อิสราเอล/ดินแดนของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง: จะเกิดการปิดกั้นการสื่อสารอีกครั้งหนึ่งในกาซา หากไม่จัดส่งเชื้อเพลิงให้อย่างเพียงพอ

15 พฤศจิกายน 2566

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : AFP via Getty Images

ฉนวนกาซาที่ถูกยึดครองจะถูกปิดกั้นการสื่อสารอย่างสิ้นเชิงอีกครั้งหนึ่งในวันพฤหัสบดี หากไม่มีการจัดส่งเชื้อเพลิงให้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายอยู่แล้ว เลวร้ายลงไปอีก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 66 กลุ่มบริษัทพาลเทลและจอวสล บริษัทโทรคมนาคมใหญ่สุดสองแห่งในพื้นที่ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมรายงานข้อมูลว่าจำเป็นจะต้องสั่งปิดบริการเซิร์ฟเวอร์และสวิตช์เครือข่ายข้อมูลหลักอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขาดแคลนเชื้อเพลิง การปิดกั้นการสื่อสารซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับบริษัทพาลเทลและจอวสลไม่อาจแก้ไขได้ จนกว่าจะมีการจัดส่งเชื้อเพลิงให้ เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่สุดสองแห่งในพื้นที่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเลวร้ายอย่างมาก

วันที่ 15 พ.ย. 66 อิสราเอลอนุญาตให้มีการจัดส่งเชื้อเพลิงเป็นครั้งแรก โดยยอมให้รถบรรทุกขนน้ำมัน 24,000 ลิตรของหน่วยงานบรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติ (UNRWA) เพียงคันเดียวเข้าสู่กาซา ซึ่งคิดเป็นเพียงประมาณ 9% ของปริมาณเชื้อเพลิงที่จำเป็นต้องใช้ในแต่ละวัน แม้จะมีรถบรรทุกน้ำมันจอดรออยู่ที่ชายแดน แต่อิสราเอลยังคงสั่งห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่

ราชา อับดุล ราฮิม ผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานของแอมเนสตี้ เทค เผยว่า การปฏิเสธของอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้มีการส่งเชื้อเพลิงอย่างเพียงพอ และไม่ให้มีการผลิตไฟฟ้า จะทำให้เกิดการปิดกั้นของเครือข่ายการสื่อสารในกาซาอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการให้บริการที่สำคัญอย่างยิ่งของโรงพยาบาลที่ยังพอเปิดให้บริการอยู่ และต้องรักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บหลายพันคนเนื่องจากการโจมตีอย่างต่อเนื่องต่อกาซา ทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อหน่วยกู้ชีพในการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บซึ่งติดอยู่ใต้ซากตึกที่ถูกทำลาย บริการเหล่านี้จะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการล่มสลายของบริการการสื่อสาร ซึ่งจะเป็นการกระทำที่ถือว่ารุนแรงถึงขั้นเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

“จำเป็นที่จะต้องมีการจัดส่งเชื้อเพลิงในปริมาณที่เพียงพอทันที เพื่อช่วยให้สามารถให้บริการที่ช่วยชีวิตของระบบสาธารณสุขได้ การอนุญาตให้นำเข้าเชื้อเพลิงและการผลิตไฟอีกครั้ง เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนด้านมนุษยธรรม และจะต้องไม่ล่าช้าออกไปอีกไม่ว่าด้วยเงื่อนไขใด ๆ” 

กาซาประสบปัญหาด้านการเชื่อมต่อ ซึ่งลดน้อยลงเหลือต่ำกว่า 30% ของระดับการเชื่อมต่อช่วงก่อนจะเกิดสงคราม นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา ทั้งนี้ตามข้อมูลของ IODA และ Netblocks การปิดกั้นการสื่อสารด้านโทรคมนาคมอีกครั้งหนึ่ง ไม่เพียงจะเป็นการตัดขาดการเชื่อมต่อระหว่างคนในกาซาด้วยกันเอง และการตัดขาดกาซาจากโลกภายนอก แต่ยังจะเป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ที่ติดอยู่ภายใต้ซากตึกอาคาร ประชาขนจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อชีวิต รวมทั้งการแสวงหาพื้นที่ปลอดภัย หรือการติดต่อกับบริการฉุกเฉิน ทั้งยังจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการทำงานที่จำเป็นอย่างยิ่งของหน่วยงานด้านมนุษยธรรม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดต่อกันได้ 

มีหลักฐานทางข้อมูลเป็นอย่างดีว่า การปิดกั้นการสื่อสารเป็นอุปสรรคต่อหน่วยงานระหว่างประเทศและในประเทศในการเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการสังหารอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการใช้กำลังอย่างไม่ได้สัดส่วนของกองกำลังความมั่นคง การดำเนินงานต่าง ๆ รวมทั้งการวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลอย่างเสรี และการเก็บและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่างต้องพึ่งพาการเข้าถึงการสื่อสารและอินเทอร์เน็ต 

การดำเนินงานเหล่านี้ ล้วนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งยังมีข้อห้ามต่อการสั่งปิดอินเทอร์เน็ตโดยขาดความชอบธรรม ในกาซา การปิดกั้นการสื่อสารยังจะกลายเป็นฉากกำบัง ทำให้เราไม่สามารถเห็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อไปท่ามกลางความมืดมิด ทั้งยังทำให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดจากการก่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ

จนถึงปัจจุบัน ASN/ISPs (ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต) 15 แห่ง ต้องเจอกับปัญหาการไม่มีไฟฟ้าใช้เกือบสิ้นเชิง ส่งผลกระทบต่อบริการโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ตทั่วพื้นที่ของฉนวนกาซา การหยุดส่งไฟฟ้าเหล่านี้เกิดขึ้นในบริบทที่มีการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องใส่กาซา รวมทั้งการโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมายและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุให้หลายครอบครัวเสียชีวิตกันทั้งหมด และทำลายโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนอย่างกว้างขวาง รวมทั้งโครงสร้างการสื่อสารที่สำคัญอย่างยิ่ง

ดังที่หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้ง Access Now ได้ยืนยันว่า การปิดกั้นการสื่อสารในกาซาเป็นผลมาจากการโจมตีโดยตรงต่อโครงสร้างการสื่อสารที่สำคัญ รวมทั้งปัญหาเชิงเทคนิคของการให้บริการ

“ท่ามกลางการโจมตีทางอากาศที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน และปริมาณสำรองของเชื้อเพลิงที่ลดลงอย่างรวดเร็ว พลเรือนในกาซาไม่สามารถรับมือกับการปิดกั้นการสื่อสารอย่างสิ้นเชิงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเสี่ยงจะทำให้เกิดการขาดการสื่อสาร ความมืดมิด และการมองไม่เห็นเป็นเวลานยาวนาน อิสราเอลต้องยกเลิกการปิดล้อมกาซาโดยทันที และอนุญาตให้มีการนำเข้าและกระจายเชื้อเพลิงและสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตสำหรับพลเรือน อิสราเอลกำลังใช้วิธีลงโทษแบบกลุ่มกับพลเรือน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขาดความชอบธรรม เป็นการตัดขาดการสื่อสารของพวกเขา และยังเป็นการตัดขาดพวกเขาจากโลกภายนอก” ราชา อับดุล ราฮิมกล่าว

นับแต่วันที่ 7 ตุลาคม กาซาต้องเผชิญกับการปิดกั้นการสื่อสารอย่างสิ้นเชิงอย่างน้อยสามครั้ง แต่ละครั้งกินเวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมง ในช่วงที่มีการปิดกั้นเช่นนี้ ชาวกาซาไม่สามารถขอความช่วยเหลือ ไม่สามารถเข้าถึงบริการช่วยเหลือชีวิต และไม่สามารถสอบถามว่าสมาชิกในครอบครัวและคนที่รักยังปลอดภัยและมีชีวิตอยู่หรือไม่ ทำให้เกิดความรู้สึกกังวลและกลัวอย่างมาก 

เน็ตสตรีม หนึ่งในผู้ให้บริการเครือข่ายที่ยังเหลืออยู่ในกาซา เคยปิดบริการไปช่วงหนึ่งเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ทั้งยังรายงานว่ามีการปิดกั้นการส่งสัญญาณอย่างสิ้นเชิงเมื่อเวลา 12.00 น. ตามเวลาในท้องถิ่นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม

ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม ได้เกิดการปิดกั้นการสื่อสารอย่างสิ้นเชิงเป็นเวลาเกือบ 48 ชั่วโมง โดยเพิ่งเริ่มจะมีการเชื่อมต่อเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้ามืดของวันที่ 29 ตุลาคม 

ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการโจมตีด้วยระเบิดอย่างต่อเนื่องไปยังพื้นที่ภายในและรอบโรงพยาบาลชีฟา, รพ.อัลคูดส์ และรพ.อินโดนีเซียน มีรายงานว่าประชาชนอย่างน้อย 302 คนถูกสังหารในช่วงที่มีการปิดกั้นการสื่อสาร ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มจาก 7,703 เป็น 8,005 คน

ในวันที่ 31 ตุลาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00 น. ตามเวลาในท้องถิ่นจนถึง 10.00 น. ในวันที่ 1 พฤศจิกายน กาซาถูกปิดกั้นการสื่อสารอย่างสิ้นเชิงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มจาก 8,866 เป็น 9,061 คน โดยมีชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 195  คนเสียชีวิตจากการโจมตีด้วยระเบิดอย่างหนาแน่น ส่งผลให้เกิดการทำลายล้างอย่างกว้างขวางต่อค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลียในกาซา

จากนั้นระหว่างวันที่ 5 และ 6 พฤศจิกายน ได้เกิดการปิดกั้นการสื่อสารอย่างสิ้นเชิงอีกครั้งหนึ่งในกาซา ตั้งแต่ช่วง 18.00 น. จนถึง 9.00 น. ตามเวลาในท้องถิ่น ในช่วงที่มีการปิดกั้นการสื่อสาร 24 ชั่วโมง ยอดผู้เสียชีวิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 10,022 คน รวมทั้งเด็ก 4,104 คน โดยเพิ่มจากยอดรวมเดิม 9,770 คนเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน.

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลย้ำถึงข้อเรียกร้องเร่งด่วน ให้มีการหยุดยิงโดยทันทีของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ต้องมีการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมอย่างเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการของหน่วยกู้ภัย ท่ามกลางการทิ้งระเบิดทางอากาศของอิสราเอล และการขยายปฏิบัติการทางบก ซึ่งได้ทำให้ชาวปาเลสไตน์กว่า 11,000 คนเสียชีวิต และทำให้มีผู้พลัดถิ่นฐานมากกว่า 1.6 ล้านคน ในขณะที่ยังไม่มีการจัดส่งเชื้อเพลิง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ กดดันอิสราเอลและอียิปต์ให้อนุญาตและอำนวยความสะดวกให้มีการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับพลเรือนในกาซาอย่างรวดเร็วและไม่มีการปิดกั้น ทางการอียิปต์ควรเปิดบริการโรมมิ่งเพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในอียิปต์ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนในกาซาเชื่อมต่อกับบริการการสื่อสารได้