อิสราเอล/เขตยึดครองปาเลสไตน์: แอมเนสตี้เรียกร้องขอให้ทุกฝ่ายหยุดยิงโดยทันที เพื่อยุติความทุกข์ยากของพลเรือนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

26 ตุลาคม 2566

Amnesty International Thailand

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนเผยแพร่ข้อเรียกร้องด่วนให้มีการหยุดยิงทันทีของทุกฝ่ายในฉนวนกาซาที่ถูกยึดครองและในอิสราเอลเพื่อป้องกันไม่ให้มีการสูญเสียชีวิตของพลเรือนมากไปกว่านี้ และเพื่อประกันให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่ชีวิตสำหรับประชาชนในกาซา ท่ามกลางหายนะด้านมนุษยธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ในช่วงกว่าสองสัปดาห์ครึ่งที่ผ่านมา เราได้เห็นความโหดร้ายที่ลุกลามใหญ่โตจนเกินจินตนาการ ทั้งในอิสราเอลและเขตยึดครองปาเลสไตน์ประชาชนกว่า 2 ล้านคนในฉนวนกาซาต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด ท่ามกลางวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรง และจำนวนพลเรือนที่บาดเจ็บล้มตายมากมายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยประชาชนกว่า 6,546 คนถูกสังหารในกาซา และอย่างน้อย 1,400 คนถูกสังหารในอิสราเอลและอีกหลายพันคนได้รับบาดเจ็บ กลุ่มฮามาสได้จับตัวประกันไปกว่า 200 คน การละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ รวมทั้งอาชญากรรมสงครามของทุกฝ่ายในความขัดแย้งครั้งนี้ยังเกิดขึ้นต่อไป ท่ามกลางหายนะและความทุกข์ยากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราต้องให้ความสำคัญกับหลักมนุษยธรรม 

เราจำเป็นต้องมีข้อเรียกร้องเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองชีวิตของพลเรือน และป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ยากของมนุษย์มากมายไปกว่านี้ เราขอกระตุ้นให้สมาชิกทุกฝ่ายของประชาคมโลก รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องใหุ้กฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมทันที”   

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลร่วมมือกับผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในอิสราเอล/ดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองมาตั้งแต่ปี 2510 หน่วยงานสหประชาชาติที่ทำงานในปาเลสไตน์ และผู้ชำนาญการด้านสิทธิมนุษยชนหลายท่าน ซึ่งมีตัวแทนอยู่ในกลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติจำนวนมาก ซึ่งต่างเรียกร้องให้มีการหยุดยิง รวมทั้ง เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  

นับแต่การโจมตีที่โหดร้ายทางตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธได้สังหารประชาชนอย่างน้อย 1,400 คนและมีคนถูกจับเป็นตัวประกันอีกกว่า 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ตามข้อมูลของทางการอิสราเอล นับจากนั้นเป็นต้นมา กองทัพอิสราเอลได้โจมตีด้วยระเบิดจากทั้งทางอากาศและภาคพื้นดินใส่ฉนวนกาซา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,546 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนและในนั้นมีเด็กรวมอยู่ด้วยอย่างน้อย 2,704 คนตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ในกาซาระบุว่า ประชาชนกว่า 17,439 คนได้รับบาดเจ็บ และยังมีซากศพอีกกว่า 2,000 ซากที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง ในขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขต้องรับมือกับปัญหาจนเกินกำลัง  

การโจมตีภาคพื้นดินของกองทัพอิสราเอลต่อกาซาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น น่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เลวร้ายอย่างยิ่งต่อพลเรือนในกาซา ดังจะเห็นได้จากคำขู่ที่น่าหวาดกลัวของกองทัพอิสราเอลต่อพลเรือนที่ยังคงอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของกาซา พลเรือนในอิสราเอลยังคงถูกโจมตีจากการยิงจรวดโดยไม่เลือกเป้าของกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธในกาซา 

ท่ามกลางภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในกาซา ซึ่งดูเหมือนจะเลวร้ายลงทุกวัน การหยุดยิงโดยทันทีของทุกฝ่ายเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อช่วยให้หน่วยงานบรรเทาทุกข์สามารถขนส่งความช่วยเหลืออย่างเพียงพอเข้าไปในฉนวนกาซา และเพื่อให้สามารถนำสิ่งของเหล่านี้ไปกระจายยังที่ต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยและอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลมีโอกาสได้รับยาที่จำเป็นในการช่วยชีวิต รวมทั้งน้ำและอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆทั้งยังสามารถซ่อมแซมหอผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายได้ด้วย  

การหยุดยิงยังเป็นทางออกที่ได้ผลมากสุด เพื่อคุ้มครองพลเรือนจากคู่สงครามที่ยังคงทำการละเมิดอย่างรุนแรงต่อไป ทั้งยังจะช่วยยับยั้งการเสียชีวิตของพลเรือนที่เพิ่มมากขึ้นในกาซา และจะเป็นโอกาสในการหาทางช่วยให้มีการปล่อยตัวประกันได้อย่างปลอดภัย”   

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนได้บันทึกหลักฐานของอาชญากรรมสงครามโดยกองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆการหยุดยิงจะทำให้สามารถเริ่มการสอบสวนอย่างเป็นอิสระต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมสงครามของทุกฝ่าย รวมทั้งการสอบสวนของศาลอาญาระหว่างประเทศและคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงในเขตยึดครองปาเลสไตน์ การทำงานเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อยุติการลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานภายหลังการก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และช่วยให้เกิดความยุติธรรมและการเยียวยาต่อผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อไม่ให้มีการก่อความทารุณโหดร้ายเช่นนี้ซ้ำอีก และเพื่อแก้ไขสาเหตุที่รากเหง้าของความขัดแย้ง รวมทั้งระบบแบ่งแยกเชื้อชาติและกดขี่ของอิสราเอลที่กระทำต่อชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด 

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนยังเน้นย้ำในข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้ 

  • ยุติการโจมตีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมาย การโจมตีโดยตรงใส่พลเรือนและทรัพย์สินของพลเรือน และการโจมตีอย่างไม่ได้สัดส่วน  

  • อิสราเอลต้องอนุญาตให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับพลเรือนในฉนวนกาซาที่ถูกยึดครองโดยทันที และต้องยุติการปิดล้อมกาซาอย่างผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน 16 ปี และต้องอนุญาตให้คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงสามารถเข้าถึงเขตยึดครองปาเลสไตน์ได้ทันที 

  • ประชาคมโลกต้องนำข้อตกลงห้ามซื้อขายหรือส่งอาวุธมาใช้กับคู่กรณีทุกฝ่ายในความขัดแย้งครั้งนี้ เมื่อคำนึงถึงการละเมิดอย่างร้ายแรงจนถึงขั้นเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศที่กำลังเกิดขึ้น  

  • การสอบสวนสถานการณ์ในปาเลสไตน์ของศาลอาญาระหว่างประเทศต้องดำเนินต่อไป และต้องได้รับการสนับสนุนและทรัพยาการที่จำเป็นทั้งหมด 

  • กลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ต้องปล่อยตัวประกันที่เป็นพลเรือนทั้งหมดโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไขและให้ปฏิบัติต่อตัวประกันทุกคนอย่างมีมนุษยธรรม รวมทั้งต้องจัดให้มีการรักษาพยาบาลในระหว่างที่ยังไม่ปล่อยตัวด้วย 

  • อิสราเอลต้องปล่อยตัวชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ   

  • ต้องมีการแก้ไขปัญหาที่รากเหง้าของความขัดแย้ง รวมทั้งยกเลิกระบบของอิสราเอลที่แบ่งแยกเชื้อชาติและกดขี่ชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด 

 

ข้อมูลพื้นฐาน  

งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนเน้นย้ำให้เห็นว่าเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธจากฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง ได้ยิงจรวดอย่างไม่เลือกเป้าหมายใส่อิสราเอล และมีการส่งนักรบเข้าไปเพื่อทำการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเช่น การสังหารพลเรือนอย่างรวบรัด และการจับเป็นตัวประกัน ซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม  

ทางหน่วยงานยังสามารถบันทึกหลักฐานสำคัญของอาชญากรรมสงคราม ของกองทัพอิสราเอลในระหว่างการโจมตีกาซา รวมทั้งการโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมายและการลงโทษแบบเหมารวม ซึ่งส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก บางครอบครัวเสียชีวิตทั้งหมด และบ้านเรือนที่อยู่อาศัยถูกทำลาย การละเมิดเหล่านี้ต้องได้รับการสอบสวนในฐานะเป็นอาชญากรรมสงคราม 

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือการติดต่อเพื่อสัมภาษณ์ โปรดติดต่อ:press@amnesty.org