การพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) กรณีอิสราเอลถูกกล่าวหาว่าละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นก้าวย่างสำคัญเพื่อคุ้มครองพลเรือนชาวปาเลสไตน์

12 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : ©AFP via Getty Images

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวถึงกรณีการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก ตามคำฟ้องของแอฟริกาใต้ ที่กล่าวหาว่ารัฐอิสราเอลละเมิดพันธกรณีของตนตามอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ว่าอาจช่วยคุ้มครองพลเรือนชาวปาเลสไตน์ ช่วยยุติหายนะด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากมนุษย์ในฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง และให้ความหวังอยู่บ้างที่จะเกิดความยุติธรรมระหว่างประเทศ

แอฟริกาใต้ได้ยื่นคำฟ้องกล่าวหาว่า การปฏิบัติและการงดเว้นการปฏิบัติของอิสราเอลที่มีต่อชาวปาเลสไตน์ในกาซา ภายหลังการโจมตีของกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 มีลักษณะเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คำฟ้องของแอฟริกาใต้กระตุ้นให้รัฐสั่งการให้มี “คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว” เพื่อคุ้มครองชาวปาเลสไตน์ในกาซา รวมทั้งเรียกร้องอิสราเอลให้ยุติการโจมตีทางทหารโดยทันที ซึ่ง “ถือเป็นหรือส่งเสริมให้เกิดการละเมิดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และให้ยกเลิกมาตรการที่เกี่ยวข้องที่เป็นส่วนหนึ่งของการลงโทษแบบกลุ่มและการบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐาน การไต่สวนเบื้องต้นที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก มีขึ้นในวันที่ 11-12 มกราคมนี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่ได้จำแนกว่า สถานการณ์ในกาซารุนแรงถึงขั้นเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อย่างไรก็ดี มีสัญญาณเตือนที่น่าตกใจเมื่อคำนึงถึงจำนวนผู้เสียชีวิตและการทำลายล้างอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นเหตุให้มีชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารกว่า 23,000 คนในช่วงเวลาเพียงสามเดือนเศษ และยังมีผู้สูญหายอีกกว่า 10,000 คนภายใต้ซากปรักหักพัง ซึ่งคาดว่าอาจเสียชีวิตแล้ว รวมทั้งการใช้วาทกรรมที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีของมนุษย์และเหยียดเชื้อชาติต่อชาวปาเลสไตน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและกองทัพอิสราเอลบางส่วน นอกจากนั้น การปิดล้อมกาซาอย่างผิดกฎหมายของอิสราเอล ส่งผลให้ประชากรพลเรือนถูกตัดขาด หรือแทบไม่สามารถเข้าถึงน้ำ อาหาร ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์ และเชื้อเพลิง ยิ่งทำให้เกิดความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความอยู่รอดของประชาชนในกาซา

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เรายังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดของความทุกข์ยากต่อมนุษย์ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง หายนะและการทำลายล้างที่เราได้พบเห็นทุกชั่วโมงในกาซา ความเสี่ยงที่กาซาจะถูกเปลี่ยนจากเรือนจำในที่โล่งแจ้งใหญ่สุด ให้กลายเป็นหลุมศพขนาดใหญ่ กำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมท่ามกลางสายตาของเรา

“ในขณะที่สหรัฐอเมริกายังคงใช้อำนาจของตน เพื่อวีโต้ข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิง อาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รัฐต่างๆ มีพันธกรณีเชิงบวกที่จะป้องกันและลงโทษการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมที่ทารุณอย่างอื่น การไต่สวนการปฏิบัติของอิสราเอลในการพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อคุ้มครองชีวิตชาวปาเลสไตน์ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือต่อการใช้กฎหมายระหว่างประเทศในระดับสากล และปูทางไปสู่ความยุติธรรมและการเยียวยาต่อผู้เสียหาย”

รัฐทุกแห่งมีพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่จะต้องป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พ.ศ. 2491 และตามคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตามหลักกฎหมายจารีตประเพณี หมายถึงว่ารัฐทุกแห่งมีพันธกรณีที่จะต้องป้องกัน รวมทั้งรัฐซึ่งไม่ได้เป็นรัฐภาคีต่ออนุสัญญานี้ด้วย ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 คณะผู้ชำนาญการแห่งสหประชาชาติเตือนว่า “กำลังเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ในเขตยึดครองปาเลสไตน์ และโดยเฉพาะในกาซา

“เราแทบไม่สามารถบรรยายจนเกินจริงถึงขอบเขตของหายนะและการทำลายล้าง ที่เกิดขึ้นในกาซาในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา พื้นที่ส่วนใหญ่ในกาซาตอนเหนือถูกทำลาย และประชากรอย่างน้อย 85% ในกาซาต้องตกเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ ชาวปาเลสไตน์และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมากมองว่า สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์ของอิสราเอลที่ต้องการทำให้กาซาอยู่ใน “สภาพที่ไม่อาจอาศัยอยู่ได้” ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถ้อยแถลงที่แหลมคมของเจ้าหน้าที่รัฐบาลอิสราเอลบางส่วน ที่เรียกร้องให้มีการเนรเทศอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการบังคับส่งตัวชาวปาเลสไตน์ออกไปนอกกาซา และการใช้วาทกรรมที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเลวร้าย”

“ก่อนที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีคำพิพากษาว่า ได้เกิดการก่ออาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมอื่นๆ ตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ศาลจำเป็นต้องออกคำสั่งเร่งด่วนเพื่อดำเนินการตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิต การทำลายล้าง และความทุกข์ยากของพลเรือนมากกว่านี้ และเป็นการเตือนรัฐอื่นๆ ว่า พวกเขาต้องไม่มีส่วนสนับสนุนการละเมิดและอาชญากรรมที่ร้ายแรงต่อชาวปาเลสไตน์”

 

ข้อมูลพื้นฐาน

การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามนิยามหมายถึงการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กระทำลง “โดยเจตนาจะทำลายทั้งกลุ่มหรือบางส่วนของกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครอง” รวมทั้งกลุ่มชนชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือศาสนา

คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำฟ้องขอของแอฟริกาใต้ ครอบคลุมการเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการกระทำตามข้อ II ของอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมทั้งการ “ฆ่าสมาชิกของกลุ่มที่ได้รับการคุ้มครอง” และ “กระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้กลุ่มมีสภาพชีวิตที่คาดหมายได้ว่า จะก่อความเสื่อมโทรมทางกายทุกส่วนหรือบางส่วน” ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีการเรียกร้องอิสราเอลให้ป้องกันการบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐาน และการปิดกั้นการเข้าถึงอาหาร น้ำ ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และเวชภัณฑ์ที่เพียงพอสำหรับชาวปาเลสไตน์ ตามอนุสัญญานี้ ไม่อนุญาตให้บุคคลใดรวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของรัฐบาล สามารถอ้างภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้

ในคำฟ้องของแอฟริกาใต้ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่อ้างอิงพยานหลักฐานที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรวบรวมครอบคลุมถึงพยานหลักฐานสำคัญของการก่ออาชญากรรมสงคราม และการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างอื่นของกองกำลังอิสราเอล ท่ามกลางการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องในกาซา รวมทั้งการโจมตีโดยตรงต่อพลเรือนและวัตถุของพลเรือน การโจมตีที่ไม่เลือกเป้าหมายและมิชอบด้วยกฎหมายอื่นๆ การบังคับโยกย้ายพลเรือน และการลงโทษแบบเหมารวมต่อประชากรพลเรือน ทั้งยังมีการอ้างอิงงานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่เน้นให้เห็นระบบการครอบงำและกดขี่ของอิสราเอลที่มีต่อชาวปาเลสไตน์ และถือว่าเป็นระบบแบ่งแยกและกดขี่

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังประณามอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นจากกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม รวมทั้งการจับตัวประกันและการจงใจสังหารพลเรือน และการโจมตีด้วยจรวดอย่างไม่เลือกเป้าหมาย 

ทางหน่วยงานได้เรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้มีการสอบสวนการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศโดยคู่กรณีทุกฝ่าย และให้มี การหยุดยิงอย่างต่อเนื่องทันที การปล่อยตัวประกันพลเรือนที่ยังคงถูกกลุ่มติดอาวุธในกาซาจับตัวไว้ การปล่อยชาวปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลควบคุมตัวโดยพลการ และให้อิสราเอลยุติการยึดครองกาซาอย่างผิดกฎหมายและไร้มนุษยธรรม