คนรุ่นใหม่ ใส่ใจสิทธิ

26 เมษายน 2566

Amnesty International

 

 

ก้อย หนึ่งในตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นศักยภาพและโอกาสในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนในไทย ผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยผ่านการร่วมบริจาคอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเริ่มต้นจากการพบปะผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนในไทย และเรียนรู้จากการบอกเล่าแบบ “ปากต่อปาก” ถึงการดำเนินงานต่างๆ กระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสไปร่วมงาน Taste  of Rights: ผัสสะแห่งสิทธิ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ณ The Jam Factory คลองสาน กรุงเทพฯ ซึ่งตรงกับวันรัฐธรรมนูญไทย และวันสิทธิมนุษยชนสากลโลกพอดี

ภายในงานระดมทุนครั้งใหญ่ที่จะจัดขึ้นทุกปลายปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และเครือข่าย อาทิ ประชาชนเบียร์ และ ประชาไท ไม่ได้มีเพียงบูธขายสินค้าเรียงรายเท่านั้น แต่ยังมีวงสนทนา ‘รสชาติ’ กับชีวิตของผู้คน’ และการเปิดให้ร่วมลงชื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งในไทยและต่างประเทศเช่นกัน

“วันนั้นเราลงชื่อในส่วนของสมาชิกไว้ด้วย เพราะสนใจรับข้อมูลข่าวสารทั้งในไทยและต่างประเทศ ไม่นาน ฝ่ายระดมทุนก็ติดต่อกลับมาทางโทรศัพท์ เพื่อแบ่งปันข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ประเด็นที่ทางแอมเนสตี้ ประเทศไทย กำลังเคลื่อนไหวอยู่ เรื่องน้องตะวัน-น้องแบม ซึ่งเป็นประเด็นที่เราสนใจพอดี ก็เลยถือโอกาสนี้ให้การสนับสนุนคนที่ทำงานโดยตรง”

 

สิทธิมนุษยชนในไทย

“ประเทศไทยเปิดกว้างก็จริง แต่ว่าเรื่องโครงสร้างของกฎหมายของเรายังไม่ได้รองรับประเด็นเรื่องสิทธิมากเท่าที่ควร ตั้งแต่เรื่องสิทธิในร่างกาย สิทธิในการแต่งกาย หรือแม้กระทั่งทรงผมในโรงเรียน ไปจนถึงประเด็นใหญ่ๆ ระดับประเทศ”

ในด้านหนึ่ง การจัดกิจกรรมห้องเรียนสิทธิมนุษยชนศึกษาของแอมเนสตี้ให้กับกลุ่มผู้สนใจในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเฉพาะในหมู่นักเรียนและนักศึกษา จึงเป็นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่อาจไม่ได้มีสอนในชั้นเรียนในสถาบันการศึกษาได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุผลนี้ ก้อยจึงอยากให้การเคลื่อนไหวของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ได้รับการยอมรับ และได้รับการสนับสนุนอย่างเหนียวแน่น เพราะประเด็นสิทธิไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ครอบคลุมทุกกลุ่มคนตั้งแต่เกิด ฉะนั้นการสร้างความตระหนักรู้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะความเข้าใจในโครงการหรือแคมเปญต่างๆ ของทางแอมเนสตี้เอง

“อย่างเรื่องการออกมาเทคแอ็คชั่นหรือว่าทำแคมเปญเรื่องน้องตะวัน-น้องแบม เราไม่แน่ใจว่า แอมเนสตี้เริ่มต้นเคลื่อนไหวมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ว่าเหมือนน้องเขาอดอาหารไปได้สักระยะหนึ่งแล้วเราถึงเห็นแคมเปญของแอมเนสตี้”

ปัจจุบัน มีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง ซึ่งถูกทางการไทย จับกุม ดำเนินคดี สอดแนมข้อมูล และข่มขู่ ทั้งที่พวกเขาเพียงออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ก้อยมองว่า ‘ปฏิบัติการด่วน’ (Urgent Action) ซึ่งทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ทั้งในไทยและในต่างประเทศ ร่วมรณรงค์ เพื่อเป็นสื่อกลางในการเรียกร้องความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่ได้จำกัดเพียงกลุ่มเด็กและเยาวชน แต่ยังครอบคลุมไปถึงนักโทษทางความคิด นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ถูกทรมาน ผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ผู้ที่กำลังจะถูกประหารชีวิต ผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงถูกส่งตัวกลับประเทศ และบุคคลอื่นๆ สะท้อนให้เห็นถึง ‘พลังอันยิ่งใหญ่ของกลุ่มคนธรรมดา ที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยพรมแดนระหว่างประเทศ’

 

รุ่นสู่รุ่น

อยากจะฝากถึงผู้อ่านวารสาร Freedom ว่า หากมีโอกาสก็อยากเชิญชวนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในทางใดทางหนึ่ง อยากจะให้ช่วยกัน แน่นอนว่าผลลัพธ์ของการขับเคลื่อนประเด็นนี้ย่อมส่งต่อไปในอีกหลายรุ่นเลยทีเดียว ไม่เพียงเท่านี้ ด้วยความที่เราได้มีโอกาสเรียนรู้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กร เราเองก็อยากให้การเคลื่อนไหวของแอมเนสตี้ถูกแทรกแซงจากภาครัฐน้อยลง เป็นอิสระ และสามารถถ่ายทอดข้อมูลโดยปราศจากอคติในการรับข่าวสารจากภาคประชาชน สุดท้ายอยากเป็นกำลังใจให้กับคนทำงานเรื่องสิทธิทุกคนในประเทศไทย ซึ่งยังต้องการการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาประเด็นต่างๆ ในสังคม

“การมีฐานสมาชิกที่เติบโต สามารถเป็นข้อบ่งชี้ประการหนึ่งว่า องค์กรจะเข้มแข็งและมีพลังมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้เป็นจริงและยั่งยืนได้ แม้ปัจจุบันประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในสังคมไทย และต้องใช้เวลาในการผลักดันก็ตาม แต่สังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ย่อมเป็นสังคมที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ”