สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 3-13 มกราคม 2567

15 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

 

 

ไทย: วันเด็กปี 2567 แอมเนสตี้ส่งข้อเรียกร้องถึงนายกหยุดข่มขู่คุกคาม ปล่อยตัว ยุติการดำเนินคดีอาญา – แก้กฎหมาย หยุดปิดกั้นเด็กใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

13 มกราคม 2567

 

วันเด็กแห่งชาติปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ด้านหน้าทำเนียบ ประตู 5 ฝั่งกระทรวงศึกษาธิการและหน้ารัฐสภาไทย กรุงเทพมหานคร ใช้ชื่อกิจกรรมในครั้งนี้ว่า 'ปล่อยผ้าเรียกร้องรัฐไทยหยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพเด็ก' มีเป้าหมายเพื่อส่งเสียงเรียกร้องถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และทุกฝ่ายที่เกี่ยวให้หยุดข่มขู่คุกคาม หยุดติดตาม และยุติการดำเนินคดีอาญากับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ในช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2563 – 2566 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่กระบวนการยุติธรรม ดำเนินคดีอาญากับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ หากมองตามหลักสิทธิมนุษยชนระดับสากล สะท้อนให้เห็นว่าทางการไทยกำลังลิดรอนสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของเด็กอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532 (UNCRC) ระบุว่า เด็กทุกคนมีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ทั้งการใช้สิทธิในการพูดและแสดงความคิดเห็น รวมถึงสิทธิการได้รับความคุ้มครองให้ปลอดภัย เข้าถึงการศึกษา และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่การที่รัฐไทยดำเนินคดีอาญากับเด็กที่มาร่วมชุมนุมช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เหมือนการลดมาตรฐานเกินกว่าที่ประชาสังคมโลกจะยอมรับได้ เพราะเด็กทุกคนไม่เพียงแต่เป็นอนาคตของชาติ แต่พวกเขาคือปัจจุบันที่จะนำภาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้

"วันเด็กไม่ควรเป็นเพียงแค่วันที่ผู้ใหญ่ให้คำสอนว่าเด็กควรปฏิบัติตัวอย่างไร แต่เป็นวันที่ผู้ใหญ่ และรัฐควรคำนึงถึงความสำคัญ และสิทธิต่างๆ ของพวกเขา ตามสิทธิที่ถูกเขียนเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศและในประเทศ วันเด็กแห่งชาติปี 2567 นี้ แอมเนสตี้เรียกร้องให้ทางการไทยหยุดข่มขู่และดำเนินคดีอาญาต่อเด็ก"

"ทางการไทยมักตอบโต้ต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กผ่านการดำเนินคดี ข่มขู่คุกคาม และคุมขังเด็กที่ออกมาใช้สิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังใช้วิธีการปราบปรามสิทธิเด็กโดยทางอ้อมเช่น เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการกดดันจผ่านผู้ปกครองและโรงเรียนให้เด็กอยู่ห่างจากการชุมนุมประท้วง ทั้งที่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่างๆ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตั้งแต่ พ.ศ.2535 ที่จะต้องเคารพ คุ้มครอง และประกันสิทธิของเด็กที่จะมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เพื่อให้พวกเขาใช้สิทธิเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกตอบโต้ สิทธิเหล่านี้ช่วยให้เด็กขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนและประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองได้"

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1211/ 

----- 

 

 

โลก: การพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) กรณีอิสราเอลถูกกล่าวหาว่าละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นก้าวย่างสำคัญเพื่อคุ้มครองพลเรือนชาวปาเลสไตน์

10 มกราคม 2567

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวถึงกรณีการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก ตามคำฟ้องของแอฟริกาใต้ ที่กล่าวหาว่ารัฐอิสราเอลละเมิดพันธกรณีของตนตามอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ว่าอาจช่วยคุ้มครองพลเรือนชาวปาเลสไตน์ ช่วยยุติหายนะด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากมนุษย์ในฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง และให้ความหวังอยู่บ้างที่จะเกิดความยุติธรรมระหว่างประเทศ

แอฟริกาใต้ได้ยื่นคำฟ้องกล่าวหาว่า การปฏิบัติและการงดเว้นการปฏิบัติของอิสราเอลที่มีต่อชาวปาเลสไตน์ในกาซา ภายหลังการโจมตีของกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 มีลักษณะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คำฟ้องของแอฟริกาใต้กระตุ้นให้รัฐสั่งการให้มี "คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว" เพื่อคุ้มครองชาวปาเลสไตน์ในกาซา รวมทั้งเรียกร้องอิสราเอลให้ยุติการโจมตีทางทหารโดยทันที ซึ่ง "ถือเป็นหรือส่งเสริมให้เกิดการละเมิดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" และให้ยกเลิกมาตรการที่เกี่ยวข้องที่เป็นส่วนหนึ่งของการลงโทษแบบกลุ่มและการบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐาน การไต่สวนเบื้องต้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก มีขึ้นในวันที่ 11-12 มกราคมนี้

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เรายังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดของความทุกข์ยากต่อมนุษย์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง หายนะและการทำลายล้างที่เราได้พบเห็นทุกชั่วโมงในกาซา ความเสี่ยงที่กาซาจะถูกเปลี่ยนจากเรือนจำในที่โล่งแจ้งใหญ่สุด ให้กลายเป็นหลุมศพขนาดใหญ่ กำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมท่ามกลางสายตาของเรา

"ในขณะที่สหรัฐอเมริกายังคงใช้อำนาจของตน เพื่อวีโต้ข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิง อาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รัฐต่างๆ มีพันธกรณีเชิงบวกที่จะป้องกันและลงโทษการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมที่ทารุณอย่างอื่น การไต่สวนการปฏิบัติของอิสราเอลในการพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อคุ้มครองชีวิตชาวปาเลสไตน์ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือต่อการใช้กฎหมายระหว่างประเทศในระดับสากล และปูทางไปสู่ความยุติธรรมและการเยียวยาต่อผู้เสียหาย"

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1210/

 

-----

  

สหรัฐฯ: แอมเนสตี้เรียกร้องรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องปิดเรือนจำที่อ่าวกวนตานาโม หลังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมานานถึง 22 ปี

11 มกราคม 256

 

11 มกราคม 2567 เป็นวันครบรอบ 22 ปีของการเปิดเรือนจำของกองทัพสหรัฐฯ ที่อ่าวกวนตานาโม ปัจจุบันยังคงมีชาย 30 คนที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีกำหนดและไม่เคยผ่านการพิจารณาคดีใดๆ โดยส่วนใหญ่ไม่เคยถูกตั้งข้อหาด้วยซ้ำ

แดฟนี อีเวียร์ตา ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา เผยถึงเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปิดเรือนจำที่อ่าวกวนตานาโมว่า เป็นเรื่องน่าตกใจที่ผ่านมา 22 ปีหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเรือนจำกวนตานาโมเพื่อควบคุมตัวชายชาวมุสลิมที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมายสหรัฐฯ ซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่จนถึงทุกวันนี้

"แม้หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานแล้ว รัฐบาลยังคงอ้างว่าการควบคุมตัวโดยไม่มีกำหนดและไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาหรือการพิจารณาคดีนั้นมีความชอบธรรมในฐานะส่วนหนึ่งของ 'สงครามต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อประชาคมโลก' ซึ่งนโยบายนี้ยังเป็นปัญหาอยู่

"มีชาย 16 คนที่ถูกคุมขังที่กวนตานาโมโดยไม่มีข้อกล่าวหา ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯ ให้ส่งตัวออกจากกวนตานาโมแล้ว แต่พวกเขาก็ยังคงอยู่ที่นั่นอย่างไม่เป็นธรรมจนทุกวันนี้ แม้บางคนได้รับอนุญาตมานานกว่าทศวรรษแล้วก็ตาม

"รัฐบาลของไบเดนควรส่งตัวผู้ถูกกักขังที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมด ซึ่งไม่ได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาอาชญากรรมไปยังประเทศที่พวกเขาจะปลอดภัยและเคารพสิทธิมนุษยชนของพวกเขา สำหรับกรณีที่มีพยานหลักฐานที่รับฟังได้อย่างเพียงพอภายใต้มาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อดำเนินคดีความผิดทางอาญาที่ยอมรับในระดับสากล จะต้องผ่านกระบวนการศาลที่เป็นธรรม โดยไม่ใช้โทษประหารชีวิต

"ประธานาธิบดีไบเดนจะต้องแก้ไขความผิดพลาดนี้เสียที และยุติการปฏิบัติที่ไร้เหตุผลซึ่งทั้งเขาและประธานาธิบดีโอบามาได้ให้คำมั่นสัญญาไว้เมื่อหลายปีก่อน ตอนนี้ผ่านไป 22 ปีแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องปฏิบัติตามคำสัญญาและปิดเรือนจำกวนตานาโมตลอดไป"

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมเขียนจดหมายเรียกร้องให้ประธานาธิบดีไบเดนปิดคุกกวนตานาโมอย่างถาวร

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1208/ 

 

-----

 

ไทย: คุยกับนักวิจัยแอมเนสตี้ประจำประเทศไทย ของขวัญวันเด็กปี 2567 ขอทางการไทยยุติการข่มขู่ คุกคาม และดำเนินคดีต่อเด็กที่ร่วมชุมนุมประท้วงโดยสงบ

11 มกราคม 2567

 

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ ในฐานะนักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พูดถึงคำขวัญวันเด็กแห่งชาติปี 2567 ที่ระบุว่า "มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อย่างมีนัยสำคัญ ในมุมมองของคนที่ทำงานในองค์กรสิทธิมนุษยชน หลังจากใช้เวลาอ่านคำขวัญวันเด็กปีนี้วนซ้ำอยู่หลายครั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งมุมมองและข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิเด็กของแอมเนสตี้ในปีนี้

สิ่งที่ 'ชนาธิป' ตกผลึกหลังจากเห็นคำขวัญนี้คือ เขาต้องการฝากถึงรัฐบาลไทย ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีว่า 'ความคิดสร้างสรรค์' และ 'สิทธิในเสรีภาพภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ' ควรเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องส่งเสริมและสนับสนุนเด็กทุกคน เพื่อให้สอดคล้องกับคำขวัญวันเด็ก และของขวัญวันเด็กอย่างหนึ่งที่รัฐบาลไทยควรให้เด็กทุกคนในปีนี้ คือการคืนความยุติธรรมให้กับเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดที่เป็นคดีติดตัวเด็ก จนทำให้สูญเสียอนาคตด้านต่างๆ

 

"อยากฝากรัฐบาลว่า เมื่อต้นปีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีการออกคำขวัญวันเด็ก ที่พูดถึงการกระทำหรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่อยากให้เด็กออกไปโอบรับความแตกต่างหลากหลาย ช่วยกันสร้างสรรค์ประชาธิปไตย ฉะนั้นการที่เราจะสร้างเด็กที่สามารถคิดอย่างสร้างสรรค์ โอบรับความหลากหลายได้ตามที่รัฐต้องการ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นและสำคัญคือการให้ความสำคัญกับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบของเด็กด้วย สิ่งนี้จะเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ในการทำให้วิสัยทัศน์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นได้จริง"

"เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่ช่วงหนึ่งของชีวิตที่เด็กกลุ่มนี้ที่มีอายุประมาณ 18 – 19 ปี ต้องมาวนเวียนอยู่กับการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเนื่องจากถูกตั้งข้อกล่าวหา แทนที่พวกเขาควรจะได้ออกไปเรียนรู้ หรือออกมาพัฒนาตัวเองเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ การละเมิดเช่นนี้ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่จบสิ้น ตราบใดที่ยังไม่มีการยุติการดำเนินคดีกับเด็กกลุ่มนี้" ชนาธิปกล่าวทิ้งท้าย

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1209/

 

----- 

 

โลก: คนรุ่น 2048: ถึงเวลาต้องต่อต้าน หยุดยั้ง และเปลี่ยนแปลง

3 มกราคม 2567

 

ในวาระครบรอบ 75 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ในขณะที่โลกยังคงเผชิญกับความขัดแย้ง การแบ่งขั้วทางสังคม-การเมือง ความไม่เท่าเทียมที่ขยายใหญ่ขึ้น และภัยคุกคามเนื่องจากวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นข้อท้าทายให้เราต้องสร้างจินตนาการใหม่ในการจัดทำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ในปี 2048 ซึ่งจะเป็นปฏิญญาด้านสิทธิในศตวรรษต่อไป เป็นปฏิญญาที่จัดขึ้นโดยคนจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงอภิสิทธิชนจำนวนน้อย?

เราพร้อมที่จะเป็นคนรุ่น 2048 หรือไม่? พร้อมจะเป็นทายาทของผู้คน ซึ่งเคยเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ภายหลังเถ้าถ่านของโลกที่เต็มไปด้วยสงคราม จนสามารถให้กำเนิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ที่มีพลังเปลี่ยนแปลงโลกหรือไม่? หรือเราจะกลายเป็นคนรุ่นที่ปิดหูปิดตา ไม่สนใจการกดขี่ของคนอื่น ตราบเท่าที่เรายังคงสามารถรักษาอำนาจและอิทธิพลของตนเองไว้ได้?

มรดกของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ได้ท้าทายให้เราต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น เป็นการเรียกร้องให้เราต่อต้านการโจมตีต่อสิทธิที่เกิดขึ้นในระดับโลก ระดับข้ามชาติ และในท้องถิ่น ทั้งยังเป็นสัญญาณบอกเราว่าสิ่งที่ทำยังไม่เพียงพอ ทั้งยังเรียกร้องให้เราเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระเบียบโลก ซึ่งก่อกำเนิดความมีอภิสิทธิ์และความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นมายาวนาน เป็นการละเมิดสิทธิและปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้เราเปลี่ยนระบอบปกครองของโลกด้วยการสร้างจินตนาการใหม่ ด้วยการสร้างนวัตกรรม และความเป็นผู้นำ

เราสามารถ เราจะต้องสร้างภาวะผู้นำ สถาบัน และระบบที่กล้าหาญและมีวิสัยทัศน์ ซึ่งสามารถคุ้มครองโลกของเรา ทำงานเพื่อคนรุ่นต่อไป และคุ้มครองเราจากผู้ที่ทำให้เราต้องทุกข์ยาก

มาร่วมมือกัน มาร่วมกันเป็นคนรุ่น 2048 ทำให้เกิดอนาคตที่สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนและในทุกหนแห่งสามารถเข้าถึงได้

มาร่วมกันเป็นคนรุ่น 2048
ทำให้เกิดอนาคตที่สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนและในทุกหนแห่งสามารถเข้าถึงได้
เข้าร่วมตอนนี้

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1206/