เมียนมา: ท่ามกลางการชุมนุมในเมียนมา จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้น ต้องหยุดการบังคับใช้มาตรการที่รุนแรงถึงชีวิตในทันที

2 มีนาคม 2564

Amnesty International 

สืบเนื่องจากรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 18 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ขณะที่กองกำลังตำรวจและทหารเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมโดยสงบที่เกิดทั่วประเทศเมียนมา 

เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการด้านงานวิจัยประจำภูมิภาค แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า

 

เป็นเรื่องที่น่าตกใจ และน่าหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่ง จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตอบโต้ผู้ชุมนุมโดยสงบด้วยการบังคับใช้มาตรการรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิต ซึ่งนำไปสู่การพุ่งสูงขึ้นของจำนวนผู้เสียชีวิต   

ผู้ชุมนุมจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตให้สามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของพวกเขาเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศเมียนมา   

หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหารก็ตาม คือการอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้กับการรวมกลุ่มโดยสงบ พวกเขาต้องไม่ทำร้ายผู้ชุมนุมและต้องไม่บังคับใช้มาตรการรุนแรงที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต  มาตรการใดก็ตามที่จะบังคับใช้เพื่อจำกัดสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ต้องคำนึงถึงความถูกต้องตามกฎหมาย ความได้สัดส่วน และความจำเป็นในการบังคับใช้

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็วนี้ กองกำลังรักษาความปลอดภัยของเมียนมาจะต้องยุติการบังคับใช้กำลังโดยปราศจากความจำเป็นต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ และจะต้องปล่อยผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมดทันที  

 

 

ข้อมูลพื้นฐาน  

ตามรายงานของสื่อมวลชน มีผู้ชุมนุม 18 คนถูกฆ่าในวันที่  28 กุมภาพันธ์ จากการที่กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้ใช้อาวุธร้ายแรงต่อผู้ชุมนุมโดยสงบที่เกิดขึ้นจำนวนมากทั่วประเทศเมียนมา  

หลังจากเกิดการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ประชาชนชาวเมียนมาได้จัดการชุมนุมขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งเป็นไปด้วยความสงบสันติ  

ก่อนหน้านี้คณะปฏิบัติการค้นหาความจริงของสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้พลอเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดผู้ซึ่งกำลังบริหารประเทศเมียนมาในขณะนี้ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ให้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนและดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรรมสงคราม, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์