Welcome to the Movement กับ 5 สปีคเกอร์ที่จะนำพาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน

26 มีนาคม 2564

Amnesty International Thailand

สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรตระหนัก เนื่องจากในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าประเทศไทยของเรายังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่างเว้นในแต่ละวัน ซึ่งการละเมิดนี้มีให้เห็นกันอยู่ในทุกสายอาชีพ และสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ดังจะเห็นได้จากข่าวต่างๆ และที่น่าตกใจไปกว่านั้น ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเริ่มมีอายุน้อยลงขึ้นเรื่อยๆ 

แม้ว่าจะมีกฏหมายออกมาใช้ควบคุมมิให้ผู้คนกระทำผิด และละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้วค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เพราะไม่เพียงแต่โลกของความเป็นจริงเท่านั้นที่เราสามารถถูกละเมิดได้ สังคมออนไลน์ในทุกวันนี้ก็ค่อนข้างมีความน่ากลัวเช่นเดียวกัน เราสามารถถูกละเมิดสิทธิหรือถูกดึงข้อมูลส่วนตัวไปใช้ได้ทุกเมื่อ เนื่องจากส่วนมากแล้วผู้คนจะเลือกเชื่อมต่อข้อมูลส่วนตัวไว้กับบัญชีผู้ใช้บนโลกออนไลน์ เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน จนในบางครั้งอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพดึงข้อมูลของเราไปใช้ และสร้างความเสียหายให้แก่เรา 

ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 (Annual General Meeting) หรือ #AGM21 ณ ห้องประชุม Prize ชั้น 2 โรงแรมไอบิส สไตล์ กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่สมาชิก แต่สนใจประเด็นสังคมและสิทธิมนุษยชน ลงทะเบียนเข้าฟังในช่วง Clubhouse by แอมเนสตี้ ตอน Welcome to the Movement ที่มีแขกรับเชิญพิเศษมาร่วม Tedtalk ใน 5 หัวข้อ กับ 5 สปีกเกอร์จากหลากหลายสายอาชีพ และหลากหลายวัย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีการเคารพสิทธิมนุษยชนกันมากขึ้น 

 

Tech & Human Rights – มาร์ก อิสระ ไพรีพ่ายฤทธิ์ 

 

อิสระ ไพรีพ่ายฤทธิ์กล่าวว่าในยุคสมัยนี้คงไม่มีการแบ่งแยกแล้วว่าเทคโนโลยีเป็นเพียงเรื่องราวของคนกลุ่มเดียว เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีค่อนข้างพัฒนาไปไกล อย่างเมื่อก่อนเราคงไม่คิดว่าเราจะสามารถไลฟ์หรือถ่ายทอดสดการชุมนุมจากสถานที่จริง และสามารถทำได้ทุกคน ดังนั้นแล้วปัจจุบันนี้เทคโนโลยีจึงกลายเป็นเรื่องของทุกคน ไม่เพียงแต่เป็นของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทั้งยังยก 4 ห้วข้อที่น่าสนใจมาปราศัยในครั้งนี้ด้วย 

Freedom Of Speech “ประเทศไทยมีการบล็อกเว็บไซต์มานานแล้ว แต่ถือว่าค่อนข้างโชคดีที่โซเชียลหรือบริการไอทีในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นของฝรั่ง เราจึงมีเสรีภาพในการแสดงออกค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นข้อดีที่ทำให้เราสารมารถแสดงออกบนโลกออนไลน์ได้อย่างอิสระในระดับหนึ่ง” 

Misinformation “เมืองไทยมีข่าวลวงค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว ยังคงมีข่าวทั่วไปอย่างเช่นน้ำมะนาวแก้โควิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่โลก IT ไม่สามารถแก้ได้ง่ายๆ เพราะมันเป็นปัญหาในเรื่องความเชื่อของคนที่มันถูกเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็ว” 

Privacy “เมื่อมีประเด็นเรื่องของ Privacy เกิดขึ้นบนสังคม ก็จะมีโฆษณาต่างๆ โผล่ขึ้นมาจากบริษัทไอทีต่างๆ ซึ่งภาพรวมบริษัทเหล่านี้มักจะหากินกับข้อมูลส่วนตัวของเรา แต่เมื่อถูกโจมตีจากประชาชนเข้า ธุรกิจเหล่านี้จะบอกว่า The future is private ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป” 

Monopoly “ทุกวันนี้บริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกคือบริษัทไอที และถึงแม้ว่าบริษิทเหล่านั้นจะรวยขนาดไหน แต่คุณภาพชีวิตของเหล่าพนักงานกลับแย่มาก ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้บริษัทไอทีกำลังจะครองโลก แล้วเราจะปัญหาการถูกกดทับสิทธิ์ของพนักงานเหล่านั้นอย่างไร ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ” 

 

Gen Z ใน Social Movement - มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิลบูลย์ผล 

 

มายด์เล่าว่าฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดแฟลชม็อบเมื่อต้นปีที่แล้วคือการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ตอกย้ำได้ชัดเจนว่ารัฐบาลของประเทศนี้จะทำทุกอย่างเพื่อขจัดผู้คนที่เห็นต่างกับฝ่ายของตนออกไป และในขณะนั้นพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่ได้รับความนิยมมากในหมู่ของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นพรรคไฟแรงที่มุ่งหวังจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคม โดยคนส่วนใหญ่ที่สนับสนุนพรรคนี้ล้วนเป็นคนที่มีสิทธิ์ใช้เสียงเลือกตั้งครั้งแรก 

พอพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ก็เกิดคำถามขึ้นว่าทำไมรัฐหรือกระบวนการยุติธรรมทำให้เสียงการเลือกตั้งครั้งแรกของพวกเขาไร้ค่า และเกิดปรากฏการณ์แฟลชม็อบผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด มายด์กล่าว 

มายด์เล่าต่ออีกว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ไม่ได้เกิดจากการจัดฉาก แต่มันเกิดจากการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ เมื่อในวันหนึ่งสังคมนี้ไม่มีความชอบธรรม ทุกคนจึงเริ่มตื่นตัว และกลายมาเป็นการเรียกร้องของกลุ่มประชาชนที่มีความหลากหลาย โดยมีจุดหมายคือหวังให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม 

ซึ่งการชุมนุมเมื่อปีที่แล้วมันมีพลังมาก เพราะเป็นการใช้คนจำนวนมากกดดันและยกระดับข้อเรียกร้อง และจะทำให้การเติบโตของกระบวนการประชาธิปไตยมันจะไม่มีวันหยุด 

“เราทุกคนที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในประเทศนี้ และเป็นเจ้าของประเทศ จงมั่นใจได้เลยว่าการเมืองในประเทศไทยตอนนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” มายด์กล่าว 

 

“สื่อ” ผู้เปิดประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน - พลอย วศินี พบูประภาพ 

 

รู้ไหมคะว่าจังหวะวัดใจของนักข่าวม็อบคือตอนไหน? 

“จังหวะวัดใจที่สุดเลยคือจังหวะที่ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแถวแล้วประกาศว่าให้เวลาอีก 30 นาที ถ้าสื่อมวลชนไม่ออกก็จะถูกจับกุม แต่เขาไม่เคยให้เวลาถึง 30 นาทีเลย พอประกาศเสร็จก็มักจะวิ่งในทันที และเราเห็นนักข่าวผู้ชายโดนกระบองฟาด เห็นเพื่อนนักข่าวด้วยกันถูกรวบมือไว้ข้างหลังพร้อมกับถูกกดลงบนพื้น ก่อนที่จะรู้ว่าเป็นนักข่าวถึงได้รับปล่อย เราเห็นนักข่าวโดนจับไปจริงๆ สองคนแล้ว” พลอยกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันที่เธอลงพื้นที่ทำข่าวการชุมนุม 

เธอยังเล่าต่ออีกว่าการทำข่าวม็อบไม่ได้เป็นเพียงข่าวเดียวในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่มีจังหวะวัดใจแบบนี้ เพราะเมื่อครั้งที่เธอยังเป็นนักศึกษาฝึกงาน เธอก็ถูกขู่เช่นเดียวกัน และไม่เพียงเท่านั้น เพื่อนนักข่าวของเธอถูกยิงปืนขู่ขณะลงพื้นที่ทำข่าวโรงงานน้ำตาลที่ปล่อยสารพิษลงสู่แม่น้ำ หรืออีกคนทำข่าวในประเด็นลำธารเป็นพิษ แต่กลับถูกขู่ฟ้องเพื่อปิดปาก 

ถึงแม้ว่าสิ่งที่นักข่าวสิทธิมนุษยชนต้องเจอจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างอันตราย และต้องเสียสละเป็นอย่างมาก แต่พลอยก็ยังยืนยันที่จะทำหน้าที่นี้ต่อไปเฉกเช่นกับเพื่อนนักข่าวอีกหลายคนที่ยังยืนหยัดอยู่เคียงข้างสิทธิมนุษยชน เพราะเธอเชื่อว่าทุกสิ่งที่เธอจดบันทึก หรือทุกข่าวที่เธอทำจะสามารถกลายเป็นกลไกทำให้โลกหมุนได้อีกต่อไป นอกจากนี้เธอยังคงเชื่อมันในตัวผู้ชมของเธอว่าคนเหล่านี้ยังคงต้องการนักข่าวอยู่ พวกเธอไม่สามารถหันหลังให้กับคนที่กำลังเดือดร้อนได้ 

“เราไม่รู้เลยว่าในอนาคตข้างหน้าผู้คนจะยังเชื่อในสิ่งที่เราจดอยู่ไหม แต่เราก็ยังยืนยันที่จะจดต่อไปเพื่อให้ทุกอย่างที่เราจดกลายเป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์จะตัดสินต่อไปในอนาคตต่อไป” พลอยกล่าวประโยคสุดท้ายก่อนที่เธอจะลงจากเวทีปราศัยไป 

 

Fandom กับความสนใจประเด็นทางสังคม – บิวตี้ มนปริยา ลบหนองบัว 

 

Fandom เกิดมาจากการผสมคำสองคำเข้าด้วยกัน คือ Fanclub และ Kingdom ซึ่งมีความหมายว่าอาณาจักรของแฟนคลับ เป็นพื้นของกลุ่มแฟนคลับที่มีความชอบแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง เพลง หรือละคร มารวมตัวกันทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง 

โดยตัวของบิวตี้เองเธอก็อยู่ในวงการของ Fandom มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว บิวตี้บอกว่าเธอชื่นชอบคำนี้มาก เพราะมีเสียงคล้ายกับคำว่า Freedom ที่มีความหมายในด้านสิทธิมนุษยชน และเธอยังมองลึกลงไปอีกว่า Fandom นั้นคือ Freedom of expression อย่างหนึ่ง เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ 

บิวตี้ยกตัวอย่างว่าทุกวันนี้เทรนด์ของวงการบันเทิงเกาหลีอย่างละครจะเน้นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ชม เมื่อกลุ่มแฟนคลับที่เป็นเด็กๆ ได้ชม ก็จะซึมซับสิ่งเหล่านั้นมา ทำให้เกิดความฝัน แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถเกิดกับสังคมไทยได้เลย เนื่องจากระบบโครงสร้างของรัฐหรือระบบการศึกษาบ้านเราไม่เอื้อให้กับเด็กที่มีความฝันเช่นนี้ สังคมของเราไม่มีพื้นที่ให้กับเด็กๆ เหล่านี้เลย 

“ถ้าการเมืองดี เราจะสามารถสนับสนุนนักร้องที่เราชื่นชอบได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะค่าครองชีพของประเทศไทยไม่สอดคล้องกับราคาของบัตรคอนเสิร์ต การที่เราจะจ่ายเงินให้กับค่าบัตรคอนเสิร์ตหนึ่งใบจึงกลายเป็นเรื่องที่ยากมาก” บิวตี้กล่าว 

ในทุกเดือนกลุ่มแฟนคลับจะเช่าป้ายโฆษณาตามรถไฟใต้ดิน เพื่อเป็นโปรเจกต์วันเกิด หรือโปรเจกต์ออกอัลบัมใหม่ของศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบ แต่เมื่อถึงในจุดหนึ่งที่สิ่งที่พวกเขากำลังสนับสนุนขัดแย้งกับเจตจำนงค์ทางการเมือง กลุ่มแฟนคลับทำคือหันมาสนับสนุนกับ Local Bussiness โดยการขึ้นป้ายโปรเจกต์ต่างๆ ตามรถตุ๊กๆ หรือรถขายลูกชิ้น แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่จะกระจุกอยู่แค่ในกรังเทพฯ เท่านั้น เด็กต่างจังหวัดเองก็ได้นำรูปแบบเช่นนี้ไปใช้ในชุมชนของพวกเขา ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ให้แก่ธุรกิจรายย่อยอย่างหนึ่ง และนอกจากนี้กลุ่มแฟนคลับยังตอบโต้ทางการเมืองผ่านการระดมทุนในทวิตเตอร์ เพื่อสนับสนุนเจตจำนงค์ทางการเมือง และปั่นเทรนด์ทวิตเตอร์ เพื่อให้ศิลปินที่ตนชื่นชอบออกมาประนามการใช้ความรุนแรงของภาครัฐต่อเยาวชน 

“จงใช้สิทธิเสรีภาพในทางที่ตัวเองสนใจ เพราะไม่มีใครรู้เลยว่าเสรีภาพของเรามันสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ” บิวตี้กล่าว 

 

สิทธิมนุษยชนใกล้ตัวเริ่มจากครอบครัวถึงโรงเรียน - เมนู สุพิชฌาย์ ชัยลอม

 

“วันนี้เราไม่ได้มาในฐานะของนักเรียน เราไม่ได้มาในฐานะของนักศึกษา เรามาในฐานะของเยาวชนที่ถูกรัฐบาลขโมยความฝันไป” คำพูดของเมนู สุพิชฌาย์ ชัยลอม บนเวทีการปราศัย มช.งัดข้อเผด็จการ เป็นคำพูดที่ทำให้ทุกคนรู้จักเธอ 

ปัจจุบันนี้เราจะเห็นได้ว่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มมีอายุที่น้อยขึ้น อันเห็นได้จากหลายๆ การชุมนุมที่ผ่านมา มักจะมีเด็กอยู่ในนั้นด้วย 

เด็กเป็นคนอีกกลุ่มที่หลายคนไม่คิดว่าพวกเขาจะหันมาสนใจในการเมือง เพราะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่จริงๆ แล้วการเมืองนั้นเชื่อมโยงไปอยู่ในทุกพื้นที่ การเมืองเชื่อมโยงมากระทั่งระบบของการศึกษา เมนูเล่าถึงปัญหาที่เกิดกับการศึกษาว่ารากฐานของมันมาจากระบบการเมือง และสิ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้เด็กนักเรียนจำนวนมากลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกันก็มีเด็กอีกจำนวนมากที่ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ 

“ปัจจุบันมีเยาวชนอายุน้อยกว่า 18 ปีถูกจับกุมขณะเข้าร่วมชุมนุม และถูกดำเนินคดีในมาตรา 112” 

เมนูกล่าวว่าในขณะที่เราเริ่มตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพนั้น ก็มีอีกคนหนึ่งอีกฝั่งหนึ่งพยายามกดสิ่งนี้ลงไป และทำให้เรากลับมาเป็นเหมือนเดิม ที่เด็กเหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวก็เนื่องจากต้องการสังคมที่ดีขึ้น อยากเห็นสังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศ ไม่กีดกันคนชายขอบ และทุกคนได้รับสวัสดิการจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าความเป็นไปได้ของมันจะมีเพียงแค่ 0.0001% ก็ตาม นอกจากนี้เมนูกล่าวต่ออีกว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันประกอบไปด้วย 5 บทบาท 

Supporter คือกลุ่มคนที่มักจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือทันทีเมื่อเห็นคนกำลังประสบกับปัญหา 

Rebel คือกลุ่มคนมักจะลุกขึ้นมาปราศัยเพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน 

Organizer คือกลุ่มคนผู้จัดงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือทางสังคม 

Inventor คือกลุ่มคนนักประดิษฐ์สิ่งของ นักสร้างสิ่งของเพื่อมาช่วยเหลือผู้คน 

Advocate คือกลุ่มคนสายนโยบาย 

“สิ่งที่เราทุกคนต้องทำคือสร้างการตระหนักรู้ให้มันเกิดขึ้นจริง...เราทุกคนล้วนต้องการสังคมที่ดีขึ้น เพราะเราต่างโตมาจากความเจ็บปวด”