กัมพูชา: การไล่รื้อ-ขับไล่ประชาชนจำนวนมากในเขตนครวัดแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

14 พฤศจิกายน 2566

Amnesty International Thailand

  • มีรายงานผู้ได้รับผลกระทบ 10,000 ครอบครัว
  • จากการสัมภาษณ์ผู้คนมากกว่า 100 คนแสดงให้เห็นว่าทางการกัมพูชาข่มขู่บังคับผู้คนให้ออกจากที่ดินของตน
  • ทางการได้ย้ายผู้คนไปยังพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ทุรกันดาร และขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐาน
  • ยูเนสโกควรประณามการบังคับขับไล่รื้อที่ดำเนินการในนามของตนต่อสาธารณะ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การไล่รื้อที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายพันครอบครัวในเขตนครวัดแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยได้เผยแพร่งานวิจัยฉบับใหม่ซึ่งเผยให้เห็นวิธีที่ทางการกัมพูชาบังคับให้ผู้คนย้ายถิ่นฐานโดยอ้างการอนุรักษ์

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ทางการกัมพูชาเริ่มการขับไล่ผู้คนที่ตามรายงานมีจำนวน 10,000 ครอบครัวออกจากพื้นที่ศาสนาสถานที่กว้างใหญ่ในเมืองเสียมราฐ โดยอ้างถึงความจำเป็นในการปกป้องสถานที่อายุประมาณพันปีจากความเสียหายที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานะมรดกโลกของยูเนสโกของนครวัด

งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งได้มาจากจากการสัมภาษณ์ผู้คนมากกว่า 100 คน การลงพื้นที่ด้วยตนเอง 9 ครั้งสำหรับพื้นที่บริเวณนครวัด และพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ 2 แห่ง แสดงให้เห็นว่าทางการกัมพูชาล้มเหลวในการแจ้งให้ประชาชนได้รับรู้อย่างเพียงพอหรือมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารืออย่างจริงใจก่อนที่จะมีการไล่รื้อ นอกจากนี้ยังข่มขู่หลายคนไม่ให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการไล่รื้อครั้งนี้ และให้ย้ายไปยังพื้นที่ซึ่งยังไม่มีทั้งที่พักอาศัย น้ำที่เพียงพอ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัย และการเข้าถึงการดำรงชีพอื่นๆ

มอนต์เซ เฟอร์เรอร์ รักษาการรองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทางการกัมพูชาได้ไล่รื้อขับไล่ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในนครวัดมาหลายชั่วอายุคนออกไปอย่างโหดร้าย บังคับให้พวกเขาต้องมีชีวิตอย่างแร้นแค้นในพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมที่ดีพอ ทางการต้องยุติการบังคับไล่รื้อหรือขับไล่ผู้คนและการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโดยทันที

“หากยูเนสโกมุ่งมั่นที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินการทั้งหมด ก็ควรประณามการบังคับไล่รื้อที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการจัดการแหล่งมรดกโลก โดยเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาหยุดการกระทำเหล่านั้น และผลักดันให้มีการสอบสวนสาธารณะที่เป็นอิสระ” 

 

การไล่ออกจากพื้นที่

นายกรัฐมนตรีฮุนเซนในขณะนั้นได้กล่าวถึงแผนการย้ายถิ่นฐานในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อปีที่แล้ว โดยเตือนว่าหากไม่ย้ายออกไปเมื่อได้รับคำสั่ง จะไม่ได้รับค่าตอบแทน นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่าเหตุผลที่ทำเช่นนั้นเพื่อปกป้องสถานะมรดกโลกของนครวัด

ประวัติศาสตร์ความรุนแรงในการบังคับไล่รื้อของรัฐบาลกัมพูชาเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับผู้คนในประเทศนี้ และหลายคนถือว่าคำพูดของฮุนเซนเป็นคำเตือนที่ชัดเจนว่าให้ออกไป

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รวบรวมข้อมูลการคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้อยู่อาศัยเพื่อบังคับให้ย้ายออกไปหรือเข้าโครงการย้ายถิ่นฐาน เจ้าหน้าที่เตือนว่าจะตัดไฟฟ้า ปล่อยให้น้ำท่วม และแม้กระทั่งจับกุม

“พวกเขาขอให้คนที่เห็นด้วย (ที่จะละทิ้งนาข้าวของตัวเอง) ไปยืนข้างหนึ่ง และคนที่ไม่เห็นด้วยไปยืนอีกข้างหนึ่ง แล้วบอกว่าใครก็ตามที่ชุมนุมประท้วงจะตรงเข้าคุก” เย* ชาวนาคนหนึ่งบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ปฏิเสธแนวคิดที่ว่าการไล่รื้อนั้นเกิดขึ้นจาก "ความสมัครใจ" โดยในการตอบคำถามของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่าการย้ายถิ่นฐานเป็นไปโดยสมัครใจหรือไม่ ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ที่นครวัดมานานกว่า 70 ปีกล่าวว่า “ไม่มีใครอยากจะย้ายออกจากบ้านของตัวเอง”

จากการค้นพบของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐบาลกัมพูชาที่รับผิดชอบด้านการอนุรักษ์ ซึ่งรู้จักกันในชื่อภาษาเขมรและภาษาอังกฤษโดยย่อว่า APSARA ได้คุกคามและข่มขู่หลายสิบครอบครัวด้วยการไปเยี่ยมบ้านของพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าและขอให้พวกเขาย้ายออกไป

“พวกเขาบอกว่าไม่ได้บังคับ แต่ถ้าไม่ทำตาม คุณจะสูญเสียที่ดิน … ดังนั้นเราจึงยอมตกลง” คนหนึ่งกล่าว

 

พื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่

ผู้อยู่อาศัยที่ "สมัครใจ" ย้ายออกไป จะได้รับการจัดสรรที่ดินเปล่า (20 ม. x 30 ม.) มอบแผ่นสังกะสี 30 แผ่น ผ้าใบกันน้ำ มุ้งกันยุง การจ่ายเงินอัตราเดียว 200-300 ดอลลาร์ และได้บัตรบริการทางสังคมหลังจากตกลงใจที่จะย้ายออกไปแล้วเท่านั้น ซึ่งพวกเขาต้องใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างบ้านใหม่หลังจากสูญเสียบ้านเดิมไปแล้ว

 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นผู้คนรื้อบ้านของตนเอง เดินทางไปยังพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ และสร้างบ้านใหม่ ครอบครัวไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องอยู่ใต้ผืนผ้าใบเป็นเวลาหลายเดือน

หลายครอบครัวยังคงร้องเรียนเรื่องการตกงานและขาดโอกาสในการมีงานทำในสถานที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเสียมราฐ ที่ตั้งนครวัด มรดกโลก ราว 45 นาที

สิ่งที่เกิดขึ้นโดยตรงกันข้ามกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทางการกัมพูชาล้มเหลวในการประกันว่าพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่หลักที่เรียกว่ารุนตาเอก จะมีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นอย่างเพียงพอเมื่อผู้คนเริ่มย้ายเข้าไปอยู่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเกิดน้ำท่วมได้ง่ายเมื่อมีฝนตก

ความล้มเหลวของทางการกัมพูชาในการจัดหาที่อยู่อาศัยทำให้หลายพันครอบครัวมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการอยู่ใต้หลัวคาผืนผ้าใบหรืออยู่ในสภาพที่โดนแดดโดนฝน ขาดสุขอนามัยรวมถึงการมีห้องน้ำที่เหมาะสม หลายครอบครัวต้องจำนำสิ่งของที่ได้รับมาจากโครงการย้ายถิ่นฐานและกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อจ่ายค่าก่อสร้างและใช้ในการดำรงชีวิต

เกษตรกรพบกับปัญหามากเป็นพิเศษเนื่องจากสถานที่นี้อยู่ห่างจากทุ่งนาของตน หลายครอบครัวเล่าว่ามีอาหารไม่เพียงพอเนื่องจากพวกเขาสูญเสียแหล่งรายได้หลักหรือแหล่งเดียวของพวกเขาที่นครวัด ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกและมีนักท่องเที่ยวหลายล้านคนในฤดูท่องเที่ยว

ครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ใต้ผืนหลังคาผ้าใบขณะสร้างบ้านด้วยตนเองที่รุนตาเอกบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่าลูกของพวกเขานอนไม่หลับเนื่องจากอุณหภูมิที่สูง

“เรามีเด็กเล็กที่ต้องอาบน้ำทุกๆ สองสามชั่วโมงเพื่อไม่ให้ร้อนเกินไป ในช่วงเวลาที่เรายังไม่ได้สร้างบ้านของตัวเอง เราก็หลบแดดโดยอาศัยร่มเงาของบ้านหลังอื่นไปก่อน”

 

 

เจ้าหน้าที่รัฐบาลกัมพูชาเพิกเฉยต่องานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยว่าข้อสรุปของงานวิจัยนี้ “ห่างจากสถานการณ์จริงหลายพันกิโลเมตร”

 

ยูเนสโกต้องดำเนินการมากขึ้น

แม้ว่าจะทราบดีถึงการไล่รื้อและสภาพพื้นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่ยูเนสโกก็ยังไม่ได้ประณามสิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณนครวัดต่อสาธารณะ นอกจากนี้ยังดูเหมือนว่าไม่ได้ดำเนินการสอบสวนสาธารณะเกี่ยวกับข้อค้นพบของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

รัฐกัมพูชาอ้างยูเนสโกเป็นเหตุผลซ้ำแล้วซ้ำเล่าสำหรับโครงการ "ย้ายถิ่นฐาน" โดยมีอย่างน้อย 15 กรณีที่ครอบครัวบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า ทางการระบุว่ายูเนสโกคือสาเหตุที่ผู้คนต้องย้ายออกจากนครวัด

เทวี ซึ่งเป็นนามแฝงกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ของ APSARA และกระทรวงที่ดินบอกเธอว่า “ยูเนสโกต้องการให้คุณออกไป เรากลัวว่ายูเนสโกจะถอนสถานที่แห่งนี้ออกสถานะมรดกโลก ดังนั้นคุณต้องไป”

เทวี ซึ่งพ่อของเธอเสียชีวิตหลังจากตกลงมาขณะบูรณะวัดแห่งหนึ่ง เล่าว่าเธอสับสนและโกรธมากเมื่อ APSARA บอกเธอว่า “ยูเนสโกจะไม่ยอมให้ [คุณ] อยู่ที่นี่”

“ฉันอยากถามยูเนสโก ว่าทำไมถึงไล่เราออก เราไม่เคยอันตรายกับวัดเลย ตอนที่ฉันยังเป็นเด็ก เราเคยเล่นเกม ปีนป่าย และทำความสะอาดที่นครวัด” เทวีกล่าว

ผู้นำชุมชนพยายามยื่นคำร้องต่อสำนักงานยูเนสโกในกรุงพนมเปญ โดยเน้นย้ำถึงความไม่พอใจเกี่ยวกับการไล่รื้อ แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่ายูเนสโกไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับปัญหาที่ดิน

สืบเนื่องจากสิ่งที่ค้นพบในรายงาน ยูเนสโกแจ้งกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่าไม่เคยเรียกร้องให้มี “การโยกย้ายถิ่นฐานของประชากร” เมื่อแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวหาว่ามีการไล่รื้อในนามของยูเนสโก ศูนย์มรดกโลกของยูเนสโกตอบกลับมาว่าการกระทำของรัฐภาคีไม่ใช่ความรับผิดชอบของยูเนสโก “แม้ว่ารัฐสมาชิกจะอ้างความชอบธรรมในการดำเนินการในนามขององค์กรก็ตาม”

แต่ความจริงที่ว่าการบังคับไล่รื้อในปัจจุบันกำลังดำเนินการโดยอ้างการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกของยูเนสโก ดังนั้นควรต้องมีการตอบสนองที่ชัดเจนและเข้มแข็ง
“หากไม่มีการตอบโต้อย่างจริงจังจากยูเนสโก ความพยายามในการอนุรักษ์อาจกลายเป็นอาวุธของรัฐต่างๆ เพื่อจุดประสงค์ของตนเองเพิ่มมากขึ้น และเกิดความสูญเสียด้านสิทธิมนุษยชนได้” มอนต์เซ กล่าว

 

ข้อมูลพื้นฐาน

ระหว่างเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ลงพื้นที่บริเวณนครวัดแหล่งมรดกโลก ซึ่งเป็นสถานที่หลักในการไล่รื้อ และรุนตาเอกและแปกสแนง ซึ่งเป็นสองพื้นที่ที่รัฐบาลใช้สำหรับตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวบ้าน

นักวิจัยสัมภาษณ์ผู้คนมากกว่า 100 คน ที่มีทั้งผู้ขายสินค้า เจ้าของร้านอาหาร เกษตรกร ผู้ผลิตเครื่องดนตรีแบบดั้งเดิม ข้าราชการ ช่างทำผม คนงาน พนักงานโรงแรม คนขับรถตุ๊กตุ๊ก มัคคุเทศก์ และคนงานหินซึ่งมีหน้าที่ซ่อมแซมวัดโบราณของนครวัด

 

*ชื่อในข่าวประชาสัมพันธ์นี้เป็นนามแฝงเพื่อปกป้องผู้ให้สัมภาษณ์จากการตอบโต้ที่อาจเกิดขึ้นจากทางการ