10 สิ่งที่คุณ (อาจจะ) รู้อยู่แล้วเกี่ยวกับการชุมนุมในประเทศไทย

16 พฤศจิกายน 2563

Amnesty International 

AFP/Getty Images

แปลและเรียบเรียงโดย หนึ่งฤทัย กิจการศุภฤกษ์ และ วิชชากร ประภาสะวัต

ในปัจจุบันนี้ภาพการรวมตัวชุมนุมโดยสงบในประเทศไทยที่นำโดยเหล่าเยาวชนผู้ต่อต้านเผด็จการได้ถูกนำเสนออย่างแพร่หลายไปทั่วโลก

การชุมนุมในประเทศไทยที่ผ่านมานั้นได้มีการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น การชูสามนิ้วจากภาพยนตร์เรื่องเดอะ ฮังเกอร์เกมส์ (The Hunger Games) การล้อเลียนภาพยนตร์เรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) และ การเลียนแบบการ์ตูนสัญชาติญี่ปุ่นชื่อดังเรื่องแฮมทาโร่ (Hamtaro) อย่างไรก็ตามนอกจากความสนุกสนานแล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนรุ่นใหม่นั้นกำลังเติบโตขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้เป็นการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและต้องการประนามการคุกคามประชาชนผู้ที่เพียงแค่วิพากษวิจารณ์รัฐบาล เจ้าหน้าที่ของไทยนั้นได้ทำการตอบโต้ผู้ชุมนุมโดยการเพิ่มมาตรการปราบปรามและคุกคามการชุมนุมโดยสงบ

สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบนั้นถูกบัญญัติอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ในทางกลับกันสิทธิเหล่านี้กลับถูกโจมตีและคุกคามในประเทศไทย ในโซเชียลมีเดียนั้น แฮชแท็ก #WhatsHappeningInThailand ได้กลายมาเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงความเห็นและการแสดงภาพบนท้องถนนของประชาชน

สรุปแล้ว เกิด อะ ไร ขึ้น ใน ประ เทศ ไทย กันล่ะ? นี่คือ 10 สิ่งที่คุณควรอ่านเพื่อทราบและร่วมลงชื่อสนับสนุนการชุมนุมโดยสงบ

 

1. นี่คือการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีเยาวชนเป็นแกนนำที่แม้แต่เด็กนักเรียนยังมีส่วนร่วม

นักกิจกรรมทางการเมืองทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะเหล่าเยาวชนได้จัดการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบ ตั้งแต่ต้นปี จนกระทั่งในเดือนกรกฎาคมได้มีการนัดชุมนุมที่มีความเข้มแข็ง ต่อมาในเดือนตุลาคม มีผู้คนได้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่มากกว่า 10,000 คน ถึงแม้จะมีการสั่งห้ามการชุมนุมของบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปในกรุงเทพ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยและเด็กนักเรียนทั่วประเทศก็ได้ทำการจัดการชุมนุมขึ้นและมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้มีการรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปในสถานศึกษา โดยได้ทำการซักถามเด็ก ๆ และทำการถ่ายรูปของพวกเขาเอาไว้ เพื่อที่จะเป็นการข่มขู่คุกคามและกีดกันไม่ให้เด็ก ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการชุมนุม อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังได้มีการกดดันให้ทางมหาลัยสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมด้วย

ยุทธวิธีที่สร้างความหวาดกลัวดังกล่าวถูกประณามโดยองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) โดยทางยูนิเซฟได้ทำการเตือนเจ้าหน้าที่ว่า สถานศึกษาควรเป็นสถานที่ที่เด็ก ๆ สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ได้โดยปลอดภัย

ไม่ได้มีเพียงแค่เยาวชนเท่านั้น ผู้คนทุกวัยต่างพากันออกไปตามท้องถนนเพื่อทำการสนับสนุนการชุมนุมโดยสงบนี้

 

2.การปราบปรามการชุมนุมในอดีตถูกนำมากล่าวถึงในการชุมนุมครั้งนี้

ในอดีตนั้นประเทศไทยเคยมีการชุมนุมของเยาวชนจำนวนมาก การชุมนุมครั้งใหญ่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาถูกจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการสังหารหมู่เหล่านักศึกษาผู้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างโหดร้าย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยเป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาหลายสิบคนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ถูกยิงและถูกสังหารโดยทหาร ในขณะที่เหล่านักศึกษาได้ทำการเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารในเวลานั้น แล ในอีกส่วนหนึ่งของการชุมนุมในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก็ได้ถูกจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการปราบปรามด้วยความรุนแรงของตำรวจและทหารที่ได้กระทำต่อนักศึกษามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

หลังจากการรัฐประหารครั้งล่าสุดของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557นักศึกษาจำนวนหนึ่งได้ทำการต่อต้านโดยการเดินขบวนและการประท้วงเชิงสัญลักษณ์เล็ก ๆ เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ยังรวมถึงการรวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะเพื่อทานแซนด์วิชพร้อมอ่านนวนิยายเรื่อง 1984 และการชูสามนิ้วที่แสดงถึงเจตนารมณ์จากภาพยนต์เรื่องเดอะ ฮังเกอร์เกมส์ (The Hunger Games)

นักเรียน นักศึกษา ผู้เข้าร่วมชุมนุมหลายคนถูกควบคุมตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าและนอกจากจะต้องเผชิญกับการดำเนินคดีอาญาเป็นเวลานานหลายปีสำหรับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เหล่านี้ พวกเขายังต้องเผชิญกับโทษจำคุก หลาย ๆ คนที่เคยตกเป็นเป้าหมายในยุครัฐบาลทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติแรก ๆ ได้กลายมาเป็นแนวหน้าของการชุมนุมครั้งนี้และพวกเขายังคงต้องเผชิญกับข้อหาทางอาญาที่ร้ายแรงอยู่

 

3. Hunger Games เป็นเพียงแค่หนึ่งในการนำวัฒนธรรม ป๊อป-คัลเจอร์ ที่ถูกนำมาใช้ในการชุมนุม

ภาพยนต์เรื่องเดอะ ฮังเกอร์เกมส์ (The Hunger Games) ภาคสองนั้นเข้าฉายในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2557 โดยเป็นปีเดียวกับที่มีการทำรัฐประหารในประเทศไทย ส่งผลให้การชูสามนิ้วเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในภาพยนตร์นั้นได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุมสำหรับนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุม ในภาพยนตร์ The Hunger Games การชูสามนิ้วเป็นการแสดงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านระบอบการปกครองของประธานาธิบดี สโนว์

ผู้ชุมนุมได้แสดงให้เห็นภาพคู่ขนานระหว่างระบอบการปกครองเผด็จการในภาพยนตร์The Hunger Game กับรัฐบาลทหารไทยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ผู้ใช้อำนาจฉุกเฉินเพื่อออกข้อกำหนดที่มีการจำกัดสิทธิมนุษยชนเป็นเวลาหลายปี ซึ่งรวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และการสมาคม อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐยังได้ทำการคุมขังประชาชนที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการชูสามนิ้วและยกเลิกการฉายภาพยนตร์ The Hunger Games

6 ปีต่อมา การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการชูสามนิ้วได้กลายมาเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในที่ชุมนุม

 

4. นอกเหนือจากการชูสามนิ้วเพื่อแสดงถึงเสรีภาพแล้ว ผู้ชุมนุมได้เสนอข้อเรียกร้องสามประการ

ในขณะที่การชุมนุมดำเนินไปโดยการไม่มีผู้นำหรือยึดติดที่ตัวบุคคล ประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมได้ทำการยอมรับในข้อเรียกร้องหลักสามประการคือ

  1. ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่
  2. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างโดยทหาร
  3. หยุดคุกคามประชาชนที่ทำการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยสงบ

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกันก็ได้มีการจัดการชุมนุมต่อต้านการประท้วง เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์

 

5. การ์ตูนแฮมสเตอร์นามแฮมทาโร่คืออะไร ทำไมพวกเขาถึงสามารถบอกเล่าเกี่ยวกับกฎหมายที่รุนแรงของไทยได้

การถือตุ๊กตาแฮมทาโร่ (Hamtaro) ในการชุมนุมอาจจะดูแปลกประหลาด แต่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นี้แสดงออกถึงการที่นักกิจกรรมทางการเมืองมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำมาตอบโต้กฎหมายที่ถูกใช้เพื่อลงโทษประชาชนผู้วิพากษวิจารณ์หรือล้อเลียนเจ้าหน้าที่

เช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยอ้างอิงถึง แฮมทาโร่ (Hamtaro) หรือแฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมต้องการแสดงออกถึงสามข้อเรียกร้องซึ่งเป็นหัวใจหลักของการชุมนุมคือปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

6. การคุกคามพรรคการเมืองซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่คนหนุ่มสาวเป็นสาเหตุสำคัญของการชุมนุมในทุกวันนี้

ในขณะที่กระแสการชุมนุมเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 การเลือกตั้งในปี 2562เป็นตัวจุดกระแสของพวกเขา ช่วงปีที่แล้วพรรคการเมืองใหม่ ชื่อพรรคอนาคตใหม่ ได้รับคะแนนเสียงเป็นจำนวนมากจากคนหนุ่มสาว ผู้ซึ่งมีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกนับจากปี 2557 ที่มีการรัฐประหาร

ท้ายที่สุดพรรคอนาคตใหม่ได้รับที่นั่งในสภามากที่สุดเป็นอันดับสาม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐได้โจมตีพรรคด้วยการฟ้องคดีในศาลและสร้างอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อข่มขู่และคุกคามสมาชิกของพรรค ทำให้พรรคไม่สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองได้ และในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทย

 

7. ผู้ชุมนุมได้รับแรงบันดาลใจจากการชุมนุมในฮ่องกง

การชุมนุมในประเทศไทยมีความคล้ายคลึงหลายประการกับการเดินขบวนประท้วงที่ฮ่องกงในปี 2562 เช่น การชุมนุมถูกนำโดยคนหนุ่มสาวและทั้งสองการเคลื่อนไหวนี้ ให้คำจำกัดความกลุ่มของตนว่า “ทุกคนเป็นแกนนำ"

ในขณะที่กลุ่มอย่าง เยาวชนปลดแอก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นักเรียนเลว เราคือเพื่อนกัน และเสรีเทย ต่างโดดเด่นในสถานการณ์ความไม่สงบที่กรุงเทพฯ ในการเดินขบวนทุกคนจัดระเบียบตนเอง โดยมักใช้แอปต่าง ๆ เช่น Telegram ซึ่งเป็นยุทธวิธีที่ทำให้เจ้าหน้าที่ยากที่จะควบคุมการเคลื่อนไหวโดยมุ่งเป้าแค่แกนนำ

นักกิจกรรมชาวไทยและฮ่องกงร่วมมือกันในนาม “พันธมิตรชานม” ซึ่งเป็นเครือข่ายเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ที่กำลังเติบโตและเต็มไปด้วยความร่วมมือ นอกจากนั้นพันธมิตรชานมยังมีชาวเน็ตจากไต้หวันรวมอยู่อีกด้วย

 

8. ผู้ชุมนุมบางคนอาจถูกจำคุกตลอดชีวิต

การเดินขบวนได้ชี้ให้เห็นว่าทางการไทยต้องยอมให้มีการชุมนุมโดยสงบและยุติการปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์

เพียงแค่วันที่ 13 ตุลาคมวันเดียวมีผู้คนจำนวนมากถูกตั้งข้อหาทางอาญาเกี่ยวกับการชุมนุม บางคนถูกปฏิเสธการประกันตัวเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายซึ่งมักถูกใช้เพื่อปิดปากและข่มขู่ผู้คน มีรายงานว่ามีผู้ถูกจับกุมหรือถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 173 คน เนื่องจากมีส่วนร่วมในการชุมนุมตั้งแต่ต้นปี

บ่อยครั้งผู้ประท้วงต้องเผชิญกับหลายข้อหา ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถยืดการพิจารณาคดีออกไปเป็นระยะเวลานาน ตัวอย่างเช่น ก่อนที่ทางการจะควบคุมตัว “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักกิจกรรม ในวันที่ 14 ตุลาคม เขาต้องเผชิญกับข้อหาทางอาญาถึง 18 ข้อหา จากบทบาทในการชุมนุมในที่สาธารณะที่เพิ่งเกิดขึ้น รวมถึงการเรียกร้องให้มีการสอบสวนการลักพาตัว วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ บล็อกเกอร์ชาวไทย ผู้ลี้ภัยในกัมพูชาที่หายตัวไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

มีบุคคล  3 คนประกอบไปด้วย “ฟรานซิส” หรือ บุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักศึกษาปริญญาตรี เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย และสุรนาถ แป้นประเสริฐ ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 “ประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี” ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดตลอดชีวิต

ทั้งสามคนเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งขบวนเสด็จของพระราชินีได้เคลื่อนผ่านผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดทั้งสามจึงถูกแยกออกเพื่อดำเนินคดีจากกลุ่มมวลชนที่รวมตัวกันหรือความเสี่ยงใดที่อาจเกิดจากการกระทำของพวกเขา

 

9. ไม่มีที่ไหนปลอดภัยจากการถูกคุกคาม – โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ใช่ในเฟซบุ๊ก (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter)

ผู้คนที่แสดงความคิดเห็นบนท้องถนนไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่ถูกคุกคามผ่านระบบกฎหมายของไทย  การกระทำของผู้คนบนโซเชียลมีเดียยังสามารถทำให้พวกเขาถูกตั้งข้อหาภายใต้กฎหมายที่คลุมเครือ ซึ่งกลวิธีนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายล้านคนทั่วประเทศ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เปิดตัว “มีคนจับตาดูอยู่จริงๆ: ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย” (They are always watching) ซึ่งเป็นรายงานที่แสดงให้เห็นว่าทางการไทยดำเนินคดีกับผู้ใช้โซเชียลมีเดียที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันกษัตริย์รวมถึงนักสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหว นักการเมืองนักกฎหมาย และนักวิชาการ

เฟซบุ๊ก (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter) กลายเป็นเป้าหมายของการบิดเบือนข้อมูลและการเซ็นเซอร์ของรัฐบาลซึ่งเพิ่มมากขึ้น ในเดือนสิงหาคม เฟซบุ๊กประกาศว่ารัฐบาลไทยมีการร้องขอให้เซ็นเซอร์เนื้อหาทางการเมืองบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก ในเวลานั้นโฆษกของเฟซบุ๊ก กล่าวว่าคำขอจากทางการไทย “ขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” โดยเสริมว่าพวกเขาจะฟ้องคำสั่งนี้ต่อศาล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้วิพากษ์วิจารณ์ทางการไทยและเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการจัดการกับคำขอเซ็นเซอร์เหล่านี้

เจ้าหน้าที่ได้พยายามขัดขวางการใช้แอพเทเลแกรม (Telegram) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ผู้จัดการชุมนุมชอบใช้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังพยายามปิดช่องทางโซเชียลมีเดียของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีชื่อเสียง เช่น กลุ่มเยาวชนปลดแอกโดยใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

 

10. การตอบโต้ของทางการไทยกำลังบ่อนทำลายสิทธิมนุษยชน

ในขณะที่เริ่มมีการชุมนุมมากขึ้น รัฐบาลก็มีการปราบปรามพวกเขาเช่นกัน การสลายการชุมนุมในวันที่ 17 ตุลาคม ตำรวจได้ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงซึ่งถือเป็นการยกระดับการใช้กำลังที่น่าตกใจและขัดต่อมาตรฐานสากล

การใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงและสารระคายเคืองไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บอย่างรุนแรง การใช้สีย้อมยังไม่เลือกปฏิบัติและอาจนำไปสู่การกำหนดเป้าหมายตามอำเภอใจ และจับกุมผู้ชุมนุมโดยสงบ นักข่าว หรือเพียงแค่คนในบริเวณนั้นที่ถูกทำเครื่องหมายด้วยสี

ท่ามกลางการตอบสนองที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อการชุมนุมโดยสงบในเดือนตุลาคม ระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ ถูกปิดเพื่อหยุดการชุมนุมของผู้ประท้วง ในขณะที่ช่องทีวีออนไลน์วอยซ์ทีวี (Voice TV) ถูกขู่ว่าจะต้องปิดตัว เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศมาตรการเหล่านี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบและการสมาคม

ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ได้มีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (ฉบับที่ 2) เพื่อห้ามการชุมนุมของบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปในกรุงเทพฯ นอกเหนือจากข้อจำกัดสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ที่มีอยู่แล้ว ตลอดจนการห้ามการเผยแพร่ข่าวสารหรือข้อความทางออนไลน์ที่ “อาจทำให้เกิดความหวาดกลัว” ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือทำลายศีลธรรมอันดีของสังคม คำสั่งดังกล่าวถูกยกเลิกในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา แต่มีผู้ประท้วงเพียงไม่กี่คนที่เชื่อว่าการปราบปรามของรัฐบาลจะสิ้นสุดลง

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ได้มีการตั้งข้อกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับวิธีที่ตำรวจจัดการจับกุมผู้ชุมนุมสามคนซึ่งเห็นทั้งสามคนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยสองคนถูก “ทำให้หายใจไม่ออก” และอีกหนึ่งคนต้องทรมานจากความเหนื่อยล้า

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว อยากจะมีส่วนร่วมในการลงมือทำอะไรบ้างอย่างหรือไม่? เชิญร่วมลงชื่อในข้อเรียกร้องของเราและร่วมเรียกร้องให้ประเทศไทยเคารพและปกป้องสิทธิของผู้ชุมนุมโดยสงบไปด้วยกัน