โทษประหารชีวิต: การเรียกร้องให้ข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิตของสหประชาชาติได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

19 ธันวาคม 2565

Amnesty International Thailand

ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ได้ให้การสนับสนุนมติสำคัญที่เรียกร้องให้ข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิต โดยมุ่งที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 โดยประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 125 ประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนเกือบ 2 ใน 3 ของสมาชิกสหประชาชาติได้ลงคะแนนเสียงรับรองมติที่ 9 เกี่ยวกับการข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิต ขณะที่ 37 ประเทศคัดค้านข้อเสนอนี้ และ 22 ประเทศงดออกเสียง มตินี้เสนอโดยออสเตรเลียและคอสตาริกาในนามของคณะทำงานระหว่างภูมิภาคของรัฐสมาชิกและมีประเทศร่วมอุปถัมภ์ 79 ประเทศ

 

การสนับสนุนมติดังกล่าวเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่การรับรองครั้งล่าสุดในเดือนธันวาคม 2563 หลายประเทศเปลี่ยนมาลงคะแนนเสียงเห็นด้วยเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2563 กานา ไลบีเรีย และเมียนมาลงคะแนนเสียงเห็นด้วยหลังจากงดออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ของ UNGA ในปี 2563 ยูกันดาเปลี่ยนจากลงคะแนนเสียงคัดค้านมาเป็นเห็นด้วย และปาปัวนิวกินีเปลี่ยนจากคัดค้านเป็นงดออกเสียง ปาเลาและหมู่เกาะโซโลมอนลงคะแนนเสียงเห็นด้วยหลังจากไม่ได้ลงคะแนนเสียงในที่ประชุมใหญ่เมื่อสองปีก่อน ในมุมมองของเรา นี่เป็นข้อบ่งชี้ว่าชุมชนของประเทศสมาชิกสหประชาชาติกำลังเข้าใกล้การปฏิเสธโทษประหารชีวิตในฐานะการลงโทษที่ชอบด้วยกฎหมายภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศมากขึ้น

 

ตั้งแต่ปี 2550 UNGA ได้รับรองมติ 8 ฉบับที่เรียกร้องให้ข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิตโดยมุ่งที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยมีการสนับสนุนระหว่างภูมิภาคเพิ่มขึ้น มติของ UNGA มีน้ำหนักทางศีลธรรมและการเมืองค่อนข้างมาก และการพิจารณามติเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องทำให้การตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับการใช้การลงโทษที่โหดร้ายนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับประชาคมโลก จำนวนคะแนนเสียงโดยรวมที่เห็นด้วยกับมติเหล่านี้เพิ่มขึ้นจาก 104 ประเทศในปี 2550 เป็น 123 ประเทศในปี 2563 ตามข้อเท็จจริงแล้ว จำนวนประเทศที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจัดประเภทเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับคดีอาญาทุกประเภทยังเพิ่มขึ้นจาก 90 ประเทศในปี 2550 เป็น 111 ประเทศในปัจจุบันอีกด้วย

 

การเปลี่ยนแปลงในทางก้าวหน้านี้ยังปรากฏในการพัฒนาระดับชาติในปี 2565 โดยสาธารณรัฐแอฟริกากลาง คาซัคสถาน และปาปัวนิวกินีได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับคดีอาญาทุกประเภท และอิเควทอเรียลกินีได้ยกเลิกการลงโทษที่โหดร้ายนี้ออกจากประมวลกฎหมายอาญา ในหลายประเทศมีการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ เพื่อลดการใช้โทษดังกล่าว รวมถึงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม เคท บราวน์ ผู้ว่าการรัฐโอเรกอน ซึ่งลดโทษประหารชีวิตทั้งหมดในรัฐของสหรัฐฯ ก่อนออกจากตำแหน่ง แม้จะมีการต่อต้านและข่าวที่น่ากลัวจากบางประเทศที่ใช้การลงโทษที่โหดร้ายนี้เป็นประจำหลังการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมและเพื่อกำจัดผู้เห็นต่าง เช่น อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และเมียนมา การสนับสนุนระหว่างภูมิภาคที่ได้รับในการเรียกร้องให้ข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิตได้ส่งข้อความที่ชัดเจนว่า โลกกำลังมุ่งไปสู่การทำให้โทษประหารชีวิตเหลือเพียงในหนังสือประวัติศาสตร์

 

มีสองประเทศที่เปลี่ยนแปลงการลงคะแนนเสียงเชิงลบในการลงคะแนนเสียงของ UNGA ในปี 2565 โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและเยเมนเปลี่ยนจากการไม่เข้าร่วมเป็นการลงคะแนนเสียงคัดค้าน บุรุนดี กาบอง และไนจีเรีย ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมในการลงคะแนนเสียงครั้งสุดท้ายในปี 2563 งดออกเสียงในปี 2565 โดยในปี 2564 มีการบันทึกการประหารชีวิตในประเทศส่วนน้อยทั้งหมด 18 ครั้ง ในบรรดาประเทศที่มีการประหารชีวิตเหล่านี้ 11 ประเทศเป็นผู้ประหารชีวิต “อย่างต่อเนื่อง” ซึ่งหมายความว่าได้ทำการประหารชีวิตทุกปีในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ดังนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอย้ำเตือนถึงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทุกประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตให้ดำเนินการขั้นตอนต่างๆ เพื่อยกเลิก และเรียกร้องให้ประชาคมของประเทศสมาชิกสหประชาชาตินำความรับผิดชอบมาสู่การละเมิดอย่างชัดเจนต่อสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ซึ่งเราได้พบเห็นทุกวันผ่านการประหารชีวิต

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คัดค้านโทษประหารทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือผู้บริสุทธิ์ หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม