ท่าทีต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียเผยให้เห็นถึงกลไกระหว่างประเทศ ที่ไม่สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ระดับโลกได้  

28 มีนาคม 2566

Amnesty International

แถลงข่าว

ภาพถ่าย: © Chris McGrath/Getty Images

  • รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นย้ำถึงภาวะสองมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความล้มเหลวของประชาคมโลกที่จะรวมตัวสนับสนุนการนำหลักสิทธิมนุษยชนและคุณค่าอันเป็นสากลมาใช้อย่างต่อเนื่อง

  • ท่าทีแข็งกร้าวของชาติตะวันตกต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นภาพที่ตรงข้ามอย่างชัดเจนกับพันธมิตรบางประเทศ อาทิ ในอิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ซึ่งไม่ได้มีปฏิบัติการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขการละเมิดที่ร้ายแรงเลย

  • มีการคุกคามต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงในการชุมนุมประท้วง ในขณะที่รัฐไม่สามารถให้ความคุ้มครองและเคารพสิทธิในประเทศตนเองได้ 

  • ในโอกาสครบรอบ 75 ปีของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนยันว่า ต้องมีการจัดตั้งระบบสากลตามหลักนิติธรรมที่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน และต้องถูกนำมาใช้กับทุกคน และในทุกที่ 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2565/66 ระบุว่าการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซียในปี 2565 ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมสงคราม นำไปสู่วิกฤตพลังงานและอาหารระดับโลก และยิ่งบ่อนทำลายเสถียรภาพของระบบพหุภาคีระหว่างประเทศที่อ่อนแออยู่แล้ว ทั้งยังเผยให้เห็นถึงความย้อนแย้งของประเทศตะวันตกที่ตอบโต้อย่างรุนแรงต่อการรุกรานของรัฐบาลรัสเซีย แต่กลับยอมรับหรือมีส่วนร่วมในการละเมิดร้ายแรงในพื้นที่อื่นๆ  

รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ให้เห็นถึงภาวะสองมาตรฐานและการดำเนินงานที่ไม่เพียงพอ เพื่อรับมือต่อการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดและความไร้เสถียรภาพ รวมทั้งความเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซาอุดีอาระเบียและอียิปต์และการปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับระบบการแบ่งแยกอันเนื่องมาจากเชื้อชาติที่อิสราเอลกระทำต่อชาวปาเลสไตน์ 

รายงานนี้ยังเน้นให้เห็นว่า ประเทศจีนได้ใช้ยุทธวิธีแบบแข็งกร้าว เพื่อกดดันไม่ให้มีปฏิบัติการระหว่างประเทศต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่ตนเองก่อขึ้นมา รวมทั้งความล้มเหลวของสถาบันระดับโลกและภูมิภาคที่ถูกขัดขวางจากผลประโยชน์ส่วนตัวของสมาชิก ทำให้ไม่มีการรับมืออย่างเหมาะสมต่อสงครามความขัดแย้ง อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน ทั้งในเอธิโอเปีย เมียนมา และเยเมน 

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นตัวอย่างที่น่ากลัวที่ชี้ให้เห็นผลลัพธ์เมื่อรัฐคิดว่าตนเองสามารถละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่ต้องได้รับผลกระทบใดๆ

“มีการประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนเมื่อ 75 ปีที่แล้ว ซึ่งเกิดมาจากเถ้าถ่านของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นหลักการสากลที่ยอมรับว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ท่ามกลางความโกลาหลของพลวัตทางอำนาจระดับโลก เราไม่อาจปล่อยให้สิทธิมนุษยชนกลายเป็นเหยื่อที่พ่ายแพ้ในสมรภูมินี้ สิทธิมนุษยชนควรเป็นหลักชี้นำโลก เพื่อช่วยให้เราสามารถเดินทางฝ่าฟันออกจากสภาพแวดล้อมที่เปราะบางและอันตรายมากขึ้น เราคงไม่ต้องรอให้โลกมอดไหม้เป็นจุลอีกครั้ง”

 

ภาวะสองมาตรฐานอย่างน่าละอายนำไปสู่การปฏิบัติโดยมิชอบมากขึ้น 

การรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซียส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมและภาวะฉุกเฉินด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของยุโรป ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลให้มีการพลัดถิ่นของผู้คนจำนวนมาก เกิดอาชญากรรมสงคราม และวิกฤตพลังงานและอาหารระดับโลกเท่านั้น หากยังก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อสงครามนิวเคลียร์อีกด้วย

ชาติตะวันตกตอบโต้อย่างรวดเร็วโดยใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลรัสเซีย และส่งความช่วยเหลือด้านการทหารให้กับรัฐบาลยูเครน ศาลอาญาระหว่างประเทศเริ่มการสอบสวนอาชญากรรมสงครามในยูเครน ขณะที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ลงมติประณามการรุกรานของรัสเซียและถือเป็นการกระทำในลักษณะรุกราน อย่างไรก็ดี การดำเนินงานที่เข้มแข็งและน่ายินดีเช่นนี้ เป็นภาพที่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับท่าทีก่อนหน้านี้ต่อการละเมิดในวงกว้างของรัสเซียและประเทศอื่น และท่าทีที่น่าผิดหวังต่อสงครามความขัดแย้งในเอธิโอเปียและเมียนมา 

“ถ้าตอนนั้นเรามีระบบที่สามารถตรวจสอบและกดดันให้รัสเซียรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมที่มีการบันทึกข้อมูลไว้ทั้งในเชชเนียและซีเรียได้ เราคงสามารถรักษาชีวิตคนได้หลายพันคนในตอนนั้นและตอนนี้ ทั้งในยูเครนและในที่อื่นๆ แต่ในทางตรงกันข้าม พวกเรากลับต้องเผชิญความทุกข์ยากและการทำลายล้างมากขึ้น” 

“ถ้าสงครามการรุกรานของรัสเซียจะสะท้อนถึงอนาคตของโลกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ควรจะเป็นความสำคัญของระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์และถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอ ทุกรัฐต้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อฟื้นฟูระเบียบที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์ ซึ่งให้ประโยชน์กับทุกคน และทุกพื้นที่” 

สำหรับชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครอง ปี 2565 เป็นหนึ่งในปีที่มีผู้เสียชีวิตมากสุด นับแต่ องค์การสหประชาชาติเริ่มบันทึกข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2549 กล่าวคือ มีผู้เสียชีวิตประมาณ 152 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีเด็กหลายสิบคน ที่ตกเป็นเหยื่อการสังหารของกองกำลังอิสราเอล ทางการอิสราเอลยังคงบังคับชาวปาเลสไตน์ให้ออกจากบ้านตัวเอง และยังคงเดินหน้าตามแผนที่จะขยายการตั้งถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมาย ตลอดทั้งเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครอง แทนที่จะเรียกร้องให้อิสราเอลยุติระบบการเหยียดเชื้อชาติเช่นนี้ รัฐบาลตะวันตกหลายประเทศกลับเลือกที่จะโจมตีคนที่ออกมาประณามอิสราเอล 

สหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำในการวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดของรัสเซียในยูเครน และได้รับพลเมืองชาวยูเครนหลายหมื่นคนที่หลบหนีสงครามเข้าประเทศ แต่ภายใต้โยบายและการปฏิบัติที่มีพื้นฐานมาจากการเหยียดเชื้อชาติต่อคนผิวดำ รัฐบาลสหรัฐฯ กลับเนรเทศชาวเฮติกว่า 25,000 คนระหว่างเดือนกันยายน 2564 ถึงพฤษภาคม 2565 และได้ทรมานและปฏิบัติอย่างโหดร้ายกับชาวเฮติอีกจำนวนมาก 

ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเปิดพรมแดนรับชาวยูเครนที่หลบหนีมาจากการรุกรานของรัสเซีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในฐานะหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยสุดกลุ่มหนึ่งของโลก พวกเขามีศักยภาพที่จะรองรับผู้คนจำนวนมากที่แสวงหาความปลอดภัย และช่วยให้เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข การศึกษา และที่อยู่อาศัยได้ อย่างไรก็ดี หลายประเทศกลับปิดประตู ไม่รับผู้ที่หลบหนีมาจากสงครามและการปราบปรามที่เกิดขึ้นในซีเรีย อัฟกานิสถาน และลิเบีย 

“ท่าทีต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าสามารถทำอย่างไรได้บ้าง หากมีเจตจำนงทางการเมือง เราได้เห็นการประณามจากทั่วโลก การสอบสวนอาชญากรรม การเปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัย การตอบสนองเช่นนี้ควรเป็นต้นแบบของแนวทางการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกกรณี” แอกเนส คาลามาร์ด กล่าว 

ภาวะสองมาตรฐานของชาติตะวันตก ยิ่งทำให้บางประเทศได้ใจ รวมทั้งจีน และสนับสนุนให้อียิปต์และซาอุดีอาระเบีย สามารถหลบเลี่ยง เพิกเฉย และกลบเกลื่อนคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อรายงานด้านสิทธิมนุษยชนของตน

แม้จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ รุนแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติต่อชาว

อุยกูร์และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอื่นๆ รัฐบาลจีนยังสามารถหลบเลี่ยงจากการประณามจากนานาชาติได้ทั้งในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ คณะมนตรีความมั่นคง และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน 

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้แต่งตั้งผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในรัสเซีย และกลไกสอบสวนกรณีอิหร่าน ภายหลังการชุมนุมประท้วงที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่กลับลงมติไม่เห็นชอบให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม และไม่ให้นำข้อมูลจากการสอบสวนของหน่วยงานสหประชาชาติเองมาอภิปรายในที่ประชุม แม้เป็นข้อมูลที่ชี้ว่าอาจมีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติเกิดขึ้นในมณฑลซินเจียง ประเทศจีนได้ และยังยุติการพิจารณามติเกี่ยวกับประเทศฟิลิปปินส์ด้วย

“ประเทศต่างๆ นำกฎหมายสิทธิมนุษยชนมาปรับใช้เป็นรายกรณี สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความย้อนแย้งและภาวะสองมาตรฐาน รัฐสามารถวิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในที่หนึ่ง แต่กลับเพิกเฉยต่อการปฏิบัติโดยมิชอบแบบเดียวกันในประเทศอื่นได้ เพียงเพราะอาจกระทบต่อผลประโยชน์ของตน ซึ่งเป็นเรื่องที่ขาดมโนธรรมสำนึก และบั่นทอนโครงสร้างโดยรวมของสิทธิมนุษยชนสากล" 

“เรายังจำเป็นต้องกระตุ้นให้รัฐที่ปัจจุบันมัวแต่หลบซ่อนตัวอยู่หลังกำแพง แสดงจุดยืนต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใด เราต้องการความย้อนแย้งน้อยลง การมองโลกในแง่ร้ายน้อยลง และทุกรัฐต้องมีปฏิบัติการที่มีความสม่ำเสมอ มีหลักการ มีความทะเยอทะยานมากขึ้น เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิทั้งปวง” 

 

การปราบปรามที่โหดร้ายต่อผู้เห็นต่างทั่วโลก 

ในปี 2565 ผู้เห็นต่างจากรัฐในรัสเซียถูกนำตัวขึ้นศาล ทางการสั่งปิดสำนักข่าวเพียงเพราะรายงานสงครามในยูเครน ผู้สื่อข่าวถูกคุมขังในอัฟกานิสถาน เอธิโอเปีย เมียนมา รัสเซีย เบลารุส และอีกหลายสิบประเทศทั่วโลกซึ่งอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง 

ในออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย และสหราชอาณาจักร ทางการประกาศใช้กฎหมายใหม่เพื่อจำกัดการชุมนุมประท้วง ขณะที่ศรีลังกา มีการใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อยุติการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรง กฎหมายสหราชอาณาจักรให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะออกคำสั่งห้าม “การชุมนุมประท้วงที่ส่งเสียงดัง” ซึ่งบั่นทอนสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ 

มีการใช้เทคโนโลยีเป็นอาวุธเพื่อทำร้ายคนจำนวนมาก เพื่อปิดปาก เพื่อป้องกันการชุมนุมในที่สาธารณะ หรือเพื่อบิดเบือนข้อมูล

เพื่อตอบโต้กับการลุกฮือต่อต้านการกดขี่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทางการอิหร่านได้ใช้กำลังโดยมิชอบด้วยกฎหมายโดยใช้กระสุนจริง กระสุนลูกปรายโลหะ แก๊สน้ำตา และการทุบตีพวกเขา ประชาชนหลายร้อยคน รวมทั้งเด็กหลายสิบคนถูกสังหาร ในเดือนธันวาคม กองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลเปรูใช้กำลังอย่างมิชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะต่อชนเผ่าพื้นเมืองและเกษตรกร เพื่อปราบปรามการชุมนุมประท้วงระหว่างที่เกิดวิกฤตทางการเมือง ภายหลังการลงจากอำนาจของอดีตประธานาธิบดีคาสติลโญ ผู้สื่อข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ตกเป็นเป้าการปราบปราม รวมทั้งในซิมบับเวและโมซัมบิก 

สืบเนื่องจากการคุกคามที่เพิ่มขึ้นต่อสิทธิในการชุมนุมประท้วง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เปิดตัวแคมเปญระดับโลก ในปี 2565 เพื่อเผชิญหน้ากับความพยายามของรัฐที่ขยายตัวและเข้มข้นมากขึ้นในการบั่นทอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน อันได้แก่ สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งในแคมเปญนี้ ทางองค์กรเรียกร้องให้มีการรับรอง สนธิสัญญาการค้าที่ปลอดการทรมาน ที่ห้ามการผลิตและการค้าอุปกรณ์บังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิโดยพื้นฐาน และควบคุมการค้าอุปกรณ์บังคับใช้กฎหมายที่มักถูกใช้เพื่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ

 

ผู้หญิงแบกรับผลกระทบเนื่องจากรัฐไม่สามารถคุ้มครองและเคารพสิทธิ 

การปราบปรามผู้เห็นต่าง และแนวทางด้านสิทธิมนุษยชนที่นำมาใช้อย่างไม่สอดคล้อง ยังทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิทธิของผู้หญิง 

ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้กลับคำพิพากษาที่เคยเป็นหลักประกันตามรัฐธรรมนูญอย่างยาวนานเพื่อคุ้มครองสิทธิการยุติการตั้งครรภ์ จนเกิดการคุกคามต่อสิทธิมนุษยชนอย่างอื่น รวมทั้งสิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิด้านสุขภาพ ความเป็นส่วนตัว ความมั่นคง และการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง เด็กผู้หญิง และบุคคลที่อาจตั้งครรภ์ได้อีกหลายล้านคน 

จนถึงสิ้นปี 2565 หลายรัฐในสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศใช้กฎหมายห้าม หรือจำกัดการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ ขณะที่นักกิจกรรมในโปแลนด์ถูกดำเนินคดีฐานช่วยเหลือ้ผู้หญิงในการเข้าถึงยาทำแท้งแบบเม็ด 

ในสหรัฐอเมริกา ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองยังคงตกเป็นเหยื่อการข่มขืนและความรุนแรงทางเพศ มากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ในปากีสถาน มีรายงานการฆาตกรรมผู้หญิงโดยสมาชิกในครอบครัว แต่รัฐสภากลับล้มเหลวในการประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณามาตั้งแต่ปี 2564 ได้ ในอินเดีย มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงชาวดาลิตหรือจัณทาลและอาทิวาสี และอาชญากรรมจากความเกลียดชังเนื่องจากชนชั้นวรรณะ โดยไม่ต้องรับผิดทางอาญา  

ยังคงมีความเสื่อมถอยอย่างมากในอัฟกานิสถาน ในแง่ของสิทธิของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเอง สิทธิด้านการศึกษา การทำงาน และการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ อันเป็นผลมาจากประกาศหลายฉบับของกลุ่มตาลีบัน ในอิหร่าน “ตำรวจศีลธรรม” ใช้ความรุนแรงเพื่อจับกุมมาห์ซา (ซีนา) อามีนี เนื่องจากเธอสวมผ้าคลุมศีรษะแต่ยังมีไรผมโผล่ให้เห็น และอีกไม่กี่วันต่อมา เธอก็เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจ ท่ามกลางรายงานที่น่าเชื่อถือได้ว่ามีการทรมาน ส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงระดับประเทศ และเป็นเหตุให้มีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ ถูกควบคุมตัว หรือถูกสังหาร 

“ความกระหายของรัฐที่จะควบคุมร่างกายของผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ควบคุมรสนิยมทางเพศของพวกเธอ และชีวิตของพวกเธอ ส่งผลให้เกิดมรดกที่เลวร้ายของความรุนแรง การกดขี่ และการปิดกั้นศักยภาพของพวกเธอ”

 

ปฏิกิริยาระดับโลกที่ล้มเหลวอย่างรุนแรงในการรับมือกับภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ  

ในปี 2565 โลกยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้ง และวิกฤตด้านเศรษฐกิจ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งยิ่งทำให้ความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนทวีคูณขึ้นไปอีก

วิกฤตด้านเศรษฐกิจส่งผลให้ 97% ของประชากรในอัฟกานิสถานอยู่ในภาวะยากจน ที่เฮติ วิกฤตด้านการเมืองและมนุษยธรรมที่เลวร้ายมากขึ้น เนื่องจากการใช้ความรุนแรงของแก๊งอิทธิพล ส่งผลให้ประชากรกว่า 40% ต้องเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรง 

สภาพอากาศที่เลวร้ายสุดโต่ง ซึ่งรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดภาวะอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บในหลายประเทศในเอเชียใต้ และกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา อาทิ ปากีสถานและไนจีเรีย ซึ่งภาวะน้ำท่วมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้เกิดการระบาดของโรคที่แพร่ระบาดทางน้ำ และมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน 

ท่ามกลางปัญหาเหล่านี้ ประเทศต่างๆ กลับไม่ดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของมนุษยชาติ และแก้ปัญหาการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อชีวิตของเรา ความล้มเหลวเหล่านี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความอ่อนแอของระบบพหุภาคีในปัจจุบัน 

“โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตที่ทับซ้อนกันหลายประการ รวมทั้งความขัดแย้งที่กระจายเป็นวงกว้าง เศรษฐกิจโลกที่โหดร้ายอันเป็นเหตุให้หลายประเทศต้องแบกรับภาระหนี้สินที่ไม่สามารถจัดการได้ ความฉ้อฉลด้านภาษีของบรรษัท การใช้เทคโนโลยีเป็นอาวุธ วิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ และการเคลื่อนตัวของพลวัตอำนาจ เราไม่มีโอกาสรอดชีวิตจากวิกฤตเหล่านี้ หากสถาบันระหว่างประเทศไม่ดำเนินการตามเป้าประสงค์ของตน” 

 

สถาบันระหว่างประเทศที่ล้มเหลวและต้องได้รับการแก้ไข 

เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่สถาบันและระบบระหว่างประเทศ ซึ่งควรมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของเรา ที่จะต้องได้รับการเสริมสร้างให้แข็งแกร่งขึ้นไม่ใช่ถูกบั่นทอน ขั้นแรกคือการให้ทุนสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อกลไกสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้มีการสอบสวนและการรับผิด และอำนวยให้เกิดความยุติธรรม 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปหน่วยงานตัดสินใจที่สำคัญขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ความสำคัญมากขึ้นต่อประเทศและสถานการณ์ที่มักถูกเพิกเฉย โดยเฉพาะประเทศในซีกโลกใต้ 

“ต้องมีการปฏิรูประบบระหว่างประเทศอย่างจริงจัง เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน เราต้องไม่ยอมให้สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ใช้อำนาจวีโต้ของตนเองต่อไป และใช้อภิสิทธิของตนอย่างมิชอบและปราศจากการตรวจสอบ การขาดความโปร่งใสและประสิทธิภาพในกระบวนการตัดสินใจของคณะมนตรีฯ ทำให้ระบบทั้งหมดเสี่ยงที่จะถูกบิดเบือน ปฏิบัติมิชอบ และไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” 

แต่ในขณะที่รัฐบาลซึ่งสนใจแต่ประโยชน์ของตนเอง และเพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชนของพวกเรา ขบวนการสิทธิมนุษยชนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เราสามารถใช้ประโยชน์จากแรงบันดาลใจและความหวังของบุคคลที่รัฐควรให้ความคุ้มครองได้ 

ในโคลอมเบียการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้หญิงและการฟ้องร้องทางกฎหมายมีส่วนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยกเลิกการเอาผิดทางอาญากับการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 24 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ในซูดานใต้ มาไก มาติลอป เอ็นกอง ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ หลังศาลสั่งประหารชีวิตขณะมีอายุ 15 ปีเมื่อปี 2560 การปล่อยตัวเขาเกิดขึ้นหลังประชาชนหลายพันคนทั่วโลกได้ส่งจดหมายร้องเรียนต่อทางการซุดานใต้เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา 

เบอร์นาโด คาอัล โซล นักสิ่งแวดล้อมชนเผ่าพื้นเมืองมายา ได้รับการปล่อยตัวตามมาตรการพักการลงโทษ หลังถูกคุมขังอยู่สี่ปีที่กัวเตมาลา ในข้อหาที่ถูกกุขึ้นมา หลังการรณรงค์หลายปีของขบวนการผู้หญิงในสเปน รัฐสภาได้ประกาศใช้กฎหมายที่ให้ความสำคัญกับความยินยอมในการนิยามการข่มขืนตามกฎหมายคาซัคสถานและปาปัวนิวกินีได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต

“อาจเป็นเรื่องง่ายที่จะรู้สึกสิ้นหวัง ท่ามกลางความทารุณโหดร้ายและการปฏิบัติโดยมิชอบ แต่ตลอดปีที่ผ่านมา ประชาชนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเราไม่ได้ไร้อำนาจขนาดนั้น

“เราได้เห็นการต่อสู้อันอาจหาญ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงอัฟกันที่เดินขบวนประท้วงระบอบปกครองของตาลีบัน และผู้หญิงอิหร่านที่เดินในที่สาธารณะโดยไม่คลุมผม หรือมีการตัดผมเพื่อประท้วงกฎหมายบังคับให้คลุมศีรษะ ประชาชนหลายล้านคนที่ถูกกดขี่อย่างเป็นระบบภายใต้ระบอบปิตาธิปไตยและการเหยียดเชื้อชาติได้ออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องอนาคตที่ดีกว่า พวกเขาทำเช่นนี้ในปีก่อนหน้านั้น และทำเช่นนี้อีกครั้งในปี 2565 เพื่อเป็นการเตือนผู้ที่อยู่ในอำนาจว่า เราจะไม่เป็นเพียงผู้มุงดูเมื่อถูกโจมตีศักดิ์ศรี ความเท่าเทียม และเสรีภาพของเราอีกต่อไป” แอกเนส คาลามาร์ด กล่าวทิ้งท้าย

 

อ่านรายงานภาษาไทย

อ่านรายงานภาษาอังกฤษ (For English version)