ไม่ใช่แค่อนาคต แต่เยาวชนคือปัจจุบัน "นิคกี้-ศุภวิชญ์ วงศ์วิริยะชัย" Youth Network แอมเนสตี้ประเทศไทย

5 มกราคม 2567

Amnesty International Thailand

“เยาวชนเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและเปลี่ยนแปลงประเทศ ผมอยากให้เราหันมาฟังเสียงของเยาวชนมากขึ้น ว่าเขาต้องการอะไร เขามีความคิดแบบไหน เขาต้องการเห็นประเทศไปในทิศทางใด” นิคกี้กล่าวในช่วงตอนหนึ่ง

หลังจากจบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น “นิคกี้-ศุภวิชญ์ วงศ์วิริยะชัย” ตัดสินใจกลับบ้านมาทำธุรกิจส่วนตัวที่จังหวัดหนองบัวลำภู และมอบเวลาที่เหลือให้กับการเป็น NGO ทำงานด้านเด็กและเยาวชน

นิคกี้เริ่มสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม ท่ามกลางเหตุการณ์ทางการเมืองหลังรัฐประหารในปี 2557 เขาค่อย ๆ ศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชนและมองเห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ในฐานะสิ่งที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมถึงเป็นสิ่งที่จะทำให้คนในสังคมที่มีความหลากหลายอยู่ร่วมกันได้อย่างเห็นอกเห็นใจและให้เกียรติซึ่งกัน

 

ทำไมคุณจึงสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน

ตอนที่ผมเรียนอยู่มัธยม ตรงกับช่วงที่เกิดการรัฐประหาร และมีนักศึกษาออกไปชุมนุมในปี 2558 ซึ่งก็เกิดการคุกคามและปราบปรามจากรัฐ ลิดรอนสิทธิการแสดงออกของนักศึกษาดังกล่าว ผมมองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ต้องศึกษา เรียนรู้ และผลักดันให้ทุกคนเห็นว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เป็นเรื่องของทุกคน นั่นคือจุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และอยากศึกษาลงลึกว่าสิทธิมนุษยชนมีอะไรบ้าง สามารถต่อยอดได้อย่างไรบ้าง ยิ่งเมื่อได้ไปศึกษา ได้ร่วมกิจกรรม เรายิ่งเห็นว่ามีอีกหลายอย่างที่สังคมเรายังขาดความตระหนัก ขาดวิธีการ ขาดความรู้ความเข้าใจในหลักการสิทธิมนุษยชน

 

ทราบมาว่าคุณสนใจเรื่องสิทธิการแสดงออก และความหลากหลายทางเพศ คุณมองว่าสังคมไทยมีปัญหาในเรื่องเหล่านี้อย่างไร และจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง

ถ้าพูดถึงสิทธิการแสดงออก การพูดคุยในที่สาธารณะ เช่น ประเด็น ม.112 หรือประเด็นที่มีความอ่อนไหว การที่มีคนออกมาพูดมากขึ้น ก็ทำให้มีผู้สนใจมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน รัฐหรือผู้เห็นต่างก็ยังมีการเข้ามาควบคุมและคุกคามผู้ที่ออกมาพูด ส่วนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ตรงนี้สำคัญมาก เพราะปัจจุบันมีพื้นที่ให้คนออกมาแสดงตัวตนของตัวเองมากขึ้น ทั้งในเรื่องอัตลักษณ์และการนิยามตัวเอง แต่ทั้งนี้สิทธิหลายอย่างของผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ยังไม่ถูกรับรองทางกฎหมาย

ในส่วนการแก้ไข การผลักดันกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิการแสดงออก หรือความหลากหลายทางเพศ ถ้าเรามีกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเป็นเหมือนเส้นชัยแรกที่ทำให้สามารถผลักดันเรื่องอื่น ๆ ต่อไปได้ รวมถึงการที่เราต้องทำให้ทุกคนเห็นว่าการแสดงออกในที่สาธารณะเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรับฟัง เข้าใจในวิธีการ มีการให้เกียรติและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน ว่าทุกคนสามารถแสดงออกได้ นอกจากนี้ การมีกฎหมายคุ้มครองผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น หรือคนที่ออกมาชุมนุมก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อป้องกันการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เห็นต่าง

 

ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่เคยร่วมชุมนุมทางการเมือง คุณมองว่าปัจจุบันสังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน หลังจากผ่านกระแสการชุมนุมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

การชุมนุมส่งผลต่อความตระหนักรู้ของผู้คนมาก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่คนรุ่นใหม่ แต่คนทุกเพศทุกวัยหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะทุกคนคิดว่าเป็นวิธีการและหลักการที่เป็นสิทธิ์อันพึงมีที่สามารถทำได้ ผู้คนในปัจจุบันไม่ได้รู้สึกแล้วว่าจะต้องทนอยู่กับปัญหาเดิม ๆ อย่างที่เป็นมา แต่คิดว่าการที่ได้ออกไปขับเคลื่อน หรือเรียกร้องบางอย่างเป็นเป็นสิทธิ์ที่จะบอกว่ารัฐบกพร่องอย่างไร รัฐไม่มีความชอบธรรมอย่างไร ยิ่งในอนาคตการแสดงออกและการตรวจสอบรัฐบาลของประชาชนก็จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น

 

การชุมนุมทางการเมืองของไทยในช่วงปี 2563 มีผู้ชุมนุมถูกรัฐดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก หลายคนยังเป็นเยาวชน หลายคนถูกคุมขังไม่ได้รับการประกันตัวจนถึงปัจจุบัน คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

อย่างที่บอกว่าทำไมเราจึงต้องผลักดันกฎหมายคุ้มครองที่ให้ความชอบธรรมกับคนที่ออกไปพูดหรือแสดงออก เพราะเป็นสิทธิ์ที่เขาพึงกระทำ ซึ่งถือได้ว่าเขาเป็นตัวแทนของคนอีกจำนวนมากที่ออกไปพูดว่าสิ่งที่รัฐทำนั้นผิดหรือไม่ยุติธรรมยังไง ผมรู้สึกว่าปัจจุบันรัฐยังมีความไม่ชอบธรรมต่อหน้าที่ ใช้กลไกของอำนาจในการกลั่นแกล้ง รวมถึงการจับกุมคุมขังเด็กและเยาวชนที่ไปแสดงออกตามสิทธิของเขา ด้วยการดำเนินคดีที่มีโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ ผมคิดว่ารัฐไม่ควรทำแบบนี้ เราจะต้องเรียกร้องให้ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองได้รับสิทธิ์การประกันตัว พร้อมกับผลักดันกฎหมายคุ้มครองให้กับผู้ที่ออกมาชุมนุม

 

คุณคิดว่าอะไรคือปัญหาใหญ่ของเยาวชนในยุคสมัยนี้

ผมมองว่าเยาวชนอาจยังไม่เข้าใจสิทธิ์ของตัวเองและสิทธิ์ของคนอื่นมากพอ ปัจจุบันเราอาจใช้กระแสของความต้องการเรียกร้องเป็นหลัก แต่เราควรต้องมองในเรื่องของหลักการและวิธีการด้วย ว่าสิทธิ์ของเรามีอะไรบ้าง สิ่งที่เราไม่ควรประพฤติต่อผู้อื่นมีอะไรบ้าง เยาวชนจะต้องศึกษาและมีการทำความเข้าใจในสิทธิ์ของตัวเอง เพื่อนำสิทธิมนุษยชนไปเรียกร้องในทางที่ถูก รวมถึงการเรียนรู้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการวางแผนเพื่อเลี่ยงการทำผิดกฎหมาย และคุ้มครองตัวเองจากการใช้กฎหมายที่ไม่ชอบธรรม

 

ทำอย่างไรให้เยาวชน คนรุ่นถัดไป สนใจและให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน

เราต้องทำให้สิทธิมนุษยชน เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา ในสถาบันครอบครัว ในทุกช่องทางที่สามารถทำได้ เราต้องทำให้เยาวชนเรียนรู้สิทธิขั้นพื้นฐานผ่านการศึกษาและกิจกรรมต่าง ๆ เพราะการศึกษาในปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนน้อยเกินไป ทำให้บางคนยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจเพียงผิวเผิน รวมถึงการที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน จะเป็นตัวอย่างและการปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชน

 

เพราะอะไรจึงตัดสินใจร่วมงานเป็น Youth Network ให้กับแอมเนสตี้ คุณมองเห็นอะไรในโอกาสนี้

อายุของผมตอนนี้ (24 กำลังจะ 25) อาจไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ของการเป็น Youth Network แล้ว แต่ผมยังมีพลัง มีแพสชัน และอุดมการณ์ที่อยากผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชน ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่จะขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนไปกับแอมเนสตี้ หรืออย่างน้อยที่สุด ผมอยากเป็นตัวเชื่อมในการส่งต่อเสียงของเยาวชนไปถึงแอมเนสตี้ รวมถึงในมุมของตัวเองที่คิดว่ามีอีกหลายสิ่งที่ผมยังไม่ได้เรียนรู้ ผมอยากเปล่งเสียงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

ผมได้ร่วมงานกับแอมเนสตี้หลายครั้ง รู้สึกประทับใจทุกครั้ง แอมเนสตี้เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุมให้กับทุกคน เป็นเหมือนความหวังของสังคม ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ยังมีแอมเนสตี้ที่เข้ามามีส่วนในการช่วยเหลือ เป็นปากเป็นเสียง เคียงข้างผู้คนในเรื่องสิทธิมนุษยชนมาตลอด ทั้งหมดที่กล่าวมาคือเหตุผลว่าทำไม ผมจึงเข้ามาเป็น Youth Network ให้กับแอมเนสตี้

 

คุณอยากให้แอมเนสตี้มีทิศทางในงานเกี่ยวกับเยาวชนอย่างไร

แอมเนสตี้มีการทำคลับในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และมีการเชื่อมต่อกับเยาวชน มีคณะกรรมการเยาวชน มี Youth Network ผมคิดว่าปัจจุบัน แอมเนสตี้มีความเข้าใจและเข้าถึงเยาวชนมากอยู่แล้ว แต่ก็อาจมีเยาวชนในอีกหลายพื้นที่ เช่น ในกลุ่มเปราะบาง กลุ่มชายขอบ ซึ่งแอมเนสตี้ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ผมคิดว่ายังมีเยาวชนอีกหลายคนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิของตัวเอง ถ้าถามว่าอยากให้แอมเนสตี้มีทิศทางในเรื่องของเยาวชนยังไง ผมมองว่าต้องมีการเข้าถึงเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกิจกรรมที่สามารถเข้าร่วมทางออนไลน์ การคิดแคมเปญใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การทำงานอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

สิ่งที่แอมเนสตี้ควรปรับปรุง พัฒนาการทำงาน

ผมคิดว่าแอมเนสตี้มีการทำงานที่ดีมากอยู่แล้ว แต่ถ้าต้องเสนอจริง ๆ ก็คิดว่าอาจมีบางประเด็นที่แอมเนสตี้ยังไม่ได้ผลักดัน หรือมีความล่าช้าอยู่ ทั้งนี้เข้าใจว่าเป็นบริบทที่แอมเนสตี้มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอกับจำนวนงานที่เพิ่มขึ้น หรือการผลักดันประเด็นต่าง ๆ ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเท่าที่ควร ถ้าสามารถปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ได้ ผมคิดว่าแอมเนสตี้จะเป็นองค์กรที่มีพาวเวอร์อย่างมาก

 

ถ้าให้คุณริเริ่มกิจกรรมร่วมกับแอมเนสตี้สักกิจกรรมหนึ่ง คุณอยากทำกิจกรรมอะไร รูปแบบใด เพื่อส่งเสริมรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน

เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาที่เป็นหลักสูตรของแอมเนสตี้ ผมอยากนำมาทำในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ให้เป็นพื้นที่โมเดลที่จะขับเคลื่อนกับเด็กในทุกอำเภอ ตามหลักสูตรที่แอมเนสตี้มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดเกม กระบวนกร ขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะทำให้เด็กเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

สิ่งที่อยากสื่อสารกับสังคมในเรื่องสิทธิมนุษยชน

เสียงของเยาวชนยังไม่ได้รับการยอมรับที่เพียงพอ เยาวชนเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและเปลี่ยนแปลงประเทศ ผมอยากให้เราหันมาฟังเสียงของเยาวชนมากขึ้น ว่าเขาต้องการอะไร เขามีความคิดแบบไหน เขาต้องการเห็นประเทศไปในทิศทางใด ผมมองว่าปัจจุบัน การรับฟังเสียงของเยาวชนยังน้อยเกินไป ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจและเปิดรับเยาวชนในบริบทต่าง ๆ ให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่น หรือระดับประเทศ

อีกเรื่องหนึ่ง ผมอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน สร้างความเข้าใจในสิทธิของตัวเองอย่างถ่องแท้ รวมถึงเข้าใจในสิทธิของผู้อื่นด้วย มีความเห็นอกเห็นใจและให้เกียรติซึ่งกันและกัน