สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 18 มีนาคม - 24 มีนาคม 2566

28 มีนาคม 2566

Amnesty International

 
ประเทศไทย : พลเมืองเมียนมาต้องไม่ถูกเนรเทศหลังการสอบปากคำ
24 มีนาคม 2566
 
สืบเนื่องจากรายงานข่าวที่ว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 อ.แม่สอด กองกำลังนเรศวร เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.ตาก และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง พร้อมหน่วยข่าวด้านความมั่นคง สนธิกำลังเข้าตรวจค้นตึกแถวในบริเวณหมู่บ้านมารวย ชุมชนหนาแน่น ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก เกือบ 40 คูหา และมีการสอบปากคำพลเมืองเมียนมาประมาณ 100 คนซึ่งในนั้นมีเด็กอยู่ด้วย เมื่อวันที่ 22 มี.ค. และ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากทราบว่ามีฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา กลุ่มกองกำลังป้องกันประชาชน หรือ PDF หลบหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในแม่สอด
นาง เส็ง (Nang Sein) นักวิจัยประเทศเมียนมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทางการไทยต้องไม่เนรเทศพลเมืองเมียนมากลับไปประเทศเมียนมา ซึ่งพวกเขาอาจเสี่ยงที่จะถูกคุมขัง ทรมาน หรือสั่งประหารชีวิตตามคำสั่งของกองทัพเมียนมา
“พลเมืองเมียนมาซึ่งหลบหนีข้ามพรมแดนเข้ามา ยังคงต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว เพราะอาจถูกส่งกลับประเทศ และไม่ทราบชะตากรรมของตนเอง หลายคนหลบหนีจากบ้านเกิด หลังการทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้ปลอดภัยจากการปราบปรามการชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรงของกองทัพเมียนมา พวกเขาต้องตกอยู่ในอันตราย เพียงเพราะเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ หรือเพราะความเชื่อทางการเมืองของตน พวกเขาไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใครได้ และมีโอกาสในการหาเลี้ยงชีพไม่มากนัก”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3LMRpz6
 
----
 
 
รัสเซีย : ทางการยกระดับ ‘การล่าแม่มด’ นักกิจกรรมทางการเมือง โดยการบุกค้นบ้านของเหล่าสมาชิกเมมโมเรียล
21 มีนาคม 2566
 
สืบเนื่องจากรายงานข่าวที่ว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายรัสเซีย ได้บุกค้นบ้านของสมาชิกเมมโมเรียล องค์กรสิทธิมนุษยชนที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซีย ซึ่งคว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2022
นาตาเลีย ซเวียจิน่า ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รัสเซีย กล่าวว่า
“ ทางการรัสเซียยังคงเดินหน้าล่าแม่มดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมืองโดยการบุกค้นบ้านของเหล่าสมาชิกเมมโมเรียลต่อไป พวกเขามองว่างานของเมมโมเรียล ซึ่งรวมถึงการปกป้องสิทธิมนุษยชนในรัสเซียที่มีการกดขี่ข่มเหงมากขึ้นเรื่อยๆ และการบันทึกการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในยุคสตาลินของสหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจของพวกเขา”
“เพื่อเป็นข้ออ้างในการบุกค้นบ้านสมาชิกของเมมโมเรียล ทางการรัสเซียกล่าวหาว่าพวกเขาพยายามที่จะ ‘ฟื้นฟูลัทธินาซี’ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลวไหลอย่างเห็นได้ชัด ทางการต้องยุติการรณรงค์ปราบปรามที่น่าละอายต่อนักเคลื่อนไหวและผู้ที่ทำงานเพื่อรักษาความทรงจำเกี่ยวกับความโหดร้ายของสตาลินอย่างเร่งด่วน งานสำคัญของเมมโมเรียลในการบันทึกเรื่องราวในอดีต การให้ความรู้แก่เยาวชน และการจารึกประวัติศาสตร์การปราบปรามทางการเมืองต้องได้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อไป”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/40v7xte
 
----
 
 
สหภาพยุโรป : สหภาพยุโรปจะต้องยอมรับความเป็นจริงของการแบ่งแยกเชื้อชาติในอิสราเอล
20 มีนาคม 2566
 
อีฟ เกดดี้ ผู้อำนวยการสำนักงานสถาบันยุโรป แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นผู้นำในการผลักดันประเด็นการทำงานของแอมเนสตี้ต่อสหภาพยุโรปและสภายุโรป
ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา คณะผู้แทนนักการทูตยุโรปเข้าเยี่ยมชมฮูวาราและซาทารา สองเมืองของชาวปาเลสไตน์ในเขตนาบลุส ซึ่งผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลได้ทำการโจมตีอย่างโหดร้าย
เหตุการณ์รอบๆ ฮูวาราเป็นที่กล่าวถึงทั้งในด้านขนาดและความรุนแรงจากการมีผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลเข้าร่วมหลายร้อยคน แต่สำหรับชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครอง การโจมตีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันมาอย่างช้านาน
การขาดความรับผิดชอบเกือบสิ้นเชิงของผู้กระทำความผิด การที่ทหารอิสราเอลมีส่วนร่วมในความรุนแรงในบางเหตุการณ์ที่มีการบันทึกไว้เป็นอย่างดี และข้อเท็จจริงที่ว่าการตั้งถิ่นฐานยังคงขยายตัวต่อไปโดยฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นการแสดงออกถึงระบบการแบ่งแยกเชื้อชาติ ซึ่งทางการอิสราเอลได้บังคับใช้กับชาวปาเลสไตน์
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3z079XX
 
----
 
ยูกันดา : ปฏิเสธกฎหมายต่อต้านผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ที่กำหนดให้กิจกรรมทางเพศของเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม
22 มีนาคม 2566
 
สืบเนื่องจากข่าวที่รัฐสภาของยูกันดาได้ผ่านกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษทางอาญาต่อกิจกรรมทางเพศโดยสมัครใจระหว่างบุคคลที่อายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปที่เป็นเพศเดียวกัน
ไทเกอ ชากูทาห์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ กล่าวว่า
.
“ประธานาธิบดี โยเวรี มูเซเวนี จะต้องยับยั้งกฎหมายที่น่าสะพรึงกลัวนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งได้ผ่านการลงคะแนนเสียงอย่างรวดเร็วในเย็นวันอังคารที่ผ่านมา กฎหมายที่มีชื่อว่า 'ร่างกฎหมายต่อต้านการรักร่วมเพศปี 2023 (2023 Anti-Homosexuality Bill)' นับเป็นการทำร้ายกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างร้ายแรงและถือเป็นการดูหมิ่นรัฐธรรมนูญของยูกันดา”
“กฎหมายที่ใช้ถ้อยคำกำกวมและคลุมเครือถึงกับทำให้ผู้ที่ 'ส่งเสริม' การรักเพศเดียวกันหรือ 'พยายามที่จะกระทำความผิดฐานการรักเพศเดียวกัน' เป็นอาชญากร ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายที่กดขี่แบบนี้มีแต่จะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ สร้างความเกลียดชัง และอคติต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงผู้ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และขัดขวางการทำงานที่ถูกต้องของภาคประชาสังคม ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข และผู้นำชุมชน”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/406MP3l
 
----
 
เซียร์ราลีโอน : 7 เดือนหลังจากการชุมนุมประท้วงในเดือนสิงหาคม ซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงในบางพื้นที่ ยังคงไม่มีความยุติธรรมสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือครอบครัวของผู้เสียชีวิต
20 มีนาคม 2566
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการสอบสวนเหตุการณ์ และรวบรวมคำให้การที่อ้างว่ากองกำลังความมั่นคงเซียร์ราลีโอนใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการปราบปรามการชุมนุมประท้วง ซึ่งก่อให้เกิดความรุนแรงในเมืองฟรีทาวน์ มาเกนี และ คาร์มากวี ในเดือนสิงหาคม 2022 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6 นายและผู้ชุมนุมประท้วงและผู้เห็นเหตุการณ์มากกว่า 20 คนเสียชีวิต ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้หญิงอย่างน้อย 2 คน อย่างไรก็ตาม รัฐได้ใช้เวลากว่า 2 เดือนในการนำศพที่ไม่ใช่ตำรวจมาทำการฝัง
ทั้งนี้ ตัวแทนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ทำการสัมภาษณ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์ ครอบครัวของเหยื่อ เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ และองค์กรภาคประชาสังคมในเมืองฟรีทาวน์และเมืองมาเกนีในเดือนธันวาคม 2022
ในวันที่มีการชุมนุมประท้วง ตั้งแต่เวลาบ่ายสาม ทางการได้มีการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ชายหนุ่มจากมาเกนีเผยกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เขาไม่ทราบว่ามีการประกาศ และเขาก็ถูกตำรวจยิงขณะที่กำลังใช้เวลาอยู่กับเพื่อน “พวกเราแค่นั่งคุยกัน มันไม่นานก่อนที่หน่วยลาดตระเวนจากตำรวจจะมา…พวกเขาต่างตะโกน เขาไม่ได้พูดอะไรกับพวกผมเลย พวกผมเลยเริ่มวิ่งหนี - แล้วผมก็ถูกยิงที่แขนขวา”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3lBzvF0
 
----
 
ฮ่องกง : การจับกุมผู้ครอบครองหนังสือเด็กที่มี "เนื้อหาปลุกระดม" นับเป็นจุดต่ำสุดครั้งใหม่ของสิทธิมนุษยชน
17 มีนาคม 2566
 
สืบเนื่องจากรายงานข่าวที่มีการจับกุมชาย 2 คนในฮ่องกง กรณีครอบครองหนังสือเด็ก ซึ่งจัดอยู่ในประเภทของ ‘เนื้อหาที่มีการปลุกระดม’ ซึ่งมีการพรรณนาถึงทางการจีนแผ่นดินใหญ่ว่าเป็นผู้นำฝูงหมาป่า
ฮาน่า ยัง รองผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“เสรีภาพของประชาชนในฮ่องกงถูกย่ำยีนับตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในปี 2020 แต่แม้ในบริบทดังกล่าวก็ยังรู้สึกเหมือนเป็นจุดต่ำสุดครั้งใหม่ของสิทธิมนุษยชนในเมืองนี้”
“ตำรวจความมั่นคงแห่งชาติ ได้มีการจับกุมคน 2 คนฐานการครอบครองหนังสือเด็กเกี่ยวกับแกะและหมาป่าที่มีเนื้อหาปลุกระดม ซึ่งนับว่าเป็น ‘อาชญากรรม’ และมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี”
“นี่คือตัวอย่างล่าสุดของทางการฮ่องกงที่ใช้กฎหมายปลุกระดมในยุคอาณานิคม เพื่อเป็นข้ออ้างในการปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/4083LGz
 
----
 
โมซัมบิก : การจับกุมโดยพลการ การใช้แก๊สน้ำตา และการทำร้ายร่างกายอย่างโหดเหี้ยมต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม
18 มีนาคม 2566
 
สืบเนื่องจากการปราบปรามอย่างรุนแรงของตำรวจโมซัมบิกต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบทั่วประเทศ เพื่อรำลึกถึงนักดนตรีผู้ล่วงลับอย่าง อาซาไกอา (Azagaia) ที่มีการทุบตีผู้ชุมนุมประท้วง การใช้แก๊สน้ำตา และการพุ่งเป้าไปที่ผู้จัดงาน ในฐานะผู้จัดการชุมนุม
เอเมอร์ลินน์ กิลล์ รองผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ กล่าวว่า
“การตอบโต้อย่างรุนแรงของตำรวจโมซัมบิกต่อการชุมนุมประท้วงโดยสงบเหล่านี้ อาทิ การทุบตีผู้ชุมนุมประท้วงด้วยไม้กระบอง และการทำให้พวกเขาได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นการกระทำที่อุกอาจของตำรวจต่อผู้ชุมนุมประท้วงที่ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้”
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าตำรวจมีเป้าหมายที่จะปราบปรามการชุมนุมประท้วง โดยมีความตั้งใจที่จะสบประมาทตำนานของอาซาไกอาในโมซัมบิก การกระทำของตำรวจที่มีการทุบตีผู้ชุมนุมประท้วงในวิดีโอที่ส่งให้กับทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และที่มีการถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นตัวอย่างที่น่าสยดสยองในการใช้กลอุบายที่บ้าบิ่นและผิดกฎหมายต่อประชาชนระหว่างการชุมนุมประท้วง”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3Z7tsWw