แอมเนสตี้และภาคประชาสังคมพบเคลมองต์ วูเล ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ

1 พฤศจิกายน 2566

Amnesty International Thailand

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนสถานการณ์การชุมนุมและการรวมกลุ่มโดยสงบในประเทศไทย โดยมีภาคประชาสังคมกว่า 23 องค์กรเข้าร่วมและได้พูดคุยกับเคลมองต์ วูเล ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติขององค์การสหประชาชาติ (UN Special Rapporteur on the Rights to Freedom of Peaceful Assembly and of Association) เพื่อรับฟังสถานการณ์และข้อเสนอแนะเรื่องการชุมนุมในประเทศไทย

 

ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นคืออะไร

สำหรับเคลมองต์ วูเล เป็นชาวโตโก ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง "ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ" (Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association) มาตั้งแต่ปี 2561

บีบีซีไทยระบุว่า ในเว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า ตำแหน่งนี้มีหน้าที่ดังนี้

• รวบรวมและแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มและประเด็นปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการชุมนุมและรวมตัวโดยสงบ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และในระดับโลก

• ให้คำแนะนำถึงวิธีการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเหล่านี้

• รายงานการละเมิด รวมถึงการเลือกปฏิบัติ การข่มขู่ หรือการใช้ความรุนแรง การคุกคาม การข่มเหง การสร้างความหวาดกลัว หรือการแก้แค้นโดยตรงต่อบุคคลที่ใช้สิทธิเหล่านี้

สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน อีกทั้งเป็นสิทธิที่พึงได้รับและสามารถใช้ได้โดยบุคคลและกลุ่ม การคุ้มครองเสรีภาพที่จะชุมนุมโดยสงบ เช่น การอำนวยความสะดวกให้บุคคลเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ประกันให้บุคคลในสังคมมีโอกาสแสดงความเห็นที่สอดคล้องกับบุคคลอื่น ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในเชิงกระบวนการ ซึ่งนำไปสู่การสานเสวนาในภาคประชาสังคม และระหว่างภาคประชาสังคมกับผู้นำทางการเมืองและรัฐบาล

ประเด็นนี้ถูกรับรองอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 20 ที่กำหนดว่า  "ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ" นอกจากนั้นตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights- ICCPR) สิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้รับการรับรองและคุ้มครองตามข้อ 21 ที่ว่า “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

ในแคมเปญหลัก Protect the Protest (ปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วง) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกำลังทำงานเพื่อเปิดเผยสถานการณ์สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงที่ถูกละเมิดและสนับสนุนการเคลื่อนไหวทั่วโลก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก การรณรงค์นี้ก็ได้เรียกร้องไปถึงให้รัฐบาลทั่วโลกว่า ผู้ชุมนุมประท้วงควรได้รับการคุ้มครอง และต้องขจัดอุปสรรคและข้อจำกัดที่ไม่จำเป็นในการชุมนุมประท้วงโดยสงบด้วย