สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 4-10 พฤศจิกายน 2566

13 พฤศจิกายน 2566

Amnesty International Thailand

 

อิสราเอล-ปาเลสไตน์: มีผู้ลงนามกว่าล้านคนในแคมเปญออนไลน์ของแอมเนสตี้ที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิง เพื่อยุติความทุกข์ทรมานของพลเรือน 

10 พฤศจิกายน  2566 

 

ประชาชนทั่วโลกกว่าหนึ่งล้านคนได้ร่วมกันลงชื่อในจดหมายของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิงทันที เพื่อยุติความขัดแย้งอย่างรุนแรงและอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในกาซาและอิสราเอลตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 

เอริกา เกวารา-โรซาส์ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านงานวิจัย การผลักดันเชิงนโยบาย และการรณรงค์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทั่วโลกต่างได้เห็นความน่ากลัวที่พลเรือนจำนวนมากต้องสูญเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ท่ามกลางการทิ้งระเบิดและปฏิบัติการรบทางบกที่ไม่หยุดหย่อนของอิสราเอล และหายนะด้านมนุษยธรรมที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง ชาวปาเลสไตน์กว่า 10,800 คนถูกสังหารในกาซา รวมทั้งเด็กอย่างน้อย 4,200 คนในช่วงสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนในอิสราเอล ประชาชนอย่างน้อย 1,400 คนถูกสังหาร และกว่า 200 คนรวมทั้งเด็ก 33 คน ถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

“การเพิ่มความเข้มงวดในการปิดล้อมอย่างผิดกฎหมายต่อกาซาของอิสราเอล ส่งผลให้ประชาชน 2 ล้านคนไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่ม อาหาร เวชภัณฑ์ และเชื้อเพลิงได้ ทำให้ระบบสาธารณสุขล่มสลาย ในขณะที่จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 25,000 คน ชาวกาซาอย่างน้อย 1.5 ล้านคนถูกบังคับให้ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากการโจมตี และเนื่องจากคำสั่งของกองทัพอิสราเอลที่บอกให้ประชาชนเคลื่อนย้ายไปสู่ทางใต้ของฉนวนกาซา

“ด้วยความโกรธเคืองต่อการที่พลเรือนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก สมาชิกและผู้สนับสนุนจากทั่วโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ร่วมกันส่งเสียงเรียกร้องให้มีการคุ้มครองพลเรือนทุกคนที่เสี่ยงภัย พวกเขาได้ลงชื่อในแคมเปญออนไลน์ของเราที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้หยุดยิงโดยทันที ประชาชนหลายแสนคนยังคงชุมนุมประท้วงอยู่ทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้มีการหยุดยิง แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นที่รับฟังในประชาคมโลก เนื่องจากคู่สงครามยังคงแสดงความเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อชีวิตของพลเรือน”  

“หนทางเดียวที่จะป้องกันการสูญเสียชีวิตของพลเรือนเพิ่มเติม และเพื่อให้มีการส่งความช่วยเหลือที่จำเป็นต่อชีวิตให้กับผู้ที่มีความต้องการอย่างเร่งด่วนในกาซา คือการที่รัฐต่างๆ ต้องปฏิบัติการทันทีเพื่อเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีของคู่กรณีในความขัดแย้งในฉนวนกาซาที่ถูกยึดครอง การหยุดยิงจะเป็นโอกาสเพื่อให้มีการปล่อยตัวประกัน และเพื่อให้หน่วยงานอิสระระหว่างประเทศสามารถเข้าไปสอบสวนอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาการลอยนวลพ้นผิดที่เกิดขึ้นมายาวนาน สุดท้ายแล้ว ความยุติธรรมและการเยียวยาต่อผู้เสียหายและการทำลายระบบการแบ่งแยกกดขี่ที่ลึกซึ้งของอิสราเอลที่กระทำต่อชาวปาเลสไตน์ เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อยุติวงจรความโหดร้ายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”  

ร่วมการลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิงโดยทันที ได้ที่นี่ https://act.amnesty.or.th/page/138030/petition/1

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1186/

 

-----

รัสเซีย: ทางการต้องเปิดเผยที่อยู่ขอแม็กซิม บุตเควิช ภายหลังถูกบังคับให้สูญหาย

10 พฤศจิกายน  2566 


สืบเนื่องจากการบังคับสูญหายของแม็กซิม บุตเควิช นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวยูเครนและเชลยศึก ซึ่งได้รับการยืนยันที่อยู่ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา

เดนิส คริโวชีฟ รักษาการผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เป็นเวลา 11 สัปดาห์แล้วนับตั้งแต่ทราบที่อยู่ของแม็กซิม บุตเควิชครั้งสุดท้าย จากการพิจารณาคดีปลอม ลักษณะของการตัดสินความผิด และหลักฐานของการปฏิบัติอย่างโหดร้าย ทำให้ครอบครัวของเขาและพวกเราหลายคนมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับชะตากรรมและความเป็นอยู่ของเขา เราเรียกร้องให้ทางการรัสเซียเปิดเผยทันทีว่าเขาอยู่ที่ไหน และอนุญาตให้เขาติดต่อกับครอบครัวและทนายความของเขา

“นี่เป็นเพียงครั้งล่าสุดของการปฏิบัติมิชอบต่อแม็กซิม บุตเควิช นับตั้งแต่เขาถูกจับเป็นเชลยศึกในเดือนมิถุนายน 2565 เขาถูกตัดสินโทษจำคุก 13 ปีโดยการดำเนินคดีลับของศาลสูงสุดในลูฮันสก์ซึ่งถูกรัสเซียยึดครองอยู่ อ้างอิงจากวิดีโอคำสารภาพซึ่งค่อนข้างแน่นอนว่าถูกขู่บังคับ พร้อมกับหลักฐานที่ไม่ชัดเจนอื่นๆ เราเชื่อว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดเป็นการตอบโต้จากทางการรัสเซียสำหรับการเคลื่อนไหวและงานด้านสิทธิมนุษยชนที่โดดเด่นก่อนหน้านี้ของแม็กซิม

“การตัดสิทธิในการพิจารณาคดีตามปกติและเป็นธรรมของเชลยศึกถือเป็นอาชญากรรมสงคราม การบังคับบุคคลให้สูญหายก็เช่นกัน ซึ่งการปฏิบัติต่อเขาในปัจจุบันถือว่าเข้าข่าย ทางการรัสเซียจะต้องยกเลิกคำตัดสินโทษของแม็กซิม บุตเควิช และปล่อยตัวเขาจากการควบคุมตัวของศาลสูงสุดในลูฮันสก์ และหยุดการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและการละเมิดสิทธิของเชลยศึก”

 

อ่านต่อ:

https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/11/russian-federation-authorities-must-disclose-whereabouts-of-maksym-butkevych-following-enforced-disappearance/

 

-----

 

 

ไนจีเรีย: แอมเนสตี้และองค์กรอื่นๆ เรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อของการบังคับให้สูญหายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

3 พฤศจิกายน  2566 

 

สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลไนจีเรียได้รับคำร้องของเราที่ยื่นต่อศาลยุติธรรมของประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายตามที่มีการบันทึกข้อมูลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย 

อีซา ซานูซี ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไนจีเรีย เผยว่า จากการปล่อยให้กองทัพบังคับบุคคลให้สูญหายหลายพันคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และหลังจากนั้นล้มเหลวในการสอบสวนและดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบอย่างจริงใจและมีประสิทธิภาพ รัฐบาลไนจีเรียได้ละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค และสร้างความผิดหวังให้กับเหยื่อ

“ศาลของ ECOWAS เป็นหนึ่งในไม่กี่ช่องทางที่เหลืออยู่สำหรับความรับผิดชอบและความยุติธรรมสำหรับเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรียและครอบครัวของพวกเขา ซึ่งสมควรได้ทราบชะตากรรมและที่อยู่ของผู้เป็นที่รัก ศาลของ ECOWAS สามารถช่วยให้เกิดความยุติธรรมได้โดยประกาศอย่างชัดเจนว่าความล้มเหลวของทางการไนจีเรียในการสอบสวนและดำเนินคดีอย่างเหมาะสมถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

“เรายินดีที่รัฐบาลไนจีเรียได้รับคำร้องของเรา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่ากรณีนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และเหยื่อจะได้โอกาสร้องเรียนในศาล แต่นี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น เราขอเรียกร้องให้ทางการไนจีเรียร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับศาลในการดำเนินคดี เพื่อดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพในทุกกรณีของการบังคับบุคคลให้สูญหายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย และหากมีหลักฐานที่ยอมรับได้ ให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนรับผิดชอบทางอาญาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการหายสาบสูญ”

 

อ่านต่อ: 

https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/11/nigeria-amnesty-international-and-others-demand-justice-for-victims-of-enforced-disappearances-in-northeast/

 

-----



โลก: การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเพิ่มขึ้นสองเท่าจากระดับที่จำเป็นในการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5°C

8 พฤศจิกายน 2566 

 

สืบเนื่องจากรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าของขีดจำกัดที่จำเป็นในการรักษาภาวะโลกร้อนภายในเป้าหมาย ซึ่งนานาประเทศตกลงไว้ให้สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมที่ 1.5°C ในศตวรรษนี้ แคนดี โอไฟม์ นักวิจัยด้านความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า:

“ในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP28 เราเห็นประเทศผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นนำ แสวงหาผลกำไร บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ แทนที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีและพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้ข้อตกลงปารีส สิ่งนี้จะต้องได้รับการแก้ไขในการประชุม COP28 โดยฝ่ายต่างๆ ที่จะตกลงยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดอย่างเร่งด่วนและเท่าเทียม

“ตามที่รายงานระบุ การผลิตและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่สอดคล้องกับอนาคตที่ปลอดภัยและน่าอยู่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสิทธิในชีวิต สุขภาพ อาหาร น้ำ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืนของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต ชุมชนชายขอบและชนพื้นเมืองกำลังเผชิญกับอันตรายจากสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และจะยิ่งเลวร้ายด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น

การเพิ่มขึ้นของการผลิตถ่านหินทั่วโลกจนถึงปี 2573 และการผลิตน้ำมันและก๊าซทั่วโลกจนถึงปี 2593 เป็นอย่างน้อย ทำให้เราอยู่บนเส้นทางสู่ความปั่นป่วนของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

แคนดี โอไฟม์ นักวิจัยด้านความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ปี 2023 คาดว่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่รัฐบาลต่างๆ ยังคงเร่งให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายอย่างรวดเร็วโดยขาดความรับผิดชอบ การเพิ่มขึ้นของการผลิตถ่านหินทั่วโลกจนถึงปี 2573 และการผลิตน้ำมันและก๊าซทั่วโลกจนถึงปี 2593 เป็นอย่างน้อย ทำให้เราอยู่บนเส้นทางสู่ความปั่นป่วนของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

“สิ่งนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศต่างๆ จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในตอนนี้เพื่อยุติการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด รวมถึงการยุติการอุดหนุน หยุดการขยายโครงการใหม่ทั้งหมด และเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่ยุติธรรมและเท่าเทียม ประเทศต่างๆ ที่รับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตมากที่สุด รวมถึงประเทศต่างๆ ที่ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีรายได้สูง จะต้องดำเนินการต่อไปและเร็วขึ้น และให้ความช่วยเหลืออย่างเพียงพอแก่ประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในเศรษฐกิจ”

 

อ่านต่อ: 

https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/11/global-fossil-fuel-production-will-be-double-the-level-needed-to-limit-global-warming-to-1-5c/


-----

 

ปากีสถาน: ต้องหยุดการควบคุมตัวและส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถาน

8 พฤศจิกายน 2566 

 

รัฐบาลปากีสถานต้องยุติการควบคุมตัว การส่งกลับ และการคุกคามต่อผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางโดยทันที แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566

“ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานหลายพันคนถูกใช้เป็นเบี้ยทางการเมืองเพื่อส่งกลับไปยังอัฟกานิสถานที่ปกครองโดยกลุ่มตาลีบัน ซึ่งชีวิตและร่างกายของพวกเขาอาจตกอยู่ในความเสี่ยงท่ามกลางการปราบปรามสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงและภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมที่ดำเนินอยู่ ไม่ควรมีใครถูกบังคับส่งกลับ และปากีสถานควรระลึกถึงพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของตน รวมถึงหลักการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังดินแดนหรือถิ่นที่ชีวิตและเสรีภาพของพวกเขาจะถูกคุกคาม” ลิเวีย ซัคคาร์ดี รองผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

“หากรัฐบาลปากีสถานไม่ยุติการส่งกลับในทันที จะเป็นการปฏิเสธชาวอัฟกานิสถานที่มีความเสี่ยงหลายพันคน โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ไม่ให้เข้าถึงความปลอดภัย การศึกษา และการดำรงชีพ”

ตามข้อมูลของรัฐบาล ชาวอัฟกานิสถานมากกว่า 170,000 คน ซึ่งหลายคนอาศัยอยู่ในปากีสถานมานานหลายสิบปี ต้องเดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน เนื่องจากรัฐบาลยื่นคำขาดให้ ‘ชาวต่างชาติที่ไม่ได้ลงทะเบียน’ ทั้งหมดออกจากปากีสถาน นับตั้งแต่เส้นตายที่กำหนดโดยรัฐบาลปากีสถานในวันที่ 1 พฤศจิกายนสิ้นสุดลง ตำรวจได้เปลี่ยนจากการดำเนินคดีภายใต้กฎหมาย Foreigners Act ปี 1946 ซึ่งกำหนดให้การเข้าในประเทศปากีสถานอย่างผิดกฎหมายถือเป็นความผิดทางอาญา ไปเป็นการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยที่ถือว่า 'ผิดกฎหมาย' โดยตรงที่ศูนย์ส่งกลับ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดความโปร่งใส กระบวนการอันควรตามกฎหมาย และความรับผิดชอบในการควบคุมตัวและส่งกลับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเลวร้ายมากขึ้นจากเหตุการณ์การคุกคามและความเป็นปรปักษ์ต่อผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานในปากีสถานที่เพิ่มขึ้น

 

อ่านต่อ:

https://www.amnesty.org/en/latest/news/2023/11/pakistan-halt-mass-detentions-and-deportations-of-afghan-refugees/