เจนีวา: นักกิจกรรมเยาวชนเน้นย้ำถึงความสำคัญของการคุ้มครองเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเวทียูเอ็น

13 มีนาคม 2567

Amnesty International Thailand

รายงานของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถาการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติมนั้นนับเป็นก้าวสำคัญในกำหนดขั้นตอนการส่งเสริม และการคุ้มครองต่อสิทธิของเด็กและเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นเป็นบุคคลที่ออกมายืนหยัด ต่อสู้เพื่อสิทธิของบุคคลและชุมชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

แมรี ลอว์เลอร์ ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จะมีการนำเสนอรายงานฉบับใหม่ "เราไม่ได้เป็นแค่อนาคต": ปัญหาท้าทายที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" ในสมัยประชุมที่ 55 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนในวันที่ 12 มีนาคม 2567 ซึ่งในเวทีนำเสนอนั้น จะนักกิจกรรมเด็กและเยาวชนเข้าร่วมการประชุมเพื่อบอกเล่าประสบการณ์โดยตรงของพวกเขา

"เด็กและเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมักต้องเผชิญกับการกดขี่ รวมทั้งการคุกคาม การข่มขู่ และการโจมตีทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ รวมทั้งการตีตราการพูดจาดูหมิ่นดูแคลน การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งอายุ และการกีดกัน" ซาร่า วีดา เกาม้องส์ รองผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์และการศึกษา และหัวหน้าโครงการทีมเด็กและเยาวชนระดับโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

ผู้รายงานพิเศษ ฯ เน้นถึงอุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้นต่อเด็กและเยาวชนนักปกป้อง รวมทั้ง "กรณีที่กลุ่มผู้ใหญ่ทำตัวเหมือนคนเฝ้าประตูในการเข้าถึงทรัพยากรและโอกาส" ส่งผลให้เกิดพลวัตของอำนาจที่ไม่เท่าเทียม และจำกัดการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนนักปกป้องในกระบวนการตัดสินใจ

ยกตัวอย่างในรายงาน ซึ่งระบุว่าการเข้าถึง "ความช่วยเหลือและคำปรึกษาด้านกฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนที่ช่วยให้พวกเขาทำงานต่อไปได้" นอกจากเด็กและเยาวชนนักปกป้องสิทธิจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือและคำปรึกษาด้านกฎหมายได้อย่างเท่าเทียมแล้ว ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในด้านค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย ในขณะที่พวกเขามีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุน

"การมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะจากมุมมองของเด็กและเยาวชน เป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะเป็นการย้ำถึงความตระหนักในประสบการณ์ที่แตกต่างกันระหว่างรุ่น เราหวังว่ารัฐบาลทั่วโลกจะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้รายงานพิเศษ ฯ และเริ่มให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนด้านกฎหมายต่อเด็กและเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาท้าทายด้านกฎหมาย หรือต้องการคำปรึกษาเพื่อให้สามารถใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคมได้"

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เก็บข้อมูลกรณีการปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาหลายปี รวมทั้งกรณีของ ฟาติมา โมฟลามลี จากอาเซอร์ไบจาน ซึ่งต้องเผชิญกับการข่มขู่ และมาห์มุด ฮุสเซ็น จากอียิปต์ ซึ่งเคยถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีโดยพลการเป็นเวลาสองปี เนื่องจากสวมเสื้อยืดต่อต้านการทรมาน รายงานนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ให้ความสนใจต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะเจาะจง

รายงานระบุว่า "นับแต่ปี 2563 นักศึกษามหาวิทยาลัยและนักเรียนมัธยมได้เรียกร้องอย่างสงบให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมประท้วงบางคนในประเทศไทยเรียกตัวเองว่า "กลุ่มนักเรียนเลว" ได้สะท้อนถึงการปฏิบัติมิชอบและการตอบโต้ของครูที่ทำกับพวกเขา" แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เก็บข้อมูลกรณีที่หน่วยงานของรัฐไทยล้มเหลวในการเคารพและคุ้มครองเด็กนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเมื่อเกิดการชุมนุมประท้วงที่มีเยาวชนเป็นแกนนำ เจ้าหน้าที่ยังอ้างอำนาจตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก เพื่อควบคุมตัวเยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ขัดขวางไม่ให้พวกเขาใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ

รายงานยังระบุถึงการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ โดย "เด็กผู้หญิงและหญิงสาวที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยังต้องเผชิญกับความรุนแรง รวมทั้งความรุนแรงทางเพศ จากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของตน ในอาร์เจนตินาเมื่อปี 2561 นักกิจกรรมเพื่อสิทธิทำแท้งวัย 15 ปี ถูกทำร้ายอย่างสาหัสบนท้องถนนโดยชายสองคน ซึ่งใช้ใบมีดโกนกรีดหน้าเธอ และบอกว่าจะทำให้เธอไม่สามารถเดินบนท้องถนนได้อีกต่อไป เยาวชนนักกิจกรรมสามารถจำคนที่ทำร้ายเธอได้ เพราะคนที่เคยเข้ามาข่มขู่เธอในอินสตาแกรมก่อนหน้านี้"

ในเอกวาดอร์ เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ลีโอเนลา มอนคาโย เด็กนักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศถูกข่มขู่ โดยมีการจุดระเบิดด้านนอกบ้านของเธอ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นห้าวันหลังจาลีโอเนลาและเด็กผู้หญิงนักปกป้องอีกแปดคน ถูกตีตราโดยรัฐมนตรีว่าการพลังงานและเหมืองแร่ในรัฐสภา จากการเคลื่อนไหวต่อต้านของพวกเธอต่อการเผาแก๊สทิ้ง