สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 28 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2566

6 กุมภาพันธ์ 2566

Amnesty International

ภาพ : ©AFP via Getty Images

 
เปรู : แอมเนสตี้ส่งทีมรับมือภาวะฉุกเฉินเพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง
30 มกราคม 2566
 
หลังจากที่มีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ในเปรูอย่างใกล้ชิด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ส่งทีมรับมือภาวะฉุกเฉินเฉพาะทางเพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงและอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการชุมนุมประท้วงที่เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
“โลกกำลังจับตามองเปรูอยู่ เมื่อพิจารณาจากความร้ายแรงของข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เราได้รับ เราได้ส่งทีมรับมือภาวะฉุกเฉินเฉพาะทาง ซึ่งจะมีการส่งไปรับมือในสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงอย่างมากเท่านั้น เมื่อมีข้อบ่งชี้ถึงอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้น ทีมงานของเราจะมีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีความตั้งใจที่จะช่วยสนับสนุนความพยายามขององค์กรต่างๆ ในเปรูในการระบุความรับผิดทางอาญาที่ถูกกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ รวมถึงบุคคลที่อยู่ในระดับสูงสุด” เอริกา เกบารา-โรซาส ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา เผย
จนถึงปัจจุบัน มีผู้ชุมนุมประท้วงอย่างน้อย 46 คนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 คน ได้เสียชีวิตระหว่างที่มีการปราบปรามการชุมนุมประท้วง และอีก 9 คนได้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตทางสังคมในประเทศ อ้างอิงจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของเปรู
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3Yi35gr
 
.....
 
 
ฟินแลนด์ : กฎหมายรับรองเพศสภาพฉบับใหม่ 'นับเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องสิทธิของคนข้ามเพศ'
1 กุมภาพันธ์ 2566
 
การออกกฎหมายในฟินแลนด์ที่ยกเลิกข้อกำหนดที่ทำร้ายคนข้ามเพศให้ต้องทนต่อกระบวนการทางการแพทย์และกระบวนการทางจิตเวชที่ล่วงล้ำ ก่อนที่พวกเขาจะได้รับการรับรองเพศสภาพตามกฎหมายนับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของความเท่าเทียม แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา
กฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งผ่านด้วยคะแนนเสียง 113 ต่อ 69 ได้ยกเลิกข้อกำหนดสำหรับบุคคลข้ามเพศที่จะต้องทำหมันและรับการวินิจฉัยทางจิตเวชเพื่อให้ได้รับการรับรองเพศสภาพตามกฎหมาย
“ในการลงมติผ่านกฎหมายนี้ ฟินแลนด์ได้ดำเนินการก้าวสำคัญในการปกป้องสิทธิของคนข้ามเพศและปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง” แมทติ ปิลาชะมาร์ ที่ปรึกษาด้านสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟินแลนด์
“คะแนนเสียงดังกล่าวเป็นผลมาจากการรณรงค์ของกลุ่มภาคประชาสังคมมากกว่าสิบปีและนี่ก็ยังถือเป็นบทพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของนักเคลื่อนไหวที่ต่างต่อสู้กันมาอย่างยาวนานและหนักหน่วง และมักต้องเผชิญกับคำพูดที่เป็นพิษ จนได้เห็นความสำเร็จในวันนี้”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3Hun0lp
 
.....
 
 
เมียนมา : มาตรการของแคนาดาและสหราชอาณาจักรในการห้ามส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานให้กองทัพนับเป็นก้าวสำคัญในการจัดการกับอาชญากรรมสงคราม
31 มกราคม 2566
 
สืบเนื่องจากมาตรการที่รัฐบาลอังกฤษและแคนาดาได้ประกาศเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเพลิงอากาศยานไปถึงกองทัพเมียนมา
มอนต์เซ เฟอร์เรอร์ นักวิจัยด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“การเคลื่อนไหวเพื่อยุติการจัดหาเชื้อเพลิงอากาศยานให้กับกองทัพเมียนมาที่รัฐบาลแคนาดาและรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการยุติการมีส่วนร่วมของบริษัทต่างๆ ในอาชญากรรมสงครามของกองทัพ”
“จนถึงบัดนี้ การนิ่งเฉยของรัฐบาลต่างๆ ทำให้กองทัพเมียนมาใช้เชื้อเพลิงอากาศยานที่นำเข้าเพื่อทำการโจมตีทางอากาศซึ่งได้ทำลายล้างครอบครัวและคุกคามเหล่าพลเรือน”
“แม้บริษัทที่เป็นเป้าหมายของสหราชอาณาจักรจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงอากาศยานในเมียนมา ประเทศต่างๆ ก็ควรจะต้องดำเนินการกับอุตสาหกรรมทั้งหมดเพื่อหยุดการนำเข้าเชื้อเพลิงอากาศยาน”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3YnUNDG
 
.....
 
อิสราเอล/ดินแดนที่ปาเลสไตน์ครอบครอง : ชีวิตของชาวปาเลสไตน์กำลังตกอยู่ในอันตรายเนื่องจากการสนับสนุนการแบ่งแยกเชื้อชาติของอิสราเอล
1 กุมภาพันธ์ 2566
 
ทางการอิสราเอลจะต้องยกเลิกระบบการแบ่งแยกเชื้อชาติ ซึ่งได้ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานและการนองเลือดอย่างมากมาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่องค์กรได้เปิดตัวการรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านการแบ่งแยกเชื้อชาติเมื่อหนึ่งปีก่อน กองกำลังของอิสราเอลได้สังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้วเกือบ 220 ชีวิต ซึ่งรวมถึง 35 ชีวิตในเดือนมกราคม 2566 เพียงเดือนเดียว การสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายช่วยยืนยันว่าระบบการแบ่งแยกเชื้อชาติของอิสราเอลยังคงมีอยู่และถือเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เฉกเช่นเดียวกับการละเมิดอื่นๆ ที่ร้ายแรงและต่อเนื่องโดยทางการอิสราเอล เช่น การควบคุมตัวโดยอำนาจฝ่ายบริหารและการบังคับส่งตัว
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา การโจมตีที่ร้ายแรงหลายต่อหลายครั้งได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการนำผู้กระทำมารับผิด เมื่อวันที่ 26 มกราคม กองกำลังอิสราเอลได้ทำการโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยเจนินและสังหารชาวปาเลสไตน์ไปถึง 10 คน รวมถึงผู้หญิงอายุ 61 ปี เมื่อวันที่ 27 มกราคม พลเรือนชาวอิสราเอลจำนวน 7 คนได้ถูกสังหารเมื่อมือปืนชาวปาเลสไตน์ทำการเปิดฉากยิงในย่านเนเวยาคอฟ ซึ่งเป็นชุมชนของชาวอิสราเอลในเขตเยรูซาเล็มตะวันออกที่ถูกยึดครอง ในการตอบสนองต่อการโจมตีในครั้งนี้ ทางการอิสราเอลได้ยกระดับการลงโทษแบบเหมารวมต่อชาวปาเลสไตน์ โดดำเนินการกวาดล้างจับกุมคนไปเป็นจำนวนมากและขู่จะลงโทษรื้อถอนบ้าน
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3JHxsZB