สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 7-13 ตุลาคม 2566

17 ตุลาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

อิสราเอล-ปาเลสไตน์ : อิสราเอลต้องยกเลิกการปิดกั้นที่ผิดกฎหมายและไร้มนุษยธรรมต่อฉนวนกาซา ในขณะที่โรงผลิตไฟฟ้าไม่มีเชื้อเพลิงปั่นไฟแล้ว

12 ตุลาคม 2566

 

การหยุดเดินเครื่องของโรงผลิตไฟฟ้าเพียงแห่งเดียวในฉนวนกาซา จะยิ่งทำให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายอยู่แล้วแย่ลงไปอีก สำหรับประชากรกว่า 2.2 ล้านคนที่ติดอยู่ในฉนวนกาซา ท่ามกลางการทิ้งระเบิดอจำนวนมากในหลายพื้นที่จากอิสราเอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตตอนนี้อย่างน้อย 1,350 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 6,000 คน

การโจมตีทางอากาศที่เกิดขึ้น  เป็นการตอบโต้ต่อการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมของกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อื่น ๆ จากฉนวนกาซา ซึ่งได้ยิงจรวดโดยไม่เลือกเป้าหมาย และส่งกองกำลังเข้าไปในตอนใต้ของอิสราเอล เพื่อสังหารประชาชนกว่า 1,200 คน และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 2,700 คน รวมทั้งการจับตัวประกันซึ่งหลายคนเป็นพลเรือน

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทางการอิสราเอลต้องคืนไฟฟ้าให้กับฉนวนกาซาทันที และระงับมาตรการจำกัดใด ๆ ที่ประกาศใช้ตามคำสั่งของรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 และต้องยุติการปิดกั้นฉนวนการซาอย่างผิดกฎหมายในช่วงนเวลา 16 ปีที่ผ่านมา การลงโทษแบบเหมารวมต่อประชากรพลเรือนในฉนวนกาซา ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม เป็นสิ่งที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ในฐานะผู้ยึดครองประเทศ อิสราเอลมีพันธกรณีที่ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ต้องประกันให้มีการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของประชากรพลเรือนในฉนวนกาซา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้อิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ใช้ความระมัดระวังที่เป็นไปได้ทั้งปวง เพื่อคุ้มครองพลเรือน สอดคล้องตามพันธกรณีของพวกเขาที่มีต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ


อ่านต่อ: https://bit.ly/3tHMQ23

 

-----

 

 

อิสราเอล-ปาเลสไตน์ : พลเรือนทั้งสองฝั่งต่างได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่ตึงเครียดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนระหว่างอิสราเอลและกาซา ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

7 ตุลาคม 2566


ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอีกครั้งอันเป็นผลมาจากการยิงจรวดของกลุ่มฮามาสเพื่อโจมตีอิสราเอล และปฏิบัติการโจมตีด้วยกองกำลังอย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในภาคใต้ของอิสราเอล

ในขณะที่จำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้กองกำลังอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ต้องดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อคุ้มครองชีวิตของพลเรือน ท่ามกลางการขยายตัวของการสู้รบในปัจจุบันในประเทศอิสราเอลและดินแดนของปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เราตกใจอย่างยิ่งกับยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นพลเรือนซึ่งเพิ่มขึ้นในกาซา อิสราเอล และเขตเวสก์แบงก์ที่ถูกยึดครอง และเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้คู่กรณีในความขัดแย้งครั้งนี้ ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการสูญเสียเลือดเนื้อของพลเรือนมากขึ้นอีก ตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คู่กรณีทุกฝ่ายในความขัดแย้งต่างมีพันธกรณีอย่างชัดเจน ที่จะต้องคุ้มครองชีวิตของพลเรือนที่ติดอยู่ในความขัดแย้ง

“การโจมตีพลเรือนอย่างจงใจ การโจมตีอย่างไม่ได้สัดส่วน และการโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมาย อันเป็นเหตุให้พลเรือนเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ย่อมถือเป็นอาชญากรรมสงคราม อิสราเอลเคยมีประวัติที่โหดร้ายของการก่ออาชญากรรมสงครามโดยไม่ต้องรับผิดในสงครามหลายครั้งที่ผ่านมาในกาซา กลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์จากกาซาก็ต้องงดเว้นจากการพุ่งเป้าโจมตีพลเรือน และการใช้อาวุธโดยไม่เลือกเป้าหมายแบบที่พวกเขาเคยทำในอดีต และรุนแรงมากสุดในเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งเป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3S5xQVZ

 

----- 

 

 

ซาอุดีอาระเบีย: แรงงานข้ามชาติในคลังสินค้าของอเมซอนถูกหลอกลวงและเอารัดเอาเปรียบ

10 ตุลาคม 2566


ลูกจ้างชั่วคราวในคลังสินค้าของอเมซอนในซาอุดีอาระเบียถูกตัวแทนจัดหางานและบริษัทจัดหาแรงงานหลอกลวง โกงรายได้ อาศัยอยู่ในสภาพที่เลวร้าย และขัดขวางไม่ให้หางานอื่นหรือเดินทางออกนอกประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันที่ 10 ตุลาคม 2566

รายงานฉบับใหม่ Don’t worry, it’s a branch of Amazon แสดงให้เห็นว่าอเมซอนล้มเหลวในการป้องกันลูกจ้างชั่วคราวในซาอุดีอาระเบียจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แม้ว่าจะได้รับการร้องเรียนโดยตรงจากลูกจ้างเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อพวกเขามาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม ในหลายกรณี เมื่อพิจารณาถึงการหลอกลวงที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดหางาน และการเอารัดเอาเปรียบระหว่างการทำงาน มีความเป็นไปได้สูงที่การละเมิดสิทธินั้นอาจถึงขั้นเป็นการค้ามนุษย์

“พวกลูกจ้างคิดว่ากำลังคว้าโอกาสทองจากอเมซอน แต่กลับถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งหลายคนได้รับผลกระทบทางจิตใจ เราคาดว่ายังมีอีกหลายร้อยคนที่ถูกปฏิบัติอย่างเลวร้ายในลักษณะที่คล้ายกันนี้ หลายคนที่เราสัมภาษณ์ถูกละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรงมากจนอาจถึงขั้นเป็นการค้ามนุษย์เพื่อแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน” สตีฟ คอคเบิร์น หัวหน้าฝ่ายความยุติธรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว

“อเมซอนควรป้องกันและยุติความเลวร้ายนี้ได้ตั้งนานแล้ว แต่กระบวนการต่างๆ กลับล้มเหลวในการป้องกันลูกจ้างชั่วคราวในซาอุดีอาระเบียเหล่านี้จากการละเมิดที่น่าตกใจ อเมซอนควรชดเชยอย่างเร่งด่วนให้กับทุกคนที่ได้รับความเสียหาย และประกันว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก

“รัฐบาลซาอุดีอาระเบียก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบอย่างมากเช่นกัน โดยต้องสอบสวนการละเมิดเหล่านี้อย่างเร่งด่วนและปฏิรูประบบแรงงานเพื่อประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงาน รวมถึงสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้อย่างอิสระและเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่มีเงื่อนไข”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3ttUL2W

 

----- 

 

โลก: การค้าอุปกรณ์บังคับใช้กฎหมายอย่างอิสระกระตุ้นความรุนแรงในการชุมนุม – การสืบสวนครั้งใหม่

4 ตุลาคม 2566

 

บริษัทที่ขายอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำให้กับประเทศที่นำไปใช้ปราบปรามการชุมนุม และรัฐที่ออกใบอนุญาตการส่งออกเหล่านี้ กำลังกระตุ้นให้เกิดวิกฤตสิทธิมนุษยชนทั่วโลก และต้องหยุดการค้าที่ขาดความรับผิดชอบนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในการสืบสวนครั้งใหม่ที่เผยแพร่ในวันที่ 4 ตุลาคม 2566

The Repression Trade: Investigating the Transfer of Weapons Used to Crush Dissent ระบุ 23 ผู้ผลิตรายใหญ่ของอุปกรณ์ที่มีความร้ายแรงต่ำและกระสุนล่าสัตว์ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายในการชุมนุมใน 25 ประเทศทั่วโลก อาวุธ เช่น แก๊สน้ำตา กระสุนยาง กระบอง และระเบิดแสง ถูกใช้เป็นประจำในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ต่อผู้ชุมนุมและผู้ถูกควบคุมตัวทั่วโลก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลใช้เทคนิคโอเพนซอร์ส การวิเคราะห์อาวุธ และข้อมูลการค้าเพื่อแสดงให้เห็นว่าการขาดความโปร่งใสและระเบียบของรัฐในการค้าอุปกรณ์บังคับใช้กฎหมายจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

แพทริก วิลเคน นักวิจัยด้านการทหาร ความมั่นคงและการควบคุมมวลชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อข่มขู่และลงโทษผู้ชุมนุม ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่ควรหลีกเลี่ยงได้หลายพันรายทั่วโลก

“บริษัทบางแห่งมีการส่งออกอาวุธเป็นประจำไปยังประเทศที่มีรายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่น่าตกใจ แม้ว่าจะมีรายงานว่ามีการใช้อุปกรณ์นี้อย่างมิชอบก็ตาม การขาดระเบียบของรัฐสำหรับการค้าประเภทนี้ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและบ่อนทำลายสิทธิในการชุมนุมโดยสงบทั่วโลก

“บริษัทที่ผลิตอาวุธเหล่านี้ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการยุติการค้าอุปกรณ์บังคับใช้กฎหมายที่ขาดความรับผิดชอบของตน ถึงเวลาแล้วที่บริษัทเหล่านี้จะต้องเคารพสิทธิมนุษยชนทั้งหมดอย่างเต็มที่ในทุกที่ที่พวกเขาดำเนินกิจการ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/46Wnhc9

 

----- 

 

อัฟกานิสถาน: จำเป็นต้องมีการดำเนินการเร่งด่วนหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

9 ตุลาคม 2566

 

สืบเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเฮราตทางตะวันตกของอัฟกานิสถานในช่วงสุดสัปดาห์ ซามาน สุลตานิ นักวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า:

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวที่สูญเสียผู้เป็นที่รักในเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้กลุ่มตาลีบันซึ่งเป็นรัฐบาลโดยพฤตินัยดูแลความต้องการสิ่งจำเป็นเร่งด่วนของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และประกันว่าจะดำเนินการกู้ภัยและบรรเทาทุกข์โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และในลักษณะที่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยจำเป็นอย่างยิ่งที่ความช่วยเหลือทั้งหมดจะต้องตอบสนองความต้องการของกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด ซึ่งมักเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนในสถานการณ์วิกฤติ ได้แก่ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

“ผู้คนในอัฟกานิสถานได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงและความขัดแย้งที่ยาวนานหลายปีอยู่แล้ว ในฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลโดยพฤตินัยและประชาคมระหว่างประเทศระดมทรัพยากรโดยทันทีเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงที่อยู่อาศัย อาหารที่เพียงพอ น้ำดื่ม สุขอนามัยที่ปลอดภัย และการดูแลสุขภาพในขณะที่หลายพันครอบครัวเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนเมื่อบ้านของพวกเขาถูกทำลายจากแผ่นดินไหว รัฐบาลโดยพฤตินัยยังต้องประกันให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมเข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างปลอดภัยและไม่มีข้อจำกัด”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/46WnVXb