สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 23-29 มีนาคม 2567

3 เมษายน 2567

Amnesty International Thailand

รัสเซีย: เรียกร้องหยุดทรมานผู้ต้องสงสัยคดีโจมตีศาลาว่าการครอคัส และต้องให้ความเป็นธรรมครอบครัวที่สูญเสียและบาดเจ็บ

25  มีนาคม  2567

 

สืบเนื่องจากการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ศาลาว่าการครอคัสซึ่งเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตในเขตชานเมืองมอสโก โดยทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 137 รายและบาดเจ็บหลายร้อยราย

มารี สตรูเทอร์ส ผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหยื่อของการโจมตีที่โหดร้ายครั้งนี้และผู้เป็นที่รักของพวกเขา พวกเขาสมควรได้รับความยุติธรรม ซึ่งรวมถึงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่สำหรับผู้ที่ออกคำสั่งและผู้กระทำ และความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานที่จัดงานและสิ่งที่นำไปสู่เหตุการณ์ดังกล่าว แม้ว่ารายละเอียดอันน่าสะพรึงกลัวของการสังหารหมู่ครั้งนี้ยังคงปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทางการรัสเซียและแหล่งข่าวต่างๆ ก็ได้แสดงสิ่งน่ากังวลอย่างยิ่งซึ่งดูเหมือนจะเป็นภาพที่เชื่อได้ว่ามีการทรมานผู้ต้องสงสัย

“การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ไม่ใช่การรับผิดชอบต่อการกระทำสำหรับเหยื่อ แต่กลับสร้างความเสื่อมเสียและบ่อนทำลายเส้นทางสู่ความจริงและความยุติธรรม สิทธิที่จะไม่ถูกทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ เป็นสิทธิที่เด็ดขาดและไม่มีข้อยกเว้น หากมีการกระทํา ถือเป็นอาชญากรรมและต้องได้รับการจัดการเช่นกัน เหยื่อจะไม่ได้รับความยุติธรรมจนกว่าผู้ที่รับผิดชอบสำหรับความโหดร้ายนี้จะถูกนำตัวมารับผิดชอบในกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมตามมาตรฐานสากลอย่างเต็มที่”

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม มือปืนหลายคนสวมชุดลายพรางได้เปิดฉากยิงใส่ผู้คนที่อยู่ภายในศาลาว่าการครอคัส ซึ่งเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตในย่านชานเมืองแห่งหนึ่งของมอสโก ก่อนที่จะจุดไฟเผา การโจมตีครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 137 ราย และบาดเจ็บ 180 ราย กลุ่มติดอาวุธไอสิสอ้างความรับผิดชอบในการโจมตีครั้งนี้และเผยแพร่วิดีโอน่าสยดสยองที่ถ่ายจากกล้องติดตัวของหนึ่งในผู้โจมตี ซึ่งแสดงให้เห็นผู้คนที่ถูกยิงด้วยปืนไรเฟิลอัตโนมัติและการเชือดคอของหนึ่งในผู้ชมคอนเสิร์ต

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ศาลมอสโกมีคำสั่งควบคุมตัวบุคคล 4 คนที่ถูกจับกุมในวันเดียวกันด้วยข้อสงสัยว่า "ก่อการร้าย" (มาตรา 205(3) (b)) ซึ่งหากพบว่ามีความผิดอาจได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต

ผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งปรากฏตัวในศาลโดยนั่งรถเข็นด้วยอาการบาดเจ็บสาหัส อีกคนหนึ่งมีผ้าพันแผลอยู่ที่ด้านขวาของศีรษะ ภาพก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าผู้จับกุมได้ตัดหูของเขาออกในระหว่างสอบสวน ผู้ต้องสงสัยที่ถูกคุมขังคนที่สามปรากฏตัวในศาลโดยมีถุงพลาสติกพันรอบคอ บ่งบอกถึงการใช้เทคนิคการทำให้ขาดอากาศหายใจซึ่งมีรายงานว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัสเซียใช้ จำเลยทุกคนมีรอยฟกช้ำที่ตาและอาการบาดเจ็บอื่นๆ โดยภาพอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่าผู้ถูกคุมขังคนหนึ่งถูกผู้จับกุมใช้ไฟฟ้าช็อต

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3TZdYEu

 

-----

 

 

สหราชอาณาจักร: เรียกร้องยุติการดำเนินคดีจูเลียน อาสซานจ์และนักปกป้องเสรีภาพสื่อ หวั่นส่งตัวข้ามแดนไปสหรัฐฯ เสี่ยงถูกทรมานอย่างโหดร้าย

26  มีนาคม  2567

 

สืบเนื่องจากคำตัดสินของศาลสูงสหราชอาณาจักรที่เลื่อนการพิจารณาสิทธิอุทธรณ์ของจูเลียน อาสซานจ์สำหรับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐฯ

ไซมอน โครว์เธอร์ ที่ปรึกษากฎหมาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า คำตัดสินของศาลสูงในวันนี้ทำให้จูเลียน อาสซานจ์และนักปกป้องเสรีภาพสื่อทุกคนทั้งหมดตกอยู่ในความเสี่ยง แต่การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไป ทนายความของสหรัฐฯ มีโอกาสครั้งที่สองในการออกการรับรองทางการทูตซึ่งศาลจะพิจารณาในเดือนพฤษภาคม แต่แทนที่จะปล่อยให้กระบวนการทางกฎหมายที่ยืดเยื้อดำเนินต่อไป สหรัฐฯ ควรยกเลิกข้อหาทั้งหมดของอาสซานจ์

“สหราชอาณาจักรยังคงตั้งใจที่จะส่งตัวอาสซานจ์ข้ามแดน แม้ว่าจะมีความเสี่ยงร้ายแรงที่เขาจะถูกทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายในสหรัฐฯ ก็ตาม แม้สหรัฐฯ อ้างว่าได้ให้คำมั่นกับสหราชอาณาจักรว่าจะไม่ละเมิดสิทธิของอาสซานจ์ เราทราบจากกรณีที่ผ่านมาว่า "การรับประกัน" ดังกล่าวมีข้อบกพร่องอย่างมาก และการรับรองทางการทูตในกรณีของอาสซานจ์ก็เต็มไปด้วยช่องโหว่

“น่าเสียดายที่ศาลปฏิเสธข้อโต้แย้งบางประการของอาสซานจ์ โดยเฉพาะที่ว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นเรื่องทางการเมือง ศาลได้หยุดการพิจารณาคดีสำหรับเหตุผลอื่นชั่วคราว เพื่อให้สหรัฐฯ สามารถออกการรับรองทางการทูต จากนั้นศาลจะพิจารณาใหม่อีกครั้ง

“สหรัฐฯ จะต้องยุติการดำเนินคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมืองกับอาสซานจ์ ซึ่งทำให้อาสซานจ์และเสรีภาพของสื่อตกอยู่ในความเสี่ยงทั่วโลก การที่สหรัฐฯ พยายามคุมขังเขาเป็นการส่งคำเตือนที่ชัดเจนไปยังผู้จัดพิมพ์หนังสือและนักข่าวทุกที่ว่าพวกเขาอาจตกเป็นเป้าหมาย และไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเขาที่จะรับและเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นข้อมูลลับ แม้ว่าการทำเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะก็ตาม”

ศาลสูงแห่งสหราชอาณาจักรเผยแพร่คำตัดสิน ศาลจะเลื่อนการพิจารณาและให้โอกาสสหรัฐฯ ยื่นการรับรองทางการทูตใหม่ หลังจากการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ ศาลจะพิจารณาใหม่อีกครั้งในวันที่ 20 พฤษภาคม

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ย้ำข้อกังวลว่าอาสซานจ์จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงหากส่งตัวข้ามแดนไปยังสหรัฐฯ และเตือนถึง ‘ผลกระทบที่สร้างความหวาดกลัว’ อย่างรุนแรงต่อเสรีภาพสื่อทั่วโลก

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/49mJkcN

 

-----

 AMNESY WEEKLY HEADLINES.png

 

รายงานของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับฉนวนกาซาให้หลักฐานสำคัญว่าต้องมีการดำเนินการระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

26 มีนาคม  2567

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยินดีกับรายงานฉบับใหม่ของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองมาตั้งแต่ปี 2510 ซึ่งสรุปว่ามี “เหตุอันควรเชื่อว่าอิสราเอลได้ก้าวข้ามเกณฑ์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แล้ว” ในขณะที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจัดการประชุมในวันที่ 26 มีนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับสิ่งที่ค้นพบในรายงาน

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ผลงานที่สำคัญนี้จะเป็นสิ่งที่เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ต้องดำเนินการ ประเทศต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของตนภายใต้อนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อปกป้องชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาในปัจจุบัน

“ถึงเวลาที่ต้องดำเนินการเพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แล้ว ประเทศที่สามต้องใช้แรงกดดันทางการเมืองต่อประเทศคู่สงครามเพื่อให้ปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่รับรองเมื่อวานนี้ซึ่งเรียกร้องให้หยุดยิงทันที ใช้อิทธิพลของตนเพื่อยืนกรานว่าอิสราเอลต้องปฏิบัติตามมติดังกล่าว รวมถึงการหยุดการยิงถล่มและยกเลิกข้อจำกัดสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กำหนดมาตรการคว่ำบาตรการค้าอาวุธกับทุกฝ่ายในความขัดแย้งอย่างครอบคลุม และกดดันกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ให้ปล่อยตัวประกันที่เป็นพลเรือนทั้งหมด

 

“รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นสองเดือนหลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ได้มีคำตัดสินเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้น ในช่วงเวลานั้น สถานการณ์ในฉนวนกาซาเลวร้ายลงอย่างมาก โดยมีชาวปาเลสไตน์ถูกสังหารอีกหลายพันคน และอิสราเอลยังคงปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำตัดสินของ ICJ ที่ให้ประกันว่ามีการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเพียงพอแก่ชาวปาเลสไตน์ ในขณะที่ความอดอยากที่มนุษย์สร้างขึ้นเข้ามาใกล้เข้ามาทุกวันและมีจำนวนผู้คนที่อดตายมากขึ้น

“เราสะท้อนเสียงเรียกร้องในรายงานของผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติเพื่อประกันว่าหน่วยงานบรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติ (UNRWA) จะได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างเต็มที่ และสามารถปฏิบัติงานได้ทั่วทั้งฉนวนกาซา รวมถึงในฉนวนกาซาตอนเหนือที่ทางการอิสราเอลปฏิเสธไม่ให้รถบรรทุกของ UNRWA เข้าไปด้วย

“การช่วยเหลือเพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยังหมายถึงการสนับสนุนความพยายามด้านความรับผิดชอบ รวมถึงการสอบสวนอย่างต่อเนื่องโดยสำนักงานอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ และการใช้เขตอำนาจสากลเพื่อนำผู้ต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทุกประเทศและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธมิตรของอิสราเอลต้องกดดันอิสราเอลให้อนุญาตให้คณะกรรมการสอบสวนของสหประชาชาติ ผู้รายงานพิเศษ และหน่วยงานกำกับดูแลสิทธิมนุษยชนอิสระอื่นๆ เข้าถึงฉนวนกาซาได้

“การหยุดยิงอย่างยั่งยืนยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการบังคับใช้มาตรการชั่วคราวของ ICJ เพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรม และความทุกข์ทรมานของพลเรือนเพิ่มเติม ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีกระแสเรียกร้องให้ยุติการสู้รบ โดยสภายุโรปเรียกร้องให้หยุดยิงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเมื่อวานนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรับรองมติเรียกร้องให้หยุดยิงทันทีในช่วงสองสัปดาห์ที่เหลือของเดือนรอมฎอน ในตอนนี้ประเทศต่างๆ ต้องทุ่มเททำให้ข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นจริง”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/49mb01a

 

-----

 

ไนจีเรีย: ICC ต้องไม่ทำลายความหวังของผู้รอดชีวิตจากความโหดร้ายของกองทัพที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

28 มีนาคม  2567

 

สืบเนื่องจากแถลงการณ์ของสำนักงานอัยการ (OTP) ของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ภายหลังสิ้นสุดการเยือนไนจีเรียอย่างเป็นทางการ

อีซา ซานูซี ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไนจีเรีย เผยว่า เป็นอีกครั้งที่สำนักงานอัยการแสดงให้เห็นถึงการทอดทิ้งเหยื่อและผู้รอดชีวิตจากความขัดแย้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรียอย่างช้าๆ โดยแทนที่จะสอบสวนเหตุการณ์ที่โหดร้ายนี้ การเยือนไนจีเรียซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักของสำนักงานอัยการกลับมีแต่การประชุมกับหน่วยงานระดับชาติเป็นส่วนใหญ่

“ในเดือนนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว กองทัพไนจีเรียสังหารผู้ชายและเด็กผู้ชายอย่างน้อย 640 คน หลังจากที่พวกเขาหนีออกจากค่ายกิวาในไมดูกูรี รัฐบอร์โน หลังการโจมตีของกลุ่มโบโกฮาราม วันครบรอบเหตุการณ์อันน่ากลัวนี้มาพร้อมกับแถลงการณ์ของสำนักงานอัยการว่าเหยื่อต้องรอความยุติธรรมต่อไป”

ในเดือนธันวาคม 2563 อัยการ ICC ตัดสินว่าจำเป็นต้องมีการสอบสวนในไนจีเรีย บนพื้นฐานที่ว่าทางการไนจีเรียไม่เต็มใจหรือไม่สามารถสอบสวนและดำเนินคดีอาชญากรรมจำนวนมากที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศโดยสมาชิกของโบโกฮารามและกองกำลังความมั่นคงไนจีเรีย แม้จะมีคำตัดสินในปี 2563 แต่สำนักงานอัยการก็ยังไม่ได้เปิดการสอบสวนอย่างเป็นทางการ

“เมื่อพิจารณาถึงคำตัดสินในปี 2563 แถลงการณ์ของเมื่อวานเป็นการยืนยันเพิ่มเติมว่าสำนักงานอัยการเพิกเฉยต่อหน้าที่ทางกฎหมายในการสอบสวน ในขณะที่รัฐไม่ดำเนินการ แถลงการณ์ดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงความว่างเปล่าในคำสัญญาต่อเหยื่อชาวไนจีเรีย ด้วยการไม่ได้มาเยือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/4cL3T5F

 

-----

 

คีร์กีซสถาน: แอมเนสตี้ เรียกร้องยับยั้งกฎหมายควบคุมองค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ป้องกันสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนถูกละเมิด ไม่ได้รับความเป็นธรรม

20 มีนาคม  2567

 

ในช่วงสองสัปดาห์ก่อนเส้นตายสำหรับการออกกฎหมายว่าด้วย “ผู้แทนต่างชาติ” ที่รับรองโดยรัฐสภาคีร์กีซสถาน

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ประธานาธิบดีซาดีร์ จาปารอฟ จำเป็นจะต้องยับยั้งกฎหมายซึ่งจะมีผลกระทบในวงกว้างต่อความสามารถของภาคประชาสังคมในการมีส่วนร่วมสนับสนุนการทำให้สิทธิของประชาชนชาวคีร์กีซสถานเกิดขึ้นจริง

“การรักษาสภาพที่เสรีและเอื้ออำนวยต่อการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคมถือเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องสิทธิต่างๆ ทั้งสิทธิสตรี การพัฒนาชนบท และการเข้าถึงน้ำ การปรับปรุงสภาพการทำงาน การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และสภาพแวดล้อมสำหรับคนพิการ เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเด็นต่างๆ ที่องค์กรภาคประชาสังคมจัดการ ซึ่งมักได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากพันธมิตรระหว่างประเทศ

“ฉันขอเรียกร้องให้ประธานาธิบดีจาปารอฟตอบรับคำเชิญของเอ็นจีโอในคีร์กีซสถานเพื่อพูดคุย และให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผลประโยชน์ของชาวคีร์กีซสถานด้วยการยับยั้งกฎหมายนี้”

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม รัฐสภา Jogorku Kenesh ของคีร์กีซสถานได้ลงมติอย่างท่วมท้นให้นำกฎหมายที่เข้มงวดมาใช้กับองค์กรภาคประชาสังคม โดยกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดและการกำกับดูแลของรัฐบาลที่มากเกินไปสำหรับองค์กรที่ได้รับเงินทุนจากต่างประเทศ กฎหมายนี้กำหนดให้การรายงานที่ยุ่งยากเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเงิน การกำกับดูแล และการดำเนินงานทั้งหมด มุ่งเป้าไปที่องค์กรภาคประชาสังคมอิสระที่อาศัยเงินทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะ ซึ่งจะจัดอยู่ในประเภท "การปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนต่างชาติ"

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3Ja49gF