5 ดาราไทยกับการเรียกร้องสิทธิทางการเมือง : เพราะการเมืองควรเป็นเรื่องที่สามารถพูดถึงได้

8 มิถุนายน 2564

Amnesty International Thailand

เรื่องและภาพโดย สิทธิศักดิ์ บุญมั่น และวิชัย ตาดไธสงค์

“หากการเมืองดี คุณภาพชีวิตของเราก็จะดีตามไปด้วย” ประโยคที่อาจจะติดปากใครหลายๆ คน เพราะถ้าการเมืองภายในประเทศดี การมีชีวิตที่ดีของประชาชนก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เนื่องจากการเมืองถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ใช้ในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง และในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย หากการเมืองไม่ดี ประชาชนก็มีสิทธิที่จะออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีอิสระ แต่สำหรับในประเทศไทย การที่ประชาชนลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกลับถูกกีดกันจากเจ้าหน้าที่รัฐ และนำพาไปสู่การใช้ความรุนแรง

ไม่เพียงแต่การแสดงออกทางการเมืองบนโลกแห่งความเป็นจริงเท่านั้น บนโลกออนไลน์เองก็กลายเป็นพื้นที่แห่งหนึ่งที่ประชาชนใช้ในเรียกร้องให้การเมืองมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ทำให้การออกมาเคลื่อนไหวได้รับความสนใจมากขึ้นก็คือเหล่าบรรดาบุคคลผู้ที่มีชื่อเสียง อย่างนักร้องและดาราที่มีผู้ติดตามบนโลกออนไลน์จำนวนมาก ดั่งเช่น 5 ดาราและนักร้องที่มีความโดดเด่นที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงเคียงข้างประชาชน ที่ซึ่งต้องเดิมพันทั้งหน้าที่การงาน และชื่อเสียงของตน

 

ทราย เจริญปุระ

ทราย หรืออินทิรา เจริญปุระ หนึ่งในดาราที่ถือได้ว่ามีจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจน และมีความโดดเด่นในเรื่องของการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงทำให้เธอได้กลายเป็นแม่ยกของเหล่าผู้ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย และแน่นอนว่าการออกมาทำเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อการทำงานในวงการบันเทิงของเธอ เพราะทรายเองก็ถูกโจมตีจากผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองบนโลกออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง แต่เธอก็ยังยืนหยัดที่จะเป็นผู้สนับสนุนให้แก่ประชาชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทย จนในที่สุดเธอได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

 

แอมมี่ The Bottom Blues

แอมมี่ หรือไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ สมาชิกวง The Bottom Blues ศิลปินผู้ออกมายืนหยัดต่อสู้เคียงข้างประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นอีกหนึ่งคนที่มีความน่าสนใจ เพราะถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างแรงกล้า จนถูกออกหมายจับในคดีเกี่ยวกับการเผาทำลายทรัพย์สินของทางราชการที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และฐานความผิดในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ มาตรา 112 และต้องถูกนำตัวเข้าไปคุมขังยังในเรือนจำ แต่ถึงกระนั้นอุดมการณ์ทางการเมืองของแอมมี่ก็ไม่ได้ลดหลั่นลงไปเลย ทั้งยังขอให้ประชาชนสู้ต่อไปเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม

 

โฟกัส จีระกุล

โฟกัส จีระกุล ดาราสาวผู้แจ้งเกิดมาจากบทบาทของน้อยหน่าในภาพยนตร์เรื่องแฟนฉันเมื่อปี 2546 และโด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้ โฟกัสกลายมาเป็นดาราอีกคนที่แสดงออกทางการเมือง และมีจุดยืนในการสนับสนุนประชาชนผู้ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย จากการที่เธอได้โพสต์ข้อความประณามการใช้ความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ สี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้คนบนโลกออนไลน์เองมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับโพสต์ของเธอ การต่อสู้ทางการเมืองของโฟกัสถือได้ว่าเป็นที่น่าจับตามอง เพราะได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์เกมและ e-sports อีกด้วย

 

หนูนา หนึ่งธิดา

หนึ่งธิดา โสภณ หรือ หนูนา ดาราสาวที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านการทวีตบนทวิตเตอร์ส่วนตัว จนทำให้ถูกผู้มีความเห็นต่างจำนวนมากเข้ามาถล่มเธออย่างหนัก หนูนากลายเป็นดาราอีกหนึ่งคนที่มีจุดยืนทางการเมืองเมืองอย่างชัดเจน เพราะแทบจะทุกครั้งที่มีการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ชุมนุม เธอก็จะออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านการทวีตลงบนทวิตเตอร์ส่วนตัว และล่าสุดหนูนาได้ออกมาทวีตข้อความว่า

“เหมือนจ่ายเงินจ้างพนักงานในบริษัท แล้วทำงานห่วยแตกมาก ทำอะไรไม่ได้เลย บริษัทขาดทุนย่อยยับ กำลังจะพัง แต่มีคนมาบอกว่าอย่าไล่เค้าออก เพราะเค้ารักบริษัท ให้เค้าทำงานต่อไป ได้หรอ?? แบบนี้คือเค้ารักจริงๆหรอ หรือแค่รักให้ตัวเองรอด”

จนทำให้ผู้คนตีความไปต่างๆ นานาว่าเธอกำลังกล่าวถึงใคร บ้างก็ว่าอาจจะกล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลไทยที่ล้มเหลวในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ถึงอย่างไรก็ตามการออกมาแสดงความคิดเห็นของเธอก็ทำให้สังคมได้ฉุกคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย

 

อัด อวัช

อวัช รัตนปิณฑะ หรือ อัด นักแสดงวัยรุ่นอีกคนที่หันมาสนใจประเด็นทางการเมือง แจ้งเกิดจากซีรีส์ชื่อดังเมื่อปี 2556 อย่าง ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น ในบทบาทของโอ๊ค จุดเริ่มต้นของการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของอัดนั้นเริ่มมาจากการเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อน แต่เนื่องด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เองก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ประจวบกับเริ่มมีประเด็นการอุ้มหายและการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจคุกคามนักกิจกรรมทางเมือง จึงทำให้อัดเริ่มหันมาสนใจประเด็นทางการเมือง ออกมาแสดงความคิดเห็นของตนบนทวิตเตอร์ส่วนตัว และคอยเคียงข้างนักกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมา

การออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองควรกลายเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ เพราะเป็นสิทธิในการแสดงออกที่เราสามารถพึงกระทำได้ในสังคมของประชาธิปไตย ดั่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 19 เสรีภาพในการแสดงออก

ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกรวมทั้งอิสรภาพในอันที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง แสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารตลอดจนข้อคิดผ่านสื่อใด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน