แนะนำสารคดีบนเน็ตฟลิกซ์ : ‘The Great Hack’ แฮ็กสนั่นโลก

26 กรกฎาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
โดย โจ เวสต์บี, AI and Big Data Researcher, Amnesty Tech

ร่วมสำรวจว่าบริษัทข้อมูลอย่างเคมบริดจ์ แอนะลิติกากลายมาเป็นสัญลักษณ์ด้านมืดของโลกโซเชียลมีเดียหลังช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 ได้อย่างไร

 

สารคดี The Great Hack ได้บอกเล่าเรื่องราวของปัญหาอื้อฉาวซึ่งสุดท้ายได้เผยให้เห็นด้านมืดของธุรกิจบิ๊กดาต้าที่เป็นพื้นฐานของอินเตอร์เน็ต รวมทั้งเบื้องหลังของบริษัทเคมบริดจ์แอนะลิติกาซึ่งนำข้อมูลส่วนบุคคลในเฟซบุ๊คมาใช้โดยมิชอบ เพื่อทำแผนการเจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด และการบิดเบือนความคิดของผู้มีสิทธิออกเสียงที่ยังไม่เลือกพรรคใดในการเลือกตั้งของสหรัฐฯ “The Great Hack”  ได้เผยให้เห็นเบื้องหลังด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

 

“คำถามที่เร่งด่วนและตอบได้ยากมากสุดอย่างหนึ่งจากภาพยนตร์ The Great Hack คือ เราเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อการบิดเบือนทางพฤติกรรมเช่นนั้นมากน้อยเพียงใด?” 

โจ เวสต์บี

 

แต่อดีตซีอีโอของบริษัทเคมบริดจ์แอนะลิติกา ซึ่งปัจจุบันหยุดดำเนินการไปแล้ว บอกกับผู้ถ่ายทำภาพยนตร์ว่า กรณีนี้ “ไม่ใช่แค่เรื่องของบริษัทเพียงแห่งเดียว” หนังเรื่องนี้ยังเผยให้เห็นว่าชีวิตของเราถูกสอดแนมและควบคุมอย่างสม่ำเสมอมากน้อยเพียงใด โดยผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นการเปิดโปงว่า โมเดลทางธุรกิจของบริษัทไฮเทคขนาดใหญ่เหล่านี้ คุกคามอย่างลึกซึ้งเพียงใดต่อสิทธิมนุษยชนของเรา

 

 

 

ในโลกออนไลน์และดิจิทัล ทุกสิ่งที่เราทำล้วนแต่ทิ้งร่องรอยเอาไว้ เป็นร่องรอยที่บันทึกทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เราจอดรถเติมน้ำมัน ไปจนถึงการเยี่ยมชมเว็บไซต์ต่าง ๆ จุดข้อมูลเหล่านี้บางส่วน อาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่ไม่สลักสำคัญอะไร แต่เมื่อนำมารวมกัน อาจเผยให้เห็นรายละเอียดมากมายเกี่ยวกับคน ๆ หนึ่ง เคมบริดจ์แอนะลิติกาโม้ว่ามีจุดข้อมูล (data point) 5,000 จุด ของผู้มีสิทธิออกเสียงในสหรัฐฯ แต่ละคน ซึ่งเมื่อนำการวิเคราะห์ตามคุณลักษณะทางจิตวิทยา หรือ “psychographic” มาใช้กับชุดข้อมูลเหล่านี้ พวกเขาอ้างว่าจะสามารถจำแนกบุคลิกลักษณะของคน และสามารถออกแบบการสื่อสารที่เจาะเข้าถึงระดับบุคคล และมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ แหล่งข้อมูลสำคัญสุดได้มาจากข้อมูลในเฟซบุ๊ก โดยผ่านการใช้งานแอพของบุคคลที่สาม ทำให้เคมบริดจ์แอนะลิติกาสามารถดึงข้อมูลอย่างไม่เหมาะสมมาได้จากผู้ใช้งานเฟซบุ๊กค มากถึง 87 ล้านโปร์ไฟล์ ทั้งข้อมูลจากการโพสต์ การคลิกไลก์ และแม้แต่การส่งข้อความส่วนตัว

 

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เหตุการณ์ผิดปรกติ หากเป็นผลลัพธ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จากระบบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการรวบรวมและใช้ประโยชน์ทางการเงินจากข้อมูลของเรา เป็นโมเดลทางธุรกิจที่โชชานา ซูบอฟฟ์ นักวิชาการเรียกว่า “ทุนนิยมการสอดแนมข้อมูล (surveillance capitalism)” ซึ่งโมเดลเช่นนี้มีลักษณะพื้นฐานของการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับบุคคล การใช้ข้อมูลเหล่านั้นเพื่อวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงแบบแผนการดำรงชีวิตและพฤติกรรมของบุคคล และการนำมาใช้ประโยชน์ทางการเงินโดยขายข้อมูล ซึ่งเป็นการพยากรณ์พฤติกรรมเช่นนี้ให้กับหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งบริษัทโฆษณา โดยเคมบริดจ์แอนะลิติกาเพียงแต่นำโมเดลพื้นฐานแบบเดียวกันมาใช้ แต่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจากผู้บริโภคเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โมเดลเช่นนี้กลายเป็นแกนกลางของเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นพื้นฐานให้กับโครงสร้างที่ซับซ้อนของบริษัทไฮเทค นายหน้าค้าข้อมูล บริษัทโฆษณาและอื่นๆ แต่ผู้บุกเบิกโมเดลนี้ทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊ก ถือเป็นเบอร์หนึ่งที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการสอดแนมชีวิตของเราและนำไปค้ากำไร เนื่องจากทั้งสองบริษัทควบคุมช่องทางสำคัญในการติดต่อกับโลกออนไลน์ ยกเว้นผู้ใช้งานในประเทศจีน (การเชื่อมต่อระหว่างตัวเรากับกูเกิลเสิร์ช, Chrome, Android, YouTube, Instagram และ WhatsApp)

 

เฟซบุ๊กและกูเกิลต่างรวบรวมคลังข้อมูลที่มีปริมาณข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับมนุษย์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นอกเหนือจากข้อมูลที่เราตกลงยอมให้มีการแชร์กับแพลทฟอร์มที่เราใช้งาน ยังรวมถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดจากการสอดแนมพฤติกรรมของเราในโลกดิจิทัล”

 

แน่นอนว่าเฟซบุ๊กและกูเกิลต่างยืนยันเจตนารมณ์ของตน ที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลานาน แต่ก็มีเหตุให้เราต้องตั้งคำถามมากขึ้นว่า โมเดลของอินเตอร์เน็ตที่มีลักษณะพื้นฐานเน้นการสอดแนมเช่นนี้ ขัดแย้งกับสิทธิมนุษยชนของเราหรือไม่

 

เฟซบุ๊กและกูเกิลต่างรวบรวมคลังข้อมูลที่มีปริมาณข้อมูลมหาศาลเกี่ยวกับมนุษย์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นอกเหนือจากข้อมูลที่เราตกลงยอมให้มีการแชร์กับแพลทฟอร์มที่เราใช้งาน ยังรวมถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดจากการสอดแนมพฤติกรรมของเราในโลกดิจิทัล การสอดแนมข้อมูลของบรรษัทอย่างกว้างขวางเช่นนี้ คุกคามอย่างยิ่งต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว อันที่จริงในปี 2553 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก ยอมรับในข่าวที่ครึกโครมว่า โซเชียลเน็ตเวิร์คได้เปลี่ยนให้ความเป็นส่วนตัวของเราให้กลายเป็น “บรรทัดฐานของสังคม”

 

แต่การรวบรวมข้อมูลเป็นเพียงบทนำของเรื่องนี้ ขั้นตอนต่อมาคือการใช้วิธีการวิเคราะห์ที่ซับซ้อนแบบแมชชีนเลินนิ่งเพื่อจำแนกโปรไฟล์ของบุคคล ทั้งนี้เพื่อใช้ประโยชน์ในการสร้างข้อมูลที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของพวกเขา ช่วงที่เกิดเสียงด่าอื้ออึงต่อเคมบริดจ์แอนะลิติกา สังคมกลับเพิกเฉยต่อพฤติกรรมการจำแนกโปรไฟล์บุคคลของเฟ๊ซบุ๊คเอง ทั้งที่ผ่านมาบริษัทได้สำรวจใช้วิธีการจำแนก บุคลิกลักษณะ แสวงหาวิธีการ บิดเบือนอารมณ์ความรู้สึก และพุ่งเป้าโจมตี จุดเปราะบางทางจิตวิทยา ของบุคคล รวมทั้งจุดที่พวกเขาเกิดความรู้สึก “ไร้ค่า” หรือ “ไม่มั่นคง” กูเกิลได้จัดทำเครื่องมือเพื่อผลิตโฆษณาที่สื่อสารได้อย่างแม่นยำ เพื่อสร้างอิทธิพลต่อความเชื่อของบุคคล และเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาผ่าน “วิศวกรรมทางสังคม” แม้ว่าเครื่องมือนี้ในเบื้องต้นจัดทำขึ้นมาเพื่อตอบโต้กับลัทธิความคิดที่สุดโต่งของอิสลาม แต่ต่อมาก็เปิดโอกาสให้บุคคลอื่น ๆ สามารถนำเครื่องมือนี้ไปใช้ประโยชน์ทั้งทางที่ชอบและมิชอบมากมาย

 

คำถามที่เร่งด่วนและตอบได้ยากมากสุดอย่างหนึ่งจากภาพยนตร์ The Great Hack คือ เราเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อการบิดเบือนทางพฤติกรรมเช่นนั้นมากน้อยเพียงใด?” สุดท้ายแล้วถ้าความสามารถเหล่านี้ทรงพลังอย่างมากแบบเดียวกับที่บริษัทและลูกค้าของเขาอวดอ้าง มันย่อมกลายเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อความสามารถของเราที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง หรือคุกคามแม้แต่สิทธิในการแสดงความเห็น เป็นการทำลายคุณค่าพื้นฐานของศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นแหล่งก่อกำเนิดสิทธิมนุษยชนทั้งปวง การโฆษณาและการโฆษณาชวนเชื่อไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเจาะข้อมูลของบุคคลในลักษณะที่ลึกซึ้งเช่นนี้ และไม่เคยมีการทำอย่างกว้างขวางจนครอบคลุมจำนวนประชากรมากมายเช่นนี้

 

“แรงกดดันของการช่วงชิงเพื่อเรียกความสนใจของผู้ใช้งาน และการทำให้พวกเขาอยู่บนแพลทฟอร์มของตนให้นานสุด ยังกระตุ้นให้เกิดแนวโน้มที่เป็นพิษภัยและจะนำไปสู่การเมืองของการสร้างภาพที่ชั่วร้ายของบุคคลอื่นต่อไป”

โจ เวสต์บี

 

แม่แบบนี้ยังมีส่วนในการกระพือให้เกิดการเลือกปฏิบัติ บริษัทต่างๆ และรัฐบาลสามารถ ใช้ประโยชน์อย่างมิชอบจากการวิเคราะห์ข้อมูลได้ง่ายๆ เพื่อสร้างชุดข้อมูลที่เจาะไปยังเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศสภาพ หรือบุคลิกลักษณะส่วนตัวของบุคคล แรงกดดันของการช่วงชิงเพื่อเรียกความสนใจของผู้ใช้งาน และการทำให้พวกเขาอยู่บนแพลทฟอร์มของตนให้นานสุด ยังกระตุ้นให้เกิดแนวโน้มที่เป็นพิษภัยและจะนำไปสู่การเมืองของการสร้างภาพที่ชั่วร้ายของบุคคลอื่นต่อไป ส่งผลให้ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตมักเลือกคลิกดูเนื้อหาที่เร้าใจหรือเนื้อหาที่มีความหวือหวา ซึ่งอาจหมายถึงเว็บไซต์ที่ เสนอแต่ทฤษฎีสมคบคิดอย่างเป็นระบบ เว็บไซต์หรือเนื้อหาที่มีเนื้อหาเหยียดเพศ และเหยียดเชื้อชาติ

 

เราจะทำอะไรได้บ้าง? โมเดลธุรกิจที่มีแรงผลักดันจากข้อมูลเช่นนี้ เป็นปัญหาในเชิงระบบและเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่สามารถจัดการได้ง่ายๆ และจำเป็นต้องใช้ทางออกผสมผสานกันทั้งทางการเมืองและการกำกับดูแล การหาทางป้องกันข้อมูลที่เข้มแข็งขึ้นเป็นคำตอบส่วนหนึ่ง อย่างเช่น หลักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (General Data Protection Regulation) ที่มีการบังคับใช้กันในยุโรป และมีผลกระทบในระดับโลก และเป็นโมเดลที่มีการนำมาใช้ในประเทศอื่นๆ ซึ่งย่อมช่วยบรรเทาผลกระทบจากการทำเหมืองข้อมูลและการทำโปรไฟล์ต่าง ๆ แต่ข้อเรียกร้องที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือการแตกบริษัทไฮเทคขนาดใหญ่ออกเป็นบริษัทย่อย ซึ่งเป็นเสียงเรียกร้องที่แพร่หลายมากขึ้น และในเวลาเดียวกันอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ถูกตรวจสอบจากหน่วยงานควบคุมการแข่งขันในประเทศต่างๆ มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การที่ Federal Cartel Office ของเยอรมนี ตัดสินใจจำกัดการแชร์และการรวบรวมข้อมูล ทั้งของเฟซบุ๊กและ WhatsApp เป็นตัวอย่างของมาตรการที่มีผลอย่างแม่นยำ เพื่อตอบโต้กับการรวมศูนย์อำนาจของบริษัทขนาดใหญ่เหล่านี้

 

ไม่ว่าจะมีการนำเครื่องมือกำกับดูแลใดๆ มาใช้ สิ่งสำคัญคือเครื่องมือเหล่านี้ต้องมีพื้นฐานมาจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงของโมเดลทางธุรกิจเหล่านี้ที่มีต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยชนเป็นกรอบความคิดสากล กรอบที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว ที่ครอบคลุมถึงภาคส่วนต่างๆ ของชีวิตเราที่ได้รับอิทธิพลจากโมเดลทางธุรกิจเช่นนี้ ครอบคลุมถึงสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นมนุษย์ และยังช่วยให้เกิดการรับผิดของบริษัท

 

ที่ชัดเจนก็คือการดำเนินงานในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ปัญหาในระดับรากเหง้าได้ เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ อนุมัติให้มีการประนอมคดีซึ่งเป็นเหตุให้เฟซบุ๊กต้องยอมจ่ายวค่าเสียหายมากเป็นประวัติการณ์ถึง 5 พันล้านเหรียญ เนื่องจากกรณีเคมบริดจ์แอนะลิติกา แต่หลังจากมีการเผยแพร่ข่าวนี้ ปรากฏว่ามูลค่าหุ้นของเฟซบุ๊กพุ่งสูงขึ้น

 

บทเรียนก็คือ บริษัทและนักลงทุนพอใจให้สังคมมองว่าเหตุการณ์เช่นนี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง โดยทางบริษัทยอมจ่ายค่าปรับที่ถือว่าต่ำมาก เนื่องจากเงิน 5 พันล้านเหรียญถือเป็นเหมือนหยดน้ำในมหาสมุทร สำหรับบริษัทที่ทำกำไรสุทธิได้ปีละ 22 พันล้านเหรียญ

 

พวกเขาพอใจที่จะกลับไปปรับปรุงนโยบายการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวบ้าง แต่ยังคงใช้โมเดลทางธุรกิจแบบเดิมต่อไป

 

เราไม่อาจปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ถึงเวลาที่จะต้องเผชิญหน้ากับผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนเนื่องจากทุนนิยมของการสอดแนมข้อมูลเช่นนี้