เมียนมา: การกวาดล้างทำลายเสรีภาพจากการกำหนดโทษต่ออองซานซูจี

6 ธันวาคม 2564

Amnesty International 

ภาพถ่ายจาก: AUNG HTET/AFP/Getty Images

สืบเนื่องจากการที่ศาลสั่งลงโทษจำคุกอองซานซูจีเป็นเวลาสี่ปี มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวดังนี้ 

“บทลงโทษที่รุนแรงต่ออองซานซูจีตามข้อหาที่กุขึ้นมา เป็นตัวอย่างล่าสุดของเจตจำนงของกองทัพที่จะขจัดการต่อต้านใด ๆ และปราบปรามเสรีภาพในเมียนมา การตัดสินของศาลผ่านกระบวนการที่ขาดความน่าเชื่อถือและทุจริต เป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนที่เลวร้ายของการลงโทษโดยพลการ ซึ่งที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1,300 คน และถูกจับกุมหลายพันคน นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์  

“ยังคงมีผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนมากซึ่งไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแบบอองซานซูจี มีความเสี่ยงอย่างมากว่าพวกเขาจะถูกคุมขังเป็นเวลาหลายปี จากการใช้สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ เราต้องไม่ลืมพวกเขาและไม่ปล่อยให้พวกเขาประสบชะตากรรมเช่นนั้น 

“ในขณะที่ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นฐานหลายพันคน และทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมท่ามกลางการระบาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ในเมียนมาทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่ง หากนานาชาติไม่หาทางแก้ไขอย่างเด็ดขาด เป็นเอกภาพ และรวดเร็ว สถานการณ์เช่นนี้สามารถและอาจจะเลวร้ายมากขึ้น  

ประชาคมโลกต้องเพิ่มการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองพลเรือน และกดดันให้นำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษจากการละเมิดอย่างรุนแรง และประกันให้มีการดำเนินงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและสุขภาพ โดยถือเป็นความเร่งด่วนสูงสุด ระบบสาธารณสุขของประเทศกำลังล่มสลาย เศรษฐกิจใกล้พังทะลาย ในขณะที่การขาดแคลนอาหารกำลังเริ่มขึ้น โลกไม่สามารถนั่งเฉยและปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของอาเซียน รัฐต่าง ๆ ต้องดำเนินการทันที เพื่อประกันให้การยุติการสังหารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมาน และการละเมิดที่โหดร้ายอย่างอื่น และให้ยุติแบบแผนการลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษ และเป็นเหตุให้เกิดสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  

“เป็นเรื่องน่าละอายที่อาเซียนยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ตามฉันทามติฉุกเฉินของตน หลังมีการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวกว่าครึ่งปีที่แล้ว นอกจากการห้ามไม่ให้นายทหารระดับสูงอย่างมินอ่องหล่ายเข้าร่วมการประชุมเพียงไม่กี่ครั้ง อาเซียนยังคงแสดงท่าทีอ่อนแออย่างน่าตกใจ ในขณะที่กองทัพเมียนมาก็ยังปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ เร่งการทำลายล้าง และกวาดล้างเสรีภาพในการแสดงออก” 

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

อองซานซูจี มุขมนตรีของรัฐซึ่งเป็นผู้นำในทางปฏิบัติของเมียนมา ถูกจับเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พร้อมกับผู้ได้รับการเลือกตั้ง นักเคลื่อนไหวและสมาชิกของคณะกรรมการการเลือกตั้ง 

คำตัดสินให้มีความผิดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม เป็นไปตามข้อหายุยงให้ต่อต้านกองทัพ ตามมาตรา 505 (b) และข้อหาการละเมิดมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ตามมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ เธอถูกดำเนินคดีอาญาทั้งหมด 11 คดี รวมทั้งคดีตามมาตรา 67 ของพระราชบัญญัติโทรคมนาคม และพระราชบัญญัติส่งออกและนำเข้า (เกี่ยวกับการครอบครองวิทยุรับส่งที่บ้าน) เธอยังถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 55 ของพระราชบัญญัติต่อต้านการทุจริตและพระราชบัญญัติความลับทางราชการ กระบวนการพิจารณาทั้งหมดเกิดขึ้นแบบลับ  

ในวันที่ 24 เมษายน อาเซียนจัดประชุมสุดยอดฉุกเฉินเกี่ยวกับเมียนมาที่กรุงจาการ์ตา มีการให้ความเห็นชอบต่อ ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ ในที่ประชุมนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรวมถึงพลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา แต่ต่อมาได้ถูกห้ามเข้าประชุมรอบล่าสุด 

‘ฉันทามตินี้เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมาทันที ให้มีการสานเสวนาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่าย ให้แต่งตั้งทูตพิเศษของอาเซียนเพื่อประสานงานการสานเสวนา สนับสนุนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และให้ทูตพิเศษไปเยือนเมียนมา ผ่านไปกว่าเจ็ดเดือนหลังการประชุมสุดยอดครั้งนั้น เป็นที่ชัดเจนว่าแนวทางนี้ไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่แท้จริงแต่อย่างใด ยังคงมีการขัดขวางไม่ให้ทูตพิเศษของอาเซียนเข้าเยี่ยมอองซานซูจี ซึ่งปัจจุบันถูกควบคุมตัวในสถานที่ลับในกรุงเนปิดอว์ซึ่งเป็นเมืองหลวง  

กองทัพยังคงสังหารผู้ประท้วง คนที่ไม่เกี่ยวข้องแต่อยู่ในเหตุการณ์ และพลเรือนอื่น ๆ ยังคงจับกุม ควบคุมตัว ดำเนินคดีและคุมขังนักเคลื่อนไหว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ทำงานด้านสื่อ ผู้ทำงานด้านการแพทย์ ศิลปิน ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และผู้วิจารณ์กองทัพ ซึ่งใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบของตน ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองแห่งพม่า (AAPPB) จนถึงวันที่ 3 ธันวาคม กองทัพสังหารประชาชนกว่า 1,300 คน และจับกุมประชาชนกว่า 10,000 คน