ความลับในหนังสือ There's Always Spring เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน จุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์วิ่งไล่ลุงปี 2563

7 สิงหาคม 2566

Amnesty International Thailand

 

ความลับในหนังสือ There’s Always Spring เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน

จุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์วิ่งไล่ลุงปี 2563

 

ประชาชนถูกดำเนินคดี นักกิจกรรมถูกคุกคาม นักเขียนถูกปิดกั้น นักข่าว นักศึกษาถูกตั้งข้อหาเพราะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในประเทศไทยและทั่วโลก เป็นอีกข้อท้าทายที่ทำให้แอมเนสตี้ขับเคลื่อนให้สังคมมีความรู้เรื่องปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ที่ให้ระบุว่าการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ทุกคนสามารถทำได้ เพราะการเห็นต่างทางความคิดและการเปิดใจรับฟังกันและกัน เป็นประตูแห่งโอกาสที่จะพัฒนาสังคมไปในทิศทางที่ดี มีความสุข และเคารพกันและกันได้

 

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ประเทศไทยเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง ผู้คนที่เห็นต่างทางความคิดหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เรียกร้องประชาธิปไตยสารพัดรูปแบบ ตอนนั้นบนท้องถนนและพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เกิดการกระจายตัวของเหล่าผู้ชุมนุมหลายขั้วทางการเมือง หนึ่งในนั้นคือ กิจกรรมวิ่งไล่ลุง (Run Against Dictatorship) ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มนักกิจกรรมที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะกรรมการแนวร่วมสมาพันธ์ผู้จัดงานวิ่งไล่ลุง เพื่อประโยชน์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย’

 

ข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ.2563 รายงานว่ากิจกรรมกรรมวิ่งไล่ลุงในปีนั้นจัดขึ้นทั่วประเทศทั้งหมด 39 จังหวัด กระจายตามพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 49 จุด เหตุการณ์ครั้งนั้นมีนักกิจกรรมถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีจำนวนมาก เช่น ปิยรัฐ จงเทพ หรือ ‘โตโต้’ นักกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จังหวัดกาฬสินธุ์  ธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ ‘บอล’ แกนนำนักกิจกรรมในกรุงเทพมหานคร

 

กิจกรรมวิ่งไล่ลุงในครั้งนั้นถูกตั้งคำถามว่า การดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่เป็นแกนนำ ภาครัฐต้องการฟ้องปิดปาก หรือทำให้เป็นคดี SLAPP (Strategic Lawsuit against Public Participation) ที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้หวังผลทางคดีแต่ต้องการคุกคาม ข่มขุ่ กลั่นแกล้ง หรือขัดขวางเพื่อไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ เพราะการ ‘วิ่ง’ แม้จะสื่อความหมายของการรณรงค์ให้ทุกคนหันมารักสุขภาพ แต่ก็สามารถคิดลูกเล่น คิดคำต่างๆ เพื่อมุ่งหวังประโยชน์สูงสุดให้ทุกคนมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองได้เช่นกัน  

 

เหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แอมเนสตี้ร่วมกับเครือข่ายจัดทำฐานข้อมูลม็อบดาต้าไทยแลนต์ (Mob Data Thailand) ขึ้นมาเมื่อปี 2564 เพื่อบันทึกข้อมูลและภาพเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุม เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมภาพเหตุกาณ์และเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการชุมนุม โดยอาสาสมัครสังเกตุการณ์การชุมนุม ปัจจุบันพบว่า โดยสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมได้ที่ https://www.mobdatathailand.org/ และเหตุการณ์วิ่งไล่ลุงจุดประกายให้เกิดหนังสือภาพที่ถ่ายถอดเรื่องราวการชุมนุม และภาพสื่อสัญญะของเหล่านักกิจกรรมในครั้งนั้น เพื่อเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของนักสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในสังคม

 

 

“การชุมนุมของคนรุ่นใหม่อาจเปรียบเทียบกับดอกไม้ที่ตามธรรมชาติเมื่อถึงฤดูกาลก็จะผลิบานเจิดจรัสงดงาม หลังผลิบานแล้วก็อาจต้องเจอกับแดดแรง เมฆหมอก หรือห่าฝนจนร่วงโรยตามกาลเวลา แต่เมื่อเวลาวนมาถึงก็จะกลับมาผลิบานอีกครั้ง ตราบที่วงจรอำนาจอันไม่ชอบธรรมยังไม่สิ้นสุดลง” ประโยคหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือ There’s Always Spring เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน

 

There’s Always Spring เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน  เป็นหนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวการชุมนุมประท้วงช่วงปี 2563 ที่ครุกกรุ่นไปด้วยกลิ่นอายการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้ทุกคนบนแผ่นดินไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเท่ากัน หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยภาพเหตุการณ์การชุมนุมหลายรูปแบบ หลายพื้นที่ และหลายเหตุการณ์ จากนักกิจกรรม นักการเมือง และผู้ชุมนุมทั่วประเทศ เหตุการณ์ ‘วิ่งไล่ลุง’ จุดประเด็นให้เริ่มก่อรูปหนังสือนี้ขึ้นมา เพียงเพราะต้องการสื่อสารให้โลกได้รู้และได้เห็นการแสดงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนคนไทย

 

ไม่ใช่แค่นักกิจกรรมที่ถูกบันทึกเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ นักดนตรี นักร้องมีบทบาทสำคัญ ที่จะถ่ายทอดและส่งเสียงแห่งความหวังเช่นกัน บท The Sounds of Seasons เมื่อฤดูกาลขับขาน หน้า 70 ได้สะท้อนให้เห็นการแต่งเพลงที่แฝงไปด้วยความจริงทางสังคม เพลงที่เต็มไปด้วยด้านมืดที่ไม่มีใครกล้าพูดผ่านศิลปินแร็ปเปอร์ และเพลงที่ศิลปินทุกคนต้องการเปล่งประกายความคิด เปล่งเสียงผ่านท่วงทำนองและตัวอักษร เพื่อส่งเสียงไปไปถึงผู้มีอำนาจและทุกคนบนแผ่นดินไทยให้ได้ยินการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอีกรูปแบบหนึ่ง

 

“หากเธอได้ยินเสียงเพลงบรรเลง เธอจงกลับไปเรียกไพร่พล มันคือท่วงทำนองของสามัญชน คนธรรมดาอย่างเรา หากเธอได้ยินเสียงกลองกระหน่ำ มันคือเสียงเท้าของมวลชน กระหึ่มด้วยแรงประสานของเสรีชน คนใต้ฟ้าเดียวกัน” เพลงท่อนหนึ่งจากวง ‘สามัญชน’ ในหนังสือ There’s Always Spring

 

ทุกถ้อยคำสำคัญของนักกิจกรรม ภาพทุกเหตุการณ์ที่มีความหมาย ถูกบันทึกลงไปในหนังสือ There’s Always Spring เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน เนื้อหา 179 หน้า ถูกรังสรรด้วยความปราณีต เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านสัญญะทางตัวอักษรและภาพถ่าย มีทั้งความจริง ความหวัง ความเจ็บปวด ของเหล่านักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทุกคนในแต่ละช่วงฤดูกาลชุมนุม มีเรื่องราว 6 ประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่

  • The Spring Has Come เมื่อคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นสู้
  • The Rainbow of Hope เมื่อหลากความฝันมาบรรจบ
  • The Sounds of Seasons เมื่อฤดูกาลขับขาน
  • The Cloudy Days เมื่อมีแดดก็มีฝน
  • The Mist on the Way เมื่อเส้นทางไม่ได้สดใส
  • The Rain Fall From Gun Barrel เมื่อห่าฝนตกจากปลายกระบอกปืน
  • Winter Never Lasts Forever ไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป

 

ถ้าอยากเห็น ภาพที่ล่วงละเมิดไม่ได้ ภาพที่เป็นความลับในสังคม ภาพคลื่นผุ้ชุมนุม ‘ทะเลดาว’ ภาพแววตาแห่งความหวัง ภาพนาทีพลิกชีวิตคนค้าขาย และภาพหลักฐานของการใช้ความรุนแรงในการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงโดยสงบ สามารถสั่งซื้อหนังสือ There’s Always Spring เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบาน ได้ที่ bit.ly/3OKAIW5

 

แอมเนสตี้ต้องการจุดประกายความหวังและสร้างแรงบันดาลใจให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน ผ่านการทำงานและทำกิจกรรมกับเครือข่ายทั่วโลกเพื่อทำให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าสิทธิและเสรีภาพในการแสดงของทุกคนจะได้รับความคุ้มครอง หากการแสดงสิทธินั้นไม่ทำให้ใครเดือดร้อนและทำเพื่อสังคมที่แท้จริง

 

ปฏิบัติการด่วน (Urgent Action) เป็นอีกการรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนทั่วโลก เช่น นักโทษทางความคิด นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ถูกทรมาน ผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหาย ผู้ที่กำลังจะถูกประหารชีวิต ผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทางที่เสี่ยงจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะปัจจุบันคือการเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีและหยุดการคุกคามต่อเด็กที่ใช้สิทธิมนุษยชน สามารถชื่อเรียกร้องได้ที่ bit.ly/3KuvhYX