สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 27 ตุลาคม-3 พฤศจิกายน 2566

6 พฤศจิกายน 2566

Amnesty International Thailand

 

โลก/อินเดีย: การแจ้งเตือนของ Apple เน้นย้ำถึงภัยคุกคามของการสอดแนมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

31 ตุลาคม 2566

 

สืบเนื่องจากรายงานที่ Apple ส่งการแจ้งเตือนภัยคุกคามรอบใหม่ทั่วโลก รวมถึงผู้นำฝ่ายค้านและนักข่าวชาวอินเดีย ซึ่งพบว่า iPhone ของพวกเขาอาจตกเป็นเป้าหมายของ "ผู้โจมตีที่สนับสนุนโดยรัฐ"

ลิขิตา บาเนอร์จี นักวิจัยและที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การแจ้งเตือนภัยคุกคามของ Apple รอบล่าสุดนี้ยืนยันว่าการใช้สปายแวร์ที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวสูงโดยรัฐทั่วโลกยังคงไม่ลดลง โดยมุ่งเป้าไปที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว และนักการเมือง แม้จะเกิดเรื่องอื้อฉาวและการเปิดโปงซ้ำหลายครั้ง แต่การขาดความรับผิดชอบและความโปร่งใสอย่างน่าละอายได้ก่อให้เกิดบรรยากาศของการลอยนวลพ้นผิด ซึ่งนำไปสู่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการสอดแนมที่อื้อฉาวอีกครั้งหนึ่ง

“ในอินเดีย องค์กรภาคประชาสังคม นักข่าว และนักกิจกรรมเคยเผชิญกับการสอดแนมที่ไม่ได้รับการตรวจสอบและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เทคโนโลยีสปายแวร์ได้ถูกนำมาใช้เพื่อจำกัดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออก ในบรรยากาศเช่นนี้ รายงานหลายฉบับที่ระบุว่านักข่าวและผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญได้รับการแจ้งเตือนของ Apple เป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นพิเศษในช่วงหลายเดือนก่อนการเลือกตั้งทั่วไประดับรัฐและระดับประเทศ การสอดแนมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องไม่เกิดขึ้นต่อไป

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลย้ำข้อเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศต้องสั่งห้ามการใช้สปายแวร์ที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวสูงโดยทันที ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างอิสระหรือจำกัดการทำงานได้ การแจ้งเตือนความปลอดภัยของ Apple จะต้องได้รับการตรวจสอบโดยหน่วยงานอิสระที่เกี่ยวข้องโดยทันทีและเป็นกลาง การใช้เทคโนโลยีสปายแวร์ในทางที่ผิดจะต้องยุติลง”


อ่านต่อ:

https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/global-india-apple-notifications-highlight-the-unabated-threat-of-unlawful-targeted-surveillance/

 

----- 

 

 

โลก: ฟีฟ่าต้องกำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในฟุตบอลโลกปี 2573 และ 2577 หลังเส้นตายการประมูล

31 ตุลาคม 2566


Sport & Rights Alliance เผยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ว่า ฟีฟ่าต้องกำหนดให้มีคำมั่นสัญญาที่ชัดเจนและมีผลผูกพันในการปรับปรุงสิทธิมนุษยชนสำหรับประเทศที่มีแนวโน้มเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลชายฟุตบอลโลกปี 2573 และ 2577 เพื่อป้องกันการละเมิดร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในการแข่งขันที่สำคัญนี้

คำเตือนจาก Alliance เกิดขึ้นจากการที่ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ประมูลเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันปี 2577 เพียงรายเดียวก่อนถึงเส้นตายในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 31 ตุลาคม และการประมูลร่วมจากโมร็อกโก โปรตุเกส และสเปน เป็นเพียงรายเดียวที่ได้รับการพิจารณาสำหรับปี 2573 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและต่อต้านการทุจริต สหภาพแรงงาน ตัวแทนผู้ชม กลุ่มนักกีฬาผู้เสียหาย และสหภาพผู้เล่นเชื่อว่าการขาดการแข่งขันในการเป็นเจ้าภาพมีความเสี่ยงที่จะบ่อนทำลายอำนาจของฟีฟ่า และหมายความว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลฟุตบอลระดับโลกต้องเป็นผู้นำและกำหนดให้ผู้ประมูลต้องรับประกันสิทธิมนุษยชน

สตีฟ คอคเบิร์น หัวหน้าฝ่ายความยุติธรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ด้วยการเสนอราคาเพียงรายเดียวสำหรับแต่ละการแข่งขันในตาราง ฟีฟ่าอาจทำเข้าประตูตัวเองได้ ตอนนี้ฟีฟ่าต้องระบุให้ชัดเจนว่าคาดหวังให้เจ้าภาพปฏิบัติตามนโยบายสิทธิมนุษยชนของตนอย่างไร นอกจากนี้ จะต้องเตรียมพร้อมที่จะยุติกระบวนการประมูลหากไม่สามารถจัดการความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงได้อย่างน่าเชื่อถือ

พันธมิตร Sport & Rights Alliance (SRA) ประกอบด้วยถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, The Army of Survivors, คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสื่อ, Football Supporters Europe, ฮิวแมนไรท์วอทช์, ILGA World (The International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association), สมาพันธ์สหภาพแรงงานระหว่างประเทศ, สมาคมผู้เล่นกีฬาอาชีพโลก และ UNI Global Union ในฐานะพันธมิตรระดับโลกขององค์กรภาคประชาสังคมและสหภาพแรงงาน SRA ทำงานร่วมกันเพื่อประกันว่าหน่วยงานด้านกีฬา รัฐบาล และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะส่งเสริมโลกแห่งกีฬาที่ปกป้อง เคารพ และปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและการป้องกัน และการต่อต้านการทุจริต

 

อ่านต่อ:

https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/global-fifa-should-secure-human-rights-protections-for-2030-and-2034-world-cups-as-bidding-deadline-passes/

 

-----

 

 

บังกลาเทศ: วงจรของการเสียชีวิต การจับกุม และการปราบปรามระหว่างการชุมนุมต้องยุติลง

30  ตุลาคม 2566

 

สืบเนื่องจากการจับกุมสมาชิกพรรคฝ่ายค้านที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และรายงานการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 รายในระหว่างการชุมนุมที่นำโดยฝ่ายค้านเพื่อต่อต้านรัฐบาลในช่วงสุดสัปดาห์ในธากา บังกลาเทศ

ยาซัสมิน กวิรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การปราบปรามผู้นำพรรคฝ่ายค้านและผู้ชุมนุมที่รุนแรงขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์เป็นสัญญาณของความพยายามในการควบคุมผู้เห็นต่างในบังกลาเทศอย่างสมบูรณ์ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม ทางการบังกลาเทศต้องไม่ลืมว่าการเห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม และต้องเคารพสิทธิของทุกคนในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

“วงจรของการสังหาร การจับกุม และการปราบปรามในบังกลาเทศส่งผลกระทบอย่างน่าตกใจต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการบังกลาเทศยุติการปราบปรามผู้ชุมนุม และให้ปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกในการชุมนุมโดยสงบแทน

“สิ่งสำคัญยิ่งคือตำรวจต้องสอบสวนการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง เป็นอิสระ และโปร่งใส เพื่อนำผู้รับผิดชอบทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมโดยไม่ใช้โทษประหารชีวิต ตามรายงานของสื่อ ผู้ชุมนุมบางรายใช้ความรุนแรง ตำรวจต้องประกันว่าผู้ที่ชุมนุมโดยสงบสามารถทำการชุมนุมต่อไปได้ และยุติการใช้ความรุนแรงของคนเพียงไม่กี่คนเป็นข้ออ้างในการจำกัดสิทธิของผู้อื่น

“ช่วงก่อนการเลือกตั้งอาจเกิดความตึงเครียด และรัฐบาลบังกลาเทศต้องใช้มาตรการทุกอย่างที่เหมาะสมเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ทางการต้องประกันว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดปฏิบัติตามมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัดเกี่ยวกับการใช้กำลังเมื่อมีความจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการทำร้ายร่างกายประชาชน และอาจเพิ่มความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้”

 

อ่านต่อ

https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/bangladesh-repeated-cycle-of-deaths-arrests-and-repression-during-protests-must-end/

 

-----

 

โลก: กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เน้นสิทธิมนุษยชนสำคัญอย่างยิ่งในการบรรเทาทุกข์

1 พฤศจิกายน 2566

 

สืบเนื่องจากการเจรจาเกี่ยวกับวิธีการจัดหาเงินทุนและจัดการกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายระหว่างประเทศที่เกือบจะล้มเหลวก่อนที่การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP28 จะเริ่มขึ้นในปลายเดือนนี้

แอน แฮร์ริสัน ที่ปรึกษาด้านสภาพภูมิอากาศของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า กองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายที่ใช้งานได้และมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือชุมชนที่ถูกทำลายจากหายนะด้านสภาพภูมิอากาศให้ฟื้นตัวได้อาจเป็นเรื่องความเป็นความตายสำหรับผู้ที่เผชิญกับผลกระทบร้ายแรงจากภาวะโลกร้อน เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการสูญเสียหนทางการดำรงชีวิต

“เป็นเรื่องน่าละอายและน่ากังวลอย่างยิ่งที่เนื่องจากทุกฝ่ายตกลงที่จะจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหายเมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้วในการประชุม COP ครั้งที่แล้วในอียิปต์ กลับยังไม่มีฉันทามติเกี่ยวกับข้อเสนอว่าควรจัดหาเงินทุนและจัดการอย่างไร มีเพียงโอกาสสุดท้ายในสัปดาห์นี้ให้สมาชิกคณะทำงานหลักตกลงข้อเสนอแนะสำหรับกองทุนซึ่งมีกำหนดการประชุมในวันที่ 3-4 พฤศจิกายนในอาบูดาบี

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ช่วงเวลานี้เพื่อบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งกองทุนที่มีสิทธิมนุษยชนเป็นแกนหลัก ซึ่งควรให้การเยียวยาที่ครอบคลุม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสำหรับความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มชายขอบอยู่แล้ว

“ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตจะต้องเป็นผู้บริจาคเงินจำนวนมากที่สุดให้กับกองทุน โดยให้เงินทุนเพิ่มเติมตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เนื่องจากกองทุนควรเสนอเงินช่วยเหลือมากกว่าการกู้ยืมเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระหนี้ของประเทศกำลังพัฒนา และเพื่อประกันว่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดที่ต้องการจะมีสิทธิ์ได้รับเงินทุน จึงไม่ควรดำเนินการโดยธนาคารโลก”

 

อ่านต่อ:

https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/11/negotiations-on-how-to-finance-and-manage-an-international-loss-and-damage-fund-are-on-the-brink-of-failure-before-the-cop28-climate-summit-begins-later-this-month/

 

-----

 

ปากีสถาน: การตัดสินใจบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานจะต้องถูกยกเลิกทันที

31 ตุลาคม 2566

 

ก่อนเส้นตายของรัฐบาลปากีสถานในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 สำหรับการเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่ไม่ได้ลงทะเบียน

เดโปรเซ มูเชน ผู้อำนวยการอาวุโส แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอเน้นย้ำข้อเรียกร้องให้รัฐบาลปากีสถานยกเลิกการตัดสินใจบังคับส่งผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่ไม่ได้ลงทะเบียนโดยทันทีก่อนเส้นตายที่กำหนดไว้ในวันพรุ่งนี้ ปากีสถานจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงหลักการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังดินแดนหรือถิ่นที่ชีวิตและเสรีภาพของพวกเขาจะถูกคุกคาม และหยุดการปราบปรามและการคุกคามผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานทั่วประเทศ

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศให้การสนับสนุนทางการเงินกับปากีสถานเพื่อรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถาน และแบ่งปันความรับผิดชอบในการคุ้มครองผู้ที่หลบหนีการประหัตประหารในอัฟกานิสถาน

“ผู้ลี้ภัยมากกว่า 1.4 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ลี้ภัยและเรียกว่าบ้าน ยังมีเวลาสำหรับปากีสถานที่จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วในวันนี้ (31 ตุลาคม 2566) เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างวิกฤติที่ทำให้ครอบครัวกลายเป็นคนไร้บ้าน ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงการดำรงชีพและบริการขั้นพื้นฐาน และถูกแยกจากกันในช่วงก่อนฤดูหนาวอันโหดร้าย

“ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง เพราะอาจถูกประหัตประหารและละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ เพียงเพราะเพศและเพศสภาพ สำหรับคนส่วนใหญ่ที่อาศัยและเรียนอยู่ในปากีสถานอาจเป็นโอกาสเดียวที่จะได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการ ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานจำนวนมาก รวมถึงนักข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ชุมนุมที่เป็นผู้หญิง ศิลปิน และอดีตเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงก็มีความเสี่ยงที่จะถูกกลุ่มตาลีบันประหัตประหารและกดขี่ หากถูกบังคับส่งกลับไปยังอัฟกานิสถาน

“ชีวิตและสิทธิของผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานตกอยู่ในความเสี่ยง เนื่องจากความล้มเหลวร่วมกันของรัฐบาลปากีสถานและประชาคมระหว่างประเทศในการแบ่งปันความรับผิดชอบในการคุ้มครองพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”

 

อ่านต่อ:

https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/10/pakistan-decision-on-forced-returns-of-afghan-refugees-must-be-reversed-immediately/