สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2566

4 กันยายน 2566

Amnesty International Thailand

 

จีน: วันครบรอบรายงานซินเจียงของสหประชาชาติต้องเป็น "สัญญาณเตือน" ให้เร่งดำเนินการ

31 สิงหาคม 2566

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยเนื่องในวาระครบรอบหนึ่งปีของรายงานเกี่ยวกับซินเจียงของสหประชาชาติว่า ถือเป็นเครื่องเตือนใจที่สำคัญถึงความจำเป็นในการทำให้จีนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ท่ามกลางการตอบสนองของประชาคมระหว่างประเทศที่ “ไม่เพียงพออย่างยิ่ง”

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เปิดเผยการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ที่รอคอยมายาวนาน โดยพบว่าการละเมิดต่อชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโดยรัฐบาลจีน ซึ่งรวมถึงการทรมานและการจำคุกจำนวนมากในค่ายกักกัน “อาจถือเป็น… อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

ซาราห์ บรูคส์ รองผู้อำนวยการระดับภูมิภาค ฝ่ายกิจการเกี่ยวกับประเทศจีน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า แทนที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วนกับการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงในประเทศจีนตามที่พบในรายงาน ประชาคมระหว่างประเทศ รวมถึงองค์ประกอบสำคัญของสหประชาชาติเอง กลับหลีกเลี่ยงจากขั้นตอนที่เด็ดขาดซึ่งจำเป็นในการก้าวไปสู่ความยุติธรรม ความจริง และการเยียวยาให้กับผู้เสียหายหรือเหยื่อ

“เราต้องการให้เจ้าหน้าที่ระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ข้าหลวงใหญ่ ใช้ทุกวิถีทางที่มีทั้งสาธารณะและส่วนตัวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายในนโยบายการปราบปรามของจีน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการเจรจาที่ตรงไปตรงมาและมีหลักฐานเชิงประจักษ์กับทางการเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

“วันครบรอบหนึ่งปีของรายงานของ OHCHR จะต้องเป็นการเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศเร่งดำเนินการ ความจำเป็นที่ประเทศต่างๆ จะต้องจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศที่เป็นอิสระผ่านคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เพื่อการสอบสวนอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ ในซินเจียงผ่านทางสภาสิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่องเร่งด่วนมากกว่าที่เคย ครอบครัวของผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการ ถูกบังคับให้สูญหาย หรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม ต้องการและสมควรได้รับคำตอบและความรับผิดชอบ ไม่ใช่ความล่าช้าและการประนีประนอม”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/45RQt3f

 

-----

 

 

“รวมเวลาแห่งการรอคอยและการรณรงค์กว่าหนึ่งล้านปี”: ครอบครัวของผู้สูญหายจัดงานวันผู้สูญหายสากลในเบรุต

30  สิงหาคม 2566

 

ผู้แทนครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายในอิรัก เลบานอน ซีเรีย และเยเมนรวมตัวกันที่เบรุตเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของตนคุ้มครองสิทธิในความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยาในระหว่างงานวันที่ระลึกถึงเหยื่อของการถูกบังคับสูญหายสากลที่จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ทั่วตะวันออกกลาง ทั้งหน่วยงานของรัฐและผู้มีบทบาทที่ไม่ใช่รัฐ เช่น กลุ่มต่อต้านที่ติดอาวุธ ลักพาตัวและทำให้ผู้คนหายสาบสูญเพื่อทำลายผู้เห็นต่าง รักษาอำนาจของพวกเขา และเผยแพร่ความหวาดกลัวภายในสังคม โดยส่วนใหญ่ไม่ต้องรับผิด

แม้ว่ารัฐบาลส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังไม่ได้สอบสวนการหายสาบสูญหรือระบุจำนวนที่ถูกต้องของผู้สูญหายหรือหายสาบสูญ แต่องค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานของสหประชาชาติได้เผยแพร่ตัวเลขโดยประมาณของผู้ที่ถูกลักพาตัวและหายสาบสูญในแต่ละประเทศ ตัวเลขเหล่านี้ในอิรัก เลบานอน ซีเรีย และเยเมน เมื่อคูณด้วยการประมาณจำนวนปีอย่างต่ำที่บุคคลเหล่านี้หายไป ชี้ให้เห็นว่าครอบครัวต่างๆ ใช้เวลารวมกันมากกว่าหนึ่งล้านปีในการรอคอยคำตอบ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่น่าเจ็บปวดมาก

อายา มัจซูบ รองผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เมื่อเผชิญกับการเพิกเฉยและการสมรู้ร่วมคิดของรัฐบาลในอาชญากรรมการบังคับบุคคลให้สูญหาย ปีแล้วปีเล่าที่ครอบครัวของผู้สูญหายทั่วตะวันออกกลางเป็นผู้นำในการเรียกร้องสิทธิของพวกเขาที่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนที่พวกเขารักและเพื่อให้ได้รับความยุติธรรมและการเยียวยา ซึ่งมักจะทำให้พวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง

“วันนี้เราขอยกย่องการยืนหยัดของพวกเขา และเพิ่มเสียงของเราในการเรียกร้องให้ทางการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อสอบสวนอาชญากรรมเหล่านี้ นำผู้ต้องสงสัยที่กระทำความผิดอาญามารับผิดชอบ และประกันว่าอาชญากรรมเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3Pn7hd8

 

-----

 

 

โลก: รัฐต้องปกป้องสิทธิเด็กจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม – คณะกรรมการสหประชาชาติ

23  สิงหาคม 2566

 

สืบเนื่องจากแนวทางที่ออกโดยคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ซึ่งได้สรุปว่าประเทศต่างๆ จะต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อจัดการกับความเสียหายและภัยคุกคามต่อสิทธิเด็กจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

แอน แฮร์ริสัน ที่ปรึกษาด้านสภาพภูมิอากาศของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า เด็กๆ เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก แต่พวกเขามีส่วนรับผิดชอบน้อยที่สุดในวิกฤตโลกครั้งนี้ ซึ่งกำลังคุกคามสิทธิของพวกเขา

“แนวทางใหม่ของคณะกรรมการสหประชาชาติเน้นย้ำว่าเด็กมีสิทธิในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน รวมทั้งสิทธิที่จะมีชีวิต การอยู่รอด และการพัฒนา มาตรฐานด้านสุขภาพสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ และการศึกษา

“นี่เป็นคำแนะนำที่สำคัญทางกฎหมายซึ่งกำหนดหน้าที่ของประเทศต่างๆ ในการดำเนินการภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก เพื่อประกันว่าสิทธิของเด็ก รวมถึงเด็กชนเผ่าพื้นเมือง จะได้รับการปกป้องจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพวกเขาจะได้รับการเยียวยาสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว

“นอกจากนี้ยังตอกย้ำข้อกำหนดของรัฐในการดำเนินมาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อปกป้องสิทธิของเด็กจากอันตรายที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือกิจกรรมอื่นๆ ของภาคธุรกิจ

“เด็กๆ มักจะพบกับความยากลำบากในการทำให้คนอื่นรับฟัง การมีส่วนร่วมในแนวทางของคณะกรรมการสหประชาชาติเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเคลื่อนไหวของเด็กเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และหน้าที่ของรัฐในการเคารพและปกป้องสิทธิของเด็กในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นด้วยกับข้อสรุปของคณะกรรมการสหประชาชาติว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนและร่วมกันสำหรับประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งในอดีตเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุด ในการตอบสนองพันธกิจด้านเงินทุนสำหรับปัญหาสภาพภูมิอากาศเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบเพิ่มเติมต่อสิทธิของเด็กในประเทศที่มีรายได้น้อยและที่อื่นๆ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3Z0yBB4

 

----- 

 

ยูเครน/รัสเซีย: หนังสือเรียนประวัติศาสตร์เล่มใหม่เป็นการพยายามปลูกฝังอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายสำหรับเด็กนักเรียนในรัสเซียและดินแดนยูเครนที่รัสเซียยึดครอง

1 กันยายน 2566

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมาว่า หนังสือเรียนประวัติศาสตร์เล่มใหม่และสิ่งอื่นๆ ให้เหตุผลในการทำสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซียว่าเป็นการป้องกันตนเองที่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดสิทธิของเด็กในการศึกษาที่เหมาะสมและมีคุณภาพ ถือเป็นความพยายามที่อันตรายในการปลูกฝังคนรุ่นต่อไป

หนังสือเรียนเล่มนี้เต็มไปด้วยข้อความโฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นทางการของรัสเซียและพยายามแก้ตัวให้กับการกระทำผิดกฎหมายของรัสเซีย ตั้งแต่การผนวกไครเมียในปี 2557 ไปจนถึงการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2565 ซึ่งจะเป็นภาคบังคับของหลักสูตรสำหรับเด็กมัธยมปลายทั่วรัสเซีย และดินแดนยูเครนที่รัสเซียยึดครอง ซึ่งเปิดเรียนในวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา

แอนนา ไรต์ นักวิจัยประจำยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า หนังสือเรียนเล่มนี้ปกปิดความจริงและบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงและอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่กองกำลังรัสเซียกระทำต่อชาวยูเครน

“การปลูกฝังเด็กในช่วงที่เปราะบางของพัฒนาการเป็นความพยายามที่ชั่วร้ายในการกำจัดวัฒนธรรม มรดก และอัตลักษณ์ของยูเครน และยังถือเป็นการละเมิดสิทธิในการศึกษาด้วย”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3YYbK9t

 

----- 

 

ยูกันดา: ทางการต้องยกเลิกข้อกล่าวหาในคดีโทษประหารชีวิตภายใต้กฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกัน

24 สิงหาคม 2566

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 เรียกร้องให้

สำนักงานผู้อำนวยการอัยการ (DPP) ในยูกันดาต้องยกเลิกข้อกล่าวหา “รักเพศเดียวกันขั้นร้ายแรง” ของชายอายุ 20 ปีโดยเร่งด่วน ซึ่งมีการตั้งข้อหาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เคสนี้กลายเป็นชาวยูกันดาคนที่สองที่ถูกตั้งข้อหาความผิดภายใต้กฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว และมีโทษประหารชีวิต

ไทเกอ ชากูทาห์ ผู้อำนวยการภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่ทางการยูกันดากำลังดำเนินคดีกับผู้คนจากรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่เป็นจริงหรือรับรู้มา การเลือกปฏิบัติและการประหัตประหารผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศจะต้องยุติลง

“การตั้งข้อหาบุคคลนี้ด้วยความผิดที่มีโทษประหารชีวิตจากรสนิยมทางเพศที่รับรู้มาเพียงอย่างเดียวถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน ยูกันดาไม่เพียงแต่ต้องยกเลิกกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันเท่านั้น แต่ยังต้องประกันให้เกิดความรับผิดชอบสำหรับการละเมิดชุมชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศอย่างต่อเนื่อง”

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านการตรวจทวารหนักเพื่อตัดสินว่าใครมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่ทุกรูปแบบ การตรวจสอบดังกล่าวละเมิดข้อห้ามการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3qTidWD