2018 ปีแห่งความโกรธและความแกร่งของผู้หญิง

24 ธันวาคม 2561

บทความโดย ชลธร วงศ์รัศมี

ปี 2018 เป็นปีที่กระแส #metoo ร้อนแรงต่อเนื่อง และเคี่ยวงวดเมื่อศาสตราจารย์คริสทีน บลาซีย์ ฟอร์ด (Christine Blasey Ford) เปิดโปงผู้พิพากษาเบรทท์ คาวานอห์ (Brett Kavanaugh) เมื่อเดือนกันยายน ว่าเขาเคยมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศเธอสมัยเป็นเพื่อนร่วมโรงเรียน การเปิดโปงครั้งนี้สั่นคลอนเส้นทางการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงของคนที่ทรัมป์เลือก ขบวนการ #metoo ยืนหยัดเคียงข้างศาสตราจารย์คริสทีนทันทีอย่างเข้มแข็ง ปฏิเสธคาวานอห์ ไม่ยอมให้คนที่เคยคุกคามผู้หญิงดำรงตำแหน่งที่ต้องวินิจฉัยเรื่องสำคัญของประเทศ ส่งแรงกดดันหนักหน่วงไปยังทรัมป์ผู้ผลักดันเขา จนเกิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมระลอกสองต่อจาก #metoo คือ #believesurvivor

 

หนึ่งในความโดดเด่นของ #metoo และ #believesurvivor คือการแสดงจุดยืนว่า ‘จะอยู่เคียงข้างกัน’ การประกาศว่าจะอยู่เคียงข้างกันเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายดาย แต่กลับเปล่งพลังจากแนวราบที่น่ามหัศจรรย์ สำหรับ #metoo การอยู่เคียงข้างกันทำให้ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อการใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกล้าก้าวออกมาจากเงื้อมเงาความอับอาย ปฏิเสธโครงสร้างสังคมที่เอื้อให้ผู้ชายแสวงหาประโยชน์จากพวกเธอ และสำหรับผู้หญิงซึ่งกำลังเผชิญสถานการณ์เลวร้ายในรูปแบบต่างออกไป การอยู่เคียงข้างกันจะนำมาซึ่งสิ่งใดได้บ้าง เป็นสิ่งที่เราทุกคนลอง ‘ทำ’ ดูได้ หลังจากอ่านเรื่องราวของพวกเธอจบแล้ว

 

ลงชื่อรณรงค์เลย!

 

เจราดีน หญิงสาวผู้ชอบอ่านหนังสือของมิลาน คุนเดอรา

 download (3).jpeg

ในประเทศที่เกือบล้มละลายอย่างเวเนซุเอลา กำลังรอการเคียงข้างให้กับ เจราดีน ซากอน (Geraldine Chacón) หญิงสาววัย 24 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีด้านกฎหมายในเวเนซุเอลา และสำเร็จหลักสูตรทางกฎหมายจาก Science Po มหาวิทยาลัยด้านสังคมศาสตร์ชื่อดังของปารีส เจอราดีน เป็นชาวการากัส เมืองห่างไกลความเจริญของเวเนซุเอลา เธอเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องการศึกษาตั้งแต่อายุ 14 ปี เมื่อเรียนมหาวิทยาลัยได้เป็นแกนนำในการจัดทำหนังสือพิมพ์นักศึกษา และทำงานให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแก่เยาวชนเรื่อยมา เมื่อเรียนจบเจราดีนได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการขององค์กรภาคประชาสังคม Fundación Embajadores Comunitarios ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนให้ดีขึ้น และส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

ตีหนึ่งครึ่ง ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2018 เจ้าหน้าที่รัฐพร้อมอาวุธเข้าจับกุมเจราดีนที่บ้าน กล่าวหาว่าเธอเป็นส่วนหนึ่งของผู้ต่อต้านรัฐบาลและร่วมเดินขบวนโดยใช้ความรุนแรงประท้วงรัฐบาล ทว่าในสังคมเวเนซุเอลาล้วนทราบดีว่าการจับกุมหญิงสาวผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนผู้นี้ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกำจัดผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เจราดีนติดคุกอยู่ 4 เดือนโดยไม่ได้รับน้ำและอาหารอย่างเพียงพอ ได้รับความทรมานทางด้านจิตใจ ก่อนได้รับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไขว่าเธอไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าคดีของเธอจะสิ้นสุด จึงเป็นช่องว่างให้รัฐบาลเวเนซุเอลายังจับกุมเธอได้ทุกเมื่อ

 

เจอราดีนหลงรักหนังสือของนักเขียนเรืองนามชาวเช็ก มิลาน คุนเดอรา เรื่อง ‘The Unbearable Lightness of Being’ ซึ่งคนไทยรู้จักดีในชื่อ ‘ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต’ ช่างพ้องพานอย่างไม่รู้ว่าควรยิ้มหรือร้องไห้ เมื่อนึกว่าคุนเดอราเองเคยวิพากษ์ลัทธิสตาลินไว้อย่างเผ็ดร้อน จนถูกปลดจากตำแหน่งอาจารย์สอนวรรณกรรม และสูญเสียสถานะพลเมืองเช็ก บทส่งท้ายของชีวิตคุนเดอรา เขาได้รับทั้งตำแหน่งอาจารย์คืนและได้เป็นพลเมืองฝรั่งเศส ทว่าเส้นเรื่องของเจอราดีนเพิ่งดำเนินมาถึงทางแยก ว่าเธอจะลงเอยในคุกอีกครั้ง สูญหายลางเลือน หรือเติบโตเป็นพลเมืองที่มีค่า ได้ใช้ความรู้ความสามารถเป็นกำลังของสังคม

 

 

 

มารีเอลลี หญิงสาวผู้กำมือแน่นเมื่อได้รับกุหลาบ

 download (1).jpeg

การถูกยิงในรถยนต์ เป็นแบบแผนการฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่มักเกิดขึ้นในบราซิล มารีเอลลี ฟรังโก (Marielle Franco) ผู้มีเพศสภาพเป็นไบเซ็กชวล โปรดปรานทั้งการเต้นฟลาเมนโก้และฟุตบอล เป็นหนึ่งในผู้จบชีวิตเช่นนั้น

 

เมื่อยังมีลมหายใจ มารีเอลลีเรียนจบปริญญาตรีด้านสังคมวิทยา และปริญญาโทด้านบริหารรัฐกิจ เป็นครูอนุบาลผู้เป็นที่เคารพนับถือก่อนผันตัวมาสู่โลกวิชาการ โดยผลงานวิชาการเพื่อจบการศึกษาระดับปริญญาโทของเธอคือการวิเคราะห์ถึงบทบาทของตำรวจในบราซิล ประเทศที่เต็มไปด้วยแก๊งค้ายาเสพติด งานวิจัยของเธอเกิดขึ้นหลังเพื่อนสนิทของเธอถูกยิงตายในสถานการณ์ต่อสู้ระหว่างตำรวจและผู้ค้ายาฯ โดยที่เพื่อนของเธอเป็นผู้บริสุทธิ์

 

มารีเอลลีประณามการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยตำรวจ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของบราซิล เธอต่อสู้เพื่อให้กรุงรีโอเดจาเนโรปลอดภัยและมีกฎหมายที่เป็นธรรมมากขึ้น และยังต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงผิวสี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ เยาวชน และคนชายขอบในบราซิล 8 มีนาคม 2558 หลังจากได้รับช่อดอกไม้ในวันสตรีสากล เธอกล่าวสุนทรพจน์ว่า

 

“กุหลาบของผู้ต่อต้านผุดขึ้นจากพื้นผิวยางมะตอย เราได้รับกุหลาบ แต่ทันใดนั้นเรากลับต้องกำหมัดแน่นเมื่อพูดถึงการดำรงอยู่ของพวกเรา”

 

มารีเอลลียังได้ช่วยเหลือครอบครัวของเหยื่อที่เจอความรุนแรงโดยตำรวจมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในกรณีที่เธอช่วยไว้คือครอบครัวของตำรวจที่หัวหน้าครอบครัวถูกเพื่อนตำรวจของเขาเองสังหาร 14 มีนาคม 2561 มารีเอลลีถูกยิงตาย จากพยานหลักฐานบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนในปฏิบัติการนี้ กรณีของมารีเอลลีไม่ใช่กรณีแรกที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในบราซิลถูกฆ่าตาย ปี 2017 มีนักสิทธิมนุษยชนในบราซิลถูกสังหารในปีเดียวกันอย่างน้อย 70 คน ซึ่งหากไม่ส่งเสียงหยุดยั้ง อาจมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนพบชะตากรรมเดียวกับมารีเอลลีมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

กัลป์ซา ผู้เคยถูกไล่ลงจากรถเมล์เพราะพิการ

 download (2).jpeg

ในประเทศคีร์กีซสถาน ซึ่งกัลป์ซา ดูเชโนวา (Gulzar Duishenova) อาศัยอยู่ ผู้พิการต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมไม่เว้นวัน เช่นการไปรักษาพยาบาลที่ขาดแคลนเครื่องมือบางอย่าง และการใช้บริการขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการ กัลป์ซาได้พยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้

 

กัลป์ซาเกิดในปี 1977 และในปี 2002 เธอไม่อาจเดินได้อีก หลังประสบอุบัติเหตุเนื่องจากคนขับรถเมาเหล้า กัลป์ซาชอบทำงานฝีมือโดยเฉพาะการถักโครเชต์ และอีกสิ่งที่เธอชอบคือการอ่านหนังสือ หลังสามี เสียชีวิตในปี 2003 กัลป์ซาสูญเสียอาชีพหลัก กลายมาเป็นแม่ม่ายที่ต้องเลี้ยงลูกสองคน ต่อมาเธอได้งานเป็นนักแปลแบบเต็มเวลา โดยรับงานมาทำที่บ้านสัปดาห์ละ 5 วัน และทำงานนี้มาจนถึงปัจจุบัน

 

กัลป์ซาเป็นปากเสียงของภาคประชาสังคมในคีร์กีซสถานมาอย่างต่อเนื่อง เธอรณรงค์ให้เกิดมาตรการต่างๆ เพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข การจ้างงาน และการเกินทางอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะสำหรับเพศหญิง เธอทำกระทั่งจัดการอบรมให้คนขับรถเมล์ท้องถิ่นรู้วิธีช่วยเหลือผู้โดยสารพิการขึ้นลงรถ หลังจากที่เธอเคยต้องอับอายจากการขอให้พวกเขาช่วยมาก่อน และเคยเจอกระทั่งการไล่ลงจากรถ

 

งานของกัลป์ซารุกคืบไปเรื่อยๆ เธอเรียกร้องให้ที่ทำงานต่างๆ จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับผู้พิการ เช่นทางขึ้นลงวีลแชร์ เพราะมีผู้พิการจำนวนมากต้องปฏิเสธงานเพราะขาดโครงสร้างพื้นฐานเช่นนี้ เธอเรียกร้องให้โรงพยาบาลมีลิฟท์สำหรับยกตัวผู้ป่วยที่พิการ

  

ขณะนี้ข้อเสนอหลายอย่างของกัลป์ซายังไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ แต่หากรัฐบาลคีร์กีซสถานให้สัตยา

 

บรรณต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities – CRPD) และออกกฎหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ข้อเสนอต่างๆ ของกัลป์ซาก็จะได้รับการตอบสนองได้ง่ายขึ้น เธอเคยกล่าวถึงอนุสัญญาฉบับนี้ไว้ว่า “การไม่ยอมรับอนุสัญญานี้แสดงถึงการสกัดกั้นไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือมุมมองของผู้คน ถ้าผู้คนเห็นคนพิการแล้วอยากผลักดันให้คนพิการได้สิทธิในการทำงาน นั่นล่ะคือมุมมองที่เปลี่ยน และเมื่อนั้นเงื่อนไขต่างๆ จะเปลี่ยนตาม”

 

ผู้หญิงธรรมดาๆ แต่มีจิตใจและความฝันยิ่งใหญ่ทั้งสามคนยังรอผู้คนที่จะอยู่เคียงข้างเธอ แม้มารีเอลลีจะไม่มีลมหายใจแล้ว แต่เธอคงอยากให้พวกเราเคียงข้างผู้ที่ยังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในบราซิลเช่นกัน ปี 2018 กำลังจะผ่านพ้นไป พร้อมความโกรธและความแกร่งของผู้หญิงในขบวนการ #metoo ซึ่งค่อยๆ เปลี่ยนคุณค่าหลักในสังคมไปอย่างน่าทึ่ง เราทุกคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนอยู่เคียงข้างเจราดีน มารีเอลลี และกัลป์ซาได้เช่นกัน ด้วยการ ‘เขียน’ ถึงสิ่งที่เราอยากบอกกับพวกเธอ หรือเขียนถึงรัฐบาลของพวกเธอได้หากต้องการ ด้วยการเข้าถึง เขียน ส่ง ไม่กี่คลิกง่ายๆ ไม่จำกัดขนาดสั้นยาว และเป็นภาษาใดๆ ก็ได้ ทาง

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจะเป็นสื่อกลางเพื่อนำข้อความไปสู่พวกเธอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเธอไม่ได้โดดเดี่ยว สำหรับผู้กำลังต่อสู้ในหนแห่งที่ประตูสู่ความยุติธรรมทุกบานปิดตาย การประกาศว่าจะอยู่เคียงข้างกันย่อมมีความหมายเกินประมาณได้ และพวกเราสามารถสอดจดหมายเข้าไปใต้บานประตูนั้น 

 

 

ลงชื่อรณรงค์เลย!