ดวงตามืดบอด ครอบครัวแตกสลาย ผลพวงจากการใช้กระสุนยางของเจ้าหน้าที่รัฐ

20 กรกฎาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

“จุดที่เขายิงเรามันใกล้มากไม่เกิน 2 คันรถ ยิงอัดเข้ามาเลยกระจกบาดตาข้างขวาบอด กระสุนเฉียดตาข้างซ้ายตอนนี้เห็นแค่แสงเลือนราง”

 

ช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2564  หนึ่ง ฐนกร ผ่านพินิจ อายุ 48 ปี ขี่รถจักรยานยนต์กับลูกชาย ออกจากบ้านในย่านอ่อนนุช เพื่อไปซื้อต้นไม้ที่สวนจตุจักร ฐนกรเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ เขาอาศัยอยู่ในวัดแห่งหนึ่ง เมื่อมีเวลาว่างเมื่อไหร่ฐนกรมักใช้เวลาไปกับการปลูกต้นไม้ที่วัด

“ผมเตรียมโอ่งไว้แล้ว จะไปซื้อต้นกล้วยไข่กับกล้วยหอมมาปลูก”

แต่ฐนกรไม่มีโอกาสได้ปลูกต้นไม้นั้นอีกต่อไป เมื่อระหว่างทางไปตลาดสวนจตุจักร เขาพบว่ามีตู้คอนเทนเนอร์ตั้งขวางถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก ฐนกรตัดสินใจเดินทางกลับ แต่ในระหว่างทางเขาเห็นว่ามีการชุมนุมประท้วง เพื่อขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ฐนกรและลูกชายตัดสินใจจอดรถมอเตอร์ไซต์เพื่อดูเหตุการณ์ และนับจากวินาทีนั้นชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

 

ยิงระยะประชิด! หนึ่งดวงตามืดบอด อีกหนึ่งเห็นเพียงแสงเลือนราง

ในระหว่างที่จอดรถ ฐนกรเห็นผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งกับเจ้าหน้าที่ คฝ. เผชิญหน้ากันอยู่ โดยที่กลุ่มเจ้าหน้าที่ คฝ. อยู่บนเชิงสะพานขึ้นทางด่วน และมีกลุ่มผู้ชุมนุมและนักข่าวอยู่ห่างไปไม่ไกลจากฐนกร

“มีการยั่วยุกันเกิดขึ้น ทันใดนั้นทาง คฝ. ก็ใช้ปืนยิงใส่มาเลย”

ฐนกรเล่าให้ฟังว่าก่อนได้ยินเสียงกระสุนปืน มีการยั่วยุกันเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ คฝ. แต่ไร้ซึ่งสัญญาณบอกกล่าวใดๆ เจ้าหน้าที่ คฝ. ก็เปิดฉากยิง กลุ่มผู้ชุมนุมและนักข่าวต่างวิ่งหนีกันกระเจิง

“ผมวิ่งหนีไม่ทัน กระสุนยางยิงมาทะลุหน้ากากหมวกกันน็อคเต็มใบ เศษหน้ากากบาดตาขวาบอด ส่วนลูกกระสุนถางตาซ้าย ตอนนี้มองเห็นแค่แสงเลือนราง”

หลังจากถูกยิงฐนกรพาตัวเองมาหลบอยู่หลังเสาไฟฟ้า เขาทรมานและเจ็บปวดที่เห็นเลือดไหลออกมาจากดวงตา แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ฐนกรเล่าว่าในขณะที่หลบอยู่หลังเสาไฟฟ้า ถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ยิงกระสุนยางใส่ด้านหลัง แต่โชคดีที่เขาสะพายเป้ จึงไม่ได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม จนกระทั่งมีประชาชนเข้ามาช่วยเหลือ พาเขาส่งไปรักษาตัวที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า

“ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าเดี๋ยวก็คงหายแล้ว”

แต่ไม่เป็นเช่นนั้น ฐนกรกลายเป็นผู้พิการนับตั้งแต่เหตุการณ์ดังกล่าว ตาข้างขวาบอดสนิท  ส่วนตาข้างซ้ายต้องผ่าตัดมาแล้วถึง 4 ครั้ง ตอนนี้ยังเห็นเพียงแสงเลือนราง ฐนกรต้องรอดวงตาบริจาคเพื่อจะผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา

“หลังจากถูกยิงชีวิตลำบากขึ้นเยอะ ผมเคยเป็นหัวหน้าครอบครัว เคยให้เงินแฟนกับลูกใช้ แต่วันนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น แฟนต้องลำบากขึ้น ลูกจากเคยมีเงินไปโรงเรียน 10 บาท 20 บาท มันก็ไม่มี” 

 

P1010137.JPG

ครอบครัวที่แตกสลายของหนึ่ง ฐนกร

ฐนกรเคยทำอาชีพขับรถ 6 ล้อ รับของจากท่าเรือกรุงเทพฯ ไปส่งสถานที่ต่างๆ ตามที่นายจ้างกำหนด เขามีรายได้ต่อเดือนประมาณ 20,000 บาท อาศัยอยู่กับแฟนสาวและลูกชายอีก 2 คน ลูกชายคนเล็กเรียนอยู่ชั้นประถม 4 ส่วนลูกชายคนโตอายุ 18 ปี หลังจากเกิดเหตุเขาไม่ได้ติดต่อพูดคุยกับลูกชายคนโตอีกเลย

“ครอบครัวผมเขาคงเหนื่อยและผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น ความสัมพันธ์ในครอบครัวเปลี่ยนไป แฟนตะคอกเรามากขึ้น ผมก็ผิดหวังที่ไม่สามารถเป็นหัวหน้าครอบครัวได้อีกต่อไป”

ฉากหลังชีวิตของฐนกรเหมือนอีกหลายชีวิต ที่เข้ามาหาโอกาสในเมืองหลวง เขาเกิดที่ จ.ศรีสะเกษ ก่อนย้ายมาเติบโตที่กรุงเทพฯ พ่อกับแม่ของเขาแยกทางกัน ฐนกรต้องอาศัยอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เขาชอบที่จะช่วยงานในวัดเท่าที่จะทำได้ ตามความเชื่อของพุทธศาสนาที่ว่า เขาจะได้รับผลบุญจากการกระทำดังกล่าว

ฐนกรเคยเป็นอดีตผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.) เขาเคยออกไปร่วมชุมนุมเมื่อปี 2553 ได้เห็นความรุนแรงที่รัฐใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ชุมนุม เขาในวันนั้นไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เขาออกไปชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะเชื่อว่ามันคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 คนรู้จักหลายคนของฐนกรเสียชีวิต นับจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเขาตัดสินใจหยุดออกไปชุมนุม เพราะให้กำเนิดลูกคนที่ 2 และเขาต้องทำมาหากิน

แต่โชคก็ไม่เข้าข้าง ฐนกรมักย้ำอยู่หลายครั้งว่า คงเป็นเพราะเวรกรรมที่เขาเคยทำไว้ แต่เขาก็ตั้งคำถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ คฝ. ต้องพยายามเข่นฆ่าชีวิตผู้ชุมนุม เอากันให้ถึงตายหรือพิการ ทั้งยังไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้นก่อนการใช้อาวุธ

“ถ้าโดนยิงลำตัวหรือที่ขา ผมยังทำมาหากินได้ แต่ยิงเข้าที่ตาชีวิตมันหมดเลยนะ ทำมาหากินไม่ได้แล้ว”

ชีวิตที่ต้องสูญเสียการมองเห็น จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ทำลาย 1 ครอบครัวให้แตกสลาย ฐนกรต้องยุติการทำงานทั้งหมด เขากลายเป็นคนพิการไร้สมรรถภาพโดยสิ้นเชิง ฐนกรกล่าวว่าชีวิตประจำวันทุกวันนี้ คือตื่นเช้ามากินข้าว เดินออกไปคุยกับพระในช่วงบ่าย ก่อนกลับมาเล่นโทรศัพท์ที่ให้ลูกชายช่วยเปิด Facebook ให้ ฟังแต่เสียงที่เป็นความบันเทิงเดียวในชีวิตที่เขาจะหาได้ 

“มันเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยว เหมือนอยู่ในโลกที่มองไม่เห็นอะไร ไม่เห็นแม้กระทั่งหน้าลูก เมีย หน้าผู้คน ได้ยินเพียงแต่เสียง”

ฐนกรยอมรับว่าเขาเคยคิดสั้นอยากฆ่าตัวตาย เขารู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่าอยู่ไปก็เป็นภาระลูกและเมีย ในระหว่างที่เขาจมอยู่กับความคิดดังกล่าว พระในวัดก็เข้ามาเตือนสติเขาว่า

“มึงต้องพยายามสู้ไว้นะโว้ย เดี๋ยวตามึงก็หายไม่ต้องไปคิดอะไรมาก”

ฐนกรผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ เพราะตาข้างซ้ายที่ยังคงมองเห็นแสง และความเป็นห่วงที่เขามีให้แก่ครอบครัว แต่เขาก็บอกว่ากว่าจะผ่านมาได้แต่ละวันนั้น มันช่างเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานเสียเหลือเกิน

 

 

 P1010095.JPG

ถึงเจ้าหน้าที่รัฐ โปรดอย่ายิงกันให้ถึงตายเลย!

“ถ้าคุณคิดจะยิงสั่งสอนประชาชน คุณไม่สมควรที่จะยิงเหนือหัวขึ้นไป ร่างกายส่วนอื่นถึงมันจะเจ็บแต่รักษาได้ แต่กับดวงตาผมต้องสูญเสียมันไปตลอดชีวิต

ฐนกรจำได้ดีว่าวันนั้นเขาได้ยิงเสียงกระสุนปืนนับครั้งไม่ถ้วน มันคือการยิงที่ไม่ได้เป็นไป

เพื่อการระงับเหตุ แต่มันคือการยิงเพื่อหวังผลมากไปกว่านั้น โดยไม่ได้สนใจว่าผลกระทบที่ตามมาของผู้ถูกยิงนั้นจะต้องเจ็บปวด และทนทุกข์ทรมานเพียงใด

ฐนกรพยายามมองโลกในแง่ดี และเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ คฝ. ต้องยิง เพราะพวกเขาถูกสั่งการมา เขาขอเพียงให้เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้ความระมัดระวังมากกว่านี้ 

“คนที่คุณยิงมีลูกมีครอบครัว อย่าไปทำแบบนี้กับใครอีกเลย ยิงตามร่างกายเขา ให้เขาสามารถกลับไปทำมาหากินได้ ถ้าสิ่งนี้มันเกิดกับลูกหลานคุณบ้าง คุณก็คงไม่ต่างอะไรจากผม”

ฐนกรยังคงต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นประจำทุกเดือน เขาได้รับความช่วยเหลือเรื่องการเงินโดยหมอทศพร เสรีรักษ์ กับบัตรคนพิการที่จะได้รับเงินเดือนละ 800 บาท นอกเหนือจากนั้นเขาไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐเลย

โดยสิ่งเดียวที่ฐนกรอยากได้รับมากที่สุดตอนนี้ คือการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นกว่าเดิม เขากล่าวว่าการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ จำเป็นต้องรอการผ่าตัดอย่างไม่รู้จุดหมาย เขาอยากทำอย่างไรก็ได้ ให้เขาสามารถกลับมามองเห็นด้วยตาเพียงข้างเดียว เท่านี้ก็เพียงพอให้เขาสามารถกลับไปทำมาหากิน 

“ดวงตามันทำให้เราดำรงชีวิตได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ได้เห็นสิ่งดีๆ ได้เห็นสิ่งสวยงาม ถ้ามองไม่เห็นแล้วก็เหมือนไม่เหลืออะไรเลย”

และในฐานะที่ฐนกรเป็นคนที่ต้องสูญเสียดวงตา จากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเขาก็ได้รับรู้ว่ามีคนอีกนับพันบนโลกนี้ ที่ต้องประสบชะตากรรมเดียวกับเขา จากรายงานชื่อ “ลูกตาเราแตก” (My Eye Exploded) ที่เป็นการตีพิมพ์ร่วมระหว่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกับมูลนิธิโอเมกา ชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ทั่วโลกมีผู้ชุมนุมประท้วงและประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หลายพันคนได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม โดยในจำนวนนี้เกิดการบาดเจ็บที่ดวงตากว่า 440 ครั้ง มีผู้คนสูญเสียดวงตาหรือลูกตาแตกกว่า 30 คน และมีอย่างน้อย 53 คน ที่เสียชีวิตจากกระสุนที่เจ้าหน้าที่ยิงใส่

 

โดยทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกข้อเสนอ 4 ข้อ เพื่อยุติความรุนแรงและการสูญเสียจากการใช้งานอาวุธ KIPs (อาวุธวิถีโค้งที่มีแรงกระแทก) ไว้ดังต่อไปนี้

1. ขอให้รัฐบาลสร้างมาตรการควบคุมการผลิต/นำเข้า KIPs 

2. ให้มีมาตรการในการใช้ KIPs ของเจ้าหน้าที่กรณีสลายการชุมนุมอย่างเข้มงวด และต้องสามารถตรวจสอบสายการบังคับบัญชาได้

3. ให้ประชาชนทั่วไปเห็นถึงข้อกังวลและความอันตรายของการใช้ KIPs อย่างไร้มาตรฐาน

4. ให้เกิดความเป็นธรรมและการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบจาก KIPs

 

ซึ่งถ้าหากรัฐปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ เชื่อได้ว่าจะสามารถยุติความสูญเสีย และความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุได้ และสำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นมาแล้ว ฐนกรในฐานะผู้ประสบเหตุ เขาก็อยากฝากถึงผู้คนที่ผ่านประสบการณ์เช่นเดียวกับเขาว่า

“สำหรับคนที่ถูกกระสุนยางยิงเข้าดวงตา เขาก็คงคิดเหมือนกับผมตอนนี้ว่า อยากกลับมามองเห็นเพื่อสู้ชีวิตต่อ เราอยากให้กำลังใจมีคำเดียวคือต้องสู้ คนเราโดนไปแล้วมันย้อนไปไม่ได้หรอก”

 

วันเสาร์อากาศร้อนอบอ้าว การพูดคุยกับฐนกรจบลงในช่วงบ่าย แฟนของเขาเสร็จสิ้นจากการขายน้ำชง เดินกลับเข้ามาด้วยความเหน็ดเหนื่อยอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ลูกชายคนโตแม้จะพักอาศัยอยู่ไม่ไกลกัน แต่ฐนกรบอกว่าเขาไม่เคยได้นั่งพูดคุยกับลูกชายของเขาเลย คงจะมีเพียงแค่ลูกชายคนเล็ก ที่วิ่งเล่นอยู่กับเพื่อนแถวนั้น นานๆ ครั้งฐนกรจะเรียกให้ลูกชายมาเปิดโทรศัพท์ให้ บรรยากาศในวัดเงียบสงัด เวลาเคลื่อนผ่านอย่างเชื่องช้า ฐนกรนั่งจมจ่ออยู่บนเก้าอี้ตัวเดิม ใต้ถุนศาลาวัดภายใต้ความมืดมิด ที่มีห้องขนาดไม่เกิน 2 คูณ 2 เมตร หลบมุมอยู่ไม่ไกลสำหรับทั้ง 3 ชีวิต  แม้จะไม่ได้เป็นคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แต่ครอบครัวของฐนกรเคยมีความสุขมากกว่านี้ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ คฝ. ลั่นไกกระสุนยาง ใส่ดวงตาของเขาอย่างไร้ความปรานี