ฟังเสียงนักสิทธิมนุษยชนแบบชิลล์ๆ ในงาน Friday Night Rights: Why our Movement Matters

22 ธันวาคม 2563

Amnesty International Thailand

ปี 2563 นับว่าเป็นปีที่เหล่าคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในหลายภาคส่วนต้องทำงานอย่างหนัก เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ไม่เพียงแต่จะเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของประชาชนเท่านั้น แต่ยังมีสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นราวกับจะวัดความแข็งแกร่งของจิตใจของคนกลุ่มนี้

 

เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องตระหนักถึงและร่วมกันสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย หนึ่งในองค์กรหลักด้านสิทธิมนุษยชน จึงจัดงาน Friday Night Rights: Why our Movement Matters เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวันสิทธิมนุษยชน ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี โดยในปีนี้เป็นการรวมตัวกันของนักกิจกรรมและผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ในบรรยากาศชิลล์ๆ เป็นมิตร ณ ร้านฌอเฌอ คอฟ ซอยลาดพร้าว 16 กรุงเทพฯ พร้อมกับกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย 

 

หนึ่งในกิจกรรมหลักของแอมเนสตี้ในงานนี้ คือ กิจกรรม Write for Rights เขียน เปลี่ยน โลก” ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปเขียนจดหมายส่งกำลังใจไปยังนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก โดยในปีนี้ แอมเนสตี้เชิญชวนให้ผู้ที่สนใจ เขียนจดหมายถึง 3 นักเคลื่อนไหวที่กำลังต่อสู้กับความอยุติธรรม ได้แก่ นัซซีมา อัล-ซาดา หนึ่งในแกนนำผู้เรียกร้องสิทธิสตรีเพื่อที่จะได้ขับรถและสิทธิที่จะได้ออกไปทำธุระประจำวันโดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองที่เป็นผู้ชาย ที่ถูกคุมขังและได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้าย ฆาลิด ดราเรนี ผู้สื่อข่าวอิสระชาวแอลจีเรียที่รายงานข่าวการประท้วงในแอลจีเรีย และบันทึกข้อมูลการใช้ความรุนแรงของตำรวจ จนทำให้เขาถูกจับกุมและตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นให้มีการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ และนักศึกษาจาก METU ผู้ปกป้องการเดินขบวนเพื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในตุรกี

 

นอกจากนี้ Friday Night Rights: Why our Movement Matters ยังมีกิจกรรมสนุกๆ อื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจับสลากเพื่อรับของขวัญจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย การทำเฮนน่าโดยฝีมือผู้ลี้ภัย กิจกรรมดูดวง หนึ่งคำถามทำนายอนาคต และกิจกรรมลอยอดีตไปกับสายน้ำ ที่ให้คุณเขียนสิ่งที่อยากลอยไปกับสายน้ำลงในกระดาษ และนำมาลอยในบ่อน้ำภายในงาน

 

และอีกหนึ่งกิจกรรมบนเวทีหลักในงานนี้ ได้แก่ การถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของแขกรับเชิญในงาน 9 คนที่มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีนี้ ซึ่งเริ่มจากนักวิชาการอย่าง ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำหน้าที่สังเกตการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้
 
ดร.พัชร์ระบุว่า การที่คนรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้ทางการเมือง เนื่องจากสังคมไทยทุกวันนี้ไม่ใช่สังคมที่คนรุ่นใหม่ต้องการ คนกลุ่มนี้ต้องการอนาคตที่ดีกว่าเดิม และต้องการสร้างตัวตนใหม่ในสังคมโลกที่พัฒนาไปด้วยกัน นอกจากนี้ พวกเขายังต้องสู้กับระบอบเผด็จการที่ซ่อนอยู่ในรูปแบบของเผด็จการแบบผสม รวมทั้งหาจุดยืนในสังคมที่ไม่ได้สร้างมาเพื่อพวกเขา และอยากให้ประเทศไทยเป็นเหมือนสากลโลก

 pic01.jpg

สำหรับวิธีการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่นั้น ดร.พัชร์กล่าวว่า การต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองนั้นสามารถทำได้หลายวิธี และคนรุ่นใหม่ใช้การชุมนุมสาธารณะในการสื่อสารความต้องการของตนเอง ส่งผลให้เกิดการต่อสู้ทางความคิด และการเสนอแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งการชุมนุมก็มีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่ เป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการค้นหาความจริง สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่มาชุมนุมด้วยกัน เป็นการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย สร้างแนวคิดการอดทนอดกลั้นให้แก่สังคม และสร้างอัตตาณัติ (autonomy) ให้กับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ในสังคม อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการต่อสู้นั้น สิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรคำนึงถึงก็คือ การชุมนุมต้องเป็นไปอย่างสงบและปราศจากอาวุธ

 

“กฎหมายรับรองเฉพาะการชุมนุมด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ ทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศ กฎหมายไม่ได้ใช้คำว่าสันติวิธี ฉะนั้น ในการจัดการชุมนุมสาธารณะ เขามีความรับผิดชอบทั้งต่อผู้ที่จัดการชุมนุมด้วยกัน แล้วก็ความรับผิดชอบต่อผู้ที่เข้ามาร่วมการชุมนุม ดังนั้นเงื่อนไขข้อนี้ต้องจับให้เป็นหลัก ก็คือต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ แล้วกฎหมายจะคุ้มครองคุณ” 

ดร.พัชร์ทิ้งท้าย

 

ด้านเบญจมาภรณ์ นิวาส หรือ พลอย หนึ่งในแกนนำกลุ่มนักเรียนเลว ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของนักเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดทับโดยระบบการศึกษาในทุกระดับ ก็ได้บอกเล่าประสบการณ์การทำแคมเปญรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพของนักเรียน โดยเริ่มจากแคมเปญ “เลิกบังคับหรือจับตัด” ที่สื่อสารเรื่องการยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียน ซึ่งพลอยระบุว่า ทรงผมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และการตัดผมนักเรียนก็ถือเป็นการกดทับในขั้นพื้นฐานของระบบการศึกษาไทย

 

หลังจากนั้น กลุ่มนักเรียนเลวได้จัด “ม็อบโบว์ขาว” ซึ่งเหล่านักเรียนทั่วกรุงเทพฯ ได้มาชุมนุมกันหน้ากระทรวงศึกษาธิการ และนำริบบิ้นสีขาวไปผูกไว้ที่รั้วของกระทรวง เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการเรียกร้องของกลุ่มเยาวชน ตามด้วย “ม็อบบ๊ายบายไดโนเสาร์” ที่เป็นการบอกลาชุดความคิดที่ล้าหลังที่ยังคงแทรกซึมอยู่ในระบบการศึกษาไทยและสังคมไทย รวมทั้งแคมเปญใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้เลิกบังคับแต่งชุดนักเรียน รวมทั้งยกเลิกกฎระเบียบที่ไร้สาระ ไม่ว่าจะเป็นความยาวของกระโปรงที่เท่ากัน โบว์ผูกผมสีเดียวกัน ถุงเท้ายาวเท่ากัน และขอให้ครูหันมาสนใจเรื่องคุณภาพการสอนแทน

 pic02.jpg

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ หยุดคุกคามนักเรียน ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าหลัง และปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาทั้งระบบ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2563 ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุว่า หากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้ ก็ให้ลาออก และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถและวิสัยทัศน์เข้ามาทำหน้าที่แทน แต่ ณ ขณะนี้ ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ยังคงนิ่งเฉยต่อข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ

 

“ถ้ามีการเพิกเฉยจากผู้ใหญ่ เรารู้แล้วว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง” รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มหิ่งห้อยน้อยและโครงการ Child in Mob นักกิจกรรมคนที่ 3 บนเวทีแห่งนี้ กล่าวต่อจากพลอย คุณรวงทัพพ์เริ่มเข้ามาสังเกตการณ์การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2563 และได้รับฟังเรื่องราวของเด็กๆ ที่เข้าร่วมชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ถูกครูในโรงเรียนคุกคาม จากการแสดงออกทางการเมือง เด็กที่มาชุมนุมโดยที่ไม่ได้แจ้งพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมไปถึงการที่เยาวชนต้องตกอยู่ในสถานการณ์การสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ซึ่งกรณีเหล่านี้ทำให้คุณรวงทัพพ์รู้สึกว่าเธอจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เด็กเหล่านี้รู้สึกปลอดภัยเมื่อมาชุมนุม จึงนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่ม Child in Mob ที่แจกแถบสีให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้คนทั่วไปรู้ว่ามีเด็กอายุน้อยๆ อยู่ในการชุมนุม และร่วมกันปกป้องเด็กเหล่านี้

 pic03.jpg

“ถ้ามันเป็นอะไรก็ตามที่เป็นผลประโยชน์ของเด็ก ผู้ใหญ่อย่างเรานี่แหละต้องปกป้องดูแล และให้ความปลอดภัย” รวงทัพพ์สรุป

 

นักกิจกรรมคนที่ 4 ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด หนึ่งในทีมเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เปิดพื้นที่ในการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เล่าถึงหน้าที่ผู้เจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ยืนยันว่า “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน”

 

ลูกเกดแจ้งเกิดบนเส้นทางการชุมนุมทางการเมืองหลังจากการรัฐประหาร ปี 2557 โดยเธอเล่าว่า เธอเลือกที่จะแสดงพลังบนท้องถนน เพื่อบอกว่ารัฐบาลต้องรับฟังและคืนอำนาจให้กับประชาชน ทว่าการชุมนุมกลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้แต่การชุมนุมอย่างสงบ เช่น การยืนกินแซนด์วิช หรือการยืนดูนาฬิกา ก็ถือว่าผิดกฎหมาย ดังนั้น ลูกเกดจึงพยายามหาวิธีที่จะทำให้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบได้รับการยอมรับ และตัดสินใจรับหน้าที่ผู้เจรจา

 pic04.jpg

“หน้าที่หลักๆ ของเรามีอยู่ 2 อย่าง ข้อแรกคือการไปยืนอยู่ด้านหน้าตำรวจแล้วบอกว่าเรามีสิทธิที่จะชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ข้อที่สองที่สำคัญและอยากจะเชิญชวนทุกคน คือช่วยกันตรวจสอบและเตือนสติเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เจ้าหน้าที่ต้องให้การเคารพ คุ้มครอง และอำนวยความสะดวกให้” ลูกเกดเล่า

 

นอกจากนี้ คุณลูกเกดยังอธิบายว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบตามมาตรฐานสากล เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไม่คุกคาม ไม่ละเมิดประชาชนที่มาแสดงออกในการชุมนุม และต้องให้การคุ้มครองไม่ให้ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ รวมทั้งต้องอำนวยความสะดวกในพื้นที่การชุมนุม

 

“หลังจากที่เจรจาหลายๆ ครั้ง เราพูดคำนี้กรอกหูเจ้าหน้าที่ตำรวจบ่อยครั้งว่า พี่ต้องอำนวยความสะดวกนะ แล้ววันนี้มันประสบความสำเร็จแล้วค่ะ เขากล้าที่จะยอมรับแล้วว่าเขามีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก อันนี้เป็นชัยชนะเล็กๆ ที่เราได้มาจากการทำหน้าที่ตรงนี้ ถ้าเราช่วยกันยืนยันสิทธิของเรา วันข้างหน้ามันจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ประชาชนอย่างพวกเราจะใช้ต่อต้านผู้มีอำนาจได้ แล้วเราจะทำให้ตำรวจที่เป็นปฏิปักษ์กับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ กลับมาอยู่ในร่องในรอยอีกครั้งหนึ่ง” ลูกเกดกล่าว

 pic05.jpg

ด้าน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ แพทย์อาสาในพื้นที่ชุมนุม ก็เป็นผู้ใหญ่อีกหนึ่งคนที่มีบทบาทโดดเด่นในการช่วยเหลือเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม นพ.ทศพรเล่าถึงประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี นับตั้งแต่เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผ่านเหตุการณ์รุนแรงครั้งประวัติศาสตร์อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 รวมทั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2539

 

“ก่อนเราจะมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรามีความเชื่อว่า การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง พอเป็นสมัยที่สอง เราก็รู้ว่าการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแก้ปัญหาได้แค่บางอย่าง พอเป็นสมัยที่สาม เราก็รู้ว่า ส.ส. แก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย นี่คือระบบรัฐสภาของประเทศไทย” นพ.ทศพรกล่าว

 

ก่อนจะเล่าถึงการเดินทางฝ่ามรสุมทางการเมืองในบทบาท ส.ส. ที่ถูกยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง 

 

“ก่อนการเลือกตั้งเราเชื่อวาทกรรมว่า การต่อสู้ของประชาชนเป็นพลังบริสุทธิ์ นักการเมือง พรรคการเมืองอย่าไปยุ่ง ก็เลยไม่เข้าไป เพราะเกรงข้อครหาเหล่านี้ จนกระทั่งเห็นกลุ่มคนอยากเลือกตั้งโดนจับ ก็เลยไปเยี่ยมที่โรงพัก หลังจากนั้นก็เป็นแรงบันดาลใจว่า ถ้าเขาอยากเลือกตั้ง ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ใครลงเลือกตั้ง ก็ตัวเรา แล้วจะอยู่เฉยๆ ได้ไง ก็เข้าไปร่วมกับขบวนการต่อสู้มากขึ้นเรื่อยๆ”

 

และนับจากการนำภาพวาดไปประมูลบนฟุตปาธหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเงินที่ได้มามอบให้กับครอบครัวของคุณปลายฝน หญิงวัย 20 ปี ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองจากวิกฤตโรคโควิด-19 ทำให้ นพ.ทศพรถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามด้วยคดีอื่นๆ อีก 6 คดี จากการต่อสู้ร่วมกับประชาชนคนรุ่นใหม่ แต่ด้วยประสบการณ์การต่อสู้มาอย่างยาวนาน เขาบอกกับทุกคนในงานว่า

 

“การต่อสู้ของพวกเรามันยืดเยื้อ ยาวนาน ผมเองก็ต่อสู้มาคร่าวๆ ไม่ต่ำกว่า 40 ปีแล้ว ก็ยังคงต้องต่อสู้ต่อไป แต่น้องๆ อยู่ในวัยหนุ่มสาว วัยที่มีพลัง ก็ขอให้มีพลังที่จะยืนหยัดต่อสู้ต่อไป จนกว่าจะไปถึงจุดที่เราต้องการ”

 

นอกจากนักกิจกรรมแล้ว บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน คือสื่อมวลชน ซึ่ง วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าวจาก Workpoint Today ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของการเป็นผู้สื่อข่าว ที่นอกจากจะนำเสนอภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ยังสามารถหยุดยั้งเหตุร้ายและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

 

วศินีเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นการชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ ถ.ราชดำเนิน คืนวันนั้น เธอได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่กลุ่มวัยรุ่น 3 คน ถูกชายฉกรรจ์ผมสั้นเกรียนล้อม และคะยั้นคะยอให้วัยรุ่นกลุ่มนั้นไปกับพวกเขา

 pic06.jpg

“เราเดินเข้าไปแอบถามน้องคนหนึ่งว่ามีอะไร น้องก็บอกว่าเพื่อนผมชูป้าย เป็นป้ายที่ตอนนั้นเมสเสจของมันยังไม่แพร่หลาย บรรยากาศตอนนั้นมันแย่มาก สำหรับคนที่สื่อสารข้อความนี้ออกไป ภาพสุดท้ายที่เราได้เห็นในข่าว ก็คือมีคนถูกผ่าท้องยัดเสาปูน ส่วนอีกคนถูกอุ้มหายกลางวันแสกๆ ตอนนี้ก็ยังไร้ร่องรอย เราไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่า ถ้าชายกลุ่มนั้นเกลี้ยกล่อมให้น้องไปด้วยได้สำเร็จแล้ว สิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นคืออะไร”

 

ด้วยสัญชาตญาณนักข่าว คุณวศินีหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูป และเผยแพร่ภาพผ่านทวิตเตอร์รวมทั้งเครือข่ายสื่อต่างๆ ส่งผลให้นักข่าวที่อยู่ในบริเวณนั้นพากันเข้ามายังจุดเกิดเหตุ จนทำให้ชายกลุ่มนั้นล่าถอยออกไป อย่างไรก็ตาม การที่เธอและผู้สื่อข่าวคนอื่นๆ นำเสนอข้อเท็จจริงตามหน้าที่ของสื่อมวลชน กลับส่งผลให้พวกเขาต้องจ่ายค่าเสรีภาพอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการถูกติดตาม ถูกโทรรบกวน รวมไปถึงการใช้กฎหมายข่มขู่

 

“มันก็น่าเศร้านะคะ เป็นสื่อประเทศนี้มันก็ค่อนข้างที่จะยากพอสมควร แต่ว่าอยากจะบอกทุกคนว่า ถึงแม้ว่าทุกคนจะผิดหวังกับสื่อมวลชนไทยทุกวันนี้ แต่ก็อยากจะคอนเฟิร์มว่ายังมีสื่อไทยอีกมากมายที่พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิและจิตวิญญาณของตัวเองอยู่ แล้วมันก็ไม่สามารถที่จะได้มา ถ้าขาดกระบวนการทางประชาธิปไตย” วศินีกล่าว

 pic07.jpg

ด้านเพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย และตัวแทนกลุ่ม Mob Data Thailand ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการชุมนุมทางการเมือง โดยร่วมมือกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดตั้งเว็บไซต์สำหรับเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการถูกละเมิดหรือการถูกคุกคามในพื้นที่ชุมนุม ที่เรียกว่า “Mob Data”

 

เพชรรัตน์เล่าว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีการชุมนุมเกิดขึ้นประมาณ 430 ครั้ง และตั้งแต่เดือนกันยายน - ธันวาคม มีการชุมนุมเกิดขึ้นถึง 277 ม็อบ ดังนั้น เมื่อการชุมนุมขยายตัวมากขึ้น การมีอาสาสมัครที่เข้าไปช่วยเก็บข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

 

“ในการเก็บข้อมูล เราเหมือนเป็นคนที่ไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้น แต่เป็นคนที่ทำให้รัฐรู้ว่า มีคนมองอยู่นะ การที่มีผู้สังเกตการณ์ การที่เราใส่เสื้อการ์ดสีเขียว บอกว่ามีคนข้างนอก มีชาวโลกมองอยู่ว่าตอนนี้คุณกำลังทำอะไรอยู่ การที่คุณฉีดน้ำใส่ หรือว่าการที่คุณมีจำนวนตำรวจที่มากกว่าความจำเป็น คำถามต่อมาก็คือ รัฐใช้ความรุนแรงหรือใช้มาตรฐานสากลที่ยอมรับกันทั่วโลกจริงหรือเปล่า การเก็บข้อมูลพวกนั้นมันจึงสำคัญมากๆ” เพชรรัตน์กล่าว

 

พร้อมแสดงความมุ่งหวังว่า Mob Data จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ข้อมูลถูกส่งไปถึงรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การวิจัยหรือวิเคราะห์ข้อมูลในอนาคต และสำหรับผู้ที่ต้องการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุม สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ mobdatathailand.org

 pic08.jpg

 นอกจากนี้ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว เด็กทุกคนมักจะถูกสอนไปจนถึงคะยั้นคะยอให้พูด ทว่าเมื่อโตขึ้น สิทธิในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งติดตัวของเรามาตั้งแต่เกิด กลับถูกจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสังคมในโรงเรียนและที่ทำงาน ผนวกกับบทบาทของกฎหมายที่เข้ามาควบคุมเสรีภาพในการพูด รวมไปถึงการจำกัดการแสดงออกหรือพื้นที่ในการแสดงออกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความอัดอั้นของประชาชนที่ถูกปิดปากมาอย่างยาวนาน ประเด็นทางสังคมหลายประเด็นถูกนำมาพูดถึงในที่สาธารณะอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งศศินันท์กล่าวว่า

 

“เราทำงานมาปีนี้เข้าปีที่ 7 จำนวนคดีในปีนี้มี 146 คดี ซึ่ง 6 ปีก่อนหน้านี้ที่เราทำงานกันมา เต็มที่คือประมาณ 30 - 40 คดี นั่นแสดงว่า ปีนี้ปีเดียวเท่ากับ 5 - 6 ปีที่ทำงานมาเลย เป็นจำนวนตัวเลขที่มันมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายที่นำมาใช้ในปัจจุบัน ต่างชาติเรียกว่า Draconian Law นะคะ มันคือกฎหมายที่โหดร้ายทารุณ เป็นกฎหมายที่ล้าหลัง ในวันนี้เราก็ขอเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง การใช้สิทธิในการชุมนุมของน้องๆ เยาวชนหรือประชาชนทั่วไป เรายืนยันว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้แล้วก็ไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย”

 pic09.jpg

ในช่วงสุดท้ายของเวทีแบ่งปันประสบการณ์ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายความและผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้ประมวลเรื่องราวทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นตลอดปี 2563 โดยระบุว่าเป็นปีที่เราได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น และไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้ เช่น การชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ในสถานที่สำคัญทั่วประเทศ การชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ การลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญแสนรายชื่อ การชุมนุม flash mob แบบไม่มีแกนนำ การเปิดหน้าเล่นของผู้มีอำนาจ สำนักข่าวฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างเนชั่นปรับเปลี่ยนแนวทางนำเสนอข่าวให้เป็นกลางมากขึ้น เป็นต้น ก่อนจะทิ้งท้ายเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนว่า

 

“ปีหน้า แน่นอนว่ามันก็จะมีอะไรที่เราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นได้มาก่อน แล้วมันจะเกิดขึ้นอีก ปีหน้าใครทำงานด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เหนื่อยแน่นอน ใครไม่เหนื่อยคือคุณไม่ทำงาน ใครทำงานมานานแล้วก็ห้ามลาออก วอร์มไว้ครับผม นอนให้พอ กินให้เยอะ ยกดัมเบลให้เยอะ เพราะปีหน้าเราต้องยกแขนกันเยอะ ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ!”