สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 1 กรกฎาคม - 7 กรกฎาคม 2566

10 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

ไทย: แอมเนสตี้ ชี้ ตัดสินจำคุก 1 ปี ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ เข้าข่ายข่มขู่-คุกคามนักกิจกรรม

7 กรกฎาคม 2566

 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาได้พิพากษาให้จำคุก 1 ปี เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรม กรณีโพสต์เล่าเรื่องประสบการณ์เพศสัมพันธ์ในเรือนจำ โดยเห็นว่าเนื้อหาเป็นการยั่วยุกามารมณ์ ผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (4) ทำให้เขาต้องถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำทันที

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ได้รับการรับรองในหลักการและกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงข้อบทที่ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

"การตัดสินจำคุก 1 ปี 'เอกชัย หงส์กังวาน' ถือว่าเป็นการข่มขู่ คุกคาม เพื่อลดบทบาทนักกิจกรรมในเมืองไทย การใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือปิดปาก กลั่นแกล้ง และเลือกปฏิบัติโดยพุ่งเป้าไปที่นักกิจกรรมมีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ ‘สิทธิในเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก’ เป็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย"

 

อ่านต่อ: bit.ly/3pwmBdx

 

----- 

 

 

เนเธอร์แลนด์: 'ชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์'  สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบแก้กฎหมายเอาผิด บังคับมีเพศสัมพันธ์ คือ ‘การข่มขืน’

4 กรกฎาคม 2566

 

สืบเนื่องจากข่าวที่สภาผู้แทนราษฎรเนเธอร์แลนด์ลงมติให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดทางเพศ (Sexual Offences Act) โดยให้นิยามการข่มขืนโดยยึดแนวคิดเรื่องการไม่ยินยอมเป็นหลัก

แด็กมาร์ เอาท์ชอรน์ ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า

“โดยการแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยของเราและการตระหนักว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับความยินยอมคือการข่มขืน เนเธอร์แลนด์ได้ดำเนินก้าวสำคัญในการต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับผู้รอดชีวิต

“การผ่านร่างกฎหมายนี้เป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์สำหรับผู้รอดชีวิตจากการล่วงละเมิดทางเพศและเป็นบทพิสูจน์ของการรณรงค์ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเป็นเวลาหลายปีของนักกิจกรรมและกลุ่มผู้รอดชีวิตหลายร้อยคน

“ร่างกฎหมายนี้ยกเลิกข้อกำหนดที่ว่าการข่มขืนต้องเกี่ยวข้องกับการใช้กำลัง การคุกคาม หรือการบีบบังคับ นอกจากนี้ยังทำให้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ 17 จากทั้งหมด 31 ประเทศในยุโรปในรายงานการวิเคราะห์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ยอมรับว่าการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับความยินยอมคือการข่มขืน

หลังจากผ่านการพิจารณาแก้ไขเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาโดยสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะมีการลงมติเป็นกฎหมายโดยวุฒิสภาภายในเวลา 9 เดือนถัดไป

 

อ่านต่อ: bit.ly/43cDx6s

 

----- 

 

 

ซูดาน: แอมเนสตี้ แนะ ประเทศติดแนวชายแดนซูดาน ต้องช่วยเหลือผู้หลบหนีความขัดแย้งกว่าครึ่งล้านคน ในฐานะเพื่อนมนุษย์

5 กรกฎาคม 2566

 

ประเทศที่มีชายแดนติดกับซูดานจะต้องยกเลิกข้อจำกัดการเข้าเมืองสำหรับผู้ที่หลบหนีความขัดแย้งในประเทศโดยทันที รวมถึงต้องประกันการเข้าถึงการคุ้มครองและความปลอดภัยให้แก่ผู้คนราวครึ่งล้านคนที่หนีออกมาแล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม ถึง 16 มิถุนายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สัมภาษณ์พลเรือน 29 ราย ที่ต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบากว่าจะกลับไปสู่ความขัดแย้งที่พวกเขาหนีมาหรือจะติดอยู่ที่ชายแดน โดยที่อาจต้องรอคอยอย่างไม่มีกำหนดโดยไม่มีอุปกรณ์พื้นฐานเพื่อรักษาสุขภาพ ความเป็นส่วนตัว และศักดิ์ศรี

ผู้ให้สัมภาษณ์ประกอบด้วยผู้คนในวาดี ฮาลฟา ใกล้ชายแดนอียิปต์ และพอร์ตซูดาน ท่าเรือในทะเลแดง ตลอดจนผู้ที่ข้ามชายแดนซูดานในจุดอื่นๆ และกำลังเดินทางหรือวางแผนที่จะเดินทางผ่านสถานที่ต่างๆ ได้แก่ แอดดิส อะบาบา ในเอธิโอเปีย จูบาและเรงค์ในเซาท์ซูดาน ไคโรในอียิปต์ ดูไบในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเอ็นจาเมนาในชาด

 

อ่านต่อ: bit.ly/3XGI4Nn

 

----- 

 

รัสเซีย: แอมเนสตี้ ประนามผู้กระทำความผิด ชี้ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ต้องไม่ถูกทำร้าย เรียกร้องรัสเซียจับคนผิดลงโทษเร็วที่สุด

4 กรกฎาคม 2566

 

สืบเนื่องจากการทุบตีอย่างรุนแรงต่อเอเลน่า มิลาชิน่า นักข่าวที่ทำงานกับโนวายา กาเซตา (Novaya Gazeta) สำนักข่าวหนังสือพิมพ์อิสระของรัสเซีย และ อเล็กซานเดอร์ เนมอฟ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในเชชเนียเมื่อเช้าวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา

มารี สตรูเทอร์ส ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง เผยว่า

“การทุบตีอย่างรุนแรงต่อเอเลน่า มิลาชิน่า และ อเล็กซานเดอร์ เนมอฟ โดยคนร้ายที่ปกปิดใบหน้าในเชชเนียเมื่อเช้านี้นับเป็นการใช้ความรุนแรงที่น่ารังเกียจซึ่งจะต้องไม่ปล่อยให้ลอยนวลพ้นผิด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอประนามอย่างรุนแรงต่อการโจมตีที่ขี้ขลาดนี้ และเรียกร้องให้ทางการรัสเซียนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว และประกันความปลอดภัยของผู้ที่ตามหาความจริงและความยุติธรรม”

 

อ่านต่อ: bit.ly/46Emayp

 

----- 

 

ซีเรีย: แอมเนสตี้ เรียกร้อง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เปิดพรมแดนอย่างน้อย 1 ปี ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนกว่า 4 ล้านคน ลดเสียงหายนะด้านมนุษยชน

5 กรกฎาคม 2566

 

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะต้องต่ออายุอำนาจให้กับกลไกข้ามพรมแดนของสหประชาชาติก่อนที่จะหมดอายุในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ และต้องต่ออายุอย่างน้อยหนึ่งปี เพื่อประกันการดำเนินการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างยั่งยืน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

กลไกดังกล่าวนี้เป็นเส้นทางเดียวที่อนุญาตให้มีการส่งความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติจากตุรกีไปยังภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย และเป็นเส้นชีวิตสำหรับคนถึงสี่ล้านคนที่ยังต้องพึ่งพาเส้นทางนี้ในการเข้าถึงอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย และบริการด้านสุขภาพ

เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์บอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า การยุติกลไกข้ามพรมแดนของสหประชาชาติจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพลเรือนที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักในการเข้าถึงบริการที่จำเป็น ที่ยิ่งเลวร้ายเนื่องจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

อ่านต่อ: bit.ly/46D8Hqt

 

----- 

 

ยูเครน: นักวิชาการด้านการทหารฯ หวั่น สหรัฐฯ ส่งระเบิดลูกปรายไปยูเครน ทำ ประชาชนเสี่ยงอันตรายหนัก เพราะเป็นอาวุธที่ไม่แยกแยะเป้าหมาย

5 กรกฎาคม 2566

 

สืบเนื่องจากข่าวที่สหรัฐฯ จะส่งระเบิดลูกปราย (Cluster Munition) ไปยังยูเครน

แพทริก วิลเคน นักวิจัยด้านการทหาร ความมั่นคงและการควบคุมมวลชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เน้นย้ำมาอย่างยาวนานว่าระเบิดลูกปรายเป็นอาวุธที่ไม่แยกแยะเป้าหมาย ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายนับไม่ถ้วนต่อพลเรือนทั่วโลก โดยในบางกรณีเกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งสิ้นสุดไปแล้วหลายสิบปี

“สงครามรุกรานของรัสเซียได้นำความทุกข์ยากอย่างรุนแรงมาสู่ชาวยูเครน ด้วยแรงผลักดันจากข้อพิจารณาด้านมนุษยธรรม และความห่วงใยต่อพลเรือนในประเทศที่เสียหายจากสงครามและผลกระทบที่ตามมา ทำให้ 111 ประเทศ ซึ่งรวมถึงพันธมิตรของยูเครนจำนวนมาก ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (Convention on Cluster Munitions: CCM) หรือระเบิดลูกปรายและสั่งห้ามการใช้ การผลิต การถ่ายโอน และการกักตุนอาวุธดังกล่าว”

 

อ่านต่อ: bit.ly/3pEviCq