"นี่มันเรื่องส่วนตัวของฉัน!" ยังใช้ได้ไหมในยุคนี้?

16 พฤศจิกายน 2561

บทความโดย Smiling Sun

ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีข่าวที่สร้างความกังวลให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรอบโลก เมื่อการรั่วไหลของข้อมูลทำให้เราทราบว่า มีหลายๆ ประเทศในสหภาพยุโรปที่อาจจะถอนการสนับสนุนนโยบายควบคุมการส่งออกเครื่องมือสอดแนมจากผู้ประกอบการในทวีป แต่หากจะกระโดดลงไปพูดเรื่องนโยบายดังกล่าวเลยคงจะสร้างความงุนงงให้กับพวกเราชาวไทยที่ค่อนข้างจะห่างไกลจากข่าวนี้มาก เพราะฉะนั้น วันนี้เราคงต้องมาคุยเรื่องนี้กันเสียหน่อย

 

การสอดแนมอะไรกันนี่

 

            หากคุณเป็นแฟนซีรี่ย์ตะวันตก Person of Interest อาจจะเป็นชื่อที่เคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง เพราะเป็นละครที่ดังมากๆในช่วงปี 2011 - 2016 ที่กล่าวถึงการนำปัญญาประดิษฐ์มาเชื่อมต่อเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐที่สามารถเข้าถึงกล้องวงจรปิด ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ บัตรเครดิต และร่องรอยบนโลกออนไลน์ของประชากรทุกคนบนโลก เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงที่มนุษย์คนนั้นจะถูกทำร้าย, ไปทำร้ายคนอื่น, หรือกระทั่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา แล้วปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวก็จะส่งตัวเลขระบุตัวตนของบุคคลดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่มนุษย์เข้าไปตรวจสอบต่อไป แต่เรื่องตลกมันอยู่ตรงที่ว่า ปัจจุบันสถานการณ์นี้เป็นความจริง

 

            ในเมืองใหญ่ๆของประเทศจีนในตอนนี้ หากคุณเป็นผู้มีใบหน้าตรงกับในฐานข้อมูลผู้ที่เป็นที่ต้องการตัวของทางการ การออกมาเดินในที่สาธารณะจะทำให้คุณถูกจับกุมได้ภายในเจ็ดนาที อย่างที่นักข่าวของทาง BBC ได้แสดงให้เห็นในวีดีโอด้านล่าง ซึ่งความสามารถดังกล่าวเกิดจากการที่แทบทุกพื้นที่ในเมืองล้วนมีกล้องส่องอยู่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด กล้องจับการเคลื่อนไหว กล้องวัดความสูง ส่องแนวบน ส่องลงล่าง หรือแม้กระทั่งกล้องบนมือถือของคุณ หากกล้องดังกล่าวเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นสายไฟหรือผ่านไวไฟ ก็ล้วนแต่สามารถเข้าถึงได้โดยทางการทั้งสิ้น

           

            แม้ว่าตอนนี้ทางการจีนจะใช้ปัญญาประดิษฐ์แค่เพื่อคัดกรองข้อมูลจากกล้องเพื่อตามหาผู้ที่เป็นที่ต้องการตัวก็ตาม แต่หนึ่งในข่าวที่โด่งดังมากๆ ของจีนคือการพัฒนาระบบเครดิตสังคม ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลทุกๆด้านของประชากรที่ปรากฎบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่าย ผลการเรียน สื่อที่เข้าถึง คนที่คบหาด้วย และข้อมูลทุกๆด้านจะถูกกลั่นกรองลงมาเป็นคะแนนที่จะมีผลกระทบทุกๆด้านในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อโรงเรียนที่มีสิทธิเข้าเรียน ตัวเลขของเงินที่สามารถกู้ยืมได้ หน้าที่การงานที่เปิดรับ หรือกระทั่งลามไปเรื่องส่วนตัวเช่นคนที่จะคบหาด้วยหรือการได้รับอนุญาตให้ซื้อตั๋วเดินทางออกนอกพื้นที่หรือไม่ ซึ่งทางการจีนคาดเดาว่าระบบดังกล่าวจะเริ่มใช้งานในปี 2020

           

            นึกภาพสิว่าถ้าคุณถูกบังคับว่าจะทำอะไรได้แค่ไหนต้องขึ้นอยู่กับว่าคุณมีคะแนนเป็นที่น่าพอใจของรัฐรึเปล่า

 

work-933061_1920.jpg

https://www.bbc.com/news/av/world-asia-china-42248056/in-your-face-china-s-all-seeing-state

 

 

แล้วยุโรปเกี่ยวอะไร

 

            เพราะว่าการที่จีนสามารถควบคุมประชากรได้อย่างเบ็ดเสร็จเช่นนี้ ก็เพราะเทคโนโลยีการสอดแนมที่ก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของกล้อง การเชื่อมต่อระบบ ปัญญาประดิษฐ์ หรือแม้กระทั่งโปรแกรมเจาะระบบเพื่อรุกล้ำความเป็นส่วนตัว ซึ่งแม้ว่าระบบดังกล่าวจะมีการวิจัยและพัฒนาอย่างมากภายในประเทศจีนอยู่แล้ว แต่จีนคงจะไม่มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าได้ขนาดนี้ หากไม่มีผู้ที่บุกเบิกและพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้มาอยู่ก่อนแล้ว และยังคงเป็นผู้นำของโลกในการส่งออกเครื่องมือสอดแนมอยู่แล้ว

 

นั่นคือหลายๆ ประเทศในสหภาพยุโรปนั่นเอง

 

            สิ่งประดิษฐ์เพื่องานสายลับและการแอบเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ต้องการให้เป็นที่รู้เป็นสิ่งที่หลายๆประเทศในยุโรปพัฒนามาอย่างยาวนาน เช่นการผูกกล้องติดกับนกพิราบในสมัยสงครามโลก การดักสัญญาณโทรเลข, พัสดุและจดหมาย เมื่อการพัฒนาทางการเมืองเริ่มมีการเข้าถึงของประชาชนมากขึ้น รัฐจึงนำเทคโนโลยีดังกล่าวหันมาสอดแนมประชาชนเสียเองเพื่อค้นหาผู้ที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของอำนาจ และเมื่อชาติตะวันตกเป็นประเทศแรกๆที่มีสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นฐานสำคัญของสังคมปัจจุบันปรากฎ เช่นกล้อง โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ประเทศในยุโรปจึงมีการบุกเบิกการสอดแนมผู้คนบนแพลตฟอร์มดังกล่าวก่อนผู้อื่นเช่นกัน

 

            และเมื่อยุคโลกาภิวัฒน์หมายถึงการเข้าถึงข้อมูลร่วมกันจากทุกมุมโลก เหล่าผู้มีอำนาจในประเทศที่ยังคงต้องการควบคุมประชากรอย่างเบ็ดเสร็จก็เริ่มมีความต้องการเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อต่อกรกับประชาชนของตนที่มีความต้องการที่ขัดต่อรัฐ ดังเช่นที่เห็นได้แพร่หลายในประเทศตะวันออกกลางในช่วงอาหรับสปริง ที่ผู้นำประเทศต้องปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างหนักเพื่อคงอำนาจของตน ซึ่งการที่ผู้นำเหล่านั้นรู้ว่าต้องไปปรามปรามใคร ที่ไหน อย่างไร ก็เป็นเพราะพวกเขาซื้อเครื่องมือสอดแนมจากผู้ประกอบการในยุโรปไปสอดแนมประชาชนนั่นเอง

 

แล้วมันเกิดอะไรขึ้น

 

            เมื่อมีหลักฐานการซื้อขายกับประเทศที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางออกมาสู่สาธารณชน สหภาพยุโรปในฐานะผู้นำด้านการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนก็เลยเป็นอันต้องผิดใจกันกับเหล่า NGOs ด้านสิทธิมนุษยชนหลายๆ เจ้า (รวมถึงแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนลเช่นกัน) เมื่อกลุ่มองค์กรอิสระเหล่านี้เรียกร้องให้มีการควบคุมการส่งออกเครื่องมือสอดแนมไปยังประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐอย่างชัดเจน

 

            ทว่า ประเทศที่มีท่าทีจะคัดค้านการคัดกรองสินค้าที่อนุญาตให้ขายให้ประเทศกลุ่มเสียง--นำทัพโดยประเทศฟินแลนด์และสวีเดน--กลับค่อยๆเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยอ้างว่าร่างนโยบายที่เสนอเข้าไปในสภานั้นมีการครอบคลุมที่กว้างเกินไป อาจจะไม่ถูกจุด ทำให้ในตอนนี้ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล, ไปรเวซี่ อินเตอร์เนชั่นเนล, แอคเซส นาวด์, และกลุ่มนักข่าวไร้พรมแดนได้ออกแถลงการร่วมกันให้สหภาพยุโรปทบทวนการตัดสินใจดังกล่าว

 

แล้วไทยเกี่ยวอะไรด้วย

 

            แม้ข่าวนี้อาจจะไม่มีการพูดถึงประเทศไทย แต่สภาวะปัจจุบันของประเทศไทยและประเทศที่เป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีสอดแนมในข่าวนั้นมีความคล้ายคลึงหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศไทยในตอนนี้เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกจับตาดูโดยนานาชาติเพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำซ้อน อีกทั้งรัฐบาลเริ่มมีการเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการบนโลกออนไลน์มากขึ้น ทำให้เราเห็นว่ารัฐมีความสนใจที่จะควบคุมประชาชนด้วยเทคโนโลยี ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าหากรัฐยังคงสนใจในเรื่องนี้ ประเทศไทยอาจจะกลายเป็นหนึ่งในลูกค้าเทคโนโลยีสอดแนมที่จะนำมาใช้กับประชาชนต่อไป

 

            ดังนั้นแม้จะไม่เป็นข่าวในบ้านเรา แต่ผู้เขียนก็ขอแนะนำให้ทุกท่านติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะหากสิ่งที่ผู้เขียนคาดการเริ่มส่อเค้าจะจริงขึ้นมา ท่านอาจจะหาวิธีรักษาความเป็นส่วนตัวของท่านได้ทันท่วงที

 

 

อ้างอิง

https://www.amnesty.org/en/latest/news/2018/10/eu-leak-reveals-states-are-ready-to-put-human-rights-defenders-at-risk-to-protect-surveillance-industry/

https://www.bbc.com/news/av/world-asia-china-42248056/in-your-face-china-s-all-seeing-state