'แอมเนสตี้-ศูนย์ทนาย' เผยดำเนินคดีของเด็กและเยาวชน 3 ปี สร้าง 7 ผลกระทบ แนะ 6 ข้อ ก.ยุติธรรม

21 พฤศจิกายน 2566

Amnesty International Thailand

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 3 ปี การดำเนินคดีของเด็กและเยาวชนจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุม สร้างผลกระทบจำนวนมากต่อเด็ก 7 ประเด็น พร้อมทั้งออก 6 ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงยุติธรรม

20 พ.ย.2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกรายงานสถานการณ์การดำเนินคดีของเด็กและเยาวชนจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุม ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2563 สร้างผลกระทบจำนวนมากต่อเด็ก 7 ประเด็น คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทางการศึกษา ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวและโรงเรียน กระบวนการตรวจสอบการจับและภาระในการร้องเรียนกรณีได้รับบาดเจ็บ ทางด้านจิตใจ ถูกทำให้เป็นอาชญากรรม และการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมประท้วง อายุ 15 ปี

พร้อมทั้งออก 6 ข้อเสนอแนะต่อกระทรวงยุติธรรม คือ 1 คุ้มครองเด็กที่แสดงออกซึ่งสิทธิของพวกเขาในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้เด็กได้ใช้สิทธิของพวกเขาอย่างเต็มที่เพื่อสร้างพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกทางความคิดเห็นและมีส่วนร่วมการในการพัฒนาประเทศ ในมาตรา 43 ตามรัฐธรรมนูญ 2560  2. ร่วมมือในการกำหนดมาตรการถาวรในการป้องกันการกลั่นแกล้ง การลงโทษเด็กด้วยวิธีที่โหดร้ายรวมถึงการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวของเด็ก พร้อมทั้งจัดให้มีกลไกการร้องเรียนที่โปร่งใสเเละเข้าถึงได้ โดยอาจใช้กลไกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ด้วย

3. จัดให้มีการอบรมและระเบียบการที่เหมาะสมให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ทำงานกับผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กโดยให้สอดรับกับมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 4. จัดให้มีการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กที่เป็นผู้เสียหายจากการใช้กำลังที่มิชอบด้วยกฎหมายหรือการคุกคาม การข่มขู่ และการสอดแนม ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย 5. ประสานงานและร่วมหารือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในการทบทวนการดำเนินคดีกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งหมด ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายข้างต้นและกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง และดำเนินมาตรการเฉพาะในการยุติการดำเนินคดีกับเด็กกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะเด็กที่ถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานตามมาตรา 112 เเละมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นต้น และ 6 สืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ผู้ใช้บังคับกฎหมายที่ต้องรับผิดเรื่องการใช้กาลังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการคุกคาม การข่มขู่ และการสอดแนมผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กโดยผิดกฎหมาย ตามมาตรฐานสากลด้านการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

โดยมีรายละเอียดดังนี้

สถานการณ์การดำเนินคดีของเด็กและเยาวชนจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุม โดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

นับตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2566 ทาง Mob Data Thailand ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้บันทึกว่ามีจำนวนการชุมนุมอย่างน้อย 949 ครั้ง การชุมนุมในช่วงเวลาที่ผ่านมามีความหลากหลายในเชิงประเด็นที่ผู้เข้าร่วมเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิด้านการศึกษา ความปลอดภัยและสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนสิทธิทางการเมือง และ สิทธิกลุ่มชาติพันธ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 

 

 

ทั้งนี้การดำเนินคดีต่อคนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบ รวมถึงเด็ก ก็มีจำนวนมากควบคู่ไปด้วยกัน จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 10 พฤศจิกายน 2566 มีจำนวนประชาชน 1,902 คน ถูกดำเนินคดีใน 1,203 คดี ในจำนวนนี้รวมถึงเด็กอย่างน้อย 286 ราย ใน 216 คดี  ในการดำเนินคดีต่อเด็ก ข้อหาหลักที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดี ดังนี้ 

  1. ข้อหากล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ อย่างน้อย 241 คน ใน 157 คดี
    1. ข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ร้ายแรง อย่างน้อย 4 คน ใน 2 คดี
  2. ข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 20 คน ใน 23 คดีข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อย่างน้อย 3 คน ใน 3 คดี
    1. ในจำนวนนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีควบคู่กับข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อย่างน้อย 9 คน ใน 9 คดี 
    2. ปัจจุบัน มีเด็กถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจฯ 2 รายจากมาตรา 112 
  3. ข้อกล่าวหาตาม พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 อย่างน้อย 8 คน ใน 4 คดี

ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ถูกประกาศยกเลิก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 แต่การพิจารณาคดีในข้อหาดังกล่าวยังดำเนินต่อไป นอกจากนี้ เมื่อเกิดปรากฏการณ์การชุมนุมไร้แกนนำบริเวณแยกดินแดง ในช่วงสิงหาคมถึงตุลาคม 2564 เพื่อส่งเสียงตามข้อเรียกร้องของเด็ก โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงเกิดการรวมตัวกันทุกเย็นตรงแยกดินแดง สลับกับภาพการจำกัดและปราบปรามการชุมนุม ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ การปะทะของเจ้าหน้าที่กับเด็กที่ดินแดง ตามมาด้วยข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ถึงการจับกุมและการควบคุมตัวในที่เกิดเหตุและตามจับหลังเกิดเหตุเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกคืนในช่วง 3 เดือน ซึ่งเด็กอายุ 15-18 ปี ถูกจับกุมอย่างน้อย 56 ราย และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อยถึง 13 ราย  อีกทั้งการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังส่งผลให้ มีเด็กได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมนับได้เฉพาะช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2564 เป็นเด็กอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 176 ราย และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อยถึง 46 ราย ในช่วงดังกล่าว

 

 

นอกเหนือจากนี้ เด็กหลายคนตกเป็นเหยื่อของการถูกติดตาม คุกคามและสอดแนม จากการติดตามสถานการณ์และเก็บบันทึกข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 68 คน ถูกติดตามสอดส่อง หว่านล้อม ข่มขู่จะดำเนินคดีหากเข้าร่วมการชุมนุม อีกทั้งยังถูกคุกคามในรูปแบบการกดดันผู้ปกครองและการเยี่ยมบ้านโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง งานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า หลายครอบครัวที่ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐใช้ความรุนแรงกับลูกที่เข้าร่วมการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการตบตี การริบเงินค่าใช้จ่าย เด็กและเยาวชนบางคนเกิดปัญหาสุขภาพจิตและต้องออกจากบ้าน (ไม่ทราบข้อมูลเชิงตัวเลข) หรือการไล่ออกจากบ้าน  ฯ นอกจากนี้ งานวิจัยพบว่า โรงเรียนและสถานศึกษาได้ส่งข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนที่แสดงออกในการชุมนุมและความคิดเห็นทางการเมืองและสังคมให้กับหน่วยงานภาครัฐ  ยกตัวอย่างเคส 

การดำเนินคดีและการถูกติดตาม คุกคามและสอดนามจำนวนมากดังกล่าว ได้สร้างผลกระทบจำนวนมากต่อเด็ก ดังนี้

 

 

  1. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

การดำเนินคดีเด็กได้สร้างภาระทางการเงินต่อตัวเด็กและครอบครัวเป็นอย่างมาก เช่น การเดินทาง เนื่องจากในกระบวนการยุติธรรมของเด็ก มีกระบวนการที่เด็กต้องเดินทางเพื่อแสดงตัวที่สถานีตำรวจ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และศาลอย่างน้อย 9 ครั้ง และโดยเฉลี่ยแล้วระยะเวลากระบวนการยุติธรรมของเด็กใช้เวลาอย่างต่ำ 2 ปีกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด มากไปกว่านั้น เด็กไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีคนเดียวได้ต้องมีผู้ปกครองไปด้วยเสมอ ส่งผลให้ผู้ปกครองสูญเสียโอกาสในการหารายได้ไปด้วย อย่างในกรณีของธนกร ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา  112 ตามประมวลกฎหมายอาญา 3 คดี และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ 2 คดี ตั้งแต่ปี 2564 โดยมี 2 คดีในข้อหาตามมาตรา 112 ที่มีคำพิพากษาปี 2566 และขณะนี้กำลังอยู่ในชั้นอุทธรณ์ ทั้งนี้ ในระหว่างการดำเนินคดี เพชรต้องเดินทางไปศาล สถานพินิจฯ หลายแห่ง จึงไม่สามารถหางานประจำที่ทำงานเป็นเวลาได้ รายได้ไม่แน่นอน และผู้ปกครองทำงานขายของจึงได้รับผลกระทบโดยเฉพาะวันที่มีนัดศาลจะไม่มีรายได้ 

  1. ทางการศึกษา 

นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ เด็กที่โดนดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาเมื่ออายุ 17 ปี มีความจำเป็นที่จะต้องใช้หนังสือเดินทางเพื่อใช้ในการการสอบวัดระดับความรู้ของตนเองเพื่อให้ได้วุฒิเทียบเท่ากับการจบระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเรียกว่า General Educational Development (GED) ทั้งนี้สายน้ำไม่สามารถทำหนังสือเดินทางดังกล่าวได้เนื่องจาก ทางสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวแจ้งว่า ระงับการออกหนังสือเดินทางเหตุผลคือได้รับแจ้งจากสถานีตำรวจยานนาวา การถูกระงับการออกหนังสือเดินทางดังกล่าวนี้ส่งผลให้สายน้ำไม่สามารถเข้าเรียนในคณะและมหาวิทยาลัยที่ตนต้องการได้ ปัจจุบันจึงต้องเข้าสู่การเรียนนอกระบบ

อีกทั้งผู้ปกครองของเด็กหลายคนไม่เห็นด้วยกับการออกมาเคลื่อนไหว จากการเก็บข้อมูลเด็กนักกิจกรรมรายหนึ่ง ระบุว่า ผู้ปกครองระบุว่า ผู้ปกครองมีสิทธิในการลงโทษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยลงโทษเด็กด้วยการไม่ให้เรียนต่อ พร้อมอ้างว่าถ้าอยากเคลื่อนไหวการเมืองก็ไม่ต้องเอาเงินพ่อแม่ไปเรียนต่อ และขอให้ลาออกเพื่อที่จะทำ Home School จะได้กำหนดที่อยู่ให้อยู่แต่บ้าน

  1. ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวและโรงเรียน 

ความรุนแรงในครอบครัวส่งผลให้เด็กสองราย ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอสัมภาษณ์นั้น ต้องออกจากบ้านไป ข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้บันทึกยังสอดคล้องกับรายงานสื่อหลายฉบับในประเด็นที่คล้ายคลึงกันว่าเด็กถูกผู้ปกครองทำร้ายร่างกายและต้องออกจากบ้านหลังจากที่ได้เข้าร่วมชุมนุมประท้วง กรณีศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเด็กถูกลงโทษซ้ำซ้อนจากทั้งรัฐและผู้ปกครอง เพียงเพราะเข้าร่วมชุมนุมประท้วงโดยสงบ 

  1. กระบวนการตรวจสอบการจับและภาระในการร้องเรียนกรณีได้รับบาดเจ็บ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 หยก อายุ 15 ปี ถูกจับกุมบริเวณวัดพระแก้วและถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจพระราชวัง โดยตำรวจจากสถานีดังกล่าว ทั้งนี้ระหว่างการจับกุมไม่มีการแสดงหมายจับหรือแจ้งเหตุผลในการจับแต่อย่างใด จนกระทั่งถึงสถานีตำรวจ ได้มีการแจ้งว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับออกโดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งได้รับหมายเรียกแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ทางผู้ถูกกล่าวหาและทนายได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปเป็นวันที่ 9 เม.ย. ด้วยเหตุผลติดธุระด้านการศึกษา ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า การออกหมายจับดังกล่าวไม่ตรงตามเงื่อนไขที่จะกระทำได้เมื่อเห็นว่าเด็กจะหลบหนีหรือเข้าไปยุ่งพยานหลักฐาน ต่อมาในกระบวนการตรวจสอบการจับกุม ศาลได้ระบุว่า การจับกุมดังกล่าวนั้นชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน หยกยังคงถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี 

การปราบปรามและจับกุมเด็กระหว่างและหลังการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและส่งผลให้เด็กได้รับการบาดเจ็บ ทั้งนี้ในกระบวนการตรวจสอบการจับกุมโดยศาลเด็กและครอบครัวระบุว่า การจับกุมนั้นชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีการสืบสวนสอบสวนกรณีที่เด็กได้รับการบาดเจ็บอย่างชัดแจ้งและเป็นการผลักภาระให้เด็กต้องทำเรื่องร้องเรียนด้วยตนเอง 

  1. ทางด้านจิตใจ

การจับกุมเด็กที่มิชอบด้วยกฎหมายและสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็ก อย่างในกรณีเด็กอายุ 14 ปี และ 15 ปี ถูกจับกุมในเวลากลางคืนหลังจากได้ร่วมชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 ระหว่างที่กำลังนั่งแท็กซี่กลับบ้าน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขี่มอเตอร์ไซค์มาหยุดแล้วขึ้นมาบนรถพร้อมระบุว่าจะพาตัวไปที่สถานีตำรวจพญาไท สุดท้ายกลับพาไปที่กองบังคับการตารวจตระเวนชายแดน ภาค 1 (บก.ตชด.ภาค 1) จังหวัดปทุมธานี เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างบาดแผลทางจิตใจต่อเด็กเป็นอย่างมากส่งผลให้ต้องเข้าพบนักปรึกษาเพื่อปรึกษาผลกระทบทางด้านจิตใจดังกล่าว

ในกระบวนการยุติธรรม นักกิจกรรมเด็กโดยเฉพาะมี่มีความหลากหลายทางเพศระบุว่า คำถามของนักจิตวิทยาที่ศูนย์ให้คำปรึกษาของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางทำให้รู้สึกไม่สบายใจเนื่องจากมีการถามคำถามที่ละเมิดส่วนบุคคล เช่น เคยมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลเพศเดียวกันหรือไม่ เป็นต้น 

  1. ถูกทำให้เป็นอาชญากรรม 

ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 30 เมษายน 2566 มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินด้วยข้อหากล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างน้อย 241 คน ใน 157 คดี โดยนักกิจกรรมเด็กและเยาวชนหลายคนโดนมากกว่า 1 คดี เช่น แซนด์ โดนนำเนินคดีด้วยข้อหาดังกล่าวใน 9 คดี เป็นต้น ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าว ถูกประกาศยกเลิก โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 แต่การดำเนินคดีดังกล่าวยังคงอยู่ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและเด็กเป็นอย่างมาก

  1. การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมประท้วง อายุ 15 ปี

วาฤทธิ์ สมน้อย อายุ 15 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนจริงที่บริเวณต้นคอจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 และเป็นอัมพาตรวม 72 วัน ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 28 ตุลาคม 2565 หลังจากที่คดีดำเนินไปอย่างล่าช้า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงทำหนังสือถึง กองบัญชาการตำรวจนครบาล เรียกร้องให้ร่วมมือกับสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ทันที โดยให้นำส่งข้อมูลที่จำเป็นเพื่อประกอบการทำคำสั่งฟ้องในคดี ต่อมา เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 อสส. ได้มีฟ้องผู้ต้องสงสัย รวม 6 ข้อหา รวมทั้งฆ่าผู้อื่นและมีอาวุธปืนในครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทางการได้เปิดเผยว่าในคดีนี้มีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งคนเป็นอย่างน้อยแต่ยังไม่ถูกตั้งข้อหา

ทั้งนี้ สิทธิเด็กตามกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงโดยสงบอยู่ภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลักสองฉบับ ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) และ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child หรือ CRC) ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ข้อ 21 ของ ICCPR  และ ส่วนข้อ 15 ของ CRC รับรองสิทธิให้ทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติให้มีเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงโดยสันติ อีกทั้งข้อ 19 ของ ICCPR และข้อ 13 ของ CRC คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีความเห็นทั่วไป ลำดับที่ 34 เรื่องเสรีภาพในการมีและแสดงความเห็น ว่า “การทำร้าย การข่มขู่ หรือการตีตราแก่บุคคล รวมถึงการจับกุม การกักขัง การไต่สวนในศาล หรือการจำคุกใครก็ตามเนื่องจากความเห็นที่บุคคลนั้นมี ถือเป็นการละเมิด ข้อ 19 วรรค 1 ของICCPR มากไปกว่านั้น สิทธิเด็กในการชุมนุมประท้วงโดยสงบเชื่อมโยงใกล้ชิดกับสิทธิที่จะได้รับการรับฟังและสิทธิในการมีส่วนร่วมกับประเด็นที่เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา ซึ่งรับรอบในมาตรา 43 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 โดยพิจารณาถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นลำดับแรก ตามข้อ 3 (1) ของ CRC

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงยุติธรรม ดังนี้ 

  1. คุ้มครองเด็กที่แสดงออกซึ่งสิทธิของพวกเขาในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้เด็กได้ใช้สิทธิของพวกเขาอย่างเต็มที่เพื่อสร้างพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออกทางความคิดเห็นและมีส่วนร่วมการในการพัฒนาประเทศ ในมาตรา 43 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 
  2. ร่วมมือในการกำหนดมาตรการถาวรในการป้องกันการกลั่นแกล้ง การลงโทษเด็กด้วยวิธีที่โหดร้ายรวมถึงการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวของเด็ก พร้อมทั้งจัดให้มีกลไกการร้องเรียนที่โปร่งใสเเละเข้าถึงได้ โดยอาจใช้กลไกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ด้วย
  3. จัดให้มีการอบรมและระเบียบการที่เหมาะสมให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ทำงานกับผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กโดยให้สอดรับกับมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
  4. จัดให้มีการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กที่เป็นผู้เสียหายจากการใช้กำลังที่มิชอบด้วยกฎหมายหรือการคุกคาม การข่มขู่ และการสอดแนม ที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมาย
  5. ประสานงานและร่วมหารือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในการทบทวนการดำเนินคดีกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งหมด ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายข้างต้นและกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง และดำเนินมาตรการเฉพาะในการยุติการดำเนินคดีกับเด็กกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะเด็กที่ถูกดำเนินคดีด้วยความผิดฐานตามมาตรา 112 เเละมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นต้น
  6. สืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ผู้ใช้บังคับกฎหมายที่ต้องรับผิดเรื่องการใช้กาลังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการคุกคาม การข่มขู่ และการสอดแนมผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กโดยผิดกฎหมาย ตามมาตรฐานสากลด้านการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม