเทอร์เซ็กส์ (intersex) หมายความว่าอย่างไร?

มีการตั้งสมมติฐานว่า ลักษณะทางกายภาพ ฮอร์โมน และโครโมโซมของทุกคนจะต้องเข้ากับหมวดหมู่ชายหรือหญิงอย่างชัดเจน แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป มีการประมาณการว่าในแต่ละปีมีทารกประมาณ 1.7% จากทั่วโลกเกิดมาพร้อมกับลักษณะทางเพศที่แตกต่างหลากหลาย

การที่คนเกิดมาพร้อมลักษณะทางเพศที่แตกต่างไปจากคุณลักษณะชายหญิงทั่วไปเรียกว่าอินเทอร์เซ็กส์ ความแตกต่างเหล่านี้มีหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น เด็กบางคนมีอวัยวะเพศที่ไม่เข้ากับลักษณะทั่วไปของร่างกายที่เป็นชายหรือหญิง บางคนมีอวัยวะสืบพันธุ์แบบหญิงแต่มีโครโมโซม XY (ซึ่งพบโดยทั่วไปในผู้ชาย) หรือบางคนมีอวัยวะสืบพันธุ์แบบชายแต่มีโครโมโซม XX (ซึ่งพบโดยทั่วไปในผู้หญิง)

ลักษณะทางเพศเหล่านี้อาจปรากฏตั้งแต่แรกเกิด หรืออาจเห็นได้ชัดเจนขึ้นในช่วงวัยเจริญพันธุ์หรือหลังจากนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

อินเทอร์เซ็กส์หลายคนต้องเผชิญกับการผ่าตัดที่รุกล้ำร่างกาย อีกทั้งยังเป็นการผ่าตัดที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน (non-emergency) เพื่อทำให้ร่างกาย ‘เป็นปกติ’ เมื่อผ่านการผ่าตัดดังกล่าวแล้วก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่างกายให้กลับสู่สภาพเดิมได้ ส่วนใหญ่มักจะถูกให้เข้ารับการผ่าตัดขณะยังเป็นเด็ก ทำให้พวกเขาไม่สามารถให้ความยินยอมได้ เมื่อการผ่าตัดดังกล่าวปราศจากความยินยอมและข้อมูลที่ครบถ้วนและเพียงพอ การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิในความสมบูรณ์ของร่างกาย และอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสิทธิด้านสุขภาพ รวมถึงสิทธิทางเพศและสิทธิในอนามัยเจริญพันธุ์ของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการผ่าตัดนั้นอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อความสามารถในการมีบุตร บางครั้งก็ผ่าตัดอาจมีขึ้นในภายหลัง แต่ขั้นตอนเหล่านี้ก็ยังคงสร้างอุปสรรคและก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจเช่นเดียวกัน

หลายคนที่เคยเข้ารับการการผ่าตัดลักษณะดังกล่าว ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้พูดคุยด้วย  อธิบายว่าพวกเขาต้องเผชิญกับผลกระทบด้านลบที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจในระยะยาวพวกเขา ทั้งนี้รวมทั้งกิจกรรมทางเพศ สภาพจิตใจ และอัตลักษณ์ทางเพศของตนด้วย

สเตฟานี สไตน์ ทอฟต์ นักกิจกรรมที่เป็นอินเทอร์เซ็กส์ชาวเดนมาร์ก ©Amnesty International Denmark

กรณีศึกษา: ผลกระทบของโรคโควิด-19 ต่อทรานส์เจนเดอร์ในเอเชีย

ทรานส์เจนเดอร์ ผู้ซึ่งต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้างและการเลือกปฏิบัติที่ฝังรากลึกและต่อเนื่อง พบว่าการถูกกีดกันที่มีอยู่เดิมของพวกเขาถูกซ้ำเติมให้รุนแรงยิ่งขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้พวกเขาได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ได้สัดส่วน

รายงานฉบับนี้ได้วิเคราะห์ถึงอุปสรรคในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ การจ้างงาน การศึกษา ที่อยู่อาศัย สินค้าและการบริการที่จำเป็นที่เกิดขึ้อยู่เสมอ ตลอดจนการสนับสนุนทางสังคมท่ามกลางบริบทของการขาดการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศตามกฎหมาย การตีตรา การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการทำให้เป็นอาชญากรรม

รายงานของเราเรื่อง “จะมีโรคระบาดหรือไม่ เราก็ยังมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่” (Pandemic or not, we have the right to live) ได้บันทึกประสบการณ์ของทรานส์เจนเดอร์จาก 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และหมู่เกาะแปซิฟิก ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

งานวิจัยของเราได้เน้นย้ำถึงความเป็นจริงอันโหดร้ายที่ทรานส์เจนเดอร์จำนวนมากในเอเชียต้องเผชิญในช่วงระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19  ©Photo by Biplov Bhuyan/Hindustan Times จาก Getty Images

แม้ในบางประเทศจะมีความคืบหน้าในแง่ของการรับรองสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) อย่างไรก็ตาม การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศและความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง เด็กหญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน รัฐสภามีมติเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้สิทธิในการสมรสอย่างเท่าเทียมแก่กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ขณะที่คำวินิจฉัยของศาลในประเทศอื่นๆ ก็ได้สนับสนุนสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเช่นกัน ในเกาหลีใต้ ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าคู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิได้รับบริการด้านสุขภาพเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ ในจีน ศาลมีคำสั่งให้ผู้หญิงที่มีคู่รักเป็นเพศเดียวกันมีสิทธิในการเข้าเยี่ยมบุตร ในญี่ปุ่น ศาลอุทธรณ์สองแห่งมีคำวินิจฉัยว่า การห้ามการสมรสระหว่างเพศเดียวกันขัดต่อรัฐธรรมนูญ และในประเทศเนปาล ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษารับรองสิทธิของหญิงข้ามเพศให้เพศสภาพของเธอได้รับการรับรองในเอกสารอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ และในบางประเทศยังถูกดำเนินคดีอาญา ในอัฟกานิสถาน การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันโดยสมัครใจยังเป็นความผิดที่มีโทษถึงประหารชีวิต ในจีน นักกิจกรรมที่เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเสี่ยงต่อการถูกควบคุมตัวโดยพลการ ทรานส์เจนเดอร์ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงอย่างมาก ในฟิจิ กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้วิพากษ์วิจารณ์หลังจากที่เจ้าหน้าที่รัฐล้มเหลวในการสืบสวนอย่างมีประสิทธิภาพต่อกรณีการเสียชีวิตของพนักงานให้บริการทางเพศที่เป็นหญิงข้ามเพศ หลังเธอถูกลักพาตัวและถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศร่วมกับงาน บางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศร่วมกับงาน บางกอกไพรด์ ประเทศไทย

การเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

เราทุกคนได้รับการคุ้มครองจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกตามอัตลักษณ์ทางเพศ รสนิยมทางเพศและลักษณะทางเพศเพศภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลหลายประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศและให้พันธสัญญาว่าจะคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังคงมีการออกกฎหมายที่มีลักษณะแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศ

ปัจจุบันมีมากกว่า 64 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายกำหนดให้การรักเพศเดียวกัน (homosexuality) เป็นความผิดทางอาญา ซึ่งหลายกฎหมายเป็นผลพวงมาจากยุคล่าอาณานิคมของยุโรป 

คนสองคนกำลังถือริสท์แบนด์ “End Homophobia” ในวันเอดส์โลกในเมืองไนโรบี ประเทศเคนยา เดือนธันวาคม 2553

ในบางประเทศ เช่น บรูไน อิหร่าน มอริเตเนีย ซาอุดีอาระเบีย เยเมน ยูกันดา และในรัฐทางตอนเหนือของไนจีเรีย กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอาจถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตได้หากพบว่าพวกเขามีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน

การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การถูกดำเนินคดีอาญา แต่ยังรวมถึงการจำกัดการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ความลำบากในการหางานที่มั่นคง การถูกกลั่นแกล้งหรือการถูกคุกคามในที่ทำงาน เป็นต้น

กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศกำลังร่วมกันลุกขึ้นต่อสู้กับบรรยากาศแห่งความเกลียดชังและความเป็นศัตรู หลังจากเกิดเหตุกราดยิงจนมีผู้เสียชีวิตสองคนหน้าบาร์สำหรับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในเมืองบราติสลาวา ประเทศสโลวาเกีย ©Amnesty Slovakia

อัตลักษณ์ทับซ้อนของผู้ที่มีความเพศหลากหลายทางเพศ

อัตลักษณ์ทับซ้อน (Intersectionality) เป็นคำที่บัญญัติขึ้นโดยศาสตราจารย์คิมเบอร์เล เครนชอว์ เฟมินิสม์หญิงผิวดำที่เป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย และได้อธิบายอย่างเป็นทางการครั้งแรกต่อสาธารณชนในบทความของเธอในปี 1989 เรื่อง ‘Demarginalizing the Intersection of Race and Sex’ (การลดการแบ่งแยกระหว่างเชื้อชาติและเพศ)

เดิมทีคำว่า ‘Intersectionality’ หรือ ‘อัตลักษณ์ทับซ้อน’ ถูกใช้เพื่ออธิบายรูปแบบความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฏิบัติต่างๆ ที่ผู้หญิงผิวดำต้องเผชิญในสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นแนวคิดที่ถูกใช้ในระดับสากลเพื่อนิยามลักษณะการถูกกดขี่และการเลือกปฏิบัติรูปแบบต่างๆ ที่ซ้อนทับกัน

เครนชอว์ได้พูดถึงลักษณะของอัตลักษณ์ทับซ้อน ว่าคือการถูกกดขี่หรือการเลือกปฏิบัติ การควบคุม การกระทำที่เป็นการใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆ อันเป็นผลมาจากอัตลักษณ์ทางสังคมที่หลากหลายและทับซ้อนกัน อัตลักษณ์ของคน ๆ นั้นมีที่มาจากสถานะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เพศ ชนชั้น ชาติพันธุ์ การศึกษา สภาพร่างกาย ศาสนา ความเชื่อทางการเมือง ฯลฯ แต่ละอัตลักษณ์ทางสังคมนี้เชื่อมโยงกันและส่งผลต่อการใช้อำนาจหรือการกดขี่คนแต่ละคนแตกต่างกันออกไป

หลายประเทศในกลุ่มซีกโลกใต้ (Global South) อาจมีองค์ความรู้และประสบการณ์ของตนเองในการระบุปัญหาการกดขี่จากอัตลักษณ์ที่ทับซ้อน เช่น ในอินเดีย นิเวดิตา เมนอน (Nivedita Menon) นักวิชาการที่เป็นเฟมินิสม์ ระบุว่าการมีหลายอัตลักษณ์ทับซ้อนมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ซึ่งสามารถสืบย้อนไปถึงการต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยม โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงถึงงานของเครนชอว์

กล่าวคือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอาจเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศ และยังเผชิญกับการถูกกดขี่อันเนื่องจากปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ชนชั้น วรรณะ ศาสนา ชาติพันธุ์ ความสามารถ (ความพิการ) หรืออายุ เพื่อที่จะต่อสู้กับระบบที่กดขี่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เราจำเป็นต้องรื้อถอนโครงสร้างระบบที่กดขี่ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการเหยียดเชื้อชาติ ลัทธิจักรวรรดินิยม การเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ การกดขี่ทางเพศ ความเกลียดกลัวคนต่างชาติ การเลือกปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ หรือการแบ่งแยกชนชั้น

ผู้คนจำนวนมากมีชีวิตอยู่ท่ามกลางอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนของการถูกเลือกปฏิบัติหลายรูปแบบ ตัวอย่าง ผู้ลี้ภัยที่มีความหลากหลายทางเพศในเคนยาต้องเผชิญกับความเป็นปฏิปักษ์และความรุนแรง ไม่ใช่เพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะสถานะการเข้าเมือง สัญชาติ หรือชาติพันธุ์ของพวกเขาด้วย

ไพรด์ (Pride) ในฐานะที่เป็นการชุมนุมประท้วง

ไพรด์ (Pride) คืออะไร?

ไพรด์มีหลายรูปแบบ ทั้งการเดินขบวนคาร์นิวัล ไปจนถึงการฉายภาพยนตร์และการโต้วาที ไพรด์ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของกลุ่มคนที่ถูกจำกัดให้เป็นไปตามมาตรฐานของชายหรือหญิง โดยมีการจัดงานตลอดทั้งปีขึ้นอยู่กับสถานที่ เช่น ในทวีปอเมริกาและยุโรป เทศกาลไพรด์มักจะเริ่มในเดือนมิถุนายน ในขณะที่แอฟริกาใต้ เทศกาลไพรด์จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ไม่ว่าจะเป็นงานแบบใด ไพรด์เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศออกมาแสดงว่ายอมรับในสิ่งที่เป็นและภูมิใจในตัวตนของตัวเอง เทศกาลไพรด์ถูกแบนในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงรัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย ยูกันดา และล่าสุดคือประเทศตุรกี

แม้ว่าปัจจุบัน ไพรด์มักจะถูกมองว่าเป็นการเฉลิมฉลอง แต่จุดเริ่มต้นเดิมของไพรด์นั้นคือเหตุการณ์การจลาจลที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านความโหดร้ายของตำรวจ ณ สโตนวอลล์อินน์ (Stonewall Inn) ในนครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2512 สโตนวอลล์อินน์ถูกตำรวจบุกตรวจค้นอีกครั้งเหมือนที่ตำรวจได้บุกตรวจค้นมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ ‘ผู้ชาย’ หรือ ‘ผู้หญิง’ ต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่ ‘ตรงกับ’ เพศที่ระบุไว้ในบัตรประจำตัวที่รัฐออกให้ ขณะที่กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสโตนวอลล์อินน์ นำโดยผู้หญิงข้ามเพศผิวดำได้ลุกขึ้นต่อต้านการใช้ความรุนแรงโดยตำรวจ แต่ยิ่งพวกเขาต่อสู้กลับมากเท่าใด ความโหดร้ายของตำรวจก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้การจลาจลดังกล่าวยาวนานถึงหกวัน ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสหรัฐอเมริกา

ในหลายประเทศทั่วโลก ไพรด์ยังคงเป็นการชุมนุมประท้วงที่สำคัญและมีความหมายที่สุดที่เน้นย้ำและระลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ที่ม่ความหลากหลายทางเพศ

ไพรด์มีลักษณะของการเฉลิมฉลองที่แตกต่างกันไปในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอาจจัดไพรด์ขึ้นในรูปแบบของการจัดขบวนพาเหรด การเดินขบวน หรือแม้กระทั่งคอนเสิร์ตที่รวบรวมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เครือข่าย และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเฉลิมฉลองด้วยกัน แต่ในบางประเทศ งานไพรด์ถูกปิดกั้นโดยรัฐบาลและหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายอยู่เสมอ ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสำหรับผู้ที่เข้าร่วม

แม้ว่าไพรด์กลายเป็นหนึ่งในรูปแบบที่เห็นได้ชัดและเป็นที่รับรู้มากที่สุดในการเฉลิมฉลองความสุขและการเรียกร้องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ยังคงมีการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกผ่านการชุมนุมประท้วงและวิธีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ในโลกที่แนวคิดของไพรด์อาจไม่สะท้อนถึงหรือไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในท้องถิ่นนั้นๆ แต่พวกเขาชอบที่จะเฉลิมฉลองอัตลักษณ์ของตนด้วยวิธีที่ละเอียดอ่อนกว่า ลึกซึ้งขึ้นและเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นของพวกเขามากกว่าไพรด์

เมลิเคและออซกูร์ได้ทุ่มเทในการปกป้องสิทธิของเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์ และอินเทอร์เซ็กส์ (LGBTI+) ที่มหาวิทยาลัยของพวกเขา ในปี 2562 พวกเขาต้องเผชิญกับการพิจารณาคดีเพียงเพราะการใช้สิทธิในการชุมนุมประท้วงและจัดขบวนไพรด์พาเหรด พวกเขาถูกตัดสินให้พ้นข้อกล่าวหาในปี 2565 ©Akin Celiktas/Amnesty International

กรณีศึกษา: การคุกคามนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในโปแลนด์

บรรยากาศแห่งความเกลียดชังกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในโปแลนด์กำลังเลวร้ายลงเรื่อย ๆ นักเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับการตอบโต้ที่รวดเร็วและเป็นปฏิปักษ์จากกลไกรัฐ

รายงานของเราได้บันทึกเรื่องราวของผู้ที่ยืนหยัดเพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและการปราบปรามที่พวกเขาต้องเผชิญจากการทำกิจกรรมโดยสงบ

งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ให้เห็นตัวอย่างว่า ทางการโปแลนด์ไม่เพียงแต่ล้มเหลวในการปกป้องนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเพียงพอเท่านั้น แต่ยังตั้งเป้าโจมตีบุคคลเหล่านี้อีกด้วย หลายคนถูกดำเนินคดีเพียงเพราะเขียนข้อความด้วยชอล์กหรือแค่ถือธงสีรุ้งเท่านั้น

“ไม่เอาอีกแล้ว!” – ขบวนรณรงค์ต่อต้านการเลือกปฏิบัติของสมาชิกและผู้สนับสนุนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เดินผ่านใจกลางกรุงวอร์ซอและสิ้นสุดที่ทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2563 อันด์แชย์ ดูดา (Andrzej Duda) ซึ่งเพิ่งได้รับการเลือกตั้งใหม่ให้เป็นประธานกลุ่มอีกครั้ง ได้ใช้วาทกรรมที่ต่อต้านผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมาเป็นส่วนสำคัญของการรณรงค์ (โดยเรียกการรณรงค์นี้ว่า “อุดมการณ์ ไม่ใช่คน”) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคกฎหมายและความยุติธรรม (Law & Justice Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และเจ้าหน้าที่จากคริสตจักรคาทอลิก นับตั้งแต่ช่วงการรณรงค์ เหตุการณ์โจมตีผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศก็เกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ©Piotr Lapinski/NurPhoto/Getty

กลุ่มผู้สนับสนุนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้เอาชนะความท้าทายและอันตรายที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกร้องไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่แบ่งแยกกลุ่มคนเหล่านี้ ตั้งแต่การนำเสนอแนวคิดของไพรด์ไปจนถึงวันเฉลิมฉลองทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นวันต่อต้านโฮโมโฟเบีย ทรานส์โฟเบีย และไบโฟเบีย สากล (หรือ IDAHOTB) กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้สร้างเครือข่ายและพันธมิตรเพื่อสนับสนุนความภาคภูมิใจต่อตัวตนของพวกเขา ความพยายามร่วมกันของกลุ่มองค์กรนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทั่วโลกได้ปรากฏผลให้เห็นอย่างชัดเจน ทุกวันนี้ มีอย่างน้อย 43 ประเทศที่ออกมาประกาศว่าอาชญากรรมเกี่ยวกับโฮโมโฟเบียเป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (hate crime) ประเภทหนึ่ง และในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 มี 27 ประเทศที่ได้อนุมัติให้การสมรสของคู่รักเพศเดียวกันถูกกฎหมาย ในประเทศดังกล่าวนั้น รวมถึงอาร์เจนตินา แคนาดา ไอร์แลนด์ มอลตา แอฟริกาใต้ อุรุกวัย และไต้หวัน และแอมเนสตี้กำลังเรียกร้องให้ญี่ปุ่นปฏิบัติเช่นเดียวกัน

กิจกรรมร่วมขบวกิจกรรมร่วมขบวนไพรด์ในปี 2565 เพื่อส่งเสริมและเน้นย้ำว่าทุกคนมีสิทธิที่จะรักและเรียกร้องให้มีกกฎหมายสมรสเท่าเทียม ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2565

แอมเนสตี้มีส่วนร่วมสนับสนุนสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างไรบ้าง?

แอมเนสตี้มุ่งมั่นที่จะยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก

เราเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการใช้ชีวตของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลและผู้นำที่มีอิทธิพลอื่น ๆ เกี่ยวกับวิธีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เช่น งานวิจัยของเราที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้ที่มีภาวะเพศกำกวมหรืออินเตอร์เซ็กส์เป็นหนึ่งในงานวิจัยชิ้นแรกที่มาจากมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนและมีอิทธิพลอย่างมากต่อกฎหมายใหม่ในประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ กรีซ และนอร์เวย์

แอมเนสตี้ยังช่วยเหลือนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทั่วโลกโดยการจัดให้มีแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น เครื่องมือสนับสนุนสำหรับนักกิจกรรมที่ต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติในภูมิภาคแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) ไปจนถึง เอกสารชุด Body Politics ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการกำหนดให้การมีเพศสัมพันธ์และการสืบพันธุ์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

แต่การทำงานของเรายังไม่จบเพียงเท่านี้ เรามุ่งมั่นและพยายามที่จะผลักดันให้สิทธิทุกประการของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับการเติมเต็มอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเครือข่าย กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและนักกิจกรรมทั่วโลก

ผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลกต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในรัสเซีย ตอบโต้ข่าวที่ชายเป็นเกย์ถูกลักพาตัว ทรมาน และฆ่าเพราะนโยบายที่สนับสนุนโดยรัฐในเมืองเชชเนีย

เพราะอะไรสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจึงสำคัญ?

ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศกำลังยืนหยัดร่วมกันเพื่อต่อสู้กับบรรยากาศแห่งความเกลียดชังและความเป็นปรปักษ์ต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

ทุกคนควรได้รู้สึกภูมิใจในตัวตนของตนเองและคนที่รัก และมีสิทธิที่จะแสดงออกอย่างเสรี โดยข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (อธิบายสิทธิที่ทุกคนได้รับความคุ้มครองเป็นครั้งแรก) ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของทุกคน

การกำจัดโฮโมโฟเบียและทรานส์โฟเบียให้หมดไปสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ การคุกคามของพวกที่ต่อต้านผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้กลุ่มคนที่แสดงตนเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศตกอยู่ในความเสี่ยงต่อร่างกายและจิตใจอย่างมาก ดังนั้นทุกคนจึงควรมีสิทธิที่จะมีชีวิต เสรีภาพ และความปลอดภัย

การยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และเข้าใจตัวตนของพวกเขาจะลบล้างข้อจำกัดที่เกิดจากการเหมารวมลักษณะทางเพศ (gender stereotypes) การเหมารวมเหล่านี้ส่งผลเสียในสังคม ทั้งกำหนดและจำกัดวิถีชีวิตของคน การขจัดการเหมารวมจะปลดปล่อยให้ทุกคนบรรลุศักยภาพได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากข้อจำกัดอันแบ่งแยกของสังคม

ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะทรานส์เจนเดอร์และคนที่แสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงกับบรรทัดฐานของสังคม (gender non-conforming) มักเสี่ยงต่อการกีดกันทางเศรษฐกิจและสังคม การต่อสู้เพื่อกฎหมายที่เข้าถึงคนมากขึ้นโดยไม่คำนึงถึงรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศจะช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงสิทธิทางสุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัย และการจ้างงานมากขึ้น

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมเดินขบวนไพรด์เพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศและการไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และเพื่อส่งเสียงเรียกร้องปกป้อง สิทธิของพนักงานบริการ (Sex Worker) การสมรสเท่าเทียม และการกำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของตน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยในประเด็นเรื่องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้

  • ประกาศใช้กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ครอบคลุมและการประกันการเข้าถึงการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ
  • รายงานการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติที่มิชอบต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศควรได้รับการสอบสวนและนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม 
  • ผ่านร่างกฎหมายอื่นๆ ที่สำคัญเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศและสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยรับประกันให้ร่างกฎหมายเหล่านี้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
  • ดำเนินการปรับแก้กฎหมาย นโยบายทางสังคมและแผนงานด้านการศึกษาเพื่อขจัดอคติที่เกี่ยวโยงกับเพศและอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนอื่นๆ ขจัดบรรทัดฐานทางสังคมในเชิงลบและทัศนคติที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง เด็กหญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งนี้ ทางการควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อสถานการณ์ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดยยกเลิกข้อยกเว้นซึ่งอนุญาตให้มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ด้วยเหตุผลตามหลักศาสนาและความมั่นคงของรัฐตามมาตรา 17(2) เพื่อให้ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศดัวยเหตุอันเกี่ยวเนื่องจากศาสนาและความมั่นคงของรัฐ สามารถเข้าถึงกลไกการร้องเรียนได้
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเข้าร่วมการเดินขบวนเพื่อความเท่าเทียมในงาน KyivPride ปี 2562 ©Amnesty International Ukraine