คำสั่งยุติการดำเนินงานของเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ใหญ่ในฟิลิปปินส์ เป็นการโจมตีอย่างร้ายแรงต่อเสรีภาพสื่อ

7 พฤษภาคม 2563

Amnesty International 

Photo : AFP/Getty Images

สืบเนื่องจากรายงานข่าวว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (NTC) มีหนังสือขอให้หยุดกระทำการ ซึ่งส่งผลให้ ABS-CBN หนึ่งในบริษัทสื่อใหญ่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ต้องยุติการดำเนินงาน บุชต์ โอลาโน ผู้อำนวยเซ็คชั่นฟิลิปปินส์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวดังนี้ 

 

“การสั่งให้ ABS-CBN ยุติการดำเนินงานเป็นการโจมตีอย่างร้ายแรงต่อเสรีภาพสื่อ ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุระหว่างที่ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับโรคระบาดโควิด 19 ประชาชนชาวฟิลิปปินส์จำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่เที่ยงตรงจากแหล่งข่าวอิสระ รัฐบาลต้องดำเนินการทันทีเพื่อให้ ABS-CBNสามารถออกอากาศได้ และให้ยุติการดำเนินงานใด ๆ เพื่อควบคุมจำกัดเสรีภาพสื่อ"

 

“มาตรการครั้งสุดท้ายต่อ ABS-CBN เกิดขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีดูเตอร์เตได้โจมตีเครือข่ายโทรทัศน์แห่งนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า และยังเป็นการโจมตีเสรีภาพในการแสดงออกอีกครั้งหนึ่งในช่วงหลายสัปดาห์นี้ โดยก่อนหน้านี้ ทางการขู่จะดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์มาตรการรับมือโรคระบาดของรัฐบาล"

 

“เป็นวันที่มืดมนของเสรีภาพสื่อในฟิลิปปินส์ คล้ายกับยุคที่มีการใช้กฎอัยการศึกแบบเผด็จการ เพื่อเข้าควบคุมสำนักข่าวต่าง ๆ รัฐบาลควรตระหนักถึงบทเรียนจากประวัติศาสตร์ และไม่ควรเดินหน้าไปในทิศทางดังกล่าว โดยต้องคุ้มครองเสรีภาพสื่อ และผู้ที่ใส่ใจต่อเสรีภาพในการแสดงออกควรต่อต้านอย่างแข็งขันต่อการโจมตี ABS-CBN ในครั้งนี้"

 

ข้อมูลพื้นฐาน 

ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (NTC) มีหนังสือขอให้หยุดกระทำการต่อ ABS-CBN โดยสั่งให้บริษัทยุติการออกอากาศรายการโทรทัศน์และวิทยุทั่วประเทศ “เนื่องจากใบอนุญาตที่ได้รับอนุมัติจากสภาหมดอายุลงแล้ว” ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ Republic Act 3846 หรือพระราชบัญญัติควบคุมวิทยุ เพื่อออกคำสั่งนี้ โดยให้เวลาเครือข่ายสื่อแห่งนี้ 10 วันเพื่ออธิบายเหตุผลว่า เหตุใดจึงไม่ควรยุติการออกอากาศของสถานี 

ABS-CBN ได้ผลิตรายงานข่าวสอบสวนหลายครั้งที่เน้นให้เห็นปัญหาการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย โดยเป็นผลส่วนหนึ่งมาจาก “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ของรัฐบาล ในทำนองเดียวกัน เว็บไซต์ข่าวอย่าง Rappler และซีอีโอคือคุณมาเรีย เรสสา ซึ่งรายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์นโยบายปราบปรามยาเสพติด ก็ถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา รวมทั้งข้อหาหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี หมิ่นประมาทโดยการโฆษณาทางคอมพิวเตอร์ และการมีต่างชาติเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในบริษัท 

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ได้โจมตี ABS-CBN หลายครั้ง กล่าวหาว่า ไม่ยอมเผยแพร่โฆษณาทางการเมืองของเขาทั้งที่มีการจ่ายโฆษณาในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปี 2559 ซึ่งเขาชนะเลือกตั้ง ในคำแถลงเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ดูเตอร์เตเสนอให้ผู้บริหารสถานีขายบริษัทเพื่อแก้ปัญหา 

คำสั่งในวันนี้เกิดขึ้นหลังจากอัยการสูงสุดโจเซ คาลิดา เตือนคณะกรรมการ NTC ว่าอาจถูกดำเนินคดีหากออกใบอนุญาตชั่วคราวให้กับ ABS-CBN โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คาลิดาได้ฟ้องต่อศาลฎีกา ขอให้มีคำสั่งยกเลิกใบอนุญาตของ ABS-CBN เนื่องจากมีการอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในสถานีได้ ซึ่งขัดกับข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ และเนื่องจากการเปิดรับสมัครสมาชิก โดยยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล ศาลฎีกายังไม่มีคำสั่งในคดีนี้แต่อย่างใด เนื่องจากมีการระงับการปฏิบัติหน้าที่ของศาลในช่วงที่มีการกักตัวชุมชนในเขตเมโทรมนิลา สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด 19 

ปัจจุบันมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติหลายฉบับเข้าสู่การประชุมของรัฐสภาฟิลิปปินส์ เพื่อต่ออายุใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการนำร่างพระราชบัญญัติใดมาพิจารณา นับแต่เริ่มประชุมสภาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสอบสวนกลางของตำรวจเรียกตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด 19 มาสอบปากคำ โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในจำนวนผู้ที่ถูกเรียกตัวประกอบด้วยคนที่เพียงแต่แสดงความรู้สึกทุกข์ยากผ่านอินเตอร์เน็ต ศิลปินคนหนึ่งจากกรุงเซบูถูกจับโดยไม่มีหมายศาลเมื่อเดือนเมษายน 2563 หลังจากโพสต์ในเฟซบุ๊กซึ่งตำรวจมองว่าเป็น “ข่าวปลอม” พระราชบัญญัติ Bayanihan to Heal as One Act ให้อำนาจพิเศษกับประธานาธิบดีดูเตอร์เตในการรับมือกับโรคระบาด รวมทั้งข้อบทที่ให้อำนาจในการลงโทษ “การสร้าง การสนับสนุน หรือการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ” โดยมีโทษจำคุกไม่เกินสองเดือนและปรับไม่เกินหนึ่งล้านเปโซ หรือทั้งจำทั้งปรับ