สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 31 ธันวาคม - 6 มกราคม 2566

8 มกราคม 2566

Amnesty International Thailand

 
แทนซาเนีย: ประธานาธิบดีฮัสซันยกเลิกการออกคำสั่งการห้ามชุมนุมทางการเมืองอย่างเด็ดขาด
3 มกราคม 2566
 
สืบเนื่องจากการประกาศของประธานาธิบดีซาเมีย ซูลูฮู ฮัสซัน ที่ว่าเธอกำลังยกเลิกการลงโทษห้ามชุมนุมทางการเมืองที่บังคับใช้กับเหล่าพรรคการเมืองฝ่ายค้าน
โรแลนด์ อีโบลเร่ นักวิจัยระดับภูมิภาคแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประจำแทนซาเนียและยูกันดากล่าวว่า
“แม้ว่าการห้ามดังกล่าวไม่ควรมีขึ้นตั้งแต่แรก แต่เราก็ขอปรบมือให้กับการตัดสินใจของรัฐบาลแทนซาเนียในการยกเลิกการออกคำสั่งการห้ามชุมนุมทางการเมืองอย่างเด็ดขาดในประเทศ ที่ในอดีตเคยมีการใช้ในการจับกุมโดยพลการและคุมตัวนักการเมืองฝ่ายค้านคนสำคัญที่จัดการชุมนุม”
“ถือเป็นก้าวที่น่ายินดีในทิศทางที่ถูกต้อง และเราขอเร่งเร้าให้ทางการแทนซาเนียดำเนินการต่อไปและทำงานเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากขึ้น รวมถึงการยกเลิกหรือแก้ไข พ.ร.บ. พรรคการเมือง เพื่อขจัดอุปสรรคทั้งปวงต่อสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ การรวมกลุ่มและการแสดงออก”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3Gl1EGB
 
----------
 
 
ซาอุดีอาระเบีย: ที่สโมสรฟุตบอลอัล นาสร์ ริยาด คริสเตียโน โรนัลโดควรให้ความสนใจกับประเด็นสิทธิมนุษยชน
4 มกราคม 2566
 
สืบเนื่องจากความเห็นสาธารณะของคริสเตียโน โรนัลโดเกี่ยวกับการตัดสินใจของเขาในการเซ็นสัญญากับสโมสรฟุตบอลซาอุดีอาระเบีย อัล นาสร์ ริยาด
ดาน่า อาห์เหม็ด นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในตะวันออกกลาง กล่าวว่า
“การเซ็นสัญญาของคริสเตียโน โรนัลโดกับสโมสรฟุตบอลอัล นาสร์ ริยาด เข้ากับรูปแบบที่กว้างขึ้นในการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือชำระล้างภาพลักษณ์อันสกปรกทางสังคมและการเมืองของประเทศในซาอุดีอาระเบีย มีความเป็นไปได้สูงที่ทางการซาอุดิอาระเบียจะส่งเสริมการมีอยู่ของโรนัลโดในประเทศ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่น่าตกใจของประเทศ แทนที่จะหลับหูหลับตายกย่องซาอุดีอาระเบียโดยไม่ใช้วิจารณญาณ โรนัลโดควรใช้พื้นที่สาธารณะมากมายของเขาเพื่อดึงความสนใจไปยังประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศ”
“ซาอุดีอาระเบียมักจะประหารชีวิตผู้คนเป็นประจำในข้อหาก่ออาชญากรรม รวมทั้งการฆาตกรรม การข่มขืน และการลักลอบขนยาเสพติด ในวันเดียวเมื่อปีก่อน มีผู้เสียชีวิต 81 ราย ซึ่งหลายคนต่างถูกพิจารณาคดีอย่างไม่เป็นธรรม ทางการยังดำเนินการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมตัวอย่างต่อเนื่อง ด้วยโทษจำคุกอย่างหนักที่ตกทอดมาถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3VODREJ
 
----------
 
 
คูเวต: นักเคลื่อนไหวชาวเบดูถูกห้ามเข้าประเทศเพื่อเยี่ยมครอบครัว
5 มกราคม 2566
 
สืบเนื่องจากข่าวที่ว่า โมนา คารีม นักวิชาการไร้สัญชาติจากชุมชนเบดูของคูเวต ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติต่อชาวเบดูของรัฐบาล ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศคูเวตในคืนวันที่ 3 - 4 มกราคม เมื่อเธอพยายามไปเยี่ยมครอบครัวของเธอที่นั่น
แอมนา กูเอลลาลี รองผู้อำนวยการฝ่ายตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า
“คูเวตปฏิเสธอย่างโหดร้ายไม่ให้ผู้หญิงที่เกิดและเติบโตในประเทศเข้าประเทศ และที่ต้องการไปเยี่ยมครอบครัวของเธอที่ไม่สามารถออกไปเยี่ยมเธอในต่างประเทศได้เนื่องจากสถานะไร้สัญชาติของพวกเขา”
“นี่ถือเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยม น่าตกใจ และไร้จุดหมาย ซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์อื่นใดๆเลยนอกจากเพื่อส่งข้อความถึงชุมชนเบดูของคูเวตว่าพวกเขาไม่ได้รับการต้อนรับในประเทศของพวกเขาเอง ทางการคูเวตต้องรีบอนุญาตให้โมนาเข้าไปเยี่ยมครอบครัวของเธอที่บ้านอย่างปลอดภัย และยุติการกดขี่ชาวเบดู แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอเรียกร้องอีกครั้งให้ชาวเบดูได้รับสัญชาติโดยสมบูรณ์”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3irZ9KC