สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 11-17 พฤศจิกายน 2566

22 พฤศจิกายน 2566

Amnesty International Thailand

 

อิสราเอล-ปาเลสไตน์: จะเกิดการปิดกั้นการสื่อสารอีกครั้งหนึ่งในกาซา หากไม่จัดส่งเชื้อเพลิงให้อย่างเพียงพอ

15 พฤศจิกายน  2566

 

ฉนวนกาซาที่ถูกยึดครองจะถูกปิดกั้นการสื่อสารอย่างสิ้นเชิงอีกครั้งหนึ่งในวันพฤหัสบดี หากไม่มีการจัดส่งเชื้อเพลิงให้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายอยู่แล้ว เลวร้ายลงไปอีก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 66 กลุ่มบริษัทพาลเทลและจอวสล บริษัทโทรคมนาคมใหญ่สุดสองแห่งในพื้นที่ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมรายงานข้อมูลว่าจำเป็นจะต้องสั่งปิดบริการเซิร์ฟเวอร์และสวิตช์เครือข่ายข้อมูลหลักอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขาดแคลนเชื้อเพลิง การปิดกั้นการสื่อสารซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับบริษัทพาลเทลและจอวสลไม่อาจแก้ไขได้ จนกว่าจะมีการจัดส่งเชื้อเพลิงให้ เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่สุดสองแห่งในพื้นที่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเลวร้ายอย่างมาก

วันที่ 15 พ.ย. 66 อิสราเอลอนุญาตให้มีการจัดส่งเชื้อเพลิงเป็นครั้งแรก โดยยอมให้รถบรรทุกขนน้ำมัน 24,000 ลิตรของหน่วยงานบรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติ (UNRWA) เพียงคันเดียวเข้าสู่กาซา ซึ่งคิดเป็นเพียงประมาณ 9% ของปริมาณเชื้อเพลิงที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละวัน แม้จะมีรถบรรทุกน้ำมันจอดรออยู่ที่ชายแดน แต่อิสราเอลยังคงสั่งห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่

ราชา อับดุล ราฮิม ผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานของแอมเนสตี้ เทค เผยว่า การปฏิเสธของอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้มีการส่งเชื้อเพลิงอย่างเพียงพอ และไม่ให้มีการผลิตไฟฟ้า จะทำให้เกิดการปิดกั้นของเครือข่ายการสื่อสารในกาซาอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการให้บริการที่สำคัญอย่างยิ่งของโรงพยาบาลที่ยังพอเปิดให้บริการอยู่ และต้องรักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บหลายพันคนเนื่องจากการโจมตีอย่างต่อเนื่องต่อกาซา ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อหน่วยกู้ชีพในการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บซึ่งติดอยู่ใต้ซากตึกที่ถูกทำลาย บริการเหล่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการล่มสลายของบริการการสื่อสาร ซึ่งจะเป็นการกระทำที่ถือว่ารุนแรงถึงขั้นเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

“จำเป็นที่จะต้องมีการจัดส่งเชื้อเพลิงในปริมาณที่เพียงพอทันที เพื่อช่วยให้สามารถให้บริการที่ช่วยชีวิตของระบบสาธารณสุขได้ การอนุญาตให้นำเข้าเชื้อเพลิงและการผลิตไฟอีกครั้ง เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนด้านมนุษยธรรม และจะต้องไม่ล่าช้าออกไปอีกไม่ว่าด้วยเงื่อนไขใด ๆ” 


อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1191/

 

-----

 

 

กัมพูชา: การไล่รื้อ-ขับไล่ประชาชนจำนวนมากในเขตนครวัดแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

14 พฤศจิกายน  2566


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การไล่รื้อที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายพันครอบครัวในเขตนครวัดแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยได้เผยแพร่งานวิจัยฉบับใหม่ซึ่งเผยให้เห็นวิธีที่ทางการกัมพูชาบังคับให้ผู้คนย้ายถิ่นฐานโดยอ้างการอนุรักษ์

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทางการกัมพูชาเริ่มการขับไล่ผู้คนที่ตามรายงานมีจำนวน 10,000 ครอบครัวออกจากพื้นที่ศาสนาสถานที่กว้างใหญ่ในเมืองเสียมราฐ โดยอ้างถึงความจำเป็นในการปกป้องสถานที่อายุประมาณพันปีจากความเสียหายที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานะมรดกโลกของยูเนสโกของนครวัด

งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งได้มาจากจากการสัมภาษณ์ผู้คนมากกว่า 100 คน การลงพื้นที่ด้วยตนเอง 9 ครั้งสำหรับพื้นที่บริเวณนครวัด และพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ 2 แห่ง แสดงให้เห็นว่าทางการกัมพูชาล้มเหลวในการแจ้งให้ประชาชนได้รับรู้อย่างเพียงพอหรือมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารืออย่างจริงใจก่อนที่จะมีการไล่รื้อ นอกจากนี้ยังข่มขู่หลายคนไม่ให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการไล่รื้อครั้งนี้ และให้ย้ายไปยังพื้นที่ซึ่งยังไม่มีทั้งที่พักอาศัย น้ำที่เพียงพอ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัย และการเข้าถึงการดำรงชีพอื่นๆ

มอนต์เซ เฟอร์เรอร์ รักษาการรองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทางการกัมพูชาได้ไล่รื้อขับไล่ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในนครวัดมาหลายชั่วอายุคนออกไปอย่างโหดร้าย บังคับให้พวกเขาต้องมีชีวิตอย่างแร้นแค้นในพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดีพอ ทางการต้องยุติการบังคับไล่รื้อหรือขับไล่ผู้คนและการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโดยทันที

“หากยูเนสโกมุ่งมั่นที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินการทั้งหมด ก็ควรประณามการบังคับไล่รื้อที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการจัดการแหล่งมรดกโลก โดยเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาหยุดการกระทำเหล่านั้น และผลักดันให้มีการสอบสวนสาธารณะที่เป็นอิสระ”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1187/

 

-----

 

 

รัสเซีย: อเล็กซานดรา สโกชิเลนโก นักกิจกรรมต่อต้านสงครามถูกตัดสินจำคุก 7 ปี หลังการพิจารณาคดีที่เป็นเรื่องหลอกลวง

16 พฤศจิกายน  2566

 

สืบเนื่องจากข่าวที่อเล็กซานดรา สโกชิเลนโก ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหา "เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับกองทัพรัสเซียโดยเจตนา" และถูกตัดสินจำคุก 7 ปีจากการเปลี่ยนป้ายราคาเป็นข้อความต่อต้านสงครามในซูเปอร์มาร์เก็ตในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มารี สตรูเทอร์ส ผู้อำนวยการประจำยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า:

“คำตัดสินที่ไม่ยุติธรรมอย่างชัดเจนนี้ปิดคดีโดยไม่มีการลงโทษสำหรับอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ข้อแรกคืออาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับตัวอเล็กซานดรา สโกชิเลนโก ซึ่งถูกลิดรอนเสรีภาพโดยพลการและถูกคุมขังในสภาพที่ทรมานเป็นเวลา 19 เดือน ตอนนี้ต้องเผชิญกับการถูกขังในทัณฑนิคมเป็นเวลา 7 ปี อีกข้อหนึ่งคือการรุกรานประชาชนยูเครนของรัสเซีย ซึ่งอเล็กซานดราพยายามจะเปิดเผย การประหัตประหารที่เกิดขึ้นกับเธอไม่ต่างจากการกดขี่ที่โหดร้ายอย่างไร้เหตุผลต่อชาวรัสเซียที่ต่อต้านสงครามอาชญากรรมในประเทศของตนอย่างเปิดเผย อเล็กซานดรา สโกชิเลนโกและนักกิจกรรมทุกคนที่ถูกจำคุกเพียงเพราะมีส่วนร่วมในการต่อต้านสงครามโดยสงบต้องได้รับการปล่อยตัวในทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข”

อเล็กซานดรา สโกชิเลนโก เป็นศิลปินและนักดนตรีซึ่งถูกตั้งข้อหาภายใต้มาตรา 207.3 ของประมวลกฎหมายอาญาของรัสเซียจากการเปลี่ยนป้ายราคาด้วยข้อความต่อต้านสงครามเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามที่กระทำโดยกองทหารรัสเซียในมาริอูโปลของยูเครน เธอเป็นนักโทษทางความคิด

เธอถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 และยังคงถูกควบคุมตัวนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งสุขภาพของเธอทรุดโทรมลงอย่างมาก เธอเป็นผู้ป่วยโรคเซลิแอค แต่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาพตามที่แพทย์สั่งได้อย่างเพียงพอ และถูกปฏิเสธไม่ให้ไปพบแพทย์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังจากถูกจับกุม ในระหว่างการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะยังปฏิเสธไม่ให้เธอพักรับประทานอาหารและเข้าห้องน้ำด้วย

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/11/russia-anti-war-activist-aleksandra-skochilenko-sentenced-to-seven-years-in-prison-following-sham-trial/

 

----- 

 

โลก: ระดับก๊าซเรือนกระจกที่บันทึกได้ตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐในการมุ่งมั่นเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยสมบูรณ์

15 พฤศจิกายน 2566

 

สืบเนื่องจากรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่แสดงให้เห็นว่าความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศอยู่ในระดับสูงสุดในช่วงเวลาอย่างน้อยสามล้านปี แคนดี โอไฟม์ นักวิจัยด้านความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า:

“ครั้งล่าสุดที่ก๊าซเรือนกระจกมีความเข้มข้นระดับนี้ อุณหภูมิสูงกว่าปัจจุบัน 2°C ถึง 3°C และระดับน้ำทะเลสูงกว่าถึง 20 เมตร การผลิตและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้นำเราไปสู่เส้นทางนี้ แต่ทั้งรัฐและผู้ผลิตรายใหญ่ไม่มีแผนที่จะยุติ หลายรายกลับกำลังขยายการผลิต

“ผู้คนหลายสิบล้านคน ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุด กำลังประสบกับความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่แล้ว ผู้คนอีกจำนวนมากจนน่าตกใจจะถูกคุกคามโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงในระดับนี้ หากรัฐบาลและอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลปฏิเสธที่จะดำเนินการใดๆ”

“ตอนนี้ยังไม่สายเกินไป แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าข้อตกลงของรัฐต่างๆ ที่จะยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเร่งด่วน สมบูรณ์ เป็นธรรม และตลอดไป และการเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP28 เพื่อป้องกันความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศไม่ให้เลวร้ายมากขึ้น และเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนจากอันตรายที่เพิ่มขึ้น

“เรามีความกังวลอย่างมากว่าการล็อบบี้เกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลในการประชุม COP28 จะส่งเสริมเทคโนโลยีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เช่น การดักจับคาร์บอนและการจัดเก็บ เพื่อพยายามฟอกเขียวโลกเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/11/global-record-greenhouse-gas-levels-reinforce-urgent-need-for-states-to-commit-to-fully-phase-out-fossil-fuels-at-cop28/

 

-----

 

ผู้นำสหภาพยุโรปต้องเรียกร้องให้หยุดยิงโดยทันทีเพื่อปกป้องชีวิตพลเรือน

13 พฤศจิกายน 2566

 

ก่อนการประชุมคณะมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปที่บรัสเซลส์ในวันจันทร์ ซึ่งจะหารือเกี่ยวกับความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันในอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้บรรดารัฐมนตรีที่เข้าร่วมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งหยุดยิงทันที หายนะด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนที่กำลังขยายตัวในฉนวนกาซาจำเป็นต้องยุติอย่างเร่งด่วน

ในขณะที่สหภาพยุโรปล้มเหลวในการบรรลุฉันทามติที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศหรือการเรียกร้องให้หยุดยิงทันที ประเทศสมาชิกบางประเทศ รวมถึงไอร์แลนด์ เบลเยียม และสเปน ได้เรียกร้องให้หยุดยิง พร้อมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยอิสราเอลและฮามาส และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ และเคารพสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน

ในทางกลับกัน บางประเทศ รวมถึงออสเตรีย เช็กเกีย และเยอรมนี ขัดขวางไม่ให้สหภาพยุโรปร่วมกันเรียกร้องให้มีการหยุดยิง หรือเปิดโปงการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศโดยกองกำลังความมั่นคงของอิสราเอล การไม่ทำเช่นนั้นมีส่วนทำให้เกิดบรรยากาศของการลอยนวลพ้นผิด ซึ่งส่งเสริมให้ทางการอิสราเอลกล้าที่จะเพิกเฉยต่อพันธกรณีในการปกป้องพลเรือน

“สหภาพยุโรปซึ่งอ้างว่าเป็นแชมเปี้ยนด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ กำลังเผชิญกับวิกฤตความน่าเชื่อถือที่ร้ายแรงในสายตาของผู้คนทั่วโลก การโจมตีอย่างไม่หยุดยั้งของอิสราเอลได้สังหารชาวปาเลสไตน์ประมาณ 300 คนทุกวัน ซึ่งหลายคนเป็นเด็ก และการปิดล้อมอย่างผิดกฎหมายได้ก่อให้เกิดความทุกข์ยากด้านมนุษยธรรมอย่างประเมินไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่มีเหตุผลที่ผู้นำสหภาพยุโรปบางคนไม่เพียงแต่ขัดขวางการเรียกร้องให้หยุดยิงของสหภาพยุโรป แต่ยังจัดหาอาวุธและการสนับสนุนทางการเมืองให้กับอิสราเอลอย่างแข็งขัน รวมถึงการปิดปากและแม้แต่จับกุมผู้ชุมนุมที่ยืนหยัดเพื่อสิทธิของชาวปาเลสไตน์”

“ผู้นำสหภาพยุโรปต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับชีวิตของชาวปาเลสไตน์และชาวอิสราเอลอย่างเท่าเทียมกันด้วยการเรียกร้องให้มีการหยุดยิงและประณามอาชญากรรมที่กระทำโดยอิสราเอล ฮามาส และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ถึงแม้จะไม่มีฉันทามติ เราขอเรียกร้องให้รัฐสมาชิกที่มีหลักการเรียกร้องให้มีการหยุดยิง ไม่ว่าจะโดยลำพังหรือกับร่วมประเทศอื่นๆ ที่มีความคิดเหมือนกัน”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/11/eu-leaders-must-call-for-ceasefire-now-to-protect-civilians/