Myanmar Film Nights 2023 Bangkok จาก 1 กุมภาฯ ถึงเมียนมาในอนาคต, จนกว่าประชาชนจะชนะ

23 กุมภาพันธ์ 2566

Amnesty International

1 กุมภาพันธ์ 2566 ณ เรือนร้อยฉนำ ถ. เจริญกรุง กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเสมสิกขาลัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และเครือข่าย ร่วมจัดกิจกรรม ‘Myanmar Film Nights 2023 Bangkok จาก 1 กุมภาฯ ถึงเมียนมาในอนาคต, จนกว่าประชาชนจะชนะ’ ในวาระครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์การรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หนึ่งในโศกนาฎกรรมที่สะท้อนให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งในเมียนมาที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน 

 

ภายในงาน นอกจากจะมีการฉายภาพยนตร์และอาหารพื้นเมืองที่จะพาผู้ร่วมกิจกรรมไปพบกับเรื่องเล่าจากหลายพื้นที่ทั่วเมียนมาแล้ว ยังมีอีกหนึ่งไฮไลท์อย่างการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของชาวเมียนมาในไทยอย่างการนำเครื่องครัวมาเคาะ พร้อมตะโกนเป็นคำว่า “เราต้องการประชาธิปไตย” และ “เผด็จการจงพินาศ” ไปจนถึงวงสนทนา ‘คุณจะลืมเราไหม’ ซึ่งได้รับเกียรติจาก อาจารย์ลลิตา หาญวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมชาวไทย Pan Hmway ประชาชนชาวเมียนมา และ พุทธณี กางกั้น ผู้อำนวยการ The Fort in Bangkok มาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการร่วมจุดเทียน เพื่อแสดงพลังในการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมา 

 

TOS08835.jpg

 

70 ปีแห่งการยืนหยัดต่อสู้กับเผด็จการทหารเมียนมา 

อาจารย์ลลิตา หาญวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดประเด็นด้วยการบรรยายสถานการณ์เหตุการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาที่ดำเนินมาอย่างยาวนานกว่า 70 ปีที่ประชาชนในประเทศต้องยืนหยัดต่อสู้กับเผด็จการทหารเมียนมามาโดยตลอด เพียงแต่รูปแบบการต่อสู้อาจมีความสลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก 

“แม้ว่าแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างชาติ (Nation Building) แต่การจะยึดโยงให้ทุกฝ่ายใช้วิธีการเดียวกันคงเป็นไปได้ยาก” 

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน การที่ประชาชนเมียนมาในบางเมืองออกมาแสดงการต่อต้านการทำรัฐประหาร ด้วยการนำเครื่องครัวออกมาเคาะและการบีบแตรรถยนต์ทุกวันช่วง 2 ทุ่ม เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการทำรัฐประหาร ซึ่งท้ายที่สุดได้นำมาซึ่งการโจมตีทั้งทางอากาศและทางบกของกองทัพต่อพลเรือน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวออกไปอย่างกว้างขวาง กระทั่งการแสดงสัญลักษณ์เชิงต่อต้านลักษณะนี้ค่อยๆ เลือนหายไป  

โดยนับแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาได้มีการจับกุมโดยพลการ การทรมาน และสังหารพลเรือนโดยไม่ต้องรับผิดเรื่อยมา ส่งผลให้ประชาชนเกือบ 3,000 คนถูกสังหาร 1.5 ล้านคนต้องพลัดถิ่นฐานในประเทศ และกว่า 13,000 คนยังคงถูกควบคุมตัวในสภาพที่ไร้มนุษยธรรม และมีรายงานการประหารชีวิตประชาชน 4 คน และมีผู้ต้องโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 100 คน นอกจากนั้นยังมีเด็กอีกกว่า 7.8 ล้านคนที่ต้องออกจากโรงเรียน 

 

TOS08374.jpg

การยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวเมียนมา 

พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรมชาวไทย เน้นย้ำว่า ‘Solidarity is the key’ เป็นวลีที่ภาคประชาชนในเมียนมาพยายามผลักดันมาโดยตลอด ขณะที่สัญลักษณ์ ‘สามนิ้ว’ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวในหมู่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยทั้งระดับภายในประเทศและระดับภูมิภาคอย่างกว้างขวาง ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนชาวไทยจะสามารถใช้เหตุการณ์นี้ในการเรียนรู้การต่อสู้ของพี่น้องที่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ไปจนถึงการขบคิดและหาทางออกร่วมกัน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งในอนาคต 

“เราไม่เหมือนยุโรปฝั่งตะวันตกที่ประชาชนมีอำนาจต่อรองกับรัฐสูง ภูมิภาคของเรา รัฐมีอำนาจมาก เราต้องพึ่งคนตัวเล็กตัวน้อยจึงจะมีพลังมากขึ้น เมื่อเรารวมตัวกัน เราต้องคิดระดับภูมิภาคมากขึ้น” 

ด้าน Pan Hmway ประชาชนชาวเมียนมา เสริมว่า “ไม่ว่าเผด็จการจะทำอะไรก็ตาม พวกผมยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ ไม่ว่าจะเป็นผมหรือพี่น้องเมียนมาก็ยังคงมีความหวัง ผมอยากจะขอบคุณพี่น้องชาวไทย เพราะเราอยู่กันแบบเป็นพี่น้อง เราอยู่กันแบบครอบครัว มนุษย์ช่วยมนุษย์ ประชาชนช่วยประชาชน สิ่งเหล่านี้เป็นพลังที่ดีสำหรับผม” 

 

ความเชื่อมโยงระหว่างรัฐ 

พุทธณี กางกั้น ผู้อำนวยการ The Fort in Bangkok อ้างถึงสถิติจากข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ว่า นับแต่การทำรัฐประหารจนถึง 1 กุมภาพันธ์ 2566 มีการทำสงครามกลางเมืองไล่จับผู้เห็นต่าง การใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ไปจนถึงการยิงปืนใหญ่ จุดไฟเผาหมู่บ้านพลเรือน ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นภายในสูงถึง 1,244,000 รายเป็นอย่างน้อย โดยส่วนใหญ่เป็นประชาชนจากภูมิภาคสะไกน์ และมะเกว่ จากตอนกลางเมียนมา 

 

ท่ามกลางสถิติแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ พุทธณี มองว่า รัฐบาลไทย ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือผู้ผลัดถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านตัวบทกฎหมาย เช่น พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งจะบังคับใช้ตั้งแต่ 22 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป 

 

“รัฐบาลเรายังจัดการกับเขาแบบเป็นผู้ผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่หลายคนหนีมาด้วยภัยต่างๆ สิ่งที่เราช่วยกันได้ในภาคประชาสังคม คือ ผลักดันรัฐ เพื่อให้รัฐไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ จนกว่าเขาจะรู้สึกปลอดภัยจริงๆ ให้องค์กรทำเรื่องมนุษยธรรมเข้าไปช่วยผู้ลี้ภัยได้ ผลักดันให้รัฐบาลไทยออกระเบียบชั่วคราว มีสถานะทางกฎหมาย ไปจนถึงการยกเลิกข้อสงวนในข้อ 22 ของสนธิสัญญาเด็ก (CRC)” 

 

ก่อนจะปิดท้ายกิจกรรมด้วยการจุดเทียน STAND WITH MYANMAR ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังท่ามกลางขวากหนามทั้งปวง ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ชวนให้ขบคิดถึงช่วงชีวิตของเราที่ได้ลิ้มรสสิทธิและเสรีภาพว่า “กว่า 9 ปีของการรัฐประหารไทย และ 2 ปีของการรัฐประหารเมียนมาได้คร่าหมื่นกว่าชีวิต คนอีกเป็นล้านที่ต้องไร้บ้าน คนทำงานสื่อ 4 คนโดนประหาร เด็กอีกกี่ชีวิตต้องโตขึ้นตามหลุมหลบภัย ในช่วงชีวิตของเรา ได้ลิ้มรสสิทธิและเสรีภาพกี่ชั่วโมงยามกัน” 

 

พร้อมเชิญชวนให้ “พวกเราทุกคนมาช่วยกันต่อเทียนจุด เพื่อให้เกิดแสงแห่งกำลังใจ และแด่ทุกจิตวิญญาณ เราจะช่วยกันบอกชาวโลกว่า กองทัพเมียนมาและทุกองคาภยพที่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงต้องหยุดได้แล้ว ด้วยแสงเทียนแห่งความหวังของพวกเราทุกคน” 

 

รับฟังวงสนทนา ‘คุณจะลืมเราไหม’ ย้อนหลังได้ทางเฟซบุ๊ก The Reporters