สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 6 พฤษภาคม - 12 พฤษภาคม 2566

15 พฤษภาคม 2566

Amnesty International

 
ประเทศไทย : การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะแสดงเจตจำนงค์ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
12 พฤษภาคม 2566
 
ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การลงคะแนนเสียงที่กำลังจะมีขึ้นในประเทศไทย เป็นโอกาสสำคัญที่พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะยืนยันต่อสาธารณะถึงเจตจำนงค์ที่จะคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิของกลุ่มคนชายขอบ ภาคประชาสังคม และเยาวชน หากได้รับเลือกตั้ง
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลชุดใหม่ของประเทศไทยต้องรับประกันว่า ประชาชนในไทยจะสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมประท้วงโดยสงบ และการสมาคม รวมทั้งจะไม่ต้องถูกลงโทษเพียงเพราะการแสดงออกอีกต่อไป นอกจากนั้น รัฐบาลต้องยกเลิกการดำเนินคดีทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและนโยบายทั้งหมดที่ขัดขวางการใช้สิทธิเหล่านี้อย่างเต็มที่
“ภายหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2562 ประเทศไทยต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง ประกอบกับการลุกฮือเพื่อชุมนุมประท้วงที่นำโดยเยาวชนทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง การบังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับโรคระบาดส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจที่รุนแรงอยู่แล้วเลวร้ายลงไปอีก ทั้งยังเพิ่มทวีความไม่เท่าเทียมในสังคม และนำไปสู่ข้อจำกัดอันไม่สมเหตุสมผลต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3O5BVYs
 
----
 
 
ฟิลิปปินส์ : การพ้นผิดของ เลลา เดอ ลิมา ขั้นตอนสู่ความยุติธรรมที่เกินกำหนดมานาน
12 พฤษภาคม 2566
 
สืบเนื่องจากข่าวที่ศาลในฟิลิปปินส์ เพิกถอน 1 ใน 2 คดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดต่ออดีตวุฒิสมาชิกเลลา เดอ ลิมา
มอนต์เซ แฟร์เรอร์ รักษาการรองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“การพ้นผิดบางข้อหาของนักโทษทางความคิดและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เลลา เดอ ลิมา นั้นเกินกำหนดมานานแล้ว ในขณะที่ความยุติธรรมสำหรับเธอเกิดขึ้นอย่างล่าช้า หลังจากที่เธอถูกควบคุมตัวโดยพลการหลายปีและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่เธอต้องทน”
“เราขอเรียกร้องให้ทางการยกเลิกคดียาเสพติดที่เหลืออยู่ด้วยและประกันว่าคำร้องขออิสรภาพชั่วคราวของเธอในคดีที่ค้างอยู่นี้จะได้รับการดำเนินการอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ทางการจะต้องไม่ให้เกิดความล่าช้าในการปล่อยตัวและอนุญาตให้เธอกลับไปอยู่กับครอบครัว เพื่อนและผู้สนับสนุนอีกครั้งหลังจากที่เวลาล่วงเลยมา 6 ปี”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3M0nlic
 
----
 
สหภาพยุโรป : การสั่งห้ามการใช้ AI ที่เป็นอันตรายที่สุดเข้าใกล้ความสำเร็จอีกขั้น
11 พฤษภาคม 2566
 
สืบเนื่องจากการลงมติของรัฐสภายุโรปเกี่ยวกับวิธีการควบคุมระบบปัญญาประดิษฐ์ภายใต้กฎหมายปัญญาประดิษฐ์ (AI Act) ของสหภาพยุโรป
เมอร์ ฮาโกเบียน ที่ปรึกษาด้านนโยบายของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“ในวันนี้ รัฐสภายุโรปส่งสัญญาณอย่างหนักแน่นว่าสิทธิมนุษยชนจะต้องอยู่ในแถวหน้าของกฎหมายที่สำคัญนี้ โดยการลงมติห้ามการปฏิบัติที่ใช้ AI หลายอย่างที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน
“การห้ามระบบการระบุไบโอเมตริกซ์ระยะไกลแบบสดนับเป็นก้าวที่สำคัญ แม้ว่าข้อความดังกล่าวจะไม่ได้มีผลย้อนหลังทำให้การสอดแนมประชาชนโดยรัฐเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยจำกัดการใช้เฉพาะการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้นและอยู่ในขอบเขตทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/44QH6kO
 
----
 
อินโดนีเซีย : ปล่อยตัว วิคเตอร์ ยีโม และ นักเคลื่อนไหวชาวปาปัวคนอื่นๆ ที่ถูกคุมขังอย่างไม่มีเงื่อนไข
7 พฤษภาคม 2566
 
ทางการอินโดนีเซียจะต้องปล่อยตัวชาวปาปัวและผู้ที่ถูกคุมขังเพียงเพราะการแสดงออกโดยสงบในทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินโดนีเซีย และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา กล่าวภายหลังคำตัดสินความผิดและโทษจำคุกต่อโฆษกคณะกรรมการแห่งชาติปาปัวตะวันตก (KNPB) วิคเตอร์ ยีโม ในเมืองจายาปุระ
ในวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม ยีโมถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน เนื่องจากมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติในปาปัว เมื่อเดือนสิงหาคม 2019
“การที่เขาและชาวปาปัวจำนวนมากถูกจับกุมและคุมขังเนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสงบ แสดงถึงการที่รัฐละเลยต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” อัสแมน ฮามิด ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินโดนีเซีย กล่าว
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3MmCeNf
 
----
 
โลก : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้มีการคุ้มครองทางสังคมถ้วนหน้า เนื่องจากวิกฤตที่ทับซ้อนกันทำให้ผู้คนหลายร้อยล้านคนเผชิญกับภัยพิบัติ
10 พฤษภาคม 2566
 
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องความปลอดภัยในสังคมให้กับทุกคนทั่วโลกหลังจากเกิดวิกฤตหลายครั้ง ทำให้เกิดช่องโหว่ขนาดใหญ่ในระบบการสนับสนุนและการคุ้มครองของรัฐ ทิ้งให้คนหลายร้อยล้านต้องเผชิญความอดอยากหรือติดอยู่ในกับดักวงจรความยากจน
ในรายงานสั้นที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ราคาที่เพิ่มสูง การประท้วงที่เพิ่มขึ้น: กรณีการคุ้มครองทางสังคมสากลถ้วนหน้า องค์กรสิทธิมนุษยชนยังคงเรียกร้องให้มีการผ่อนปรนหนี้ระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายปฏิรูปภาษีและปราบปรามการหนีภาษีเพื่อเพิ่มเงินทุนจำนวนมากในการใช้จ่ายด้านการคุ้มครองทางสังคม
“วิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเผยให้เห็นว่าหลายรัฐขาดความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่ประชาชนอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าตกใจที่คนกว่า 4 พันล้านคนหรือประมาณร้อยละ 55 ของประชากรโลก ไม่มีสิทธิ์ขอความช่วยเหลือแม้กระทั่งการคุ้มครองทางสังคมขั้นที่พื้นฐานที่สุด ถึงแม้ว่าสิทธิในความปลอดภัยในสังคมจะได้รับการคุ้มครองตั้งแต่ปี 2491 ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3nV8fT0