หยุดไวรัสด้วยความเป็นมนุษย์ : โควิด-19 กับความท้าทายต่อสิทธิมนุษยชนในระดับโลก

2 เมษายน 2563

Amnesty International Thailand

ภาพ Costfoto/Barcroft Media via Getty Images

รักษาระยะห่าง แต่อยู่เคียงข้างกัน 

Socially Distant but TOGETHER in Solidarity

 

หลายคนคงเห็นตรงกันว่าวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นับเป็นเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงชีวิตของคนส่วนมากที่มีชีวิตอยู่บนโลกในปัจจุบัน และแม้ว่าโลกของเราจะมีเหตุการณ์อันร้ายแรงเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นเหตุการณ์ไม่กี่ครั้งที่มนุษย์ไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ใกล้ชิดกันในช่วงเวลาอันสำคัญเช่นนี้ เพราะเราต่างรักษาระยะห่างทางกาย เพื่อช่วยให้บรรเทาการแพร่ระบาดของไวรัสไม่ให้แพร่ขยายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ นี่จึงเป็นความท้าทายต่อมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ในหลายแง่มุม ทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน รวมถึงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา

 

เมื่อเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายต่อเราทุกคนแล้ว จึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน เนื่องจากการตัดสินใจของรัฐบาลต่าง ๆ ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัส COVID – 19 จะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของผู้คนนับล้านทั่วโลก ในปัจจุบัน แต่ละประเทศมีสถานการณ์และมาตรการรับมือกับโควิด-19 ที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ Social Distancing การกักตัว การดูแลเพื่อป้องกันสินค้าและบริการ คำสั่งห้ามและควบคุมการเดินทาง ประกันสังคมและสิทธิของคนงาน คุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ ไปจนถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน


ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยประกาศว่าสิ่งใดที่ประชาชนควรทำ และสิ่งใดที่ไม่ควรทำ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.63 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับในกัมพูชาที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นกัน และยังให้อำนาจพิเศษกับรัฐอีก 12 อย่าง ซึ่งร่วมถึงการเซ็นเซอร์และการสอดส่องประชาชนในช่องออนไลน์อีกด้วย อำนาจพิเศษในฟิลิปปินส์ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะประธานาธิบดีดูแตร์เตออกคำสั่งอย่างเปิดเผยต่อตำรวจทหารและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ว่าหากใครก่อปัญหาก็ให้ยิงทิ้งได้เลย

 

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกเชื้อไวรัส COVID-19 ซ้ำ ๆ ว่าเป็น “ไวรัสจีน” แต่สหรัฐอเมริกาปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่สุดในโลก และมีแนวโน้มที่จะมีผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนั้นผู้คนอาจรู้สึกว่าประสบปัญหาจากการตีตราและเหยียดเชื้อชาติร่วมด้วย เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังใช้โรคระบาดเพื่ออ้างความชอบธรรมต่อนโยบายการแบ่งแยกสีผิว และกำลังพิจารณาออกคำสั่งแบนผู้ลี้ภัยจากเม็กซิโกอย่างเด็ดขาดตามรายงานของสื่อ ซึ่งจะขัดแย้งกับข้อผูกพันทางกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนั้นเราก็ยังต้องจับตามองการเคลื่อนไหวของประเทศอื่น ๆ ในทวีปอเมริกาต่อไปด้วย


ยุโรปเป็นอีกพื้นที่ที่เกิดการระบาดขึ้นอย่างรุนแรง วิกฤตครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเชื่อมโยงกันอย่างไร ดังนั้นมาตรการใด ๆ ก็จะต้องมั่นใจได้ว่าจะไม่มีใครถูกทอดทิ้ง ในขณะที่อาจจำเป็นต้องมีข้อจำกัดการเดินทาง แต่ไม่ควรใช้การระบาดใหญ่เป็นข้ออ้างในการกีดกันผู้ลี้ภัยออกไป สิทธิในการแสวงหาที่พักพิงจะต้องได้รับการยอมรับ และผู้คนไม่ควรถูกส่งกลับไปยังสถานที่ที่พวกเขาอาจเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้ยังได้ปรากฎว่า ในยุโรปเต็มไปด้วยการเหยียดเชื้อชาติและความรุนแรงต่อคนเอเชีย เช่น มีนักเรียนจากประเทศสิงคโปร์ถูกทำร้ายอย่างสาหัสเนื่องจากประเด็นการแบ่งแยกทางสีผิวในลอนดอน รัฐบาลทั่วโลกจึงควรใช้แนวทางดำเนินการอย่างเข้มงวด (Zero-tolerance) ต่อการเหยียดสีผิว ไม่ว่าจะชาติใด

 

269524.jpg


ในแอฟริกา เช่นรวันดา แอฟริกาใต้ ยูกันดา และเคนยา ได้กำหนดมาตรการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาเช่น “ การปิดเมือง” ซึ่งรวมถึงการปิดโรงเรียน จำกัดการเดินทาง ร้านอาหาร การชุมนุมที่โบสถ์ งานศพและพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ ก็ถูกลดทอนลงเช่นกัน โดยในบางประเทศเช่นแอฟริกาใต้ มาตรการเหล่านี้จะถูกบังคับใช้โดยกองกำลังความมั่นคงที่จะลาดตระเวนตามท้องถนน โดยข้อกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับพื้นที่นี้ก็คือความสามารถในการทดสอบที่จำกัด และผลกระทบต่อคนที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงผู้สูงอายุผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด ผู้ลี้ภัย และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอเนื่องจากสุขภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย โดยหากจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ นานาชาติอาจจะต้องพิจารณาเข้ามาช่วยเหลือด้วยเช่นกัน


เอเชียใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดและมีประชากรมากที่สุดของโลก ผู้คนยังประสบปัญหาพื้นฐานในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งมีอัตราการรู้หนังสือต่ำ และสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการขาดข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับเชื้อไวรัส เพราะสำหรับบางคนแล้ว ความจำเป็นพื้นฐานของเขาคือการต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตอยู่ในแต่ละวัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของการตอบสนองและเพิ่มความพยายามในการปกป้องกลุ่มคนด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับค่าจ้างรายวัน ผู้พลัดถิ่นจากความขัดแย้ง เจ้าหน้าสาธารณสุข และนักโทษ


มาตรการที่เข้มงวดและเด็ดขาดเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ เพราะมนุษย์ทุกคนมีชีวิตและปัญหาที่แตกต่างกัน หนึ่งในหัวใจหลักที่ลืมไม่ได้ในการแก้ปัญหาเพื่อผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ก็คือ “สิทธิมนุษยชน” เพราะวิธีเดียวที่โลกจะต่อสู้กับโรคระบาดครั้งนี้คือความเป็นน้ำหนึ่งน้ำใจเดียวกัน รวมถึงความร่วมมือในระดับนานาชาติด้วย

 

การทำให้เกิดสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ ไม่อาจเป็นจริงได้หากไม่มีความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ รัฐส่วนใหญ่ในโลกให้การยอมรับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งพันธกรณีที่มีต่อความร่วมมือและความช่วยเหลือระหว่างประเทศ รวมทั้งสิทธิด้านสุขภาพ รัฐต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรัฐอื่นและหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อให้ทราบถึงขอบเขตการระบาดของโรคโควิด-19 ในเขตอำนาจของตน และข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบ และข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาที่เป็นไปได้ ถึงแม้หน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองประชาชนที่ถูกคุกคามจากภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเป็นของหน่วยงานในประเทศที่ได้รับผลกระทบ แต่หากมีความจำเป็น รัฐต่างๆ สามารถขอความช่วยเหลือระหว่างประเทศได้ เช่น องค์การอนามัยโลก โดยต้องดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนด้วย


COVID-19 ควรรวมเราเป็นหนึ่ง ไม่ใช่แบ่งแยกเรา

 

 

อ่านเพิ่มเติม


แถลงการณ์ : https://www.amnesty.or.th/latest/news/778/

ไทย : https://www.amnesty.or.th/latest/news/7791/

อเมริกา: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2020/04/americas-halt-dangerous-discriminatory-detention-migrants-asylum-seekers/

แอฟริกา : https://www.amnesty.org/en/latest/news/2020/04/covid19-as-an-emergency-human-rights-issue/

ยุโรป : https://www.amnesty.org/en/latest/news/2020/04/europe-amnesty-international-highlights-human-rights-priorities/

เอเชียใต้ : https://www.amnesty.org/en/latest/news/2020/03/south-asia-as-covid19-spreads-fears-rise-for-people-at-higher-risk/

กัมพูชา : https://www.amnesty.org/en/latest/news/2020/04/cambodia-proposed-emergency-power-obliterate-human-rights/

ฟิลิปปินส์ : https://www.amnesty.org/en/latest/news/2020/04/philippines-president-duterte-shoot-to-kill-order-pandemic/

เพิ่มเติม : https://www.amnesty.org/en/latest/campaigns/2020/03/covid-19/