Death Penalty

ภาพรวม

ปัจจุบันเมื่อเกิดคดีอาชญากรรมร้ายแรง สังคมมักเรียกร้องให้มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตอย่างจริงจังต่อผู้กระทำความผิด โดยเชื่อไปเองว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะฆาตกรได้ตายไปแล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอยืนยันว่าได้ให้ความเคารพต่อทุกๆ ข้อคิดเห็นเหล่านั้นเสมอมาในฐานะที่เราต่างอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งความเป็นประชาธิปไตย แม้ในความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย อาชญากรรมและความรุนแรงยังคงมีอยู่เพียงแค่เปลี่ยนตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้นเอง


การที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้พยายามสื่อสารกับสาธารณะในประเด็นโทษประหารชีวิต เพราะต้องการจะให้เกิดการสร้างระบบการป้องกันที่มีมาตรฐาน เพื่อลดความรุนแรงและอาชญากรรมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีกต่างหาก หาใช่เป็นการช่วยเหลือฆาตกรแต่อย่างใดตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ หรือพยายามโจมตีแนวทางการทำงานของแอมเนสตี้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์


นอกจากนั้นการลงโทษประหารชีวิตยังเป็นการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดสำหรับบุคคล นั่นคือ เป็นการละเมิด “สิทธิในการมีชีวิต” ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โทษประหารชีวิตเป็นการสังหารบุคคลโดยรัฐเป็นผู้ลงมืออย่างเลือดเย็นและมีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า และที่น่าหวาดหวั่นที่สุด คือ การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรูปแบบนี้ ถูกกระทำในนามของ “ความยุติธรรม”


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม



โทษประหารชีวิตในโลก

เป็นที่ทราบกันดีว่าการประหารชีวิตคือบทลงโทษสูงสุดแก่ผู้กระทำความผิดร้ายแรง วิธีการประหารที่นานาชาติมีใช้อยู่ คือ การแขวนคอ การยิงเป้า การนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า การตัดศีรษะ การใช้หินขว้างให้ตาย การฉีดยา เป็นต้น
แอมเนสตี้เริ่มรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิตตั้งแต่ปี 2520 ในขณะนั้นมีเพียง 16 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ปัจจุบันมี 141 ประเทศทั่วโลกหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของ ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกมาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาดในรูปแบบนี้ และแสวงหาทางเลือกของการลงโทษที่ไม่ละเมิดสิทธิในการมีชีวิต โดยสถิติล่าสุดในปี 2559 ปรากฏดังนี้
• 104 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท
• 7 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทางอาญาทั่วไป
• 30 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารในทางปฏิบัติ
• 141 ประเทศ ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ
• 57 ประเทศที่ยังคงบทลงโทษประหารชีวิต

โทษประหารชีวิตในไทยและอาเซียน

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (การที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนามยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่

ในส่วนของประเทศไทย จากข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม (http://www.correct.go.th/stathomepage) ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560นั้น มีนักโทษประหารรวมทุกประเภทจำนวน 438 คน ชาย 364 คน หญิง 74 คน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นนักโทษในคดียาเสพติด ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อเสนอแนะสำหรับเมืองไทยดังนี้ 

• ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 3 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด
• เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทโทษประหารชีวิต
• ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต

ประเทศไทยมีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2552 ก้าวเข้าสู่ปีที่แปดที่ไม่มีการประหารชีวิต ซึ่งหากไม่มีการประหารชีวิต 10 ปีติดต่อกัน ทางองค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งจะถือเป็นพัฒนาการที่ดีด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศไทยอีกก้าวหนึ่ง

 

 

ทำไมต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต?

การที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้พยายามสื่อสารกับสาธารณะในประเด็นโทษประหารชีวิต เพราะต้องการจะให้เกิดการสร้างระบบการป้องกันที่มีมาตรฐาน เพื่อลดความรุนแรงและอาชญากรรมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีกต่างหาก หาใช่เป็นการช่วยเหลือฆาตกรแต่อย่างใดตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ หรือพยายามโจมตีแนวทางการทำงานของแอมเนสตี้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

นอกจากนั้น การลงโทษประหารชีวิตยังเป็นการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดสำหรับบุคคล นั่นคือ เป็นการละเมิด “สิทธิในการมีชีวิต” ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โทษประหารชีวิตเป็นการสังหารบุคคลโดยรัฐเป็นผู้ลงมืออย่างเลือดเย็นและมีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า และที่น่าหวาดหวั่นที่สุด คือ การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรูปแบบนี้ ถูกกระทำในนามของ “ความยุติธรรม” 

แอมเนสตี้เรียกร้องอะไร?

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

141

จำนวนประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในปัจจุบัน

1,032+

จำนวนคนที่ถูกประหารชีวิตทั่วโลกในปี 2559

8

จำนวนปีที่ประเทศไทยปราศจากการประหารชีวิต