จรดปลายปากกา 'เขียน เปลี่ยน โลก' จดหมายถึงผู้ถูกละเมิด อย่ายอมจำนนต่อการถูกละเมิดโดยรัฐ

7 ธันวาคม 2566

Amnesty International Thailand

22 ปีที่แล้ว ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ กิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน เริ่มขึ้นจากกลุ่มเพื่อนที่ตัดสินใจเฉลิมฉลองวันสิทธิมนุษยชนสากล ด้วยการเขียนจดหมายติดต่อกันโดยไม่หยุดพักเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เวลาที่พวกเขาอุทิศให้แก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เพื่อไม่ให้การหายไปหรือถูกคุมขังเป็นเพียงเรื่องราวหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์

2,326 คือ จำนวนจดหมายที่พวกเขาเขียนขึ้นมาในเวลาอันจำกัด และเมื่อโลกออนไลน์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากปลายปากกา ผันเปลี่ยนมาเป็นการเคาะแป้นพิมพ์ ปล่อยตัวอักษรให้วิ่งเล่นบนช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง และข้อความก็เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยอย่างรวดเร็ว

5.3 ล้าน คือ จำนวนแอคชั่นในปี 2565 ที่หลั่งไหลไปยังผู้มีอำนาจ การกระทำเล็ก ๆ ของคนตัวเล็กจากทั่วโลก เริ่มเข้าไปสั่นคลอนความอยุติธรรมและมอบความเป็นธรรมคืนสู่ผู้ถูกละเมิด และตลอด 2ทศวรรษที่ผ่านมา การเขียนได้ปลดปล่อยนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างที่อิสรชนพึงมีอีกครั้ง

 

 

ขณะที่ในประเทศไทยเอง ยังมีผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกหลายชีวิต หนึ่งในนั้นคือ ‘อัญชัญ ปรีเลิศ’ อดีตข้าราชการวัยเกษียณผู้ถูกตัดสินจำคุกยาวนานเป็นประวัติการณ์ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากแชร์คลิปเสียงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์บนโซเชียลมีเดียของเธอ

ซึ่งเธอยังคงรอคอยวันที่ได้รับความเป็นธรรม รอวันที่รัฐจะมอบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมา และเพื่อไม่ให้มีผู้ถูกละเมิดถูกจองจำอย่างไม่เป็นธรรม แคมเปญ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ประจำปี 2566 จึงกลับมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยเปลี่ยนบริเวณ ‘ลิโด้ คอนเน็คท์’ โซนเอาต์ดอร์ ชั้น 1 ให้เป็นพื้นที่แห่งความหวังและส่งมอบกำลังให้ให้เหล่าครอบครัวผู้ถูกละเมิดไม่ให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา เพราะทุกการเคลื่อนไหว ทุกเสียงร่ำไห้ ที่พยายามส่งไปถึงผู้มีอำนาจ ล้วนถูกบรรจุอยู่ในหน้าความทรงจำของประชาชน

เสียงเหล่านั้นจะไม่จางหาย การกระทำที่เกินขอบเขตอำนาจจะไม่ได้รับการยอมรับ จนกว่าจะได้รับความกระจ่างชัดว่าสิ่งที่ผู้ถูกละเมิดต้องเผชิญนั้น มีความชอบธรรมเพียงพอหรือยัง

อย่ารอให้อนาคตมอดดับ เพราะเพียงแค่จรดปลายปากกา อาจเปลี่ยนโลกของใครบางคนไปตลอดกาล... จากนี้คือบทสนทนาในวงคุย Your Words Change Lives ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชวนทุกคนมาฟังเรื่องราว และส่องความคิดของผู้ที่สนใจและทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

เสียงสะอื้นไห้ของแม่ที่ยังรอคอยความยุติธรรม

“ลูกดิฉันถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ” พะเยาว์ อัคฮาด แม่ผู้สูญเสียลูกสาว กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม เล่าถึงสิ่งที่ติดค้างในใจมาตลอดเวลา 13 ปี เธอไม่เคยเข้าใจว่าเพราะเหตุใด ลูกสาวของเธอต้องด่วนจากไป ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องหมายกาชาด แสดงความเป็นกลางว่าเธอเป็นเพียง ‘อาสา’ หาใช่ผู้ร่วมชุมนุมแต่อย่างใด

 

 

หลังจากการสูญเสีย พะเยาว์เดินหน้าทวงคืนความยุติธรรมมาโดยตลอด จากแม่ค้าธรรมดาที่ไม่เคยสนใจเรื่องการเมือง แม่คนนี้ต้องลุกขึ้นมาปาดน้ำตา เก็บเสียงสะอื้นไห้ ทำทุกวิถีเพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับบทลงโทษ แต่ความยุติธรรมนั้นช่างห่างไกล เมื่ออัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการตายของลูกสาวเธอ

“บอกตรงๆ เสียใจมาก ที่เราได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ความยุติธรรมมันไม่เกิดจากเรา เรายังไม่เห็น ณ เวลานี้ ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่รัฐยังคงลอยนวล ผู้สั่งการยังลอยนวล ทุกสิ่งทุกอย่างถูกเก็บเงียบ ถ้าพูดง่ายๆ ก็เหมือนซุกปัญหาไว้ใต้พรม”

แม้จะมีหลายครั้งที่พะเยาว์ได้รับแรงกดดันขอให้เธอหยุดและปล่อยวางเหตุการณ์ในอดีตเสียที แต่คำเหล่านั้นกลับเสียดแทงเธอยิ่งกว่าเก่า เพราะเธอไม่รู้เลยว่าควรจะให้ปล่อยวางอย่างไร ให้อภัยใคร ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครเปิดหน้ามายอมรับว่าเป็นคนที่ทำให้ลูกสาวของเธอจากไป

“ที่ทุกฝ่ายพยายามจะพูดกับดิฉันมาตลอด 13 ปีว่า ควรจะอภัยได้แล้ว ก็ต้องย้อนถามว่า ดิฉันควรให้อภัยกับใคร ในเมื่อไม่มีใครมาแสดงความผิด ยอมรับผิดในสิ่งที่ตัวเองกระทำ แล้วจะให้ดิฉันซึ่งเป็นแม่ผู้สูญเสียจะให้อภัยกับใครได้”

พะเยาว์ยังบอกอีกว่าสิ่งที่เธอทำมาตลอด 13 ปี ไม่ใช่เพราะครอบครัวเธอเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นการสร้างบรรทัดฐาน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

“ที่สู้ทุกวันนี้เพราะอยากให้มันเป็นบรรทัดฐานของการที่เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำเกินกว่าเหตุ เกินกว่าอำนาจหน้าที่ตัวเอง ทำให้มีคนเสียชีวิต ควรจะได้รับการลงโทษให้สังคมได้รับรู้ ให้ความเป็นจริงเกิดขึ้น ดิฉันจะสู้จนกว่าแผ่นดินจะกลบหน้า หรือจนกว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในปี 53 จะได้รับการชำระ”

 

เวลาและชีวิตที่หล่นหายของอัญชัญ ปรีเลิศ

“ทุกคนบนโลกนี้ที่ถูกละเมิดสิทธิล้วนเป็นคนสำคัญทั้งนั้น แต่ในกรณีของป้าอัญชัญ ด้วยอายุ 68 ปี เพียงแค่การแชร์โพสต์ ทำให้ถูกตัดสินจำคุกนานถึง 87 ปี เรามองว่ามันไม่สมเหตุสมผล” จิณห์วรา ช่วยโชติ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ ประเทศไทย บอกเหตุผลถึงการเรียกร้องสิทธิให้อัญชัญเป็นกรณีเร่งด่วน

 

 

ก่อนที่อัญชัญจะถูกจับกุม เธอเป็นเพียงข้าราชการใกล้เกษียณอายุในช่วงรัฐประหารโดยคสช. แม้จะเป็นผู้ที่มีแนวคิดทางการเมืองขั้วตรงข้ามกับรัฐไทย ณ ขณะนั้น แต่เธอไม่เคยสร้างความเดือดร้อนหรือมุ่งร้ายใครจนถึงขั้นทำให้คนผู้นั้นถึงแก่ชีวิต

แต่การกระทำของอัญชัญ อาจสร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่ผู้มีอำนาจเบื้องบน เพราะทันทีที่เธอกดแชร์รายการของบรรพต คลิปเสียงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์บนโซเชียลมีเดียของเธอ ทหารพร้อมอาวุธ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดหลายนายต่างพุ่งเป้ามาที่บ้านเธอ

30 มกราคม 2558 คือวันที่นรกบนดินของอัญชัญถือกำเนิดอย่างสมบูรณ์ เธอทุกข์ทรมานอย่างหนักจากถูกผลักไสให้ไปอยู่ในเรือนจำ แต่เธอจะไม่ยอมแพ้ และไม่มีวัน จนกว่าอิรสภาพที่ถูกพรากไปจะหวนกลับคืนมา

“คุณป้าอัญชัญเป็นคนที่จิตใจแข็งแกร่งมาก ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เขารู้ว่าจำเป็นต้องทำให้ตัวเองเข้มแข็ง เพื่อที่จะมีชีวิตรอดออกจากเรือนจำ และกลับไปใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ”

แต่ชีวิตในแบบที่อัญชัญต้องการกลับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าสิ่งใด เธอถูกตัดสินโทษให้จำคุกนานถึง 87 ปี หลังจากตัดสินใจสารภาพ อัญชัญได้รับการลดหย่อนโทษเหลือ 43 ปี 6 เดือน และได้รับอภัยโทษ 2 ครั้ง ทำให้กำหนดพ้นโทษคือเดือนกันยายน 2574 กว่าจะถึงตอนนั้นเธอก็อายุ 76 ปีเข้าไปแล้ว

“ประมาณสองปีที่แล้ว เราส่งจดหมายไปหาป้าอัญชัญเยอะมากประมาณ 400-500 ฉบับ พยายามส่งเข้าไปในเรือนจำตลอด เอาไปให้ทนายอ่านให้ป้าฟังบ้าง แต่ช่วงหลังค่อนข้างติดขัดทำให้จดหมายส่งไปไม่ถึงมือป้า”

‘ขอบคุณ’ คือคำที่อัญชัญบอกกลับมาทุกครั้งที่จดหมายเดินทางไปถึง แม้เธออยากจะบอกขอบคุณด้วยตัวเองมากเพียงใด แต่เธอยังต้องรออีก 8 ปีกว่าจะได้รับการปล่อยตัว

จิณห์วรา เชื่อว่า ตัวอักษรของคนธรรมดาสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องกล่าวเกินจริง การเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เกิดขึ้นในวันนี้ วันพรุ่งนี้ หรือเดือนหน้า แต่มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้รับพลังจากหลาย ๆ คนเข้ามาร่วมกัน

“พลังของตัวอักษรมีความสำคัญกับพวกเขามากจริง ๆ มันทำให้ผู้อ่านรู้ว่าตัวเขาไม่ได้ถูกทอดทิ้ง คนจากทั่วโลกคอยให้กำลังใจและจับตามองอยู่ไม่หายไปไหน และตัวอักษรเหล่านี้จะส่งไปถึงมือของผู้มีอำนาจ เพราะพวกคุณไม่มีสิทธิจะมาละเมิดสิทธิใครทั้งนั้น”

 

การเมือง สิ่งแวดล้อม และสิทธิที่ธรรมชาติไม่อาจเรียกร้องด้วยตนเอง

“หลาย ๆ คนอาจคิดว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว แต่เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ โลกที่เรายังต้องบริโภค ต้องกินน้ำ กินอาหาร ต้องใช้อากาศหายใจ ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาดูแลโลก ไม่ช้าเราอาจจะถูกล้างเผ่าพันธุ์ไปจากโลกใบนี้ก็ได้”

นท พนายางกูร นักแสดงและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เล่าถึงความสำคัญของการออกมาเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เพราะธรรมชาติไม่อาจลุกขึ้นมาร้องตะโกนได้อย่างมนุษย์ และสิ่งที่ยิ่งตอกย้ำความคิดในการดูแลโลกและสิ่งแวดล้อมให้เพิ่มขึ้นไปอีก คือ กรณีฝุ่น PM 2.5 ที่ไม่ต่างจากมัจจุราชกำลังคืบคลานเข้ามาคร่าชีวิตคนหนุ่มสาวอย่างช้า ๆ

 

 

“การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศมันเชื่อมโยงกับการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ วันนี้กรีนพีชเขาได้ทำวิจัยออกมาแล้วว่า PM 2.5 สามารถฆ่าคนได้มากกว่าอุบัติเหตุ มากกว่ายาเสพติด มากกว่าการฆาตกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในสังคมควรตระหนักมากขึ้น มันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่มันอยู่กับเราตลอดเวลา”

นทเชื่อเสมอว่าหากผู้มีอำนาจให้คุณค่ากับธรรมชาติมากขึ้นกว่านี้ คนในสังคมอาจมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะตายเพราะฝุ่นพิษตอนไหน

ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีของ ‘นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล’ เจ้าของเพจ ‘สู้ดิวะ’ หมอหนุ่มวัย 28 ปี ที่ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เพราะปัญหา PM 2.5 หลังจากเขาเพิ่งจากโลกนี้ไปเมื่อเวลา 10:59 นาฬิกา ของวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา

“การหายใจเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเรา แต่การที่เราต้องหายใจเอามลพิษเข้าไปตลอดเวลา มันไม่ได้ทำลายแค่ระบบหายใจ แต่มันส่งผลกระทบไปทั้งร่างกาย”

นทได้ยกตัวอย่างความร้ายแรงของการละเลยปัญหามลพิษเพิ่มเติมอีกว่า อยากให้ลองจิตนาการถึงสมองของเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา ลองคิดตามดูว่าเด็กที่ยังไม่ทันได้ลืมตาดูโลก แต่กลับต้องได้รับผลกระทบจากสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เลือก แม่ของเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลาง PM 2.5 อย่างเลี่ยงไม่ได้ และรัฐบาลเองก็ไม่มีทีท่าจะให้ความสำคัญ อนาคตของประเทศจะก้าวไปอย่างไรต่อไป คงต้องลองคิดถึงผลกระทบตรงนี้ดู

“ทั้งหมดมันเกิดจากฝีมือของมนุษย์ ถึงจะมีหลายปัจจัย แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์เราคือคนที่สร้างมันขึ้นมา และหากทุกคนช่วยกันจากเสียงเล็ก ๆ พอมารวมกันมันจะเป็นเสียงที่ดังขึ้น เพราะฉะนั้นเรามาร่วมส่งเสียงผ่านการเขียนไปถึงผู้มีอำนาจ ให้เขาได้รู้ว่าเรายังอยู่ตรงนี้ ถึงแม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้ตัดสินใจตามสิ่งที่เราร้องขอ แต่เชื่อเถอะมันจะซึมอยู่ในจิตสำนึกของเขาเอง”

 

เมื่อเสรีภาพถูกกักขัง ประชาชนจึงต้องปิดปากเงียบ

อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มจากการยกหลักการระหว่างประเทศ เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ว่าประเทศไทยมีการเซ็นสัญญาลงนามเป็นภาคี กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) มาก่อนแล้ว

“การจำกัดเสรีภาพเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นคนออกมาประท้วงหรือว่าตั้งคำถามต่าง ๆ นานา ต้องได้สัดส่วนกับวัตถุประสงค์ที่การจำกัดนั้นต้องการบรรลุ เราก็จะเห็นเราว่าตัวคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาชาติ เขาได้พูดอย่างชัดเจนว่า การออกตั้งคำถามสถาบัน วิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ หรือหัวหน้าฝ่ายรัฐบาล เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงกระทำได้”

 

 

โดยข้อ 19 ระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิเสรีภาพนี้จะถูกจำกัดได้ในบางกรณีเท่านั้นก่อนจะยกตัวอย่างกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่น ๆ เช่น สหราชอาณาจักร พบว่ากฎหมายของอังกฤษได้ยกเลิกตัวบทกฎหมายดังกล่าวไปได้ 20 ปีแล้ว เพราะไม่มีเหตุผลใดที่ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศจะวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ไม่ได้

“กฎหมายตัวนี้ถ้าพนักงานอัยการท่านใดในประเทศอังกฤษนำมาบังคับใช้ คงจะตกเป็นที่หัวเราะของสังคม เพราะสิทธิเสรีภาพในการออกมาชุมนุม ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่าง ๆ ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้”

และอัครชัยได้พูดถึงกรณีของทนายอานนท์ นำภา ขึ้นมาว่าสิ่งที่ชายคนนี้ต้องเผชิญเป็นอะไรที่น่าละอายไม่น้อย เพราะสิ่งที่เขาทำเพียงแค่การใช้สิทธิเสรีภาพตามที่ตนพึงมีก็เท่านั้น

“การที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสันติวิธี วิพากษ์วิจารณ์สถาบันและตั้งคำถามโดยสุจริต แต่กลับถูกดำเนินคดีเอาผิดทางกฎหมาย ถูกโยนเข้าเรือนจำ สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น

"ผมคิดว่าก้าวต่อไปเราต้องพูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม ว่าหลังจากนี้ถ้าหากเราไม่พูดถึงนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพโดยสันติวิธี ผมก็ไม่มั่นใจเหมือนกันว่าสังคมจะก้าวข้ามความขัดแย้งนี้ได้อย่างไร”

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่อัครชัยในฐานะทนายความยังคงเชื่อมั่นและศรัทธาคือ ไม่มีใครหยุดกงล้อแห่งกาลเวลาไปได้ ตราบเท่าที่คนหนุ่มสาวยังคงลุกขึ้นสู้ เรียกร้องความเป็นธรรม ทวงคืนสิทธิเสรีภาพที่ถูกพรากให้กลับมาอยู่ในมือของผู้ถูกละเมิดทุกคน

 

ร่วม เขียน เปลี่ยน โลก ได้ที่ https://www.aith.or.th