สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 1-8 เมษายน 2567

11 เมษายน 2567

Amnesty International Thailand

ประเทศในเอเชียต้องไม่พลาดโอกาสในการจัดการกับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

3 เมษายน 2567

โดย ยาน เวทเซล ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
สนธิสัญญาเพื่อจัดการกับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติทั่วโลกอยู่ภายใต้การหารือมานานนับทศวรรษ แต่สัปดาห์หน้าในนิวยอร์ก ประเทศต่างๆ จะมีโอกาสก้าวไปสู่การทำให้เกิดขึ้นจริงได้ และประเทศจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีบทบาทที่สำคัญ

สนธิสัญญานี้เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างไม่ต้องสงสัยเลย ไม่มีภูมิภาคใดในโลกที่ปราศจากอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบความโหดร้ายนี้ในอย่างน้อย 18 ประเทศทั่วโลก เอเชียแปซิฟิกก็ประสบปัญหานี้มาตั้งแต่อดีตในญี่ปุ่น กัมพูชา ติมอร์-เลสเต และศรีลังกา จนถึงปัจจุบันในอัฟกานิสถาน ซินเจียงในจีน การปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาและประชากรอื่นๆ ของเมียนมา "สงครามต่อต้านยาเสพติด" ในฟิลิปปินส์

ในช่วงต้นเดือนเมษายน คณะกรรมการของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอในการตอบสนองของนานาชาติต่อปัญหานี้ สิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องทางเทคนิคสำหรับผู้เชี่ยวชาญนี้แท้จริงแล้วเป็นโอกาสสำคัญในการปรับปรุงกรอบการทำงานระดับโลกสำหรับความยุติธรรมระหว่างประเทศ

อ่านบทความเต็มได้ใน The Diplomat

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3vOo3uM

 

-----

 

 

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ: มติเกี่ยวกับเมียนมาคือการยืนยันที่ยืนสำคัญเพื่อต่อต้านห่วงโซ่อุปทานเชื้อเพลิงอากาศยาน

4 เมษายน 2567

สืบเนื่องจากการตัดสินใจของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่มีมติเกี่ยวกับเมียนมาโดยเรียกร้องเป็นครั้งแรกต่อประเทศสมาชิกของสหประชาชาติให้งดการส่งออก ขาย หรือส่งเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับกองทัพเมียนมา

มอนต์เซ เฟอร์เรอร์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า มตินี้เป็นก้าวหนึ่งในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อต่อสู้กับห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้กองทัพเมียนมายังคงโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายที่เป็นโรงเรียน คลินิก อาคารทางศาสนา และโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนอื่นๆ ต่อไปได้ โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการระงับการขนส่งเชื้อเพลิงอากาศยานไปยังเมียนมา ซึ่งกองทัพได้ใช้ก่ออาชญากรรมสงคราม

"จากแนวโน้มความรุนแรงและเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์นี้ การโจมตีทางอากาศได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและชุมชน และทำให้เกิดการพลัดถิ่นภายในประเทศจำนวนมาก กว่า 3 ปีหลังจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในเมียนมาทำให้เกิดความจำเป็นเร่งด่วนมากขึ้นในการหยุดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับกองทัพ ซึ่งเพิ่มการใช้กำลังทางอากาศในการโจมตีที่ละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

"ภัยคุกคามของเชื้อเพลิงอากาศยานต่อพลเรือนในเมียนมาน่าจะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกลับแสดงให้เห็นว่ากองทัพยังคงสามารถหลบเลี่ยงข้อจำกัดระหว่างประเทศ และจัดหาเชื้อเพลิงอากาศยานที่จำเป็นในการโจมตีทางอากาศเหล่านี้ได้ การลงมติในวันนี้ควรสร้างแรงผลักดันเพื่อขัดขวางห่วงโซ่อุปทานนี้ก่อนที่สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนจะเลวร้ายยิ่งกว่านี้ จำเป็นที่ประเทศและบริษัทต่างๆ จะต้องดำเนินการทันทีเพื่อยุติการจัดหาเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับกองทัพเมียนมา

"เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ประเทศสมาชิก ซึ่งหลายประเทศมีบริษัทระดับชาติที่เคยบทบาทหรือยังคงมีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานเชื้อเพลิงอากาศยาน จะต้องยืนหยัดตามคำสัญญาที่แสดงผ่านมติดังกล่าว สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนทั้งหมดจะต้องดำเนินการทุกขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้องค์กรธุรกิจใช้เขตอำนาจของตนในการจัดหาเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับกองทัพเมียนมา"

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3U9Z9Pw

 

-----

 

 

รวันดา: หลังจากผ่านไป 30 ปี ความยุติธรรมสำหรับอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น

5 เมษายน 2567

ในขณะที่งานรำลึกครั้งที่ 30 เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายนนี้ สำหรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 2537 ต่อชาวทุตซีในรวันดา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตประมาณ 800,000 คน รวมถึงชาวฮูตูและคนอื่นๆ ที่ต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และรัฐบาลหัวรุนแรงที่เป็นผู้วางแผน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศให้คำสัญญาอย่างเร่งด่วนว่าจะประกันความยุติธรรมและความรับผิดชอบให้กับเหยื่อและผู้รอดชีวิต

แม้ว่าผู้กระทำผิดจำนวนมากจะถูกดำเนินคดีในศาลระดับชาติและชุมชนในรวันดา ตลอดจนศาลอาญาระหว่างประเทศสำหรับรวันดา (ICTR) และศาลในยุโรปและอเมริกาเหนือภายใต้หลักการของเขตอำนาจศาลสากล พัฒนาการที่เกิดขึ้นล่าสุดเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแสวงหาความยุติธรรมอย่างเร่งด่วน

ไทเกอ ชากูทาห์ ผู้อำนวยการภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ความยุติธรรมที่ล่าช้าคืออยุติธรรม การเสียชีวิตของผู้ต้องสงสัยฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ต้องการตัวมากที่สุดหลายคนก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการระงับการพิจารณาคดีของผู้ถูกกล่าวหารายอื่นอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับอายุ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมอบความยุติธรรมให้กับผู้รอดชีวิตและญาติของเหยื่อในรวันดาอย่างต่อเนื่อง

"เพื่อรำลึกถึงเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และเพื่อมอบความยุติธรรมให้กับผู้รอดชีวิตและครอบครัวของเหยื่อ เราขอเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ให้คำสัญญาว่าจะแสวงหาความยุติธรรมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและทันท่วงที รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดผ่านเขตอำนาจศาลสากลตามความเหมาะสม"

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3UdxygA

 

-----

 

ยูกันดา: ศาลล้มเหลวในการยกเลิกกฎหมายต่อต้านผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศทำให้ผู้คนตกอยู่ในความเสี่ยง

5 เมษายน 2567

สืบเนื่องจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยูกันดาที่ยกเลิกเพียงบางส่วนของกฎหมายต่อต้านการรักร่วมเพศ 2566 (AHA) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กระตุ้นให้เกิดการโจมตีผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มมากขึ้น

ไทเกอ ชากูทาห์ ผู้อำนวยการภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เรารู้สึกผิดหวังที่ศาลได้หันหลังให้กับความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญของยูกันดาที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทุกคน รวมถึงสิทธิในความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติ การคุ้มครองเสรีภาพส่วนบุคคล การคุ้มครองจากการปฏิบัติที่โหดร้ายหรือการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเป็นส่วนตัว

"เป็นเรื่องที่น่าตกใจที่ต้องสูญเสียโอกาสในการยกเลิกกฎหมายที่บ่อนทำลายสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในยูกันดา รวมทั้งพันธมิตร นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรม ซึ่งเป็นกฎหมายที่เอาผิดกับเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันด้วยความยินยอม กำหนดความผิด 'ส่งเสริม' การรักเพศเดียวกันที่มีความคลุมเครือ และพิจารณาโทษประหารชีวิตสำหรับความผิด 'รักเพศเดียวกันขั้นร้ายแรง'

"ในขณะที่เราเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของมติที่ 275 ของคณะกรรมาธิการแอฟริกาว่าด้วยการคุ้มครองมบุคคลจากความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนพื้นฐานของ รสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริงหรือที่ถูกกล่าวหา รัฐบาลยูกันดาจะต้องยกเลิกกฎหมายต่อต้านการรักเพศเดียวกัน พ.ศ. 2566 ทั้งหมด และประกันให้เกิดความรับผิดชอบสำหรับการโจมตีผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ"

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/4aMF9Ii

 

-----

 

อิสราเอล/ดินแดนของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง: จากความอดอยากที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องหยุดยิงทันทีและเพิ่มเส้นทางความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

5 เมษายน 2567

ประกาศของอิสราเอลว่าได้อนุมัติการเปิดเส้นทางด้านมนุษยธรรม 2 เส้นทางสู่ฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง รวมถึงการเปิดจุดผ่านแดนเอเรซทางตอนเหนือของฉนวนกาซาและท่าเรืออัชดอดเป็นการชั่วคราว ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่ายินดีแต่ไม่เพียงพอที่จะรับมือกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรงในฉนวนกาซา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 5 เมษายน

เฮบา โมราเยฟ ผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การเปิดเส้นทางเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งความช่วยเหลือไปยังฉนวนกาซาเป็นสิ่งที่องค์กรด้านมนุษยธรรมและกลุ่มสิทธิมนุษยชน รวมถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เรียกร้องมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว แม้ว่าการเปิดเส้นทางสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อเข้าสู่ตอนเหนือของฉนวนกาซาจะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ประกาศของอิสราเอลกลับล่าช้ามาอย่างยาวนานและยังคงไม่เพียงพออย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากความอดอยากที่รุนแรงในฉนวนกาซา

"เส้นทางความช่วยเหลือที่มีอยู่ทั้งหมดต้องเปิดทันที และจะต้องมีการเพิ่มความช่วยเหลือที่ได้รับอนุญาตผ่านทางจุดผ่านแดนตอนใต้ของฉนวนกาซาอย่างเร่งด่วน ซึ่งมีเพียงเศษเสี้ยวของความช่วยเหลือและการนำเข้าที่จำเป็นเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ผ่านนับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566

"หลังจากการจงใจขัดขวางความช่วยเหลือและการปิดล้อมยาวนานถึง 16 ปีที่เพิ่มความเข้มงวดยิ่งขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดสภาพที่โหดร้ายต่อพลเรือนในฉนวนกาซา อิสราเอลกลับไม่ได้ใช้ความพยายามแม้เพียงเล็กน้อยในการจัดการกับหายนะด้านมนุษยธรรมที่ตนเองสร้างขึ้น ทั้งที่การเปิดเส้นทางความช่วยเหลือเพิ่มเติมเร็วกว่านี้อาจช่วยให้ผู้คนหลายแสนคนไม่ต้องทุกข์ทนกับความอดอยากที่เลวร้ายนี้"

ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 33,000 คนเสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องของอิสราเอล และอย่างน้อย 31 คนอดตาย โดย 28 คนในนั้นเป็นเด็ก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ใช้มาตรการเหล่านี้ควบคู่กับให้ทุกฝ่ายหยุดยิงอย่างต่อเนื่องโดยทันที และยกเลิกการปิดล้อมฉนวนกาซาอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายของอิสราเอลทั้งหมด เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของคนจำนวนมากได้อย่างแท้จริง องค์กรยังเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธปล่อยตัวประกันที่ถูกควบคุมตัวในฉนวนกาซา และเรียกร้องให้ทางการอิสราเอลปล่อยตัวชาวปาเลสไตน์ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/4aPRrzz